บนอวกาศมันเถื่อน ร่างกายจะแน่แค่ไหนก็แฮงค์จ้า ไปดูสภาพของ Tim Peake หลังอยู่บนนั้นนาน 6 เดือนกัน
ความร้ายกาจของอวกาศที่ทำให้ร่างกายคุณป่วน
สัปดาห์ก่อนนักบินอวกาศชาวอังกฤษ Tim Peake ได้กลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย หลังจากต้องทำภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งการอยู่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงเป็นเวลานาน สัมผัสรังสีโดยตรง และการขาดสารอาหาร ทำให้นาย Tim มีอาการป่วยจนต้องเข้าพักฟื้นอย่างเข้มข้นอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ก่อนกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติได้อีกครั้ง
อวกาศมันเถื่อน ไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้
“คุณต้องตื่นเต้นแน่ๆ เมื่อกลับมาได้ แต่มันอาจไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีนัก ถ้าจะว่ากันตรงๆ คุณจะโคตรรู้สึกแย่เลย มันเหมือนกับการที่คุณเมามากๆ แล้วมีอาการแฮงค์ตามมา แต่มันเป็นแฮงค์ที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่คุณเคยเจอ เพราะมันเกิดอะไรต่อไม่รู้อะไรในหัวของคุณ” Tim Peake ให้สัมภาษณ์กับข่าวช่อง ITV ของอังกฤษ
สัปดาห์ที่ผ่านมา Tim Peake ต้องเข้าโปรแกรมฟื้นฟูร่างกายอย่างเข้มงวด มีการตรวจเช็คร่างกาย ตรวจเลือด สแกนสมองด้วย MRI และประเมินผลทางจิตวิทยา ในแต่ละขั้นตอนเขาจะถูกวัดการไหลเวียนของเลือดและการเต้นของหัวใจด้วยการทดสอบจากเตียงที่ปรับเอียง (Tilt table test) เพื่อวัดการตอบสนองของร่างกายภายใต้แรงโน้มถ่วง
นักวิจัยต้องร่วมมือกันวิเคราะห์ที่มาของอาการเวียนหัว คลื่นไส้ อ่อนปวกเปียก ซึ่ง Tim รายงานอาการนี้ตั้งแต่วันแรกที่กลับมาถึงพื้นโลก มันเลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อเขาเจออาการ ‘บ้านหมุน’ ทุกครั้งที่ขยับหัว
องค์การอวกาศยุโรป European Space Agency (ESA) ผู้ส่งนักบินชาวอังกฤษไปรับชะตากรรม ระบุว่าภารกิจของ Tim Peaks จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเขากลับมาใช้ชีวิตปกติได้เหมือนคนทั่วไป ถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จได้ (แต่ตอนนี้ยังก่อน)
แม้ Tim Peake จะไม่ใช่มนุษย์รายแรกที่ใช้ชีวิตในอวกาศเป็นเวลานาน ก่อนหน้านี้หลายเดือนก่อน NASA ก็ต้อนรับการกลับมาของนักบินอวกาศชาวอเมริกัน Scott Kelly จากภารกิจอวกาศนาน 1 ปี ซึ่งมีรายงานว่าอาการของเขาก็ไม่ต่างจาก Tim เสียเท่าไหร่ กลับกลายเป็นว่าการเตรียมพร้อมร่างกายจากพื้นโลกเพื่อไปยังอวกาศ มันง่ายกว่าการกลับจากอวกาศมาสู่โลกเสียอีก!
