เรียงเบอร์ไหมจ้ะ..เรียงเบอร์
ผลจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ไป ‘ยกเลิก’ การกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดียวกันได้หมายเลขประจำตัวเดียวกัน หรือ ‘พรรคเดียว-เบอร์เดียว’ ทำให้ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตวันนี้ (3 เมษายน 2566) แม้จะมาจากพรรคเดียวกัน ตื่นแต่เช้ามืดไปยื่นใบสมัครพร้อมๆ กัน ก็อาจจะได้เบอร์ที่แตกต่างกัน ตามแต่ดวงในการจับสลากของแต่ละคน
และนี่ก็คือ ‘หมายเลขประจำตัว’ ของผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ในพื้นที่ กทม. เฉพาะพรรคหลักๆ ที่ The MATTER รวบรวมมา ..ขนาดจังหวัดเดียวยังยุ่งเหยิงขนาดนี้ แล้วถ้าเป็นทั่วประเทศจะยิ่งยุ่งเหยิงขึ้นแค่ไหน
โดยสิ่งที่ต้องทดไว้ว่า ในบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต ทาง กกต.ได้กำหนดมาแล้วว่า จะมีแค่หมายเลขประจำตัวผู้สมัครในเขตนั้นๆ เท่านั้น ไม่มีโลโก้และชื่อของพรรคการเมืองแต่อย่างใด ดังนั้น ก่อนจะเข้าคูหาในวันที่ 14 พ.ค.2566 (หรือเลือกตั้งล่วงหน้า ในวันที่ 7 พ.ค.2566) ต่อให้คุณไม่เก่งเลข ก็อาจจะต้องจำเบอร์ที่อยากเลือกกันให้ดีๆ ไม่เช่นนั้นอาจจะกาผิดไปลงคะแนนให้กับคู่แข่งของผู้สมัครคนที่คุณชื่นชอบ ก็-เป็น-ได้
เมื่อลองคำนวณดู จะพบ ‘ค่าเฉลี่ย’ ของหมายเลขประจำตัวของผู้สมัคร ส.ส. กทม. พรรคหลัก เป็นตัวเลขดังต่อไปนี้
- พรรคพลังประชารัฐ 7.06
- พรรคก้าวไกล 7.09
- พรรคเพื่อไทย 7.64
- พรรคประชาธิปัตย์ 6.30
- พรรคไทยสร้างไทย 7.52
- พรรครวมไทยสร้างชาติ 6.58
ถามว่าตัวเลขค่าเฉลี่ยนี้สำคัญอะไรไหม คำตอบก็คือคงไม่ขนาดนั้น แต่เป็นที่รู้กันว่า ผู้สมัคร ส.ส. ต่างต้องการตัวเลขน้อยๆ สวยๆ เพราะเชื่อกันว่า จะสร้างการจดจำในหมู่ผู้ลงคะแนนเสียงได้ง่ายในฤดูกาลหาเสียง