QUOTE: “เหตุผลที่ประชากรเราไม่อยากมีลูก มันเกิดจากโครงสร้างของประเทศเราไม่เอื้ออำนวยต่อการมีลูกเลย เด็กรุ่นนี้ใช้ชีวิตกันอย่างน่าสงสาร การจัดสวัสดิการที่ดีให้พวกเขาจะช่วยให้พวกเขาตัดสินใจในการมีลูกได้ง่ายขึ้น”
ระหว่างการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 67 ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.ก้าวไกล เปิดประเด็นถึงงบประมาณที่ขาดการจัดสรรด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัว โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์วิกฤตเด็กเกิดต่ำในปัจจุบัน
ศศินันท์เสนอว่า การจะแก้ปัญหาวิกฤตเด็กเกิดต่ำควรต้องใช้งบประมาณเพื่อจัดทำสวัสดิการรับรองการเลี้ยงดูเด็กให้มากขึ้น เช่น สวัสดิการวันลาคลอดลาเลี้ยงดูบุตร 180 วัน จัดทำห้องเลี้ยงดูบุตร หรือจัดทำศูนย์เด็กเล็กที่ดีและมีมาตรฐานให้มากขึ้น เป็นต้น
สส.ก้าวไกลเสนอว่า การแก้ไขปัญหาวิกฤตเด็กเกิดต่ำไม่ใช่เพียงการบอกให้ประชาชนปั๊มลูก แต่จะต้องแก้ทั้งวงจร เพราะโครงสร้างประเทศไทยไม่เอื้ออำนวยต่อการมีลูกเลย
“ต้องแก้ครบทั้งวงจร เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เหตุผลที่ประชากรเราไม่อยากมีลูก มันเกิดจากโครงสร้างของประเทศเรามันไม่เอื้ออำนวยต่อการมีลูกเลย เด็กรุ่นนี้ใช้ชีวิตกันแบบน่าสงสาร การจัดสวัสดิการที่ดีให้พวกเขาจะช่วยให้พวกเขาตัดสินใจในการมีลูกได้ง่ายขึ้น” ศศินันท์ ระบุ
สวัสดิการที่ศศินันท์กล่าวถึงมีมากมาย เช่น วันลาคลอดเลี้ยงดูบุตร 180 วัน, จัดสรรห้องเปลี่ยนแพมเพิสที่หาง่าย, สร้างทางเท้าที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก, สร้างถนนที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก, สร้างอากาศสะอาดที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก, สร้างระบบขนส่งสาธารณะที่เอื้อกับทั้งแม่และเด็ก รวมถึงเงินอุดหนุนถ้วนหน้า ระบบการศึกษาที่ดี ถูก และไม่มีอำนาจนิยมในนั้น เป็นต้น
“กระดุมเม็ดเดียวที่ท่านติดผิด ท่านจะใช้งบประมาณแบบไร้ประโยชน์ ไม่เกิดผลลัพธ์ ไม่มีแนวโน้มจะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น” ศศินันท์ระบุ จากนั้น เธอเสนอการบ้านให้รัฐบาลทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่
- รัฐบาลควรให้สิทธิลาคลอด-ลาเลี้ยงดูลูก 180 วันแก่ผู้ปกครอง โดยที่ยังได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนตลอดวันลาลา
- รัฐบาลต้องลงทุนสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า
- รัฐบาลต้องลงทุนส่งเสริมสวัสดิการที่เอื้อต่อการมีลูก นอกจากการขอให้ปั๊มลูกอย่างเดียว ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม อนามัย และสนับสนุนห้องนมแม่ การให้นมแม่ และห้องเปลี่ยนแพมเพิส
- รัฐบาลต้องสร้างและพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก day care ให้ครอบคลุมทุกช่วงอายุ มีมากขึ้น และมีมาตรฐาน
“ถ้ารัฐบาลยังจัดงบโดยไม่เข้าใจว่าวิกฤตเด็กเกิดต่ำเป็นอนาคตของวิกฤตประเทศ การตัดใจไม่มีลูกของคนวันนี้ จะเป็นเสียงสะท้อนความไม่พอใจของพวกเขาได้ดีที่สุด ว่ารัฐบาลยังใช้ภาษีอย่างไม่คุ้มค่าเงินของเขา เพราะไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากให้ลูกอยู่ในประเทศที่ไร้ซึ่งความหวังแบบนี้” ศศินันท์ ทิ้งท้าย