ในวันนี้ (8 มิถุนายน) ประเทศไทยเข้าสู่วันที่ 100 ของการฉีดวัคซีนแล้ว หลังจากที่เริ่มฉีดกันมาตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้ใช้วัคซีนของ Sinovac และ AstraZeneca ฉีดให้แก่ประชาชนเป็นหลัก
The MATTER จะพาคุณทบทวนสถิติการฉีดวัคซีนของไทย ว่าในรอบ 100 วันที่ผ่านมาว่า ประเทศของเราดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนไปถึงไหนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไทยเริ่มมีวัคซีนฉีดให้แก่ประชาชนในวงกว้าง เมื่อวานที่ผ่านมา (7 มิถุนายน)
ไทยฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนทั้งประเทศเท่าไหร่แล้ว
นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ (ให้กับคณะรัฐมนตรี) ประเทศเราก็ได้ชะลอการฉีดวัคซีน โดยส่วนใหญ่เร่งฉีดให้เฉพาะประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น คลัสเตอร์ใหม่ๆ หรือกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น ก่อนที่ในช่วงเดือนเมษายน จะเกิดการระบาดในคลัสเตอร์สถานบันเทิง ซึ่งเป็นต้นเหตุของการระบาดในระลอกล่าสุด และเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบ COVID-19 สายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) ในประเทศไทย
กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เริ่มนโยบายปูพรมฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างจริงจัง โดยเน้นที่กลุ่มเสี่ยง ก่อนจะกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ จนมาถึงวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ 100 ของการฉีดวัคซีน รัฐบาลสามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ในพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีสถิติการฉีดล่าสุด (7 มิถุนายน) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 4,634,941 โดส โดยคิดเป็น
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 3,243,913 โดส หรือคิดเป็น 4.90 เปอร์เซ็นต์
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1,391,028 โดส หรือคิดเป็น 2.10 เปอร์เซ็นต์
ส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไรกันบ้าง ?
แม้ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะยืนยันว่าประเทศไทยไม่ได้ ‘แทงม้า’ ตัวเดียว และเปิดกว้างวัคซีนมาโดยตลอด พร้อมทั้งยังให้เหตุผลที่ไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ว่า ไม่สามารถเลือกวัคซีนได้ แต่จนแล้วจนรอด มาถึงวันนี้ ประชาชนก็ยังมีวัคซีนเพียงแค่ 2 ตัว นั่นคือ Sinovac และ AstraZeneca แถมวัคซีนตัวหลัง มีทีท่าว่าจะไม่เพียงพอจนผู้สูงอายุหลายคนต้องหันไปฉีดวัคซีน Sinovac นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประชาชนได้ฉีดรับวัคซีนไม่ตรงปก
ตลอดช่วง 100 วันในการฉีดวัคซีน ไทยมีวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรจาก 2 บริษัทรวม 5,090,249 โดส โดยแบ่งเป็น Sinovac จำนวน 4,761,779 โดส และ AstraZeneca จำนวน 328,470 โดส ซึ่งสัดส่วนการฉีด มีดังนี้
วัคซีนของ Sinovac
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 2,607,483 โดส
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1,222,456 โดส
วัคซีนของ AstraZeneca
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 120,276 โดส
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 11,374 โดส
ทั้งนี้ อนุทินยังกล่าวอีกว่า ประชาชนไม่สามารถได้ว่าอยากจะฉีดวัคซีนของบริษัทไหน เนื่องจากวัคซีนจะถูกจัดให้ตามความเหมาะสมของผู้ได้รับ ตามเกณฑ์อายุ กลุ่มเสี่ยง โดยอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า “ประชาชนทั่วไปไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบว่าจะฉีดวัคซีน Sinovac หรือ AstraZeneca เพราะทุกคนจะได้รับวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดความปลอดภัยเทียบเท่ากันหมด และยืนยันว่าวัคซีนที่เข้ามาในประเทศไทยทุกยี่ห้อ มีคณะกรรมการตรวจสอบความปลอดภัยอยู่แล้ว”
5 จังหวัดที่มียอดฉีดวัคซีนมากที่สุด
“เปิดให้จองวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม”, “ชะลอการใช้ของวัคซีนผ่านหมอพร้อม”, “ประชาชนสามารถ Walk In ฉีดวัคซีนได้ทุกจุดฉีดทั่วประเทศ”, “ยกเลิกการฉีดวัคซีนแบบ Walk In เปลี่ยนมาเป็น On-site” ข่าวสารเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนได้ยินมาบ้าง และอาจทำให้ประชาชนสับสนอยู่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่มีการเปิดจองวัคซีน โดยรัฐบาลกล่าวอ้างว่า การปรับเปลี่ยนแผนต่างๆ เป็นไปเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และเพื่อก่อให้เกิดการกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละพื้นที่ที่สุด
หลังจากที่รัฐบาลได้ปรับแผนกระจายวัคซีน โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มเสี่ยง และพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว จึงทำให้หลายจังหวัดได้รับการกระจายวัคซีน ในสัดส่วนที่มากกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยมีสถิติ 5 จังหวัด ที่ได้รับการฉีดวัคซีนมากที่สุด นับตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีน ดังนี้
1. กรุงเทพฯ
- ฉีดทั้งหมด 672,376 โดส
