กรุงเทพฯ คงเป็นมหานครที่ไม่เคยหลับใหลจริงๆ นั่นแหละ เมื่อดวงอาทิตย์ลาลับไปแล้ว ถนนหนทางจึงถูกอาบด้วยแสงสีนีออน หลายซอยในใจกลางเมืองกรุงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในยามกลางคืน
สำหรับคนครึ่งหนึ่งในนั้น นี่คงเป็นแหล่งสังสรรค์ที่มีไว้ปลดปล่อยอารมณ์หลังเลิกงาน แต่กับอีกครึ่งนึง นี่คือแหล่งรายได้ของพวกเธอ – ในฐานะ sex workers
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘โสเภณี’ เป็นอาชีพที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน อย่างน้อยก็เป็นร้อยปี แต่อาชีพนี้ยังคงถูกคล้องกุญแจ ทำให้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย (criminalize) โดยกฎหมายที่มีชื่อว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
สิ่งที่ตามมา คือสถานการณ์ที่ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ SWING Thailand อธิบายว่า ทำให้ “สถานะความเป็นคนของ sex workers ไม่เท่ากับคนอื่นในสังคม เพราะมันมีกฎหมายที่มาตีตรา ทำให้เขาเป็นคนผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้ทำความผิด”
ในยามที่ราตรีเปลี่ยนเป็นสีนีออน พวกเธอยังคงทำงาน แม้ไม่ได้รับสถานะเป็นคนทำงาน
และทุกข้อความต่อไปนี้ คือโลกการทำงานของพวกเธอ
1.
อโศก, กรุงเทพฯ
“มันมีเยอะมากๆ เว้ย เยอะกว่าร้านอาหาร จริงๆ พี่ไม่ได้พูดเล่น” คมสันต์ (นามสมมติ) เล่าให้เราฟังถึงปริมาณร้านที่เข้าข่ายให้บริการทางเพศในกรุงเทพฯ
เขาเป็นคนอายุไม่มากที่ผันมาตัวมาเปิดร้าน ‘นั่งดริงก์’ ในย่านอโศก เรานัดเจอกันที่ล็อบบี้โรงแรมแห่งหนึ่งไม่ไกลจากร้าน เพื่อขอให้เขาเล่า ‘อินไซต์’ ของโลกแห่งการค้าบริการทางเพศ ซึ่งเขายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ร้านของเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกนั้น
ในระหว่างนั่งคุยกันที่ล็อบบี้โรงแรม นักท่องเที่ยวเดินผ่านไปผ่านมา ไม่แน่ใจว่าคนเหล่านี้จะรู้เรื่องที่คมสันต์กำลังเล่าลึกตื้นแค่ไหน แต่พออนุมานได้ว่า เรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่หลบหลีกสายตาในชีวิตประจำวันของคนไทยอยู่ไม่มากก็น้อย บรรยากาศตอนที่คุยกัน, ภาพของคนทั่วไปที่เดินผ่าน, เรื่องราวของ sex workers ที่ออกจากปากคู่สนทนา, ราวกับโลกสองใบที่ซ้อนทับกัน – โลกที่อยู่ภายใต้กฎหมายปกติ กับ โลกที่ปฏิบัติการใต้กฎหมายเทาๆ
“มันเยอะ แล้วอาบอบนวดนี่น่าจะหนักกว่าอีก ก็เส้นเพชรบุรีไง ถ้าเราขับรถผ่าน เราก็จะเห็นเยอะแยะไปหมด มันเยอะเกินไป น้องเป็นผู้ชาย น้องก็จะพอรู้อยู่แล้ว”
เขาเล่าให้ฟังว่า บนเส้นสุขุมวิท มีร้านที่เข้าข่ายค้าบริการตั้งแต่ซอยสุขุมวิท 4 ยาวไปจนถึงทองหล่อ เอกมัย และพระโขนง ยังไม่นับโซนอื่นๆ เช่น พัฒน์พงศ์ หรือสีลม แต่ละโซนก็เจาะกลุ่มลูกค้าแตกต่างกันไป เช่น แถบอโศก-นานา จะเน้นนักท่องเที่ยวตะวันตก อาหรับ และอินเดีย หากถัดไปทองหล่อ เอกมัย ก็จะมีทั้งคนไทย ญี่ปุ่น และเกาหลี
