“นักเรียน = ประชาชน”
ข้อความสั้นๆ จากโปสเตอร์ที่มาพร้อมกับ ‘คู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน’ ของกลุ่มนักเรียนเลว พ็อกเก็ตบุ๊คขนาดเล็กที่อัดแน่นด้วยความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นหลักการยืนหยัดสำหรับเหล่านักเรียน เมื่อถูกครูหรือผู้มีอำนาจข่มเหง
เหตุการณ์ที่นักเรียนถูกละเมิดสิทธิ เป็นสิ่งที่เราได้ยินกันอยู่เสมอ ตั้งแต่สิ่งที่ผู้คนคุ้นชินจนมองเป็นเรื่องปกติอย่างการถูกครูริบของแล้วไม่คืน ถูกตี ถูกตัดผม ไปจนถึงข่าวตามสื่อที่นักเรียนถูกครูล่วงละเมิดทางเพศ จนกลายเป็นว่า โรงเรียนซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก กลับเต็มไปด้วย ‘อำนาจนิยม’ ที่เป็นต้นเหตุของความรุนแรงและการละเมิดสิทธิต่างๆ
เมื่อลองเปิดดูหนังสือคู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน จะพบประเด็นที่น่าสนใจต่างๆ มากมาย ทั้งความรู้ของสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กซึ่งเป็นมนุษย์คนหนึ่งพึงมี ไปจนถึงแนวทางในการลุกขึ้นสู้เมื่อถูกพรากสิทธิและเสรีภาพไป The MATTER จึงขอสรุปประเด็นที่น่าสนใจจากคู่มือเล่มนี้มาให้ดูกัน
สิทธิที่นักเรียนมี
เปิดบทมาด้วยการยืนยันถึงสิทธิและเสรีภาพที่นักเรียนมี อันเป็นเรื่องพื้นฐานของทุกคน แต่กลับเป็นสิ่งที่ถูกลดทอนอย่างบ่อยครั้งในรั้วโรงเรียน
คู่มือของนักเรียนเลว ระบุถึง กฎหมายต่างๆ ทั้งในและระหว่างประเทศ ที่กำหนดสิทธิของเด็กเอาไว้ โดยมีสิทธิและเสรีภาพที่นักเรียนหลายคนถูกลิดรอนไปดังนี้
1. สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ชัดเจนว่า ทุกคนมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนเอง นั่นแปลว่า นักเรียนมีสิทธิเลือกการแต่งตัว ทรงผม และเป็นเพศตามที่ตัวเองต้องการ
เนื้อหาในคู่มือยังระบุด้วยว่า “การบังคับขู่เข็ญ หรือใช้อำนาจที่เหนือกว่าบงการให้คล้อยตาม หรือทำให้หลงเชื่อให้กระทำการใดๆ กับร่างกายของเราโดยที่เราไม่ยินยอมหรือฝืนใจ ย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย”
2. เสรีภาพในการพูดและการแสดงออก ตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ระบุไว้ว่า ทุกคนย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ สามารถเข้าร่วมหรือจัดการชุมนุมได้ และยังมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกนี้ ต้องไม่เป็นไปเพื่อเหยียดหยาม ด้อยค่า ความเป็นมนุษย์ หรือละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น
3. สิทธิในทรัพย์สิน ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหลักการที่ทำให้ครูไม่สามารถยึดของโดยไม่มีกำหนดเวลาหรือไม่มีเงื่อนไขในการคืนได้ ซึ่งหากครูยึดของไปโดยไม่คืนจะถือเป็นการยักยอกทรัพย์
4. สิทธิในความปลอดภัย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ทุกคนมีสิทธิได้รับความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นแล้ว ครูจะลงโทษนักเรียนได้แค่ ตักเตือน, ตัดคะแนน, ทำทัณฑ์บน, ทำกิจกรรมให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เท่านั้น
ในคู่มือของนักเรียนเลว ยังย้ำถึงสิ่งที่ครูทำหรือห้ามนักเรียน ‘ไม่ได้’ เพื่อให้นักเรียนทุกคนตระหนักในสิทธิและเสรีภาพของตนเอง รวมถึง ลุกขึ้นมายืนหยัดเมื่อถูกพรากสิ่งเหล่านี้ไป โดยแบ่งได้ดังนี้
ตามประมวลกฎหมายอาญา
- มาตรา 295 : ลงโทษด้วยความรุนแรงต่อร่างกายหรือจิตใจ
- มาตรา 326, 393 : ด่าทอ ดูหมิ่น เหยียดหยาม หมิ่นประมาท
- มาตรา 277-279 : ล่วงละเมิดทางเพศ
- มาตรา 352 : ยึดของแล้วไม่คืน
- มาตรา 391 : ไถ กล้อน หรือตัดผม
- มาตรา 157 : ใช้ผลการเรียนกลั่นแกล้งนักเรียน
- มาตรา 309 : บังคับ ข่มขู่ ให้ทำในสิ่งที่ไม่ยินยอม
- มาตรา 157 : ไม่ให้เข้าโรงเรียน
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
- มาตรา 44 : ห้ามนักเรียนร่วมการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
- มาตรา 34 : ห้ามวิจารณ์โรงเรียน
นอกจากนี้ ในคู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน ยังระบุถึงแนวทางปฏิบัติเมื่อถูกละเมิดสิทธิเอาไว้ด้วย โดยเริ่มจากการให้นักเรียนประเมินสถานการณ์ก่อนว่า เป็นการละเมิดสิทธิที่รุนแรงในระดับไหน หากสามารถเจรจากันได้ ก็ให้พูดคุย เจรจากัน เพื่อยืนยันสิทธิและเสรีภาพของตัวเอง แต่ถ้าเป็นระดับที่อันตรายต่อชีวิต เช่น ถูกข่มขืน หรือทำร้ายร่างกาย ให้พยายามตั้งสติและหาทางหนีออกมาจากเหตุการณ์นั้นก่อน
ขณะเดียวกัน เมื่อถูกละเมิดสิทธิก็ต้องปรึกษาคนที่ไว้ใจได้ พร้อมรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ร้องเรียนทางกระทรวงศึกษาธิการ ฟ้องศาล หรือแจ้งความ อีกทั้ง ยังพูดถึงการรวมกลุ่มกันเพื่อต่อสู้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวอีกด้วย
สำหรับคู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียนนี้ กลุ่มนักเรียนเลวจะแจกให้คนที่สนใจฟรี ทาง Line account โดยตอนนี้มีคนขอรับหนังสือแล้วอย่างน้อย 21,000 เล่ม ซึ่งทางนักเรียนเลวระบุว่า เป้าหมายของการแจกหนังสือคู่มือนี้ เป็นไปเพื่อสร้างสังคมโรงเรียนที่ปลอดภัย ปราศจากครูละเมิดสิทธิ ตามที่หน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ระบุเอาไว้ว่า
“เด็กก็เหมือนมนุษย์ทั่วไป พวกเขามีสิทธิเสรีภาพที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และไม่มีใครสามารถพรากไปได้”