Scott Kelly เพิ่งเปิดเผยไม่นานมานี้ในงานอีเวนท์วิทยาศาสตร์ที่ NASA จัดขึ้น เขาบอกว่า ตอนแรกๆ ก็มีอาการปวดเมื่อยตามปกติ แต่พักหลังๆ มีอาการปวดแสบปวดร้อนผิวหนังร่วมด้วย ทุกครั้งที่เดินหรือนั่ง หรือสัมผัสกับสิ่งของ มันแสบร้อนเหมือนไฟ และมีรอยผื่นขึ้นบริเวณที่ถูกสัมผัส แถมมีอาการคล้ายเป็นหวัดอยู่เนืองๆ ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในอวกาศนานเกือบปี
“โคตรรู้สึกแย่เลยบอกตรงๆ” Scott Kelly ยืนยันว่าชีวิตบนอวกาศไม่ราบรื่นอย่างหวัง
สภาวะไร้แรงโน้มถ่วงทำให้มวลกระดูก (Bone Mass Density) ในร่างกายมนุษย์เลวร้ายลง มวลกระดูกลดความหนาแน่นและ ‘ยืดขึ้น’ นักบินอวกาศสูญเสียมวลกระดูกจากร่างกายไป 1.5% ในแต่ละเดือน โดยเฉพาะบริเวณต้นขาและกระดูกเชิงกราน เผชิญกับภาวะกระดูกบาง จนอาจแตกหักง่ายๆ จากแรงกอดของเด็กหญิงสักคน
ในกรณีของ Scott Kelly เขามีส่วนสูงเพิ่มมากขึ้น 5 เซนติเมตร ระหว่างปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติ หรือร่างกายยืดขึ้นประมาณ 3% ซึ่งหลังจากกลับมาบนพื้นโลก ส่วนสูงค่อยๆ ปรับลดลงอยู่ในระดับปกติ อวกาศทำให้คุณกลายเป็นเครื่องดนตรีแอคคอร์เดียน ยืดเข้ายืดออก!
มนุษยชาติกำลังฝันหวานกับการใช้ชีวิตในอวกาศอันกว้างใหญ่ แต่ร่างกายของพวกเรากลับเป็นจุดบอดขนาดใหญ่ที่ทำให้เราป่วยไข้ไม่เอ็นจอยชีวิต เพราะขนาดเวลา 1 ปีในอวกาศยังทำร้ายพวกเราได้ขนาดนี้ แล้วจะเป็นอย่างไรหากต้องอยู่อย่างน้อย 2 ปี 10 ปี หรือตลอดชีวิต?
งานวิจัยนำทีมโดย Karen Jonscher จากมหาวิทยาลัย Colorado ที่เพิ่งเผยแพร่ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำการทดลองในหนู โดยสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อเดินทางในกระสวยอวกาศ Atlantis เป็นเวลา 13.5 วัน พบว่าตับของหนูเสียหาย และมีกลุ่มอาการ ‘ไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์’ Non-alcoholic fatty liver disease (NAFLD) และมีอาการเนื้อเยื่อพังผืดผิดปรกติ
โดยปกติแล้วการที่หนูทั่วไปจะเริ่มมีอาการพังผืดผิดปรกติต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะมันต้องกินอาหารแย่ๆ เป็นเดือนๆ หรือเป็นปีๆ แต่การใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศ หนูกินอาหารเดิมๆ เพียง 13.5 วันก็มีอาการแล้ว มันน่ากังวลนะ ว่าถ้ามนุษย์ล่ะ จะเป็นอย่างไร?
เมื่ออวกาศไม่ได้น่าเดินเล่นอย่างที่คิด
ร่างกายของคุณถูกออกแบบมาให้อยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วง 1-G
หากตกอยู่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง 0-G ร่างกายคุณจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
‘ตา’ ลูกตาอาจบิดเบี้ยว การมองเห็นบิดเบือน
การมองเห็นจะด้อยลง เพราะของเหลวในลูกนัยน์ตาไม่มีแรงโน้มถ่วงเหนี่ยวรั้ง ลูกตาจะผิดรูป ภาพที่เห็นจะบิดเบือน ประสาทการมองเห็นจะผิดพลาด นักบินอวกาศแก้ปัญหานี้ด้วยการสวมใส่ชุดปรับแรงดันที่คล้ายๆ กางเกงที่โป่งได้เหมือนลูกบอลลูน
‘จิตใจ’ มีความโดดเดี่ยวเดียวดายที่ปลายโลกร้าง
1 ปีอันโดดเดี่ยวในอวกาศนั้นทรมานอย่างขีดสุด คุณจะโหยหาบรรยากาศเดิมๆ ที่จากมา อาการซึมเศร้าจะเข้าครอบงำ การนับเวลาถอยหลังยิ่งทำให้คุณสติแตก นักบินอวกาศจึงต้องทำภารกิจเสริมเพื่อไม่ให้ตัวเองว่างนัก การอ่านอีเมล์ของเพื่อนสนิทและครอบครัวจึงช่วยลดความเปลี่ยวเหงาลงได้บ้าง
