เคยสังเกตเห็นเหมือนกันไหมว่า ตอนนี้คอมเมนต์ใต้ข่าวการเมืองในเฟซบุ๊ก มักจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่มาแสดงความเห็นเหมือนๆ กันไปหมด แถมยังดูไม่เป็นธรรมชาติ?
เมื่อสังเกตเข้าไปในกลุ่มแอ็กเคาต์เหล่านั้น (ที่ดูมีตัวตนแปลกๆ) ก็จะเห็นทิศทางของคอมเมนต์ที่บอกว่าพรรคการเมืองหนึ่งดูเป็นพรรคที่ “ก้าวร้าว” ขณะที่บางพรรคนั้น กำลังได้รับความรู้สึก “เชื่อมั่น” “มั่นใจ” หรือ “ภูมิใจ” รวมถึงชื่นชมตัวบุคคลสำคัญในพรรคมากมาย
แต่ทำไมคอมเมนต์เหล่านี้ ถึงเป็นไปในทิศทางเดียวกันขนาดนั้น และยังเป็นแอ็กเคานต์ที่มีลักษณะดูไม่เป็นธรรมชาติ? เราฉุกคิด
จากคำถามดังกล่าว The MATTER จึงพยายามเก็บข้อมูลและวิเคราะห์คอมเมนต์จำนวนมากใต้ข่าวการเมือง ที่ดูจะเข้าข่าย หรือใกล้เคียงกับปฏิบัติการที่เรียกกันว่า IO (ซึ่งอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้) ในระลอกล่าสุด คือ ช่วงต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน เพื่อหาเบาะแสที่จะมาช่วยยืนยัน
และต่อไปนี้คือลักษณะร่วมของแอ็กเคานต์ปริศนา ที่เราค้นพบ
ลักษณะต้องสงสัย แอ็กเคานต์ปริศนา 2024
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (1-7 กุมภาพันธ์) เราเฝ้าสังเกตโพสต์ข่าวการเมืองจากเพจสำนักข่าวออนไลน์ ที่เราหยิบยกมาจำนวน 5 เพจ ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่ถูกนึกถึง-พูดถึงโดยทั่วไป และมียอดไลก์ของเพจในหลักล้าน ได้แก่ TODAY (3.3 ล้านไลก์) THE STANDARD (2.1 ล้านไลก์) Voice TV (3.1 ล้านไลก์) Nation STORY (2.9 ล้านไลก์) รวมถึงเพจ The MATTER ของเราเอง (1.3 ล้านไลก์)
ผลปรากฏว่า แทบทุกข่าวการเมืองที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล หรือคนในพรรคทั้งสอง จะต้องมีคอมเมนต์ที่ผิดสังเกตจำนวนมากอยู่ในช่องคอมเมนต์
ทำไมเราถึงบอกได้ว่าผิดสังเกต? เบาะแสแรกก็คือ บัญชีผู้ใช้เหล่านี้จะมาคอมเมนต์ในเวลาเดียวกันแบบเป๊ะๆ หรืออย่างน้อยก็ไล่เลี่ยกันในช่วงไม่กี่นาที ซึ่งในโพสต์เดียว อาจจะมีคอมเมนต์มาหลายๆ ล็อตก็ได้ สังเกตได้จากเวลาที่โพสต์ซึ่งจะเกาะกลุ่มกันอย่างเห็นได้ชัด
มากไปกว่านั้น นอกจากเวลาที่มาคอมเมนต์พร้อมๆ กันแล้ว บัญชีเหล่านี้จะยังใช้รูปประโยคซ้ำๆ กัน หรือคล้ายๆ กันอย่างมาก พอนำลักษณะ 2 อย่างนี้มาเชื่อมโยงกัน (เวลาที่โพสต์ กับรูปประโยคที่คล้ายกัน) จึงกลายเป็นความน่าสงสัยอย่างยิ่ง
ส่องหน้าโปรไฟล์: ไม่มีเพื่อน-เพื่อนน้อย รูปโปรไฟล์เซฟมาจากคนอื่น และชื่อที่ซ้ำกัน
เมื่อกดเข้าไปดูหน้าโปรไฟล์ของบัญชีต้องสงสัย ก็จะเริ่มเข้าตำรา
วิธีสังเกตคร่าวๆ คือ แม้รูปโปรไฟล์จะเป็นรูปคนจริงๆ ก็ตาม (ขณะเดียวกัน จำนวนมากก็เป็นรูปที่เซฟมาจากอินเทอร์เน็ต) แต่กลุ่มบัญชีในแต่ละล็อตจะมีวันที่เริ่มเล่นเฟซบุ๊ก (วันที่ตั้งรูปโปรไฟล์วันแรก) ใกล้เคียงกัน หรือกระทั่งวันเดียวกัน
จำนวนมากจะมีเพื่อนในเฟซบุ๊กแค่หลักสิบ หรือถ้าหลักร้อย ก็จะอยู่ในเรนจ์ที่ใกล้เคียงกัน เช่น 300-500 คน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะไม่ขึ้นเลยว่าแอดเพื่อนไว้จำนวนเท่าไหร่
อีกข้อหนึ่งที่เราสังเกตคือ บัญชีบางล็อต มีแม้กระทั่งตั้งชื่อซ้ำกัน ยกตัวอย่างเช่น ละอองดาว ภักดี (นามสมมติ) ซึ่งมาคอมเมนต์เวลาเดียวกัน ละอองดาว จรรยา (นามสมมติ) เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น ข่าว สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แจ้งอายัดตัว ‘ทักษิณ’ คดี ม.112 ที่โพสต์โดยเพจ The MATTER เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อเข้าไปดูในคอมเมนต์ ก็พบว่ามีคนมาพิมพ์ในทำนองเดียวกันเยอะมาก
แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น เราลองกดเข้าไปดูโปรไฟล์บางส่วน ก็จะพบว่ามีจำนวนหนึ่งที่มีลักษณะต้องสงสัยร่วมกัน คือ ตั้งรูปโปรไฟล์ครั้งแรกในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 และบนรูปจะมีกรอบรูป เป็นลายที่คล้ายๆ กัน หรือแม้แต่เหมือนกัน เช่น ลูกโลก หรือ Pride Month 2022 เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ต้องย้ำว่า นี่เป็นเพียงเกณฑ์ในการสังเกตอย่างคร่าวๆ บางส่วนอาจไม่ได้เข้าข่ายเกณฑ์นี้ทั้งหมด แต่ก็ยังมีความน่าสงสัยที่มาจากปัจจัยอื่นๆ อยู่ เช่น เวลาในการคอมเมนต์เป็นต้น
อ.นันทนา นันทวโรภาส: “ในทางการสื่อสารทางการเมือง เราถือว่าผิดจริยธรรม”
เมื่อรวบรวมเบาะแสได้ประมาณหนึ่ง เราจึงนำเรื่องนี้ไปคุยกับ อ.นันทนา นันทวโรภาส รองศาสตราจารย์และคณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ถึงปรากฏการณ์ของกองทัพแอ็กเคานต์ปริศนาที่เกิดขึ้นล่าสุด
คำถามแรกที่ต้องถามคือ แล้วแบบไหนถึงจะเข้าข่ายว่าเป็น IO บ้าง?
อ.นันทนา เล่าถึงปฏิบัติการ IO โดยทั่วไปให้ฟัง ซึ่งเธอบอกว่า ย่อมาจากคำว่า Information Operation และมีที่มาจากฝ่ายความมั่นคง ที่นอกจากต้องสู้รบปกติ ก็ต้องทำให้คนในกลุ่มเป้าหมายเชื่อและคล้อยตาม โน้มน้าวมวลชนให้เป็นพวกของตัวเอง เพื่อบรรลุเป้าหมายต่างๆ โดยเฉพาะในสมัยสงครามเย็น ที่รัฐบาลไทยต้องสู้กับคอมมิวนิสต์ เป็นต้น
“พอมาถึงในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ก็คือสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ มันมีความพยายามที่จะให้ข้อมูลในเชิงบวก เป็นข้อมูลที่มีลักษณะที่อวยฝ่ายรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด อันนี้คือ IO แต่ไม่ใช่ IO ของการทหาร แต่เป็น IO ทางสังคมการเมือง ก็คือ มีความพยายามที่จะปฏิบัติการในการที่จะสร้างกระแสความรู้สึกว่า รัฐบาลเป็นรัฐบาลที่ทำงานหนัก เป็นรัฐบาลที่มีคุณภาพ” อ.นันทนาอธิบาย
“ในทางการเมือง เรื่องของการใช้ IO มันแยกออกเป็น 2 อย่าง อย่างแรกเลยก็คือ การใช้ IO เพื่อสร้างคะแนนนิยม กับอย่างที่สอง ก็คือ IO เพื่อดิสเครดิต หรือทำลายฝ่ายตรงข้าม”
“ในทางการสื่อสารทางการเมือง เราถือว่า ผิดจริยธรรม เรารับไม่ได้” อ.นันทนา ว่า
