ใครๆ ก็อยากพาไทยไปเวทีโลก
ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการพบปะกับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 14 กันยายน ว่า “ผมเชื่อมั่นว่าภายใต้การบริหารราชการของนายกรัฐมนตรี จะนำพาประเทศไทยให้กลับมามีบทบาทในเวทีโลกได้มากขึ้น”
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็เพิ่งแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน ในทำนองเดียวกันว่า “รัฐบาลจะสร้างบทบาทในเวทีโลก ให้ความสําคัญกับการดําเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ อย่างสมดุล ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศเป็นสําคัญ”
ทั้งเศรษฐาและปานปรีย์ ขณะนี้ก็กำลังอยู่ในระหว่างการเยือนนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly หรือ UNGA) ครั้งที่ 78 ตามกำหนดการในวันที่ 18-24 กันยายนนี้ด้วย
หรือว่าไทยจะกลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้ง?
แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น The MATTER ชวนย้อนกลับมาดูก่อนว่า โลกมองไทยว่าอย่างไร ผ่านการจัดอันดับ หรือดัชนีต่างๆ ในช่วงปี 2022-2023 ที่ได้รับความน่าเชื่อถือจากการนำมารายงานโดยสื่อมวลชนทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานรัฐของไทย ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ
ถ้าเปรียบประเทศไทยเป็นนักเรียน นี่ก็คือผลการเรียนจากการประเมินของสายตาโลก ที่การบริหารภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทิ้งไว้ให้รัฐบาลเศรษฐารับช่วงต่อ – จะตัดเกรดน้องไทยแลนด์เท่าไหร่ดี เราไปดูเพอร์ฟอร์แมนซ์ของน้องเขากันก่อนดีกว่า
ประชาธิปไตย
อันดับ 55 จาก 167 ประเทศ
ได้ 6.67 เต็ม 10 คะแนน
ดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) ของสื่ออังกฤษ The Economist เป็นที่จับตามองอยู่เสมอในแต่ละปี (ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลไทย) ซึ่งในปีล่าสุด คือ 2022 ไทยเราก็ได้อันดับที่ 55 จากทั้งหมด 167 ประเทศ จัดอยู่ในกลุ่ม ‘ประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์’ (flawed democracy)
คะแนนรวม 6.67 เต็ม 10 คะแนน มาจากการคำนวณคะแนน 5 หมวดหมู่ คือ กระบวนการเลือกตั้งและความเป็นพหุนิยม (electoral process and pluralism) การทำงานของรัฐบาล (functioning of government) การมีส่วนร่วมทางการเมือง (political participation) วัฒนธรรมทางการเมือง (political culture) เสรีภาพพลเมือง (civil liberties) ซึ่งใน 5 หมวดหมู่นี้ คะแนนของไทยมีตั้งแต่ 5.88 จนถึง 7.42 เต็ม 10 คะแนน
แต่ก็ยังมีเรื่องให้ปลอบใจ เพราะไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีพัฒนาการมากที่สุด กระโดดขึ้นมา 19 อันดับจากปีก่อนหน้า The Economist ชี้ว่า เป็นเพราะ “พื้นที่ทางการเมืองที่เปิดกว้างขึ้นสำหรับพรรคฝ่ายค้านของประเทศ การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มากขึ้น และภัยที่น้อยลงจากขบวนการแบ่งแยกดินแดน”
