หากสำรวจร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 67 จะพบว่า ‘งบกลาง’ รัฐบาลเศรษฐาสูงกว่างบกลางรัฐบาลประยุทธ์ (สมัยที่แล้ว) ถึง 16,295 ล้านบาท คิดเป็น 2.8%
เปิดปีใหม่มาได้ไม่กี่วัน สมาชิกสภาฯ ก็ต้องทำงานหนักกันซะแล้ว เพราะเข้าสู่ช่วงการอภิปราย ร่าง ‘พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567’ พอดี โดยงบประมาณทั้งหมดปีนี้ถูกตั้งไว้ที่ 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่ง 5 กระทรวงแรกที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากสุดตามลำดับ คือ มหาดไทย ศึกษาธิการ คลัง กลาโหม และคมนาคม
แต่มีก้อนงบก้อนหนึ่งที่ให้วงเงินสูงกว่าทุกกระทรวง และได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด นั่นก็คือ ‘งบกลาง’ จากเอกสารร่างงบประมาณปี 67 ระบุงบสำหรับ ‘งบกลาง’ ไว้ 606,765 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.4% จากโครงสร้างงบประมาณทั้งหมด
ที่ผ่านมา งบกลางมักถูกวิจารณ์ว่าเป็นการตั้งงบประมาณแบบ ‘ตีเช็คเปล่า’ ให้รัฐบาลใช้จ่ายตามต้องการ และถูกตั้งข้อสังเกตด้วยว่าไม่มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบยากเพราะเป็นงบประมาณที่มีแค่หัวข้อกับวงเงิน ไม่ได้ระบุรายละเอียดต่างๆ ของการใช้จ่ายเงินอย่างชัดเจน ทำให้งบกลางในร่างงบประมาณปี 67 จึงถูกจับตาและตั้งข้อสังเกต เนื่องจากมีจำนวนที่มากกว่าหากเทียบกับงบกลางในร่างงบประมาณปี 66
ทศวรรษที่ผ่านมา งบกลางมีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง The MATTER ชวนสำรวจไปด้วยกัน
งบกลางคืออะไร
ชวนทำความเข้าใจงบกลางกันก่อน ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ระบุว่า งบกลาง คือ งบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้เพื่อจัดสรรให้แก่หน่วยรับงบประมาณใช้จ่าย โดยแยกต่างหากออกจากงบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ และให้มีรายการเงินสำรองเพื่อจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นด้วย
หากใช้วุ้นแปลภาษาให้เข้าใจง่าย งบกลาง คือ งบรายจ่ายที่ตั้งขึ้นมาสำรองไว้ โดยไม่ระบุหน่วยงานรัฐที่รับงบประมาณไว้เฉพาะเจาะจง ไม่ระบุรายละเอียดหรือแผนของการใช้จ่ายที่ชัดเจน รัฐสภาทำได้เพียงแค่อนุมัติกรอบวงเงินของการใช้จ่ายเท่านั้น บางครั้งก็ไม่อาจทราบรายละเอียดของการใช้จ่ายได้เลยจนกว่าจะเกิดการใช้จ่ายขึ้นจริง
งบกลางมักถูกนำไปจัดสรรให้หน่วยต่างๆ โดยมีเหตุผล เช่น มีไว้เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการบริหารบ้านเมือง เป็นเงินที่จำเป็นต้องมีไว้เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชน ซึ่งการเบิกจ่ายเงินงบกลางมีระเบียบและขั้นตอนอยู่ จากระเบียบว่าด้วยเรื่องการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ระบุว่า จะขอรับอนุมัติงบกลางจะทำได้ก็ต่อเมื่อ
- เป็นรายจ่ายเพื่อป้องกัน/แก้ไขสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ
- เป็นรายจ่ายเพื่อการเยียวยา/บรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติ
- เป็นรายจ่ายที่จัดสรรงบไว้แล้ว แต่มีจำนวนไม่พอ และจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว
- เป็นรายจ่ายที่ไม่ได้จัดสรรงบไว้ แต่จำเป็นเร่งด่วนต้องทำและต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว
ทั้งนี้ เขมภัทร ทฤษฎิคุณ นักวิจัยอิสระ เคยวิเคราะห์งบกลางผ่านบทความ มหากาพย์งบประมาณรายจ่ายงบกลาง: วิธีคิดและมุมมองต่อความเหมาะสม บนเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์ ว่า งบกลางมีข้อดีคือสร้างความคล่องตัวในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้ แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่างบประมาณก้อนนี้มีความเสี่ยงในการใช้งบประมาณโดยรัฐบาล การตรวจสอบโดยรัฐสภายังมีขีดจำกัด และแม้จะมีระเบียบขั้นตอนในการเบิกจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แต่ปัญหาการตีความ ‘ความจำเป็นเร่งด่วน’ ก็ยังมีอยู่
งบกลางในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
- งบกลางปี 2567 (?) : 606,765 ล้านบาท
- งบกลางปี 2566 : 590,470 ล้านบาท
- งบกลางปี 2565 : 587,409 ล้านบาท
- งบกลางปี 2564 : 614,616 ล้านบาท
- งบกลางปี 2563 : 607,223 ล้านบาท
- งบกลางปี 2562 : 471,532 ล้านบาท
- งบกลางปี 2561 : 430,183 ล้านบาท
- งบกลางปี 2560 : 460,747 ล้านบาท
- งบกลางปี 2559 : 477,268 ล้านบาท
- งบกลางปี 2558 : 383,625 ล้านบาท
- งบกลางปี 2557 : 343,131 ล้านบาท
โดยรายละเอียด หลักๆ แล้วงบกลางประกอบจะด้วยประเภทงบประมาณรายจ่าย ดังนี้
- ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ
- ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
- ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ
- เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง
- เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ
- เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
- เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ
- เงินสมทบของลูกจ้างประจำ
- เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ
- เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
จะเห็นได้ว่าในทศวรรษที่ผ่านมา งบกลางถูกปรับเพิ่มลดแตกต่างกันไปในแต่ละปี ซึ่งหากลองเอาเลขงบกลางปี 57 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาคำนวณเทียบกับงบกลางปีปัจจุบันแล้ว พบว่ามีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความพิเศษของงบประมาณปี 2564-2566 คือ มีประเภทงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบรรเทา เยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 อยู่ในก้อนงบกลางด้วย
เมื่อเปรียบเทียบงบกลางของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 67 ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา กับงบกลางของงบประมาณปี 66 ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะพบว่างบปีนี้สูงถึง 16,295 ล้านบาท คิดเป็น 2.8% ที่เพิ่มขึ้น โดยรายการที่เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 66 คือ ค่าค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน, เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาน, และเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น นั่นจึงทำให้งบกลางถูกจับตาว่าด้วยประเด็นงบกลางที่สูงเกินไป
ขณะที่ สรรเพชญ บุญญามณี สส.ประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตถึงสัดส่วนงบกลางว่าเป็นการตีเช็คเปล่าให้นายกฯ พร้อมวิจารณ์ด้วยว่าอดีตฝ่ายค้านที่กลายเป็นรัฐบาลในวันนี้ก็เคยวิจารณ์รัฐบาลชุดก่อนว่าทำไมใช้งบกลางเยอะ แต่กลับทำแบบเดียวกันเสียเอง
อย่างไรก็ดี จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ แถลงปมงบกลางไว้เมื่อวานนี้ (4 มกราคม) กลางรัฐสภาว่า งบกลางปรับเพิ่มสูงขึ้นจริงหากดูตัวเงิน แต่งบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นยังสอดคล้องกับนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดสัดส่วนไว้ไม่เกิน 3.% และชี้แจงด้วยว่า ตามกลไกของรัฐบาลแล้ว งบกลางมีความจำเป็นในการใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชนอย่างทันท่วงที
งบปีนี้จะจบลงแบบใดคงต้องลุ้นกันต่อ เพราะขณะนี้เป็นเพียงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 67 เพียงวาระแรกเท่านั้น คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จและได้ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายอีกทีในเดือนเมษายนนี้
อ้างอิงจาก