ต่างจากอาบอบนวด หรือธุรกิจประเภทอื่นๆ ร้าน ‘นั่งดริงก์’ จะไม่ได้เน้นขายบริการโดยตรง แต่มีรายได้หลักมาจากเครื่องดื่ม คมสันต์แบ่งเป็น 3 ประเภทตามการสังเกตของเขา
ประเภทแรก ผับบาร์ขนาดใหญ่ ซึ่งขออนุญาตถูกกฎหมาย ไม่ต่างจากผับบาร์ทั่วไป ที่มีฟลอร์เต้น ดนตรี ดีเจ เน้นขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เปิดพื้นที่ให้ sex workers เข้ามาหาลูกค้าเพื่อขายบริการ
ประเภทที่สอง บาร์ขนาดเล็กที่ขออนุญาตถูกกฎหมายเช่นกัน หลายแห่งมีหลักมีแหล่ง เช่าที่ชัดเจน เน้นนั่งดื่มสบายๆ มีกิจกรรมให้ทำ เช่น โต๊ะพูล และเป็นพื้นที่ให้ sex workers เข้ามาหาลูกค้าเหมือนกัน
ประเภทที่สาม คือสิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘ซุ้มเถื่อน’ ซึ่งไม่สามารถขออนุญาตตามกฎหมายได้ เช่าที่เช่นกัน แต่ไม่จดทะเบียน จ้างพนักงานแบบปากเปล่าไม่เป็นทางการ เน้นขายบริการทางเพศให้ลูกค้าโดยตรง ไม่ใช่แค่เปิดพื้นที่ให้ sex workers มาหาลูกค้า
ร้านของคมสันต์เข้าข่ายประเภทที่สอง ตั้งอยู่ในซอยย่านอโศก มองเผินๆ เหมือนบาร์เล็กๆ ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วไป เข้ามาจะมีบาร์เทนเดอร์ โซฟาให้นั่งสังสรรค์ ลึกเข้ามาอีกหน่อยก็มีโต๊ะพูล แต่ที่ต่างออกไปจากบาร์ทั่วๆ ไป ก็คือ เหล่าพนักงานหญิงและทรานส์เจนเดอร์ที่ยืนหรือนั่งรอลูกค้าทุกหัวมุม คนเหล่านี้อาจจะตรงตามนิยามของ sex workers แต่นี่เป็นสิ่งที่คนภายนอกคงสังเกตได้ยาก เพราะไม่มีการป่าวประกาศออกไปว่าพวกเธอเป็นใคร
รายได้หลักของร้านจะมาจากการขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ซึ่งเขาบอกว่า “แทบจะทุกร้านในกรุงเทพฯ” จะมีลักษณะเดียวกัน แม้จะมี sex workers อยู่ในร้าน ที่กึ่งเสมือนว่าเป็นพนักงานของร้านก็ตาม แต่กำไรหลักของร้านไม่ได้มาจากการขายบริการ
กล่าวอีกอย่างก็คือ พนักงานหญิงหรือทรานส์เจนเดอร์ของร้านจะเปรียบเสมือนเป็นลูกค้าอีกราย “อันนี้พูดตรงๆ มันคือการเพิ่มจำนวนลูกค้า” ยกตัวอย่างเช่น มีลูกค้าเข้ามา 1 คน มีพนักงานประกบ 1 คน เท่ากับกลายเป็นลูกค้า 2 คน เพราะพนักงานที่ประกบจะทำหน้าที่เอนเตอร์เทนลูกค้า ดูแลพูดคุยอย่างดี ขณะเดียวกัน จะขอให้ลูกค้าซื้อเครื่องดื่มให้อยู่ตลอด ซึ่งกำไรจะตกแก้วละราวๆ 120 บาทสำหรับร้านเขา
“เด็กเขาทำงาน มันไม่ใช่มานั่งชิลล์ ดื่มแบบ พี่ หมดแล้ว ขอดื่มเพิ่มได้ไหม แล้วประมาณ 5 นาที [ก็ดื่มอีก] ลูกค้ามีความสุข มีคนคอยดูแล น้องคอยดูแลเอาใจใส่ ยันเช็ดปาก ป้อนนู่นป้อนนี่ เล่นเกม พาไปนู่นไปนี่ จับมือ ตีพูล ชนแก้ว กอดบ้าง หอมบ้าง อย่างนี้มันเร็ว มันเร็วมาก”
“รายได้ของร้านดี เดือนละล้านกว่า ประมาณนี้ หักแล้ว 40% ก็ 300,000-400,000 บาท ก็ถือว่าเยอะไหม เยอะใช่ไหม แต่ว่าพวกนี้มันก็ต้องมีเส้นสาย พี่ไม่ได้อยากมีเส้นสาย แต่พี่แค่รู้จัก แล้วเขาก็จะเข้ามาหาเราเอง” คมสันต์เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา
2.