หลักนิติธรรม
อันดับ 80 จาก 140 ประเทศ
ได้ 0.50 เต็ม 1.00 คะแนน
World Justice Project (WJP) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระหว่างประเทศ ได้จัดทำดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) อยู่ทุกปี เพื่อวัดว่า แต่ละประเทศทำตามหลักนิติธรรมมากน้อยแค่ไหน และเมื่อปี 2022 ก็พบว่า ไทยยึดหลักนิติธรรมแบบครึ่งๆ กลางๆ ด้วยคะแนน 0.50 เต็ม 1.00 ทำให้ได้อันดับที่ 80 จาก 140 ประเทศ
หมวดหมู่ที่ไทยดูจะยึดหลักนิติธรรมมากที่สุด ก็คือ ระเบียบและความมั่นคง (order and security) ซึ่งได้คะแนน 0.74 เต็ม 1.00 หมวดหมู่อื่นๆ อีก 6 หมวด ถือว่ากลางๆ ส่วนที่แย่ที่สุด คือ กระบวนการยุติธรรมทางอาญา (criminal justice) ที่ได้แค่ 0.42 เต็ม 1.00 คะแนน
ไทยได้คะแนนเท่าเดิม และอันดับเท่าเดิม เทียบกับปีก่อนหน้า คือ 2021 แต่ก็ถือว่าตกลงมาเยอะ จากอันดับที่ 71 ในปี 2020 ก็ต้องมาดูกันว่า ภายใต้รัฐบาลใหม่ อันดับของไทยจะกระเตื้องขึ้นบ้างหรือเปล่า
พาสปอร์ตทรงอิทธิพล
อันดับ 69 จาก 199 ประเทศ/ดินแดน
ได้ 79 เต็ม 227 คะแนน
นี่เป็นการจัดอันดับง่ายๆ โดยบริษัทที่ปรึกษาในอังกฤษ Henley & Partners ว่า พาสปอร์ตของแต่ละประเทศหรือดินแดน สามารถใช้เข้าถึงปลายทางทั้งหมด 227 ได้กี่แห่งโดยไม่ต้องขอวีซ่า และด้วยความที่พาสปอร์ตไทยได้ฟรีวีซ่าเพียง 79 แห่ง ก็เลยได้ตำแหน่งที่ 69 ไปครอง
พาสปอร์ตไทยถือว่าห่างชั้นกับประเทศใกล้เคียงในอาเซียนอย่างสิงคโปร์อยู่มาก ซึ่งเมื่อปี 2023 ก็ได้ขึ้นแท่นอันดับ 1 ด้วยพลังฟรีวีซ่าเข้าถึงได้ 193 ประเทศ/ดินแดน และถือว่าเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับประเทศญี่ปุ่น ที่สลับกันเป็นอันดับ 1 ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
ความสุข
อันดับ 60 จาก 137 ประเทศ
ได้ 5.843 เต็ม 10 คะแนน
อาจเกิดคำถามว่า ความสุขวัดกันได้ด้วยเหรอ? แต่รายงานความสุขโลก (World Happiness Report) ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network หรือ SDSN) ภายใต้ UN ก็น่าจะพอเป็นแนวทางคร่าวๆ ที่ทำให้เห็นภาพการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่ละประเทศได้มากขึ้น
คะแนนเฉลี่ย 5.843 ของไทย ได้จากการทำแบบสำรวจความสุข ที่เรียกว่า บันไดแคนทริล (Cantril ladder) ของคนในประเทศ จากนั้นนำมาวิเคราะห์ร่วมกับ 6 ตัวแปร คือ การสนับสนุนทางสังคม, อายุขัยคาดเฉลี่ย, เสรีภาพในการเลือกในชีวิต, ความเอื้ออาทร, GDP ต่อหัว และการรับรู้ทุจริต
ในดัชนีความสุข หลายคนอาจจะจดจำได้ว่า ฟินแลนด์คือประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก ซึ่งก็ได้อันดับ 1 ในรายงานของ SDSN มา 6 ปีติดต่อกันแล้ว ด้วยคะแนนเฉลี่ย 7.804 ส่วนในอาเซียน ประเทศที่มีอันดับดีที่สุด คือ สิงคโปร์ ด้วยคะแนน 6.587 ที่อันดับ 25
ซอฟต์พาวเวอร์
อันดับ 60 จาก 137 ประเทศ
ได้ 5.843 เต็ม 10 คะแนน
ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่า สรุปแล้ว ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (soft power) หมายถึงอะไรกันแน่ ขณะเดียวกัน Brand Finance บริษัทที่ปรึกษาด้านแบรนด์ในอังกฤษ ก็จัดทำดัชนีซอฟต์พาวเวอร์โลก (Global Soft Power Index) มาแล้วหลายปี โดยจัดอันดับเพื่อศึกษาการรับรู้ ‘แบรนด์ประจำชาติ’ (national brand) ของแต่ละประเทศ
ในดัชนีปี 2023 ไทยถูกจัดอันดับไว้ที่ 41 ด้วยคะแนน 42.4 เต็ม 100 ถือว่าตกต่ำลงจากปี 2022 พอสมควร ซึ่งเคยได้อันดับที่ 35 แม้คะแนนในปีนั้นจะน้อยกว่า คือ 40.2 จาก 100 คะแนนก็ตาม
น่าสนใจว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งโดยนายกฯ เศรษฐา จะนำพาประเทศไทยไปในทิศทางไหนในเรื่องนี้
ความเท่าเทียมทางเพศ
อันดับ 74 จาก 146 ประเทศ
ได้ 0.711 เต็ม 1.000 คะแนน
ในแต่ละปี สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum หรือ WEF) จะเผยแพร่รายงานสถานการณ์ช่องว่างระหว่างเพศระดับโลก (Global Gender Gap Index)
โดยเปรียบเทียบช่องวางทางเพศของแต่ละประเทศ ใน 4 มิติ คือ โอกาสและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ (economic participation and opportunity) การได้รับการศึกษา (educational attainment) สุขภาพและการมีชีวิตรอด (health and survival) และอำนาจทางการเมือง (political empowerment)
สำหรับดัชนีปี 2023 ไทยได้คะแนนเฉลี่ย 0.711 เต็ม 1.000 คะแนน ทำให้อยู่ในอันดับที่ 74 จากทั้งหมด 146 ประเทศ แง่มุมที่ไทยได้คะแนนสูง คือ เรื่องการศึกษาและสาธารณสุข (ได้คะแนน 0.964 และ 0.970 ตามลำดับ) ตรงกันข้ามแง่มุมเรื่องการเมืองที่ได้คะแนนน้อยสุด ที่ 0.309 คะแนน ขณะที่ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ อยู่ที่ 0.715 คะแนน
น่าสนใจว่า ประเทศที่จองอันดับแรกๆ ของดัชนี ก็หนีไม่พ้นประเทศในแถบนอร์ดิก โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และฟินแลนด์ ที่น่าสังเกตคือ ญี่ปุ่นได้อันดับที่ 125 ของโลก ต่ำกว่าไทยเสียเอง และเป็นอันดับสุดท้ายของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งรายงานของ WEF ก็ระบุว่า ภูมิภาคนี้อาจต้องใช้เวลาถึง 189 ปี ในการอุดช่องว่าง และมีความเสมอภาคทางเพศได้อย่างแท้จริง
ทุจริต
อันดับ 101 จาก 180 ประเทศ
ได้ 36 เต็ม 100 คะแนน
ดัชนีการรับรู้ทุจิต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) เป็นดัชนีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของไทย นำมารายงานอยู่ทุกปี
ในดัชนีปีล่าสุด คือ 2022 ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 36 เต็ม 100 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 101 จาก 180 ประเทศ ถือว่าดีขึ้นเล็กน้อยจากปี 2021 ที่ได้ 35 คะแนน และอันดับที่ 110
‘การรับรู้ทุจริต’ หมายถึงอะไร? องค์กร TI อธิบายว่า ดัชนี้ เป็นการจัดอันดับแต่ละประเทศว่า มีการทุจริตในภาครัฐ ที่สามารถรับรู้ได้ เป็นระดับเท่าไหร่ โดยเรียงจาก 0 คะแนน คือ ทุจริตมาก ไปจนถึง 100 คะแนน คือ ขาวสะอาด
เสรีภาพสื่อ
อันดับ 106 จาก 180 ประเทศ
ได้ 55.24 เต็ม 100 คะแนน
อีกหนึ่งดัชนีที่น่าจับตามอง คือ ดัชนีเสรีภาพสื่อโลก (World Press Freedom Index) ซึ่งในปี 2023 ไทยถูกจัดไว้ที่อันดับ 106 จาก 180 ด้วยคะแนนรวม 55.24 เต็ม 100 คะแนน ถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศ ‘สถานการณ์มีปัญหา’ (problematic situation) หรือระดับเดียวกับประเทศอย่าง มาเลเซีย ภูฏาน เนปาล มองโกเลีย บราซิล หรืออีกหลายๆ ประเทศในยุโรปตะวันออก เช่น กรีซ และยูเครน เป็นต้น
องค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporters Without Border หรือตัวย่อ RSF ซึ่งมาจากภาษาฝรั่งเศส) ผู้จัดทำดัชนี อธิบายภูมิทัศน์สื่อภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ว่า สื่อต้องเจอกับอุปสรรคหลายปัจจัย เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ถือว่ากดเพดานการทำข่าวอย่างถาวร รวมไปถึงกฎหมายอื่นๆ อย่างกฎหมายหมิ่นประมาท หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ว่า สำนักข่าวชั้นนำหลายแห่งของไทย มีเจ้าของคือ ‘กลุ่มผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง’ (RSF ใช้คำว่า ‘oligarchs’) ที่มีความเชื่อมโยงกับราชวงศ์ กองทัพ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง แม้จะมีภาพลักษณ์ที่เป็นอิสระจากรัฐบาลก็ตาม RSF อธิบายต่อไปว่า ขณะเดียวกัน สื่อฝั่งตรงข้ามก็มาจากเงินทุนของนักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร
ก็น่าคิดต่อไปว่า สถานการณ์ของเสรีภาพสื่อภายใต้รัฐบาลเศรษฐาจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน?
ทักษะภาษาอังกฤษ
อันดับ 97 จาก 111 ประเทศ
ได้ 423 เต็ม 800 คะแนน
เป็นภาพจำที่มีมานานว่าคนไทยไม่เก่งภาษาอังกฤษ ซึ่งยิ่งได้รับการตอกย้ำในการจัดดัชนีทักษะความสามารถด้านภาษาอังกฤษ (English Proficiency Index) โดยสถาบันสอนภาษาอังกฤษ EF Education First หรือ EF ที่จัดให้ไทยได้อันดับที่ 97 จาก 111 ประเทศ ในปี 2022 ถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศ ‘ทักษะภาษาอังกฤษต่ำมาก’ (very low proficiency)
ถ้าเจาะลึกกว่านั้น EF ยังจัดอันดับจังหวัดในไทยตามทักษะภาษาอังกฤษให้ด้วย ซึ่งพบว่า จังหวัดที่ทำคะแนนได้สูงสุด 3 อันดับแรก ถือว่าเป็นหัวเมืองใหญ่ คือ นนทบุรี (486 คะแนน) กรุงเทพฯ (483 คะแนน) และเชียงใหม่ (457 คะแนน) ตามลำดับ
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสังเกต คือ ไทยเคยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศทักษะภาษาอังกฤษ ‘ต่ำ’ (low) อยู่ 2 ปี ในปี 2017 และ 2018 แต่ปรากฏว่า ใน 4 ปีล่าสุด คือ 2019, 2020, 2021 และ 2022 ก็ถูกลดระดับลงมาเหลือแค่ ‘ต่ำมาก’ (very low) แทน
ร่ายยาวกันมาแบบนี้ เราจะให้เกรดเฉลี่ยประเทศไทยเท่าไหร่ดี – ดีมาก ดี พอใช้ ควรปรับปรุง – หรือสอบตก?