ประเด็นเรื่องของชาวซินเจียงอุยกูร์ ถูกพูดถึง และตั้งคำถามจากนานาชาติเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะกระแสจากภาพยนตร์มู่หลาน ที่เพิ่งเข้าโรงไป ซึ่งพบว่ามีการถ่ายทำที่เขตซินเจียงอุยกูร์ และมีการขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลจีนในเขตซินเจียง รวมถึงหน่วยงานด้านประชาสัมพันธ์ ที่ถูกมองว่าเป็นหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อด้วย ทำให้มีการพูดถึงการกดขี่ชาวอุยกูร์ ค่ายกักกัน ไปถึงการบอยคอตภาพยนตร์อีกด้วย แม้ว่าที่ผ่านมาทางรัฐบาลจีนจะไม่เคยยอมรับว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่นี้
ชาวอุยกูร์คือใคร มีความแตกต่างจากชาวจีนอย่างไร ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พูดถึงมีอะไรบ้าง ที่ผ่านมามีเอกสาร หรือคำบอกเล่าเกี่ยวกับค่ายกักกัน และการกดขี่ชาวอุยกูร์อย่างไร และรัฐบาลจีนชี้แจงเรื่องนี้แบบไหน The MATTER สรุปมาให้แล้ว
เขตการปกครองตนเองชนชาติซินเจียงอุยกูร์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน เป็นเขตที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3,000 ปี มีอารยะธรรมของตัวเองมายาวนาน โดยในอดีตถูกปกครองจากชนชาติหลากหลายกลุ่มด้วยกัน และมีเอกราชเป็นครั้งคราว รวมถึงเคยแยกตัวไปในระยะสั้นๆ ด้วย มีกองกำลังมุสลิมที่ต่อต้านอยู่เรื่อยๆ
ซินเจียงตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คือ เป็นเขตเชื่อมต่อระหว่างจีนกับเพื่อนบ้านอีก 8 ประเทศ
ในปี ค.ศ.1946 มีการทำข้อตกลงสันติภาพ และพยายามให้อุยกูร์มารวมกับจีน แต่ก็ยังมีความขัดแย้งระหว่างกัน จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์ชนะ และปกครองจีน ความรุนแรงก็เพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งปี ค.ศ.1955 ได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็น ‘เขตปกครองตนเองซินเจียง’ จนถึงปัจจุบันนี้
ประชากรของซินเจียงมีทั้งสิ้นประมาณ 19.25 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อสายชาวเติร์ก และเป็นมุสลิมมากกว่า 54% ส่วนใหญ่นับถือนิกายสุหนี่ ซึ่งนอกจากชาวอุยกูร์ที่เป็นส่วนใหญ่แล้ว ยังมีชนกลุ่มน้อยอื่นๆ อย่างชาวคาซัค, ชาวหุย, ชาวตงเซียง และชาวทาจิค เป็นต้น โดยพวกเขาต่างมีภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของตนเอง
ประเด็นสิทธิมนุษยชนในซินเจียงอุยกูร์
ตั้งแต่อดีต ชาวอุยกูร์ถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์เลือกปฏิบัติในวงกว้างมาหลายปี ทั้งเศรษฐกิจ ศาสนา ฯลฯ ทั้งยังมีนโยบายสนับสนุนให้ชาวจีนฮั่นให้ย้ายถิ่นฐานเข้าไปในพื้นที่ โดยเชื่อว่าเพื่อกลืนวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งชาวฮั่นนี้ก็มักจะได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าชาวอุยกูร์ในท้องถิ่น เช่น เรื่องของการจ้างงาน นอกจากนี้นโยบายผสมผสานหลายด้านของรัฐ ยังมีการคุมเข้ม ควบคุมเรื่องการสอนศาสนา สอนภาษาอุยกูร์ บทเรียนในโรงเรียน และควบคุมพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด เช่นห้ามชาวมุสลิมสวมผ้าโพกหัวด้วย หรือไว้เครายาว เป็นต้น
ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์เอง ก็มีการควบคุมที่เข้มงวด ไม่เพียงแค่เรื่องของศาสนา แต่ในการใช้ชีวิต โดยมีชาวอุยกูร์ที่เล่าว่าเขาถูกติดตามความเป็นอยู่ เมื่อติดต่อกับเพื่อนๆ ภายนอกประเทศ ทั้งยังมีข่าวของการจำกัดสิทธิอย่างเคร่งครัดในการเดินทาง เช่นการตรวจพาสปอร์ต หรือกรณีที่มีข่าวว่ามีการแอบติดตั้งแอปฯ ในโทรศัพท์ของประชาชน เพื่อตรวจสอบการใช้งาน และการติดต่อต่างๆ ด้วย
แต่หนึ่งประเด็นที่มีการพูดถึงมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น คือเรื่องของ ‘ค่ายกักกัน’ ซึ่งมีเอกสาร และการเปิดเผยภาพดาวเทียมถึงค่ายเหล่านี้ ที่ถูกสร้างในหลายเขตของเขตปกครอง โดยสหประชาชาติ ยืนยันว่ามีรายงานที่น่าเชื่อถือว่ามีประชาชนชาวอุยกูร์อย่างน้อย 1 ล้านคนถูกกักตัวไว้ในค่าย เพื่อปรับทัศนคติ
ด้านจีนเองไม่เคยยอมรับถึงการมีอยู่ของค่ายกักกันนี้ แต่อ้างว่าเป็นค่ายฝึกอบรมและให้การศึกษาตามความสมัครใจ ทั้งยังมีการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ว่าค่ายเหล่านี้เป็นโรงเรียนที่ให้การศึกษา และเปลี่ยนความคิดประชาชนใหม่ให้ดีขึ้น ขณะที่เอกสารที่เคยรั่วไหลออกมา ที่ถูกเปิดเผยโดย The New York Times ระบุว่า เป็นนโยบาย ‘ต่อสู้กับการก่อการร้าย การแทรกซึม และการแบ่งแยกดินแดน’ โดยใช้เครื่องมือของเผด็จการ ตามลัทธิคอมมิวนิสต์
นอกจากนี้ เอกสารที่เคยรั่วไหลออกมายังมีประเด็นของการแยกครอบครัวมุสลิมออกจากกัน เพื่อเข้าค่ายนี้ การบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ ไปถึงการคุมกำเนิดหญิงมุสลิมด้วย เช่นเดียวกับคำบอกเล่าของประชาชนบางส่วนที่เคยผ่านการเข้าค่ายนี้เอง ที่ออกมาเปิดเผยว่า มีประชาชนที่หายตัวไปหลังเข้าค่ายเหล่านี้ และในค่ายเองมีการกักขังเหมือนสัตว์ ทรมานต่างๆ เช่นจับลงหลุม ถูกโบยตี บังคับให้ทำในสิ่งที่ขัดกับหลักของศาสนาอิสลาม หรือให้สรรเสริญพรรคคอมมิวนิสต์ ไปถึงการพยายามล้างสมองด้วย เป็นต้น
ที่ผ่านมา มีความพยายามเปิดเผยเรื่องราวของค่ายกักกันนี้มาขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าของบล็อกเกอร์ผ่านทางแอปฯ TikTok และนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่ใช้มังงะในการเล่าเรื่องของชาว ‘อุยกูร์’ ที่ถูกกดขี่ เป็นต้น รวมถึงความพยายามของประเทศต่างๆ ที่จะคว่ำบาตรจีน และพูดถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเวทีต่างๆ แต่ทางจีนเอง ก็ยังคงปฏิเสธโดยตลอดถึงการกักกัน และชี้ว่าไม่เคยมีการกดขี่ ข่มเหงชาวอุยกูร์ด้วย
อ้างอิงจาก