วันนี้มีข่าวครึกโครมเรื่องการส่งยานอวกาศ Juno ไปลงสำรวจดาวพฤหัส ฟังๆ ดูก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์มากๆ แต่เอาเข้าจริงแล้วไอ้การตั้งชื่อโครงการ Juno มันเกี่ยวกับศิลป์ คือเป็นเรื่องของตำนานกรีกโรมัน แล้วก็…น่ารักดีที่ดูเหมือนว่าฝรั่งก็ถือเคล็ดเหมือนกัน
ผัวจะซ่าแค่ไหน NASA ส่งเมียไปกำราบให้อยู่หมัด !
พอเราพูดว่าจูโน่กับดาวพฤหัส มันเลยฟังดูไม่ค่อยเก็ตเท่าไหร่ว่า นาซ่ามีเรื่องอาร์ตๆ ในเรื่องวิทย์ๆ ยังไง แต่ถ้าใครสนใจคุ้นๆ อาจจะพอรู้สึกได้ว่า ชื่อของยานอวกาศจูโน่ มันตั้งมาจากชื่อของเทวีคนสำคัญจากตำนานโรมัน คือจูโน่ หรือเวอร์ชั่นกรีกคือเทพีเฮร่า (Hera) ส่วนเจ้าดาวพฤหัสที่เราพยายามจะเดินทางข้ามจักรวาลไปสำรวจในภาษาอังกฤษก็คือจูปิเตอร์หรือซุส เทพผัว ราชาแห่งเขาโอลิมปัสที่เรารู้จักกันดีไง
คือ ทางนาซ่าเองก็พูดถึงที่มาของการตั้งชื่อนี้เหมือนกัน การเดินทางข้ามจักรวาลมันก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว แถมไอ้เจ้าดาวพฤหัสเนี่ยมันก็ลงยากเพราะมีชั้นบรรยากาศที่รุนแรงห่อหุ้มแถมยังมีสภาวะแวดล้อมที่เลวร้ายไปอีก มนุษย์เราที่อยากจะได้ความรู้เกี่ยวกับดาวดวงเนี้ย ก็ต้องฝ่าลงไป เปิดโปง ไปหา ไปทำความเข้าใจมันให้ได้ ดังนั้น การจะเข้าใจหรือจัดการคนที่ยากๆ (ระดับดาวพฤหัส) เนี่ย จะมีอะไรเหมาะหรือยิ่งใหญ่ไปกว่าการเอาเมียไปจัดการซะ
ตามตำนาน บทบาทของเฮร่าเองก็คือนี่แหละ การไปตามผัว เพราะผัวซุสชอบซุกกิ๊กไว้ ซึ่งสุดท้ายจะปิดบัง อำพราง แปลงเป็นวัวมั่ง อะไรมั่ง เฮร่าก็จัดการหาจนเจอได้ ซึ่งนาซ่าก็กะว่าส่งยานเมียไปคราวนี้อยู่หมัดแน่นอน
เอาจริงๆ ก็เหมือนถือเคล็ดหน่อยๆ เนอะ แบบว่า แกเข้าถึงยากนักใช่มั้ย รุนแรงขี้หงุดหงิดนักใช่มั้ย เจอเมียเข้าไป ไม่รอดแน่…น่ารักดี
ศิลป์ในวิทย์ : ชื่อของดาวเคราะห์ทั้ง 9 กับปกรณัมปรัมปรา
จริงๆ แล้วศาสตร์อย่างดาราศาสตร์เป็นสิ่งที่มนุษย์หลงใหล และพยายามจะอธิบายมันมาอย่างช้านาน ลองนึกภาพเมื่อมนุษย์ตัวเล็กๆ แหงนหน้ามองดูท้องฟ้า สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาคือหมู่ดาวอันพร่างพรายตระการตา เหล่านั้นแหละ คือสรวงสวรรค์ที่มนุษย์ตัวน้อยๆ จะวาดฝันถึง นักดาราศาสตร์กรีกผู้เฝ้ามองดวงดาวจึงตั้งชื่อดาวดาวต่างๆ ไปตามมหากาพย์หรือปรกณัมของทวยเทพ กลุ่มดาวหลักๆ ทั้งหลายที่เรารู้จักส่วนใหญ่อยู่ในบันทึกของปโตเลมี นักดาราศาสตร์กรีกที่บันทึกไว้ในยุคก่อนคริสตกาล