“เพราะว่า สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาไม่ได้เป็นธรรมชาติ ไม่ได้เป็นอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน”
ซึ่งเธอชี้ให้เห็นต่อมาว่า ในรูปแบบของการคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก ณ ขณะนี้ ความผิดปกติจะเริ่มต้นขึ้นก็ต่อเมื่อมีลักษณะที่เป็นไปทิศทางเดียวกัน “แบบบังเอิญอย่างเหลือเชื่อ” คือ ใช้ถ้อยคำภาษาใกล้เคียงกัน และมีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน
IO จะไม่ได้ผล ถ้าคนมีวิจารณญาณ
อ.นันทนา อธิบายต่อว่า ที่ผ่านมา เรามักจะเห็นรัฐบาลใช้ IO อยู่เสมอ สาเหตุก็เป็นเพราะ “รัฐบาลมีเครื่องมือ รัฐบาลมีงบประมาณ และรัฐบาลต้องการที่จะได้รับ popularity หรือคะแนนนิยม
“เมื่อไหร่ที่รัฐบาลมีความรู้สึกว่า ถูก challenged ถูกท้าทายโดยฝ่ายค้าน และมีความรู้สึกว่าตัวเองเสียความนิยมไป ก็พยายามที่จะดึงเอาความนิยมนี้กลับมา ให้เป็นของตัวเอง ด้วยวิธีการใดๆ [ก็ตาม]”
อ.นันทนา บอกว่า “โดยกลไกของรัฐ มีงบประมาณไหม – มี ซึ่งงบตัวนี้เราจะไม่มีทางเห็น” ซึ่งอาจจะอยู่ในงบประชาสัมพันธ์ งบในการสร้างภาพลักษณ์ หรือเป็นงบลับ ฯลฯ ที่จะไม่มีทางตรวจสอบได้ อีกประการที่สำคัญ และน่าจับตา คือ เธอชี้ว่า ในงบประมาณประจำปี ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘งบกลาง’ ซึ่งมีอยู่อย่างมหาศาล โดยมีผู้ใช้ คือ นายกรัฐมนตรี และจะแปรไปเป็นงบอะไรก็ได้
ส่วนปลายทางของมัน อ.นันทนา ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อสังคม ที่จะนำมาสู่ความขัดแย้งมากขึ้น “สุดท้ายมันก็กลับไปสร้างความขัดแย้ง มันก็จะไปสร้างอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนว่า ณ ขณะนี้ บ้างเมืองมันไม่ปกติ มันมีการจัดกระทำเพื่อที่จะให้ไปบรรลุเป้าหมายบางอย่าง คนก็จะมีความรู้สึกขัดแย้งกัน”
“ซึ่งบรรยากาศแบบนี้ มันก็ไม่ได้ทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน และพยายามที่จะเข้ามาแก้ปัญหา แล้วเดินไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน มันกลายเป็นตอกลิ่มความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น มันไม่เป็นผลดี”
อย่างไรก็ดี เธอยังเชื่อว่า ปฏิบัติการในลักษณะดังกล่าว น่าจะไม่ได้ผลในปัจจุบันมากเท่ากับในอดีต เนื่องจากคนมีวิจารณญาณ รู้เท่าทันสื่อ หรือมี ‘media literacy’ เพิ่มมากขึ้น
“เอาเข้าจริงๆ คนสมัยนี้เขาเท่าทันกับสื่อแล้ว ที่เราเรียกว่า media literacy มันไม่มีใครหรอกที่สามารถที่จะดูรายการทีวี หรือยูทูบอยู่ช่องเดียว แล้วก็เชื่อไปช่องเดียวช่องนั้น เขาก็กดเปลี่ยนไป [เรื่อยๆ] อะไรที่เขาชอบ เขาก็ดู อะไรที่เขาไม่ชอบ เขาก็เปลี่ยน เขาก็มีการตรวจสอบข้อมูลของเขา”
ไม่ว่าคอมเมนต์เฟซบุ๊กใต้ข่าวการเมืองระลอกล่าสุด จะถูกจัดว่าเป็น IO หรือไม่ใช่ IO ก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างแน่นอน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง – คำถามที่ตามมาคือ ใครเป็นคนทำ? และทำไปทำไม?