‘ศีรษะ’ วิงเวียน คลื่นไส้ คล้ายบ้านหมุน
นักวิจัยต้องร่วมมือกันวิเคราะห์ที่มาของอาการเวียนหัว คลื่นไส้ อ่อนปวกเปียก ซึ่งนักบินอวกาศสวนใหญ่รายงานอาการนี้ตั้งแต่วันแรกที่กลับมาถึงพื้นโลก มันเลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อพวกเขาเจออาการ ‘บ้านหมุน’ ทุกครั้งที่ขยับหัว
‘เลือด’ ไหลขึ้นไหลลง โอ๊ย งง ไปหมด
บนผิวโลก เลือดของเราจะแล่นขึ้นข้างบนเพื่อต่อต้านแรงโน้มถ่วง แต่ในอวกาศ หัวใจคุณจะต้องปรับตัวสักระยะ ความดันจะขึ้นๆ ลงๆ แต่หัวใจคุณจะเรียนรู้จังหวะการเต้นได้ใหม่อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งวิธีการให้หัวใจเรียนรู้เร็วที่สุด คือการออกกำลังกายอย่างมีวินัย
‘ระบบภูมิคุ้มกัน’ ฉีดวัคซีนกันเอาไว้
สภาพแวดล้อมแบบปิดของสถานีอวกาศ ทำให้ระบบภูมิต้านทางของร่างกายเกิดอาการขี้เกียจ เพราะมันไม่ต้องเผชิญกับไวรัส แบคทีเรีย หรือสิ่งแปลกปลอมในอากาศ แต่นักบินอวกาศก็ต้องฉีดวัคซีนให้ตัวเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันติดตัวตลอดเวลา
‘กระดูก’ กรอบกว่านี้ก็มันฝรั่งทอดแบบซองแล้ว
พอไม่มีแรงโน้มถ่วง กระดูกเลยไม่ต้องแบกรับน้ำหนักตลอดเวลา มวลกระดูกจึงบางลง นักบินอวกาศสูญเสียมวลกระดูกจากร่างกายไป 1.5% ในแต่ละเดือน โดยเฉพาะบริเวณต้นขาและกระดูกเชิงกราน จนอาจทำให้กระดูกหักได้ง่ายๆ จึงมีข้อบังคับพิลึกๆ ว่า ‘ห้ามกอดนักบินอวกาศที่เพิ่งกลับมา’ เพราะการกอดธรรมดาๆ ก็อาจบดขยี้ซี่โครงพวกเขาได้ กร๊อบ!
‘ระบบการย่อย’ ทั้งท้องอืดท้องผูก ตีกันไปหมดแล้วแก
จุลินทรีย์ในลำไส้ทำหน้าที่ย่อยอาหารให้กับคุณ แต่เมื่ออยู่ในอวกาศ จุลินทรีย์จะถูกทำลายจากรังสีคอสมิก และเพื่อนตัวจิ๋วในร่างกายคุณก็ไม่ปลื้มอาหารบรรจุหลอดเสียด้วย คุณจะมีอาการท้องผูก อึดอัด และอาหารไม่ย่อย อาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ที่ NASA ส่งไปให้เหล่านักบินจะช่วยทำให้พวกเขาสบายท้องขึ้น
‘กล้ามเนื้อ’ อ่อนยวบยิ่งกว่าบวบผัด
กล้ามเนื้อของคุณก็ต้องการแรงโน้มถ่วงเพื่อให้มันคงรูปด้วยเหมือนกัน ไม่งั้นมันจะอ่อนยวบ บอกลา Six-Pack ที่เคยภูมิใจไปได้เลย การวิ่งบนลู่และออกกำลังส่วนขาจึงเป็นเรื่องที่นักบินอวกาศต้องทำอย่างยิ่งยวด
‘อายุขัย’ สั้นไวกว่าที่คิด
ปลายของโครโมโซม Telomeres จะสั้นลง เพราะมันจะถูกเผาผลาญเร็วขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลของรังสีและความเครียดของร่างกายภายใต้สภาวะไร้น้ำหนัก อายุขัยเราจึงสั้นลง
แม้พวกเราจะยังไม่ไปเยือนอวกาศกันได้ทุกคนในเร็ววันนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ยังมีเวลาอยู่มากที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดี ขึ้น ไม่ว่าจะด้านวิศวกรรมการออกแบบห้องต่างๆ ของสถานีอวกาศให้เอื้อประโยชน์ต่อการอยู่อาศัยในระยะยาว และการทำนุบำรุงยีนด้วยนวัตกรรม Gene Therapy ในร่างกายให้ต้านทานสภาวะไร้น้ำหนัก ซึ่งเป็นเรื่องน่าท้าทายและเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ของวิทยาศาสตร์อีกโขเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก