ผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว ขั้นต่อมาที่เราต้องจับตากันก็คือ ‘การจัดตั้งรัฐบาล’
โดยปกติแล้ว หากพรรคฝ่ายรัฐบาลสามารถรวมเสียงกันเกินกึ่งหนึ่งของสภาล่าง ก็ควรที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว แต่ไทยแลนด์นั้นมีบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ซึ่งระบุให้ใน 5 ปีแรกของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 250 คน มีอำนาจพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น เมื่อพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งและได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีคะแนนเสียงอย่างน้อย 316 เสียง จากว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล ที่จะโหวตให้ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ก็เลยมีคำถามต่อว่า แล้วเหล่า ส.ว. จะโหวตรับรองนายกที่มาจากเสียงข้างมากของสภาล่างหรือไม่
ในตอนแรก มี ส.ว.ส่วนหนึ่งออกมาบอกว่า ตั้งใจจะ ‘ปิดสวิชต์’ ตัวเอง ด้วยการงดออกเสียง ซึ่งเป็นความหมายของการปิดสวิชต์ ที่ต่างกับที่ประชาชนจำนวนมากต้องการ และหาก ส.ว.ทั้งหมดพร้อมใจกันปิดสวิชต์ ก็จะทำให้จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ สร้างกระแสไม่พอใจในกลุ่มประชาชนเป็นอย่างยิ่ง จนเกิด #สวมีไว้ทำไม ในโลกออนไลน์
แต่เวลาต่อมา ก็มี ส.ว.อีกจำนวนหนึ่ง ที่ออกมาแสดงตัวว่า เมื่อพรรคก้าวไกลสามารถรวมเสียงจนได้มากกว่า 250 แล้ว ก็พร้อมที่จะโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
ประเด็นนี้คงต้องจับตากันอีกยาว The MATTER จึงขอรวบรวมรายชื่อ ส.ว.ทั้งหมด 250 คน ไว้ใน Google Sheet เพื่อสรุปท่าทีและอัพเดทจุดยืนของเหล่า ส.ว.ทั้งหมด ที่มีต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ไว้ดังนี้
ข้อมูลถึงวันที่ 19 พฤษภาคม ส.ว.ที่ออกตัวว่า จะยกมือพร้อมโหวตให้พิธาเป็นนายกฯ มีทั้งสิ้น 18 คน ได้แก่
- เจตน์ ศิรธรานนท์
- เฉลิมชัย เฟื่องคอน
- ซากีย์ พิทักษ์คุมพล
- ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม
- ทรงเดช เสมอคำ
- ประภาศรี สุฉันทบุตร
- ประมาณ สว่างญาติ
- พลเดช ปิ่นประทีป
- พิศาล มาณวพัฒน์
- พีระศักดิ์ พอจิต
- ภัทรา วรามิตร
- มณเฑียร บุญตัน
- รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล
- วันชัย สอนศิริ
- วัลลภ ตังคณานุรักษ์
- วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์
- สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์
- อำพล จินดาวัฒนะ
ทั้ง 18 เสียงนี้ ต่างออกมาบอกว่า ต้องการทำตามหลักประชาธิปไตยเสียงข้างมาก ซึ่งเมื่อสภาล่างสามารถรวมเสียงได้มากกว่า 250 เสียงแล้ว ก็ถือว่าเป็นฉันทามติที่ ส.ว.ไม่ควรขวางแล้วเช่นกัน
ขณะที่ ส.ว.ที่ออกตัวว่า ขอเวลาตัดสินใจก่อน มี 12 คน ได้แก่
- คำนูณ สิทธิสมาน
- ตวง อันทะไชย
- ถวิล เปลี่ยนศรี
- พรทิพย์ โรจนสุนันท์
- พลเรือเอก พะจุณณ์ ตามประทีป
- พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์
- พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช
- ว่าที่ร้อยตรี วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี
- สมชาย แสวงการ
- สังศิต พิริยะรังสรรค์
- ประพันธ์ คูณมี
- จรุงวิทย์ ภุมมา
ส่วน ส.ว.ที่อาจงดออกเสียงในการเลือกนายกฯ มี 6 คน ได้แก่
- พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์
- พลเอก สมิธชนก สังขจันทร์
- พรเพชร วิชิตชลชัย
- ศุภชัย สมเจริญ
- พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร
- พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้
และ ส.ว.ที่ออกตัวแล้วว่า มีแนวโน้มที่จะไม่โหวตให้พิธา เป็นนายกฯ มี 3 คน ได้แก่
- กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ: ซึ่งตอนแรกยืนกรานกับรายการ ‘กรรมการข่าว คุยนอกจอ’ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมว่า จะไม่โหวตให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบาย และต่อมา ในวันที่ 18 พฤษภาคม น.ต.ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคไทยสร้างไทย ออกมาระบุว่า หลังจากได้ร่วมรายการกับกิตติศักดิ์ และได้พูดคุยกัน และกิตติศักดิ์มีท่าทีอ่อนลง แต่ยืนยันว่าจะไม่โหวตให้พิธา เพราะมีอีกหลายเงื่อนไข
- จเด็จ อินสว่าง: ที่เจ้าตัวบอกว่า คงต้องรอดูก่อนว่าฝ่ายใดจะรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง และจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ จึงค่อยพิจารณาโหวตให้หรือไม่ แต่ถ้าเสียงข้างมากเสนอชื่อพิธา เป็นนายกฯ ส่วนตัวจะไม่โหวตให้แน่นอน เพราะพิธามีจุดด้อยในเรื่องปัญหาทัศนคติการเมืองที่จะยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งรับไม่ได้ เพราะปฏิญาณตนจะจงรักภักดี ถ้าเลือกพิธาไปก็ไม่รู้จะเสียของหรือไม่
ทั้งยังกล่าวอีกว่า แต่หากเสนอชื่อคนอื่นๆ เช่น แพทองธาร ชินวัตร, เศรษฐา ทวีสิน และอนุทิน ชาญวีรกูล สาธารณสุข จะรับได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณากันอีกทีว่ามีจุดเด่น-จุดด้อยอย่างไรบ้าง - เสรี สุวรรณภานนท์: ข้อมูลจากไทยรัฐ ระบุว่า เสรีพร้อมที่จะยกมือโหวตให้กับรัฐบาลที่รวบรวมเสียงได้มากที่สุด แต่ติดเพียงประเด็นการแก้ไข ม.112พร้อมย้ำว่า หากไม่มีนโยบายนี้ ตนจะสามารถตัดสินใจโหวตให้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และเมื่อถูกถามว่า หากพรรคก้าวไกล ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และพรรคเพื่อไทยขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล พร้อมจะโหวตให้หรือไม่ เขาก็บอกว่า เงื่อนไขเดียวกัน คือต้องไม่แตะต้อง ม.112
ใครจะยกมือหรือไม่ คงเป็นประเด็นที่ต้องตามข่าวกันไปอีกพักใหญ่ เพราะตอนนี้ เรายังต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน และเรียกประชุมรัฐสภาอีกภายใน 15 วัน เพื่อเลือกประธานสภา จากนั้น ประธานสภาจะนัดประชุมรัฐสภาเลือกนายกฯ ต่อไป
ดูทั้ง 250 รายชื่อของ ส.ว. และท่าทีของแต่ละคน ได้ที่นี่นะ: docs.google.com/spreadsheets
หมายเหตุ: ข้อมูลอัปเดตวันที่ 19 พฤษภาคม 2566