‘พนักงาน’ และ LGBTQIA+ ที่ถูกทำให้กลายเป็นคนชายขอบของชายขอบ
ที่ร้านนั่งดริงก์อีกแห่งหนึ่งไม่ไกลจากร้านของคมสันต์ เรานั่งจิบเบียร์และได้ทำความรู้จักกับ เบลล์ (นามสมมติ) และ พลอย (นามสมมติ) พนักงานที่ร้านให้มาประกบเรา ซึ่งทำงานที่นี่ได้ไม่นานเหมือนกันทั้งคู่ ทั้งสองคนเข้ามาทำงานประเภทนี้ โยกย้ายจากจังหวัดบ้านเกิดในภาคอีสาน ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ เบลล์ต้องส่งเงินเลี้ยงดูลูกๆ ส่วนพลอยเข้ามาปลดหนี้
เราลองเข้าไปดูเพจเฟซบุ๊กของร้านเดียวกันนี้ ก็พบว่า ทางร้านประกาศหา ‘พนักงานสาวสวย’ และ ‘PR’ อยู่ตลอดเวลา
คมสันต์เล่าเรื่องนี้ให้ฟังว่า ปัจจุบัน การเข้ามาทำงานของร้านจะมีได้ 2 รูปแบบ คือ เข้ามาสมัครเอง กับผ่าน ‘โมเดลลิ่ง’
“สมัยก่อนก็คือ เอาเด็กจากต่างจังหวัดมา สมัยคุณแม่พี่เองหรือว่าคุณพ่อพี่ เขาเอาเด็กจากต่างจังหวัดมา แล้วก็เปิดห้องให้อยู่ในกรุงเทพฯ แล้วก็ทำงานบาร์ เด็กก็ได้ผัวฝรั่ง ได้แฟนฝรั่งไป ก็เลี้ยง ก็สุขสบาย แล้วเขาก็จะแนะนำต่อกันมา พี่สาวคนนี้ได้ผัวฝรั่ง ก็ [บอกว่า] เฮ้ย ไปทำงานร้านนี้สิ มันก็จะเป็นอย่างนี้ ก็เป็นการขายบริการ”
แต่ทุกวันนี้ไม่เช่นนั้น หาก ‘โลเคชั่น’ หรือทำเลของร้านดี เขาเล่าว่า พนักงานจะดูหน้าร้านว่าลูกค้าเยอะหรือไม่ และจะเดินเข้ามาสมัครเอง “ก็มาบอกผู้จัดการ ก็จะเข้ามาเลย พวกเขาจะคอยช่วยเหลือกันอยู่แล้ว สมมติพี่เป็นผู้หญิงใช่ไหม พี่เห็นร้านนี้ก็ถาม พี่คะ ร้านนี้รับสมัครพนักงานไหมคะ แล้วที่เป็นพนักงานก็ น้องเข้าไปเลย คุยกับคนนี้ มันจะช่วยเหลือกัน เพราะว่าอาชีพเดียวกันจะช่วยเหลือกัน”
แต่ถ้าทำเลไม่ดีมากนัก และลูกค้าไม่เยอะ อาจต้องขอความช่วยเหลือจากโมเดลลิ่ง ที่จะจัดหาพนักงานในสังกัดให้ โดยแลกกับค่าหัว คนละประมาณ 300-500 บาทต่อวัน หักให้โมเดลลิ่งคนละ 100 บาท เป็นต้น
ค่าบริการทางเพศสำหรับพนักงานในร้านที่เป็นหลักเป็นแหล่ง กับ sex workers ที่ยืนข้างถนน ก็แตกต่างกัน พลอยเล่าว่า สำหรับตัวเธอ เรตราคาจะอยู่ที่ราวๆ คืนละ 5,000 บาท แต่หากเป็นกลุ่มที่ยืนข้างถนน อาจจะเหลือแค่ 1,500 บาท หรือต่ำกว่านั้น
ในเรื่องนี้ คมสันต์เล่าว่า ความต่างอาจมาจากเรื่องความปลอดภัย หากเป็นพนักงานที่มีหน้าร้าน กรณีที่เกิดกับลูกค้าบ่อยๆ อย่างเช่นของหาย ก็จะตามตัวได้ง่ายกว่า เขาเล่าตามความเห็นว่า “สมมติเราเป็นลูกค้า เราไปหาซื้อบริการข้างทาง พอเราทำภารกิจเสร็จ ของหายขึ้นมา ทำยังไง เบอร์ก็ไม่มีถูกไหม ถ้าข้างทาง แต่ถ้าร้าน วิ่งเข้ามาหาร้านกันเลย แล้วร้านจะต้องทำไง ต้องมีบัตรประชาชนของคนที่จะมาทำงานทุกคน”
ที่น่าสังเกตคือ sex workers ที่ยืนข้างถนนส่วนใหญ่จะเป็น LGBTQIA+ นอกจากนี้ ยังมีชาวต่างชาติที่น่าสงสัยว่าเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ในกรณีแรก คมสันต์มองว่า เป็นเพราะทัศนคติที่บางร้านยังค่อนไปทางกีดกันของลูกค้า ส่วนกรณีหลัง เป็นเพราะอุปสรรคทางกฎหมายที่ทำให้แรงงานต่างชาติยังไม่สามารถเข้ามาประจำในร้านเป็นหลักเป็นแหล่งได้
“ร้านส่วนใหญ่เขาไม่รับกะเทย ร้านที่เป็นผับเป็นบาร์ หรือว่าเป็นร้านอาหารเล็กๆ หรือใหญ่ๆ เขาไม่ค่อยรับ เพราะว่ามันกลายเป็นบาร์เลดี้บอย น้องลองคิดกลับมุม เป็นผู้จัดการร้าน ก็อยากให้ร้านมีผู้หญิงสวยๆ ใช่ไหม แล้วก็คอยเรียกลูกค้า แต่ว่าถ้ามันกลายเป็นกะเทย ลูกค้าจับได้ว่า นี่กะเทยนี่ อ้าว ฉันโดนหลอกนี่ ฉันก็ไม่มาร้านนี้อีก ใช่ไหม”
“ก็กลายเป็นว่า ข้างทาง 70-80% จะเป็น LGBTQIA+ แต่ไม่ใช่แค่ LGBTQIA+ อย่างเดียว มันดันมีต่างชาติเข้ามาด้วย ต่างชาติไม่ใช่แค่กระเทยอย่างเดียว มีผู้หญิงด้วย”
3.
ส่วย
ความเทาอีกอย่างหนึ่งที่ต้องพูดถึงก็คือ ‘ส่วย’ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับสถานประกอบการที่เปิดบนพื้นที่สีเทาๆ
คมสันต์เล่าว่า สำหรับร้านของเขา ส่วยที่ต้องจ่ายตกอยู่ที่ 35,000 บาทต่อเดือน ซึ่งต้องจ่ายให้ประมาณ 3 หน่วยงาน โดยจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาเรียกเก็บส่วยที่ร้าน โชว์หลักฐานที่แสดงตัวตนและหน่วยงานชัดเจน จากนั้นจะต้องติดต่อและส่งสลิปโอนเงินกันผ่านทางไลน์ และถ้าหากไม่จ่าย สิ่งที่ต้องเจอก็คือการสั่งปิดร้าน
“ปิดร้าน ปิดร้านได้เลย เอาตำรวจมากั้นหน้าร้านเราเลย พี่เคยแล้ว เป็นวันเลย โดนวันเดียวเราก็จุกแล้ว คือเราแบกรับอะไรบ้าง อย่าลืมว่าเรามีชีวิตอีกเป็นสิบชีวิตที่เราต้องแบกรับ ที่เขาต้องหาเงิน แค่ปิดร้านวันเดียว พนักงานเราขวัญเสียหมดนะ ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม เขาไม่ได้กลัวโดนจับ เขากลัวไม่มีงาน
“ทำกันมานาน มันไม่ใช่ทำแค่ 2-3 เดือนนะ มันทำมาเป็น 10 ปีเลยนะ ก็เหมือนทำกันแล้ว พอผู้กำกับย้ายไปอีก สน. เคยทำกับ สน. เก่า ก็ทำกับ สน. ใหม่ ลูกน้องที่เป็นกองตรวจเขาก็แนะนำ บางทีเจ้านายก็ไม่รู้ ลูกน้องยังเป็นคนเดิมอยู่ ลูกน้องไม่ได้เปลี่ยน เป็นคนเดิมตลอด คนที่อยู่เบื้องล่าง บางทีเขาเคยเก็บ แล้วเขาเคยได้ทุกเดือน เขาก็ทำต่อเรื่อยๆ พี่ไม่รู้หรอกข้างใน แต่ว่ามันไม่จบไม่สิ้น พี่ไปที่ไหนก็เจอ”
การจ่ายส่วยมีเพื่อแลกกับการทำผิดกฎหมายบางอย่าง เช่น เพื่อให้เปิดร้านได้เกินเที่ยงคืน ในกรณีนี้ คมสันต์เล่าว่า ถ้าร้านอื่นๆ เปิดได้ถึงตี 3 แต่ร้านเขาเลือกจะไม่จ่ายส่วย และเปิดได้ถึงเที่ยงคืน ก็จะเป็นการเสียโอกาสทางธุรกิจ เพราะลูกค้าก็จะเลือกไม่เข้าร้านเขาตั้งแต่แรก นอกจากนี้ การจ่ายส่วยยังเปิดช่องให้ร้านอื่นๆ ทำผิดกฎหมายที่ร้ายแรงได้มากขึ้นด้วย เช่น แลกกับการมีบารากุ หรือยาเสพติด
“คือกฎหมายมีผล ตำรวจมีผลมาก ที่ทำให้สถานบริการพวกนี้ไม่มั่นคง”
“อยากให้ถูกกฎหมาย 100% เลย” เขาเสนอ “ตำรวจอะลุ่มอล่วยให้ผับบาร์เปิดได้ตี 3 ใช่ไหม แล้วทำไมไม่ทำแก้กฎหมายให้เปิดได้ตี 3 ไปเลยล่ะ แล้วคุณก็ปรับโทษการเมาแล้วขับ การเก็บภาษีของรัฐพวกนี้เพิ่มขึ้น
“อันนี้มันก็ข้อเสียอย่างหนึ่ง ก็คือการมอบอำนาจให้ตำรวจมากเกินไป มันทำให้ตำรวจมีข้อต่อรองกับผู้ประกอบการหรือว่าบริษัทต่างๆ เรียกจุดนั้นจุดนี้ได้ แต่ที่ผิดจริงมันก็ควรผิด เช่น บารากุหรือยาเสพติด ตำรวจก็อะลุ่มอล่วยให้ผับบาร์บางที่เขาใช้ได้โดยที่ต้องจ่ายส่วนเพิ่ม
“จ่ายส่วยยังไง แต่ละร้านไม่เท่ากัน ยิ่งร้านใหญ่ [ก็] มีสิ่งผิดกฎหมายเยอะ เช่น มีบารากุ มียาเสพติด ใครบอกไม่มี โอ้โห พี่ไม่รู้ยังไง อย่าไปเชื่อ มาเจอเอง” เขาว่า
4.
พัฒน์พงศ์, กรุงเทพฯ
ป้ายโลโก้ SWING ตั้งโดดเด่นอยู่กึ่งกลางถนนพัฒน์พงศ์ มองเผินๆ อาจชวนให้คิดได้ว่านี่คือบาร์อีกแห่งหนึ่งที่เปิดให้บริการ แต่การเดินตามป้ายขึ้นไปที่ชั้น 6 ของอาคาร ก็พาให้เรากลับเข้าสู่บรรยากาศออฟฟิศอีกครั้ง
‘มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ’ หรือ ‘SWING Thailand’ คือมูลนิธิที่ไม่แสวงผลกำไร ก่อตั้งมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพื่อทำงานมุ่งเน้นใน 3 ด้าน คือ (1) การเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะ sex workers ที่เป็นผู้ชายและทรานส์เจนเดอร์ (2) การศึกษา เพื่อสร้างโอกาสให้กับ sex workers ในการหลุดพ้นจากปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ รวมถึง (3) การเข้าถึงสิทธิในสังคมของ sex workers
นั่นจึงทำให้ SWING มีคลินิกให้บริการด้านสุขภาพเป็นของตัวเอง 4 สาขา คือ พัฒน์พงศ์ สะพานควาย พัทยา และที่เปิดใหม่ล่าสุด คือ เพชรเกษม 48 ทั้งหมดนี้เน้นเรื่องการตรวจ HIV และมีบุคลากรของ SWING และ sex workers ร่วมจัดบริการเอง โดยไม่ผูกติดกับบุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐ
ในฐานะคนที่คลุกคลีกับวงการ sex workers เราจึงไปพูดคุยกับ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการ SWING Thailand เพื่อขอให้สะท้อนปัญหาที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องเผชิญ
“ปัญหาหลักคือมันมาจากเรื่องความเหลื่อมล้ำ รากเหง้าของปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งพอมันเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ แน่นอนเลยค่ะว่า การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่สบายหาหมอได้ มีเงินจะกินจะอยู่ อันนี้มันไม่ต้องพูดถึงเลย” เธอว่า
แต่ถ้าย้อนลึกลงไปอีก ต้นตอหลักของปัญหาก็คือกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ซึ่งเอาผิดการกระทำที่บ่งชี้ว่าเป็นการค้าประเวณี โดยมีโทษจำคุกและโทษปรับทางอาญา นั่นจึงทำให้เหล่า sex workers มีสถานะที่ผิดกฎหมาย แม้จะยังไม่ได้กระทำผิด และมีที่ทางในสังคมที่ไม่เท่าเทียมกับคนทั่วไป
ผลที่ตามมาจึงเป็นอย่างที่เห็น ที่นอกจาก sex workers จะถูกจัดวางอยู่ในพื้นที่สีเทาๆ ก็ยังเป็นช่องว่างให้ผู้มีอำนาจทุจริตได้
“ตรงนี้มันเป็นช่องโหว่ที่ใหญ่มากเลย ที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เขาไม่สุจริต ไม่น่ารัก หรือคนที่เกี่ยวข้อง มาหาผลประโยชน์ เขาไม่ได้ทำความผิดก็ไปจับเขา ไปปรับเขา เขาทำงานอยู่ตรงนี้ ก็ต้องเรียกเก็บค่าคุ้มครอง”
“พอเราหาเงินมาได้ แทนที่เราจะเอามาใช้เพื่อแก้ปัญหาในครอบครัวเรา เพราะว่าเรามีปัญหา เงินนี้มันต้องถูกแบ่งไปให้คนอื่น บางทีมันแบ่งจนกระทั่งมันไม่มีจะแบ่ง มันก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา” สุรางค์อธิบาย
“ที่ตามมาก็คือว่า เป็นหนี้ – ถูกคุกคาม ออกไปทำงานกับลูกค้าด้วยความที่อาชีพนี้มันผิดกฎหมาย เวลาไปกับลูกค้าและโดนลูกค้าทำร้าย ก็ไม่กล้าไปแจ้งความ เพราะเวลาที่เราไปแจ้งความ เราในฐานะผู้เสียหาย เรากลับกลายเป็นผู้ต้องหา เพราะว่าท้ายสุด พอมันมีการสอบปากคำขึ้นมา ก็ถามว่า ไปเจอลูกค้าคนนี้ได้ยังไง มันก็บ่งชี้ว่าเป็นขายบริการ แทนที่เราเป็นผู้เสียหาย ควรจะได้รับคุ้มครอง เราเป็นผู้ต้องหา
“เจ้าของสถานบริการก็รู้อยู่ว่า พวกเขาทำงานอยู่เนี่ย พวกเขาผิดกฎหมาย ประเทศไทยสถานบริการ สถานที่ทำงานของเขาถูกกฎหมายนะคะ อยู่ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.สถานบริการ แต่ว่าคนที่ทำงานอยู่ในสถานบริการ คือ sex workers อยู่ภายใต้กฎหมายปรามการค้าประเวณี ผิดกฎหมาย
“ฉะนั้น เจ้าของสถานบริการที่เขาไม่มีคุณธรรม เขาก็จะรู้ว่า คนเหล่านี้ไม่มีปากเสียงกับเขาแน่นอน เพราะเป็นคนผิดกฎหมาย ฉะนั้น เขาจะเอาเปรียบยังไง ก็ไม่มีทางสู้ เขาจะกดขี่ยังไง ก็ไม่มีทางสู้”
และดังที่ได้เห็นแล้ว สำหรับ sex workers ที่เป็น LGBTQIA+ หรือเพศชาย ปัญหายิ่งหนักหน่วงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะทัศนคติของสังคมและเจ้าหน้าที่รัฐที่กีดกัน
“พอเป็น female ดูสังคมเหมือนหลับตาข้างหนึ่ง ลืมตาข้างหนึ่ง ดูเหมือนยอมรับได้ บริการทางด้านสาธารณสุขก็มีสำหรับบริการสำหรับ female แต่พอมาเป็น male sex workers มีเซ็กซ์ผ่านทวารหนัก การบริการทางด้านการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับทางทวารหนัก ก็ไม่มี แล้วก็มี question mark มากมายที่อยู่ในผู้ให้บริการ ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้”
อคติทางเพศยิ่งส่งผลให้เกิดการใช้ความรุนแรงกับ sex workers อีกด้วย “อย่างเช่นที่พัทยา จับใส่รถไป แล้วก็ไปปล่อยไกลมาก จากพัทยา ไปปล่อยสัตหีบ ประมาณตี 1-2 หรือจับกล้อนผม หรือจับให้ถอดเสื้อผ้า เขาไม่ได้มองพี่น้องที่เป็น LGBTQIA+ เป็นคน ผนวกกับทำอาชีพที่ผิดกฎหมาย ฉะนั้น เขาทำทุกอย่างที่เขาจะทำได้”
“มันเจอไปทุกปัญหาเลย ถามว่าเขาร้องบอกใครได้ไหม จะออกมายืนก่อม็อบหน้าทำเนียบได้ไหม มันไม่ง่าย เพราะว่าอาชีพนี้มันมี stigma มันมีตราบาปอยู่ ฉะนั้น ทุกอย่างมันถูกเก็บไว้ในอก เก็บไว้ในปัญหาของเขา มันไม่มีใครที่จะช่วยเขาได้ อันนี้คือสิ่งที่มันเป็นอยู่ตลอด
“แล้ว SWING ก็เห็นมาตลอด SWING ก็ทำหน้าที่เป็นสะพาน ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงที่จะพูดแทนเขา ที่จะสู้แทนเขา เพราะเราเห็นว่าเขาพูดไม่ได้ ไม่ใช่เขาไม่ฉลาด แต่การกดทับในอาชีพของเขา ทางด้านกฎหมาย ทางด้านทัศนะสังคม มันทำให้เขาพูดไม่ได้ แล้วก็ไม่กล้าที่จะออกมา”
5.
จากกฎหมายสีเทาๆ สู่ความหวังที่จะได้รับการคุ้มครอง
“จริงๆ สังคมเรานะคะ ปากว่าตาขยิบ” เธอว่า
“เพราะว่าดูรายได้หลักๆ มาจากไหน มาจากเรื่องการท่องเที่ยว แล้วคนในพัทยา ถามว่ามาทำอะไร มาดำน้ำเหรอ มาไหว้เพราะเหรอ มาทำอะไร มาเที่ยวสถานบันเทิง เงินน่ะรับ แต่ว่าเวลาที่จะให้ยอมรับว่ามันมีอยู่ หรือยอมรับที่จะให้ดูแลเขา ให้มีความเป็นคนเหมือนเรา รับไม่ได้” นั่นคือความในใจของคนที่ทำงานเพื่อสิทธิของ sex workers มาหลายทศวรรษ
สุรางค์สะท้อนว่า มายาคติของสังคมไทยในเรื่องนี้มีอยู่ 2 ประการ นั่นคือ หากทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ไม่ผิดกฎหมาย ก็จะทำให้คนแห่แหนกันมาทำอาชีพนี้ กับอีกอย่างคือ จะก่อให้เกิดการค้ามนุษย์ตามมามากมาย
“ต้องย้อนไปถามคนที่มีอคตินี้ว่า ถ้าทำให้อาชีพนี้มันไม่ผิดกฎหมาย ถามว่า คุณเข้ามาทำไหม คุณมาทำไหม คุณก็ไม่มาทำหรอก”
ส่วนประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ เธอมองว่า “ไม่ต้องไปกังวลหรอก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการค้ามนุษย์ มันก็ยังคงจำเป็นที่จะต้องมีอยู่ อีกส่วนหนึ่งที่กลัวว่า เดี๋ยวเด็กจะถูกนำเข้ามา เดี๋ยวเด็กจะแห่แหนกันเข้ามาทำงานนี้ ไม่ต้องห่วงหรอก กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กมันก็ยังมีอยู่
“ฉะนั้น เรามาดูตรงข้างหน้า ตรงคนที่เขาสมัครใจมาทำ และเขาดูแลตัวเองได้ เพื่อที่เราจะได้จัดการเรื่องการเอารัดเอาเปรียบ การทำร้าย และก็ให้เขาอยู่ในระบบ ได้รับการดูแลเหมือนคนอื่น”
เมื่อมองไปข้างหน้า กุญแจตัวสำคัญจึงเป็นการยกเลิกกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
สุรางค์อธิบายว่า ขณะมีความเคลื่อนไหวจาก 3 ฝ่าย ในการจัดการกับกฎหมายดังกล่าว
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งดำเนินการถึงขั้นเข้าไปในคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยเป็นการยกเลิก พ.ร.บ. ดังกล่าว และสร้างกฎหมายขึ้นมาใหม่ อ้างว่าเพื่อคุ้มครอง
- พรรคก้าวไกล ซึ่งจะยกเลิก พ.ร.บ. ดังกล่าวเช่นกัน และสร้างกฎหมายขึ้นมาใหม่อีกเหมือนกัน โดยทำให้อาชีพนี้ถูกกฎหมาย ต้องขึ้นทะเบียน และทำโซนนิ่ง (zoning)
- SWING Thailand ซึ่งเคลื่อนไหวร่วมกับ sex workers โดยให้ยกเลิก พ.ร.บ. ดังกล่าว แต่ไม่สร้างกฎหมายขึ้นมาใหม่ และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีอยู่ ให้ครอบคลุม sex workers
นอกเหนือจากกฎหมายปี 2539 การแก้ไขกฎหมายที่สุรางค์มองว่าควรต้องทำต่อไป ก็คือ การแก้ไข พ.ร.บ.สถานบริการ ที่นอกจากจะพูดถึงแต่สถานบริการ ก็ควรพูดถึงชีวิตคนทำงานในนั้นด้วย กับอีกส่วนหนึ่งคือ กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงาน ให้กฎหมายครอบคลุม sex workers ในฐานะแรงงาน
“จริงๆ น่ะ พี่เอง ธงสุดท้ายของพี่ในการที่เป็นแอกติวิสต์ที่ทำเรื่องนี้ พี่คิดว่า พี่จะสู้จนวันที่ทำให้ sex workers ได้รับการรับรอง หรือได้รับการยอมรับว่า เป็นแรงงานประเภทหนึ่ง” เธอเล่าความในใจ “ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 10 ปี พี่บอกว่า พี่ไม่เอาแล้ว เพราะพี่ดูแล้วมันเป็นไปไม่ได้
“เพราะว่าเราเคลื่อนเรื่องนี้มา พี่ทำงานมาเกือบจะ 40 ปีแล้ว มาถึงจุดหนึ่ง เรารู้สึกว่า ทุกอย่างมันมีหลักฐานชัดเจนว่า นี่คือการทำงาน นี่คือแรงงาน แต่ท้ายที่สุด มันก็ถูกคว่ำ เงียบไป เพราะว่ามันมีคนเสียประโยชน์ คนที่เสียประโยชน์คือคนที่มีอำนาจ คนที่อยู่ในระดับนโยบาย เพราะว่าถ้าเกิดทำให้มันไม่ผิดกฎหมาย หรือทำให้มันถูกกฎหมาย เขาไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ แบบนั้นเขาก็ไม่ยอม
“แต่พอตั้งแต่มันมีการลงถนนเคลื่อนไหว เห็นเลยนะคะว่า คนรุ่นใหม่ค่อนข้างจะมองเรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิ เป็นเรื่องทางเลือกของคน และมีการพูดว่า Sex work is work ทั่วไปหมดเลย เมื่อก่อนคนที่พูดก็มีองค์กรเฉพาะองค์กรแบบเรา”
“ฉะนั้น ตอนนี้คนที่ออกมาช่วยพูดเรื่อง Sex work is work พูดถึงเรื่องสิทธิของการประกอบอาชีพ มันแผ่ขยายไป น่าจะเป็นครั้งแรกที่ลุกขึ้นมา แล้วก็มีการเคลื่อนเรื่องยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่พี่ขนลุกมากๆ”
ก่อนจากกัน สุรางค์พาเราเดินจากออฟฟิศที่ชั้น 6 ของอาคารในย่านพัฒน์พงศ์ มาดูคลินิกของ SWING ที่ชั้น 5 การตกแต่งข้างในมีสีสันสดใส เป็นกันเอง ไม่มีบรรยากาศของความน่ากลัวใดๆ เดินดูได้สักพัก เธอยังชวนเรากินไอศกรีมตักฟรีที่มีไว้บริการ sex workers ที่มาใช้บริการ
เราจึงได้สัมผัสเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของ sex workers ที่ยังคงต้องขอรับบริการสุขภาพที่ภาคประชาสังคมเป็นผู้จัดหาให้ เพราะบริการภาครัฐไม่ตอบโจทย์ – หรือกล่าวให้ตรงจุดกว่านี้ก็คือ เพราะโสเภณียังเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมายสังคมไทย