“การดื่มสุรา เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน”
“การดื่มสุรา ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้”
“การดื่มสุรา ทำให้ขาดสติและเสียชีวิตได้”
เหล่านี้คือข้อความที่จะไปอยู่บนขวดแอลกอฮอล์ทุกขวดที่วางขายในประเทศไทย หาก ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. …. ผ่านการพิจารณา
และไม่ใช่แค่นั้น สิ่งที่จะตามมาด้วย คือ รูปภาพเตือนที่หลายคนมองว่า ‘น่ากลัว’ เช่น ภาพความรุนแรงในครอบครัว อุบัติเหตุรถยนต์ร้ายแรง หรือกระทั่งรูปเท้าคนลอยจากพื้น ที่น่าจะสื่อถึงการฆ่าตัวตาย เหล่านี้เป็นภาพจะต้องนำมาติดบนภาชนะบรรจุแอลกอฮอล์ ในสัดส่วน 30-50% ของพื้นที่ แล้วแต่รูปทรงของภาชนะ
นั่นจึงทำให้หลายฝ่ายออกมาคัดค้านร่างประกาศดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ผู้ประกอบการ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ผู้ผลิตไวน์ และนักวิชาการ ที่ได้มายื่นหนังสือคัดค้านต่อประธานกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาเศรษฐกิจ และประธาน กมธ.สาธารณสุข ของสภาฯ
ขณะที่กรมควบคุมโรคเอง ก็เปิดเผยว่า ประชาชนที่มาแสดงความคิดเห็น มีถึง 87% ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศ
ร่างประกาศนี้บังคับให้ติดรูปภาพอะไรบ้าง? แล้วสังคมมองเรื่องนี้อย่างไร? The MATTER ชวนสำรวจร่างประกาศดังกล่าว ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการรับฟังความคิดเห็น และสิ้นสุดลงวันนี้ (29 กุมภาพันธ์) ก่อนจะนำเสนอตามขั้นตอนพิจารณาต่อไป
ต้องใส่ข้อความ-รูปภาพอะไรบ้าง?
ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ฉบับล่าสุด กำหนดให้มีข้อความเตือนว่า “การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี มีโทษจำคุกและปรับ” และ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้”
ร่างประกาศกำหนดว่าข้อความดังกล่าวต้องใช้ฟอนต์ Angsana New หรืออื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน เป็นตัวหนา และเป็นตัวอักษรสีขาวบนพื้นสีดำเข้ม
แต่อีกส่วนที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม คือ ส่วนที่กำหนดให้มีข้อความเตือน พร้อมกับรูปภาพ ถึงโทษและพิษภัยต่างๆ ของแอลกอฮอล์ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นภาพที่ ‘น่ากลัว’
มากไปกว่านั้น ร่างประกาศดังกล่าว ยังกำหนดสัดส่วนของข้อความและรูปภาพ ในขนาดที่อาจถูกมองว่ามากเกินไปด้วย กล่าวคือ ถ้าเป็นภาชนะหรือหีบห่อทรงสี่เหลี่ยม ข้อความต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50% ของด้านที่มีพื้นที่มากที่สุด ส่วน ภาชนะหรือหีบห่อทรงกลม ทรงกระบอก และอื่นๆ ข้อความต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ผิวทั้งหมด
สำหรับข้อความและรูปภาพเตือนที่กำหนด ในร่างประกาศระบุไว้ 9 แบบ ซึ่งเราพอจะจำแนกได้เป็น 3 ประเด็นหลักๆ
- ประเด็นสุขภาพ-สมรรถภาพทางเพศ
- “การดื่มสุรา ก่อให้เกิดโรคตับแข็งได้”
- “การดื่มสุรา ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้”
- “การดื่มสุรา เป็นอันตรายต่อสตรีมีครรภ์และเด็กในครรภ์มารดา”
- “การดื่มสุรา ก่อให้เกิดโรคหัวใจได้”
- “การดื่มสุรา ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมองไ้”
- ประเด็นอุบัติเหตุการขับขี่
- “การดื่มสุราแล้วขับขี่ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ความพิการ และความตายได้”
- ประเด็นทางสังคม-ศีลธรรม
- “การดื่มสุรา ทำให้ขาดสติและเสียชีวิตได้”
- “การดื่มสุรา ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้”
- “การดื่มสุรา เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน”
จะเห็นว่า นอกจากการเตือนเรื่องสุขภาพและการขับขี่ ซึ่งมักจะเป็นจุดประสงค์หลักๆ ของการติดฉลากเตือนบนขวดแอลกอฮอล์ เราพบว่า ยังมีการเตือนในแง่มุมทางศีลธรรมและสังคม เช่น “เป็นอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน” รวมอยู่ด้วย เราจึงสรุปว่า นอกจากแค่เรื่องสุขภาพ ฉลากเตือนยังห่วงใยเราไปถึงเรื่องศีลธรรม
สังคมว่าไงกันบ้าง?
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นักวิชาการ และตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ยื่นหนังสือต่อ สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.การสาธารณสุข เพื่อคัดค้านต่อร่างประกาศที่กำลังเป็นประเด็น
กลุ่มผู้ประกอบการระบุว่า ไม่เห็นด้วย และขอให้ยกเลิกเพิกถอนร่างประกาศ เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย รวมถึงไม่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันและนวัตกรรมของผู้ประกอบการ และยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 420,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยเอง ก็แถลงไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศดังกล่าว โดยเรียกร้องให้หาจุดสมดุลที่เหมาะสม ระหว่างการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กับการปลดปล่อยศักยภาพของชุมชน และการส่งเสริม SMEs ในการสร้างรายได้ ขยายโอกาส นำรายได้เข้าสู่ประเทศ
ขณะที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภายหลัง เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ออกมาโพสต์ว่า ร่างประกาศฉบับนี้ หาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เซ็นรับรอง ก็จะบังคับใช้ได้เลย
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า ขณะนี้ ร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น หลังจากนั้น จึงจะนำมาสรุปผล เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการร่างและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรืออนุบัญญัติ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติตามลำดับ
นอกจากนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุว่า ร่างดังกล่าวยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อตกลง WTO หรือองค์การการค้าโลก ที่ป้องกันไม่ให้เกิดอุปสรรคทางการค้า เรียกว่า Technical Barriers to Trade Agreement หรือ TBT Agreement จึงต้องแจ้งเวียนร่างประกาศดังกล่าวให้กับประเทศสมาชิก WTO พิจารณา ก่อนเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามด้วย
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยพยายามจะติดฉลากเตือน
พูดถึง WTO – นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยพยายามจะออกหลักเกณฑ์ว่าด้วยการติดฉลากเตือนบนขวดแอลกอฮอล์ พร้อมด้วยรูปภาพที่ถือว่าใหญ่โต และความพยายามนี้ก็เคยเป็นประเด็นในหมู่ประเทศสมาชิก WTO มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2553
ช่วงปี 2552-2553 รัฐบาลในขณะนั้นพยายามจะผลักดัน ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. …. ที่กำหนดให้ติดฉลากเตือนพร้อมรูปภาพ 9 แบบ ซึ่งมีลักษณะเดียวกันและเป็นภาพเดียวกับรูปภาพประกอบท้ายร่างฉบับล่าสุดแบบเป๊ะๆ
เมื่อไทยแจ้งเวียนร่างประกาศฉบับนั้นให้กับประเทศสมาชิก WTO ปรากฏว่าก็มีหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา แคนาดา ชิลี เม็กซิโก นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐฯ รวมถึงสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกมาแสดงความกังวล ว่าการติดฉลากเตือนจะขัดแย้งกับข้อตกลง TBT Agreement
ประเทศที่แสดงความกังวลชี้ว่า การเตือนประชาชนถึงโทษและพิษภัยทางสาธารณสุขของแอลกอฮอล์ ถือว่าชอบธรรมดีแล้ว แต่มาตรการดังกล่าวจะเป็นการสร้างอุปสรรคทางการค้าที่ไม่จำเป็น ซึ่งไืทยอาจใช้วิธีที่เป็นอุปสรรคน้อยกว่าได้ เช่น การทำแคมเปญรณรงค์ด้านการให้ข้อมูลสู่สาธารณะ เพื่อบรรลุจุดประสงค์เดียวกัน
ช่วงเวลาหลังจากนั้น ความพยายามในรูปแบบดังกล่าวก็หายไป
แต่ปี 2567 ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในลักษณะเดียวกัน ก็กลับมาอีกครั้ง
คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ร่างประกาศที่มีเนื้อหากำหนดให้ติดรูปภาพเตือนขนาดใหญ่ที่ ‘น่ากลัว’ จะผ่านการพิจารณาไปจนถึงการลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่
หากเป็นอย่างนั้น มาตรการเช่นนี้จะต้องส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วนอย่างชัดเจน และนี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องส่งเสียงเรียกร้องต่อไป