ในช่วงปีที่กระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้มข้น นำทีมโดยเยาวชนจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาเป็นแถวหน้าของขบวนการเคลื่อนไหวนี้ ปลุกพลังให้ผู้คนจำนวนมากออกมาส่งเสียงเรียกร้องสิทธิที่ควรเป็นของประชาชนอีกครั้ง
แต่แล้ว เยาวชนทั้งหลายที่ออกมาร่วมแสดงความคิดเห็นของตัวเอง กลับถูกดำเนินคดี และกลายเป็นว่า นี่คือครั้งแรกๆ ที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ซึ่งจนถึงตอนนี้ มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีถูกดำเนินคดีอย่างต่ำ 6 ราย
สำหรับกรณีแรก เป็นเหตุการณ์จากวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากมีการตั้งเวทีชั่วคราวบริเวณถนนฝั่งร้านอาหารแมคโดนัล บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามสลายการชุมนุม โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่แจ้งล่วงหน้า จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการชุมนุมที่กีดขวางทางเท้า จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้กำลังเพื่อกระชับวงล้อม พร้อมกับประกาศขอคืนพื้นที่ ก่อนจะทยอยจับผู้ชุมนุม อย่างต่ำ 21 คน รวมเยาวชนอายุ 17 ปีด้วย
กรณีที่สอง สาม และสี่ เป็นเหตุการณ์จากกรณีที่ลภนพัฒน์ อายุ 18 ปี และเบญจมาภรณ์ อายุ 16 ปี สองตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลว และคณพศ อายุ 16 ปี จากกลุ่มนักเรียนไท ถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา
“เราไม่แปลกใจเลยที่จะโดนหมายเรียกตอนอายุ 16 ปีแบบนี้ เพราะในประเทศนี้ มันไม่มีอะไรที่เป็นสากลแล้ว มีแต่ความโหดร้าย รุนแรง” เบญจมาภรณ์ หนึ่งในกลุ่มนักเรียนเลวกล่าว
และกรณีที่ห้า เป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินจากการเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ1พฤศจิกา บริเวณแยกอุดมสุขและเดินขบวนไปสี่แยกบางนา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน และยังโดนถูกดำเนินคดี ม.116 จากการชุมนุม #คนนนท์ท้าชนเผด็จการ บริเวณท่าน้ำนนท์ เมื่อวันที่ 10 กันยายน ซึ่งถือเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีรายแรกที่ถูกดำเนินคดีใน ม.116
สำหรับกรณีล่าสุด ที่เยาวชนอายุ 16 ปี ถูกดำเนินคดีใน ม.112 ซึ่งคาดว่ามาจากกรณีแสดงแฟชั่นโชว์ บนถนนสีลม ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งภายหลัง วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ หรือแอดมินเจน หนึ่งในแอดมินเพจเชียร์ลุง ยอมรับว่าเป็นผู้แจ้งความเอาผิดเอง และยังแจ้งไปถึงผู้ชุมนุมจากในการชุมนุมอื่นๆ อีกด้วย
คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มองว่าการดำเนินคดีกับเยาวชนจะส่งผลต่อการตัดสินใจของเยาวชนและครอบครัว ในการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลประกาศว่าจะไม่ดำเนินคดีกับเยาวชน
ขณะที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.จากพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า เยาวชนไม่ว่าจะอายุต่ำกว่า 18 หรือมากกว่า 18 มีสิทธิแสดงความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นก็เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นพลเมืองในสังคมไทย ในท้ายที่สุด เพราะพวกเขาจะต้องอยู่กับมัน เขาจึงมีส่วนในการที่จะออกมาพูดว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องปรับปรุง ต้องแก้ไขอะไร ปัญหาของประเทศคืออะไร
รังสิมันต์ยังย้ำด้วยว่า ถ้าบอกว่าคนรุ่นใหม่คืออนาคตของชาติ ก็ไม่ควรทำร้ายอนาคตของชาติด้วยการใช้กฎหมายแบบนี้กับพวกเขา คนรุ่นใหม่ต้องอยู่ในประเทศนี้อีกนาน นี่จะกลายเป็นภาพจำในสายตาของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ดีเอาเสียเลย แล้วหลายเรื่องที่เยาวชนเสนอกัน ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่รุนแรง สามารถคุยกันด้วยเหตุผลได้ แต่เป็นเรื่องของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่อยากจะวิจารณ์องค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง
นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า ท้ายที่สุดแล้วศาลจะไม่ตัดสินว่ามีความผิด เหมือนหลายๆ กรณีที่นักกิจกรรมทางการเมืองโดน แต่จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับคนที่ออกมาเคลื่อนไหวในทางการเมือง ทำให้คนไม่กล้าที่จะเคลื่อนไหว และก็จะทำให้คนเซ็นเซอร์ตัวเอง และระมัดระวังที่จะไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ
“ยกตัวอย่างกรณี ม.116 ที่ถูกใช้บ่อยมากตั้งแต่อดีต ส่วนใหญ่ศาลก็ยกฟ้องหมด แต่คำถามคือทำไมแนวทางการดำเนินคดีถึงไม่เปลี่ยน ในเมื่อศาลก็ยกฟ้องตลอด มันควรกลายเป็นบรรทัดฐานว่าการพูดเรื่องประชาธิปไตยมันสามารถทำได้ สาเหตุก็มาจากภาระทางคดี โอเค หนึ่งคดี สองคดี อาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็ต้องแข่งกันว่าใครจะอึดกว่ากัน”
รังสิมันต์วิเคราะห์ว่า ถ้าเป็นแบบนั้นก็จะยิ่งทำให้กฎหมายต่างๆ พังทลายหนักขึ้น แล้วสุดท้ายคนที่พยายามใช้กระบวนการเหล่านี้ก็จะพังทลายลงเสียเอง แล้วการพังทลายนี้เป็นเรื่องที่ส่งผล และสร้างความเสียหายต่อทุกคน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่สามารถเชื่อในระบบกระบวนการยุติธรรมได้ ก็ไม่สามารถเชื่อได้ทั้งหมด เมื่อไหร่ก็ตามที่ยกเว้นกระบวนการยุติธรรมกับคนบางคนได้ เราก็ไม่มั่นใจได้เลยว่า มันจะไม่ขยายไปสู่คนอื่นๆ ด้วย
“ดังนั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นความเสียหายของกระบวนการยุติธรรม ส่วน ม.112 มันก็มีแนวโน้มที่ใช้แบบกวาดมากขึ้น”
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก