บุคคลข้ามเพศในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ผ่านการแปลงเพศมาแล้ว ยังคงต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆ ในการใช้ชีวิต ถึงแม้พวกเขาเหล่านี้จะได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่เรื่องสิทธิเสรีภาพในฐานะคนไทยคนหนึ่งนั้น กลับยังมีช่องโหว่อยู่พอสมควร
“สังคมไทยเริ่มยอมรับความหลากหลายทางเพศ ขณะที่การแพทย์ก็สามารถทำการเปลี่ยนแปลงเพศที่ต้องการได้ เหลือแต่เพียงการรับรองทางเอกสารตามกฎหมาย อย่างบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง ที่ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนคำนำหน้าตามเพศสภาพที่แท้จริง” กล่าวโดย จักรพงศ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท JKN Global Media จำกัด (มหาชน) และผู้ก่อตั้งมูลนิธิข้ามเพศบันดาลใจ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวแทนของมูลนิธิข้ามเพศบันดาลใจ หรือ LIFT Foundation นำโดย ยลดา สวนยศ นายกสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทย และ เจินเจิน บุญสูงเนิน ประธานอำนวยการมูลนิธิข้ามเพศบันดาลใจ เข้ายื่นร่าง พ.ร.บ. รับรองสิทธิหลังการแปลงเพศ ผ่าน แทนคุณ จิตรอิสระ เลขานุการคณะทำงาน เพื่อนำไปส่งต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะเข้าสู่ขั้นตอนตรวจสอบรายละเอียด โดยใช้เวลา 15 วันนับตั้งแต่วันยื่น มูลนิธิข้ามเพศบันดาลใจระบุว่า จะพร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมลงชื่อสนับสนุนเพื่อให้ครบ 10,000 รายชื่อ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 นี้ ก่อนที่จะไปสู่กระบวนการยื่นเสนอเป็นกฎหมายต่อไป
เป้าหมายของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ คืออะไร?
ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เกิดขึ้นมาเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับคนไทยทุกคน และลดข้อจำกัดในการใช้ชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการแต่งกาย การประกอบอาชีพ การเกณฑ์ทหาร การเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ การใช้ชีวิตคู่ หรือการทำนิติกรรมต่างๆ ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นมาตลอดเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ยังต้องการสนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชน บนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้คนไทยที่ผ่านการแปลงเพศมีสิทธิเสรีภาพ เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป
ยลดากล่าวว่า ไม่ได้จะมากดดันหรือผลิตซ้ำปัญหาของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่มาเพื่อร่วมมือในการร่างกฎหมายให้ทุกเพศสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม และเข้าใจปัญหาตามหลักสากล ภายในหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาในอนาคต
สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีอะไรบ้าง?
ในขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. รับรองสิทธิหลังแปลงเพศ ยังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบรายละเอียด จึงยังไม่สามารถเข้าไปศึกษาอ่านดูได้โดยตรง แต่แทนคุณ ได้อธิบายถึงสาระสำคัญบางส่วนไว้ ดังนี้
-กำหนดให้บุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการแปลงเพศ ขอจดทะเบียนแปลงเพศต่อนายทะเบียนได้
-กำหนดให้บุคคลเพศชายและหญิงที่แปลงเพศแล้ว สามารถขอเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ตรงกับเพศสภาพหลังการแปลงเพศได้
-แก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้การทำธุรกรรมและนิติกรรมของคู่สมรสไม่ระบุเฉพาะคู่สมรสชายหญิงเท่านั้น