สมัยโรมันดวงดาวที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ได้หลักๆ มี 5 ดวง เมื่อท้องฟ้าคือภาพของสวรรค์สำหรับมนุษย์ นักดาราศาสตร์โบราณจึงเรียกชื่อดวงดาวต่างๆ ตามชื่อของทวยเทพและอุทิศชื่อไปตามลักษณะเฉพาะหรือการเคลื่อนของดาวแต่ละดวง เช่น เรียกดาวพุธตามชื่อของเทพสื่อสารหรือ Mercury (หรือเรียกอย่างกรีกคือ Hermes เทพที่มีรองเท้าติดปีก) เพราะว่าดาวพุธเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว เรียกดาวศุกร์ตามชื่อเทพแห่งความรักและความงาม (Venus) เนื่องจากดาวศุกร์เป็นดาวที่เจิดจ้าที่สุดบนท้องฟ้า เรียกดาวอังคารตามเทพแห่งสงคราม (Mars) เพราะสีของดวงดาวเป็นสีแดง สีแห่งสงครามและการนองเลือด เรียกดาวพฤหัสตามชื่อคหบดีแห่งเทพทั้งปวง (Jupiter) ก็เพราะว่าเป็นดาวที่ใหญ่ที่สุด
ในยุคต่อมา เริ่มเจอดาวใหม่ๆ เช่น ดาวยูเรนัส ดาวดวงแรกที่พบหลังจากกลุ่มดาวยุคโบราณ ก็เถียงกันว่าจะใช้ชื่ออะไรดี William Herschel คนที่ค้นพบบอกว่าอยากตั้งเทิดพระเกียรติพระเจ้าจอร์จมันยอดมาก ถุ้ย! ‘พระเจ้าจอร์จที่ 3’ ต่างหากโว้ย เลยเสนอให้เรียกว่า Georgium Sidus ส่วนนักวิทยาศาสตร์คนอื่นก็เรียกว่าดาว Herschel (คือเท่ไปเนอะ มีดาวเคราะห์เป็นชื่อตัวเอง) ตอนหลังนักดาราศาสตร์ชื่อ Johann Bode เลยบอกว่า เฮ้ย มันน่าจะทำตามธรรมเนียมป่าว ที่ชื่อดาวต้องมาจากเทพปกรณัม ซึ่งกว่าจะได้ชื่อยูเรนัสและใช้กันจนคุ้นก็หลังปี 1850 แน่ะ ซึ่งเฮียเค้าพบดาวนี่ในปี 1781 สรุปคือเกือบ 70 ปีจึงได้ชื่อนี้มา
หรือตอนที่ค้นพบดาวพลูโตโดย Clyde Tombaugh ในปี 1930 จากหอดูดาวในรัฐ Arizona สหรัฐอเมริกา ก็มีการเสนอกันมากมายประหนึ่งการตั้งชื่อหลินปิง เช่น เพอร์ซิอุส อาเทมิส ส่วนนิวยอร์คไทม์เสนอให้ตั้งว่า ‘มิเนอร์ว่า’ เทพีแห่งสติปัญญา สุดท้ายได้ชื่อพลูโต ซึ่งได้มาจาก Venetia Burney เด็กหญิงชาวอังกฤษวัย 11 ขวบ (แนะนำผ่านทางเจ้าหน้าที่ของหอดูดาวอีกที น่ารักอะ)
จะว่าไป ชื่อดาวพลูโตจากเทพแห่งโลกบาดาลและความตายก็เข้ากับลักษณะของดวงดาวที่อยู่ไกลแสนไกลและถูกปกคลุมด้วยความมืดมิดตลอดกาล
ปัจจุบัน กิจการเกี่ยวดวงดาวทั้งหลายมีสหพันธ์นักดาราศาสตร์นานาชาติ (International Astronomical Union) หรือ IAU เป็นผู้ดูแล