- เปอร์เซ็นต์ผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 : 8.8 เปอร์เซ็นต์
- เปอร์เซ็นต์ผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 : 3.15 เปอร์เซ็นต์
2. ภูเก็ต
- ฉีดทั้งหมด 278,530 โดส
- เปอร์เซ็นต์ผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 : 44.51 เปอร์เซ็นต์
- เปอร์เซ็นต์ผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 : 22.7 เปอร์เซ็นต์
3. สมุทรสาคร
- ฉีดทั้งหมด 220,665 โดส
- เปอร์เซ็นต์ผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 : 21.28 เปอร์เซ็นต์
- เปอร์เซ็นต์ผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 : 16.36 เปอร์เซ็นต์
4. ชลบุรี
- ฉีดทั้งหมด 119,985 โดส
- เปอร์เซ็นต์ผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 : 5.76 เปอร์เซ็นต์
- เปอร์เซ็นต์ผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 : 1.9 เปอร์เซ็นต์
5. นนทบุรี
- ฉีดทั้งหมด 108,423 โดส
- เปอร์เซ็นต์ผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 : 6.34 เปอร์เซ็นต์
- เปอร์เซ็นต์ผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 : 2.23 เปอร์เซ็นต์
เป้า 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี ต้องทำอย่างไรถึงจะบรรลุ
ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้ประชากรอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 50 ล้านคน จะต้องได้ฉีดวัคซีนภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งต้องใช้วัคซีนทั้งหมด 100 ล้านโดส จึงจะทำให้ไทยถึงเป้าหมายได้
ขณะที่สถิติในวันนี้ ไทยมีการฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 4,634,941 โดส หากนับจากวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2564 จนถึงสิ้นปี หรือ 31 ธันวาคม พ.ศ.2564 ประเทศไทยจะมีเวลาเหลือ 207 วัน และหากต้องการไปให้ถึงเป้าหมาย 100 ล้านโดส ไทยจะต้องฉีดวัคซีน 460,701 โดสต่อวัน หรือ 15,894,177 โดสต่อเดือน จึงสำเร็จได้ทันในสิ้นปี
คำถามที่ตามมาคือ ประเทศเราจะฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายที่นายกฯ วางไว้ได้จริงหรือ โดยเฉพาะเมื่อดูจากสถิติในช่วง 100 วันที่ผ่านมา ไทยฉีดได้เพียงราวๆ 4 ล้านโดสเท่านั้น นั่นหมายความว่า หากยังฉีดวัคซีนตามแนวทางเช่นนี้ต่อไป อาจต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปีถึงจะฉีดวัคซีนได้ 100 ล้านโดส
เมื่อลองไปสำรวจการฉีดวัคซีนในช่วง 100 วันแรกของหลายๆ ประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีน ให้ประชาชนจนสามารถกลับมาใช้ชีวิต (เกือบ) ปกติได้ จะพบว่า รัฐบาลนั้นๆ ให้ความสำคัญกับวัคซีนมาตั้งแต่ต้น เช่น อิสราเอลที่เริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรก ให้ประชาชนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2563 จนกระทั่งครบรอบ 100 วัน ในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2564 ที่มีประชาชนได้รับวัคซีนเข็มแรกถึง 57.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีผู้ฉีดวัคซีนได้เข็มที่ 2 ถึง 52.2 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่สหรัฐฯ เริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรก เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2563 และครบรอบ 100 วัน ไปในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2564 ซึ่งขณะนั้น สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนได้ 25.6 เปอร์เซ็นต์ และฉีดเข็มที่ 2 ได้ 13.9 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีน 200 ล้านโดส ในเวลา 100 วันหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และการให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนให้ประชาชน จนท้ายที่สุด 2 ประเทศที่กล่าวมาข้างต้น สามารถปลดล็อกมาตรการเข้มงวดต่างๆ และเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติได้บ้างแล้ว
ตลอดระยะเวลา 1 ปีกว่า ที่ประเทศไทยของเราต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของ COVID-19 ประชาชนเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตามมาตรการการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ปิดร้านตามคำสั่งของรัฐ แม้ไม่ได้รับการเยียวยา เพื่อให้ประเทศกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว แต่ตัวอย่างจากประเทศต่างๆ แสดงให้เห็นแล้วว่า ‘วัคซีน’ คือ คำตอบ และทางออกของวิกฤตการณ์ครั้งนี้ มากกว่ามาตรการเฉพาะหน้าแบบปิดๆ เปิดๆ
อ้างอิงจาก
https://www.mhesi.go.th/index.php/all-media/infographic/3751-56643.html
https://www.mhesi.go.th/index.php/content_page/item/3761-76642.html
https://www.prachachat.net/politics/news-662845
https://news.google.com/covid19/map?hl=th&state=7&mid=/m/03spz&gl=TH&ceid=TH:th
https://www.bbc.com/news/world-55514243
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-55305720
https://news.google.com/covid19/map?hl=th&mid=/m/09c7w0&state=7&gl=TH&ceid=TH:th
https://www.nbcnews.com/politics/white-house/150-million-vaccinations-tracker-biden-goal-n1255716
https://www.prachachat.net/spinoff/health/news-659443