-ให้สิทธิคู่สมรสทราบเพศแท้ก่อนการสมรส
ความพยายามที่มีอยู่เรื่อยมา
การยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ. รับรองสิทธิหลังการแปลงเพศ ไม่ใช่ครั้งแรกที่บุคคลข้ามเพศพยายามเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม เมื่อราว 2 เดือนก่อน ณิชนัจทน์ สุดลาภา ผู้ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิงแล้ว ในฐานะตัวแทนของมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้สร้างแคมเปญรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org เพื่อรวบรวมรายชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. เปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศในข้อมูลทะเบียนราษฎร มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถยื่นขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศในทะเบียนราษฎร ต่อนายทะเบียน ในท้องที่ที่ตนมีชื่อยู่ในทะเบียนบ้าน โดยไม่ต้องขอใบรับรองแพทย์
2.นายทะเบียนมีหน้าที่เปลี่ยนข้อมูลเพศให้ตามเจตจำนงของผู้ร้อง โดยใช้ดุลพินิจน้อยที่สุด
3.การเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศดังกล่าวไม่ตัดสิทธิที่มีตั้งแต่เพศเดิม ยกเว้นการเกณฑ์ทหารสำหรับชายที่เปลี่ยนเป็นหญิง เนื่องจากเปลี่ยนข้อมูลเพศก่อนการขึ้นทะเบียนทหารแล้ว ส่วนหญิงที่เปลี่ยนเป็นชายก็ไม่ได้เป็นสิทธิที่มีมาตั้งแต่ต้น
4.การแก้ไขข้อมูลเพศสามารถแก้ถึงใบเกิดได้ แต่ยังมีการบันทึกข้อมูลเดิมอยู่ รวมถึงข้อมูลนิติกรรม สัญญา อาชญากรรม แต่เรื่องเพศจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ มีการจำกัดบุคคลที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเพศ
5.ผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศในข้อมูลทะเบียนราษฎรแล้ว สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าวเป็นเพศเดิมได้
ณิชนัจทน์ เล่าประสบการณ์ของเธอผ่านหน้าเว็บไซต์ change.org ว่าเธอถูกล้อเลียน รวมถึงถูกปฏิเสธการเข้ารับบริการจากสถานบันเทิง และโรงแรมต่างๆ เพียงเพราะสภาพร่างกายแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด
ที่มากไปกว่านั้น คำว่า ‘นาย’ ที่พิมพ์อยู่บนบัตรประชาชนของเธอ ทำให้เธอต้องเจอกับปัญหาการตรวจคนเข้าเมือง ถ่ายรูปต่อใบขับขี่ก็ถูกบังคับให้รวบผมเพื่อไม่ให้เห็นว่าผมยาว และการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลรัฐ ที่เธอถูกส่งให้ไปอยู่ห้องพักผู้ป่วยรวมชาย
เธอรู้สึกว่าเธอถูกเลือกปฏิบัติอยู่เสมอ เพียงเพราะสิ่งที่เธอเป็น และการที่คำระบุเพศไม่สอดคล้องกับเพศสภาพของเธอ กลายเป็นความเจ็บปวดที่สะสมเรื่อยมา นำมาสู่การผลักดันในเรื่องนี้
หรืออาจเป็นที่บริบทของสังคมไทยเองหรือเปล่า จึงยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน
การมีอัตลักษณ์ทางเพศ ที่แตกต่างกับเพศโดยกำเนิด ถูกนำไปโยงกับเรื่องความเหมาะสมอยู่เรื่อยๆ อย่างในแง่อาชีพการทำงานเป็นต้น เช่น อาชีพข้าราชการ และครู ซึ่งมีเรื่องของระเบียบค่อนข้างเยอะ ดังนั้นการจะแต่งกายตามเพศสภาพของตัวเอง หรือเปิดเผยตัวตน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นัก
เมื่อไม่นานมานี้เอง ก็เพิ่งมีกรณีของครูข้ามเพศในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่ถูกประเมินผลงานต่ำมาก และอาจถูกให้ออกจากราชการ เพราะยืนยันที่จะแต่งกายตามเพศสภาพของตน
อย่างไรก็ตาม สังคมไทยเราในตอนนี้ก็เปิดใจรับความหลากหลายมากขึ้นแล้ว คนข้ามเพศหรือเพศที่สามไม่ได้ถูกมองเป็นเพียงแค่กลุ่มคนที่สร้างสีสันอีกต่อไป เหลือเพียงสิทธิทางด้านกฎหมายบางประการ ที่รอการมาเติมเต็มเพื่อให้พวกเขาได้รับความเท่าเทียม อย่างที่พวกเขาควรจะได้
อ้างอิงข้อมูลจาก