การศึกษาที่เราเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นไปเพื่ออะไร แล้วรัฐไทยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้านต่างๆ รวมถึง ด้านวิทยาศาสตร์ มากน้อยแค่ไหน?
หากคาดหวังให้ประเทศพัฒนา ประชาชนมีประสิทธิภาพและความสามารถพอที่จะแข่งขันกับต่างชาติ การลงทุนกับการศึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐควรทำ แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเห็นข่าวที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประกาศผ่านเว็บไซต์ โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) ว่า จะไม่มีการเปิดรับสมัครโครงการนี้ รุ่นที่ 25 ‘เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ’
แต่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เรากลับเห็นข่าว ครม.ไฟเขียวทุ่มเงินหลักหมื่นล้านเพื่อซื้อเครื่องบินรบ ตามมาด้วยข่าวที่ต่างประเทศทุ่มทุนการเรียนรู้เทคโนโลยีที่จะมาเป็นเทรนด์หลักของโลกอนาคต กลายเป็นว่าคำถามว่า ทำไมความสำคัญของการศึกษาถึงมีค่าน้อยในสายตาของภาครัฐ?
The MATTER ไปพูดคุยกับ สุกฤต สุจริตกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, บวรศักดิ์ สกุลเกื้อกูลสุข ประธานหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สองผู้ดูแลโครงการ JSTP และพีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร นักนวัตกรรมและนักศึกษาปริญญาโท-เอกที่ MIT Media Lab ถึงมุมมองต่อการแวดงวงวิทยาศาสตร์และการศึกษาในประเทศไทยกัน
เล่าถึงค่าย JSTP ก่อนว่า เป็นค่ายอะไร
อ.บวรศักดิ์: โครงการนี้เริ่มดำเนินมาจาก สวทช. เมื่อเวลา 25 ปีที่แล้ว เป็นโครงการที่จะส่งเสริมพัฒนาอัจฉริยะภาพด้านวิทยาศาสตร์ในเด็ก ซึ่งจะแบ่งเป็นสองส่วนก็คือ ม.ต้น กับ ม.ปลาย ทีมที่ผมดูอยู่เป็นทีมของ JSTP ฝ่าย ม.ต้น ซึ่งความจริงตัวงบทั้งหมดไม่ได้มีมาเพื่อค่ายหรือทุน แต่มันเป็นโครงการรวม
รายละเอียดของโครงการก็คือ จะมีการสรรหาเด็กที่อาจารย์มองเห็นแวว เป็นเด็กที่มีแนวคิด มีความสามารถ ของเขาผ่านใบสมัคร มีการสัมภาษณ์ ทดสอบวิธีการแก้ปัญหา พอคัดเลือกเข้ามาในโครงการแล้วก็จะเป็นเรื่องของการบ่มเพาะ และผลักดันความสามารถของพวกเขา ซึ่งในช่วง COVID-19 กิจกรรมที่จัดก็จะมีการไปค่าย JSTP ในหนึ่งปีมีทั้งหมด 3 ค่ายใหญ่ และ 2 ค่ายย่อย พร้อมๆ กันนั้น ระหว่างที่ไปค่ายเด็กๆ แต่ละคนก็จะสามารถตั้งตัวหัวข้อที่ตัวเองสนใจจะหาคำตอบ โดยทางโครงการก็จะแมชต์ตัวสถานที่ที่น้องอยู่ แมชต์ความสามารถของน้อง กับที่ปรึกษาที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของทั้งประเทศในเครือข่ายที่พวกเรามี เขาจะได้ใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัย แล้วก็จะได้ทำโครงงานที่เขาสนใจระหว่างนี้
อ.สุกฤต: 3 ค่ายที่ว่านี้จะอิงไปกับโปรเจ็กต์ที่เราเรียกว่า ‘เจ๋งสุดทีนโปรเจค’ เป็นโปรเจกต์ที่ให้น้องเขาไปคิดกันมาเอง เราเปิดเป็น open idea ซึ่งเป้าหมายของค่ายคือการให้แรงบันดาลใจกับสิ่งที่เด็กๆ อย่างทำ สิ่งที่พวกเขาสงสัย
ซึ่งจริงๆ ในส่วนของค่ายนี้มันเป็นโครงการระยะสั้น ใช้งบประมาณไม่ได้เยอะมาก เมื่อเทียบกับว่าเราต้องใช้เงินปริมาณเท่าไหร่ในการที่จะคีพนักเรียนโครงการระยะยาว ซึ่งตรงนี้ก็คือนักเรียนโครงการระยะยาวหรือระยะสั้นรุ่นก่อนๆ ก็จะเข้ามาแจม
อ.บวรศักดิ์: เพราะฉะนั้น โครงการตรงนี้เป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งปี ระหว่างที่เด็กเข้าค่าย ทางฝั่งอาจารย์และที่ปรึกษาก็จะคอยดูว่าเขาเป็นคนยังไง เพื่อจะเฟ้นหาคนที่เหสมะกับการรับทุนสนับสนุนระยะยาวต่อไป เด็กรุ่นนึงก็แล้วแต่ปี บางปีก็ 5 คน ซึ่งทุนสนับสนุนระยะยาวก็จะเป็นเหมือนกับทุนค่าเล่าเรียน และเงินสนับสนุนการวิจัย เพราะฉะนั้นอันนี้ก็คือโครงการ JSTP หนึ่งปี
ตัวโครงการได้งบอุดหนุนต่อปีประมาณเท่าไหร่
อ.บวรศักดิ์: ผมไม่ทราบตัวเลขของโครงการระยะยาวนะ แต่งบประมาณของโครงการระยะสั้นต่อ รวมทุกอย่างแล้วจะอยู่ประมาณ 4-5 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่ได้เยอะอะไรเลย ถามว่า 4-5 ล้านบาทตรงนี้ 1 ปี ช่วยส่งเสริมเด็กออกมาได้กี่คน รวมทั้งศิษย์เก่า รุ่นพี่ แล้วก็น้องๆ รุ่นใหม่ ตกอยู่ที่ประมาณ 100 คน ตรงกับคีย์เวิร์ดของค่ายที่เราใช้คำว่า enrichment (ทำให้สมบูรณ์) เรามองว่านี่เป็น enrichment program เหมือนกับว่าเด็กๆ เขามีของในตัวอยู่แล้ว เราแค่ใช้ความเชี่ยวชาญของเรา ทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยสกัดให้เขาเจ๋งขึ้น สุดยอดมากขึ้น
พอมีข่าวเรื่องตัดงบออกมา มองว่ายังไงบ้าง
อ.บวรศักดิ์: เอาตรงๆ ผมรู้สึกแย่นะ ก็เข้าใจว่าแหละว่าเราจะต้องแก้ปัญหาแบบระยะสั้นกับระยะยาวให้บาลานซ์กันไป แต่ผมมองว่า เราไม่ได้มองผลตอบแทนแบบปีหน้า หรืออีกสามปีข้างหน้าของพวกนี้เป็นการศึกษา กว่าที่มันจะตอบแทนกลับมาก็ต้องใช้เวลาอีก 10-20 ปี ซึ่งตอนนี้ถ้าลองไล่ดูรุ่นพี่ JSTP หลายๆ คน เขาก็อยู่ในช่วงที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลง
ผมออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่ศิษย์เก่า JSTP ผมเป็นอาจารย์แล้วมาช่วยทีหลัง แต่ผมก็เห็นอาจารย์หลายคนที่เป็นศิษย์เก่า JSTP ซึ่งตอนนี้เขาไปสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ภาคอาจารย์ ไม่ใช่แค่ภาครัฐบาล แต่เป็นทุกๆ ส่วนในสังคม ฉะนั้น พอได้ข่าวตอนแรกผมก็สงสัยว่า เงินหายไปไหน แล้วก็คิดไปอีกว่า มันมีวิธีการจัดการที่ดีกว่านี้ไหม ที่จะสามารถทำให้สิ่งนี้ไปต่อได้ เพราะว่าค่ายนี้มันเหมือนการลงทุน การลงทุนก็ต้องลงเงินไป และมีความเสี่ยงในการดูผลลัพธ์ที่ออกมา ฉะนั้นถ้าเกิดเราไม่ลงทุน แล้วจะมาหวังผลลัพธ์ ผมว่ามันเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป
อ.สุกฤต: ผมว่าจริงๆ ก็มีหลายประเด็น ประเด็นแรกก็คือ สิ่งที่พูดกันหนาหูว่าการศึกษาไทยทำไมไปไม่ถึงไหนสักที ผมมองว่าการศึกษาคือการลงทุนในระยะยาว แต่ขอบเขตของรัฐบาลจบภายใน 4 ปี เพราะฉะนั้น 4 ปี คุณไม่มีทางเห็นผลของการศึกษาอยู่แล้ว มันก็เลยไม่ make sense ในด้านเศรษฐศาสตร์ว่า พรรคการเมืองไหนอยู่ดีๆ ที่จะมาทุ่มเงินลงไปเยอะๆ โดยที่ไม่มี output กับ outcome ในช่วงรัฐบาลของเขา
กับอีกประเด็นคือ ประกาศที่ออกมาบอกว่าจะมีการชะลอ JSTP รุ่นที่ 25 เหมือนที่เราได้คุยกันเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน มันมาจากการทำค่ายระยะสั้น แล้วก็คัดเลือกระยะยาว การบอกว่าจะชะลอทุนระยะยาวไป 1 ปี มันก็ทำให้เกิดคำถามว่า หยุดไปหนึ่งปีจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือเราไม่มีค่ายระยะสั้นรุ่นใหม่เข้ามา มีเด็กบางคนเขียนสมัครโครงการพร้อมมีโปรเจ็กต์ที่อยากทำมาแล้ว แต่พอเขาประกาศชะลอทุนปุ๊บคือหยุดเลย ยิ่งกว่านั้น สำหรับเด็กบางคนนี่อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่ได้เข้าโครงการแล้วก็ได้
ในทางกลับกันก็คือเราบอกว่าเราสำรองเงินเพื่อที่จะกันไว้ให้คนที่ได้ทุนระยะยาว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าเราจะไม่มีการรับระยะยาวรุ่นใหม่ในปีนี้ด้วย คือผมพอจะเข้าใจในมุมมองของผู้บริหารว่า การรับคนเพิ่มในระยะยาว มันต้องใช้เงินจำนวนนึง ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าบางคนจะจบเท่าไหร่ แต่ก็ต้องเรียนตามตรงนิดนึงว่า เด็กระยะยาวเราส่วนใหญ่มักจะจบ บางทีไม่ได้รับทุน ก็สามารถไปต่อต่างประเทศได้เลย ก็มีอยู่เยอะ อย่างพีพีคนนึง ตอนนี้ก็อยู่ MIT
ผมมองว่าโครงการนี้เหมือนเป็นประตูที่หล่อหลอมความคิด หล่อหลอมคน ให้เขาสามารถที่ไปค้นหาตัวเองและเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง นอกห้องเรียนได้ เพราะว่าการเรียนรู้ที่ปิดกั้นมากที่สุดก็คือการเรียนรู้ในห้องเรียนที่เราไปบีบคนให้อยู่ใน typical room ที่ไม่มีการคิด ไม่มีการค้นหาอะไร ทำตามที่อาจารย์บอก แต่ทุน JSTP มันคือการปลดเปลื้องสิ่งเหล่านั้น
พีพี: ที่บอกว่าทุนนี้เป็น enrichment program ผมว่านี่เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญเลย มันคือโครงการที่มาพัฒนาเด็กที่มีศักยภาพสูงอยู่แล้วให้ค้นพบตัวเอง แล้วทำให้เขาเข้าใจเกี่ยวกับบริบททางวิทยาศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม ศิลปะ เพื่อให้เขาโตขึ้นมาเป็นคนที่มองเห็นรอบด้าน และพร้อมที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของโลกได้
พีว่าโลกเรากำลังเจอปัญหาหลายอย่างทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งปัญหา AI เข้ามาแทนที่มนุษย์ ปัญหาการเสื่อมโทรมของเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหา COVID-19 เราไม่สามารถที่จะสร้างคนที่เก่งสายใดสายหนึ่งขึ้นมาได้ เราต้องการคนที่มี community มีเพื่อนของเขาที่เก่งคนละด้าน แล้วสามารถเรียนรู้ที่จะทำงานด้วยกันได้ ทุน JSTP สามารถสร้างหัวรถจักรหลายๆ ขบวน อาจจะไปกันคนละสาย แต่สุดท้ายกำลังพาให้ประเทศไปข้างหน้าอยู่ นี่คือ keyword สำคัญของ JSTP
คิดว่าที่ผ่านมารัฐไทยให้การสนับสนุนเรื่องของการศึกษา โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ มากน้อยแค่ไหน
พีพี: จริงๆ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ลงทุนกับการศึกษามากเมื่อเทียบกับ GDP แล้วเราก็โฟกัสกับเรื่องการพัฒนาหลักสูตร เรื่องการอบรมจริยธรรมอะไรต่างๆ แต่อันนึงที่เราอาจจะไม่ได้กลับมาคิดเท่าไหร่ก็คือว่า เราไม่ได้อัพเดทสิ่งที่เป็น DNA ของการศึกษาไทยเท่าไหร่ เรายังสร้างคนที่ออกมาเพื่อที่จะอยู่ในยุคแบบที่เรายังต้องแต่งตัวเหมือนกัน เคารพสิ่งเดียวกัน คิดเหมือนๆ กัน แล้วถ้าทำอะไรผิดก็จะโดนลงโทษ ซึ่งค่านิยมแบบนี้ก็เป็นค่านิยมของยุคสมัยบางยุคที่ถูกบังคับให้มาเป็นแบบนั้นด้วยบริบททางสงครามอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าตอนนี้โลกเราเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ได้อยู่ในโลกที่ต้องการคนที่คิดเหมือนๆ กัน ถ้าต้องการคนเหมือนๆ กัน เรามีหุ่นยนต์ เรามี AI ที่แทนที่ได้ตลอด เราต้องการคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เราต้องการคนที่มองโลกต่างออกไป เราหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหา ดังนั้น พีว่ารัฐบาลไม่ควรจะคิดแค่ว่า จะสนับสนุนการศึกษาหรือไม่สนับสนุน แต่ต้องตั้งคำถามด้วยว่า การศึกษาที่เราสนับสนุนอยู่สร้างคนแบบไหนออกมา แล้วคนแบบนั้นยังเข้ากับยุคนี้อยู่รึเปล่า
อ.บวรศักดิ์: ความจริงไม่ใช่แค่การศึกษา แต่มันคือวิธีการแก้ปัญหาทุกเรื่องเลย สังคมมันมีพลวัตในตัวอยู่แล้ว แต่ตอนนี้วิธีการปกครองของสังคมไทยยังพยายามจะ ‘keep it static’ คือพยายามทำให้มันนิ่ง ซึ่งโดยธรรมชาติมันขัดกับสังคม ขัดกับสิ่งมีชีวิต ฉะนั้น ผมมองว่ามันไม่สำคัญว่าเราจะลงเงินไปยังไง ที่จุดไหน และเพื่ออะไร แต่เราจะลงเงินไปเพื่อตอบอะไร ถ้าพูดแบบไม่ถนอมน้ำใจเลย ก็คือสักแต่ว่าโยนเงินลงไป แต่ไม่ได้ไปดูองคาพยพเลยว่า ตอนนี้องคาพยพของการศึกษาเดินไปข้างหน้าได้รึเปล่า คือกระบวนการมันไม่เหมาะสมแล้ว มันควรจะเปลี่ยนยกระบบไปเลย
แล้วคำว่าระบบมันเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของวัฒนธรรมด้วย ตราบใดที่เรายังไม่สามารถสร้าง safe zone ทางความคิด ทางการถกเถียงกันได้ ผมก็มองว่า ยังไงการศึกษาที่เป็นอยู่ตอนนี้ ไม่ตอบโจทย์สำหรับยุคสมัยนี้
อ.สุกฤต: ผมอยากเสริมว่ารูปแบบการศึกษาในปัจจุบัน มันเป็นรูปแบบที่อยู่มาศตวรรษหนึ่งแล้ว ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มันคือการที่เราพยายามทำให้ทุกคนทำสิ่งเดียวกันได้ ให้เหมือนกันเป๊ะๆ ซึ่งอันนี้มันก็สมเหตุสมผลในยุคนั้น แต่ตอนนี้เราเลยจุดนั้นมานานแล้ว เรากลับยังใช้การศึกษาที่มันเคยเวิร์กเหมือน 100 ปีก่อนอยู่
อีกประเด็นที่อยากพูดก็คือ เรื่องของระบบโครงสร้างพื้นฐานของด้านวิทยาศาสตร์ ที่ถามว่า รัฐไทยได้สนับสนุนเยอะไหม จริงๆ ก็เยอะนะ เราส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศเยอะมาก แต่ถามว่า นักเรียนที่จบนอกกลับมาแล้วทำอะไร เราส่งคนไปทำนู่นนี่เยอะมาก แต่สุดท้ายพอเขากลับมา เรากลับไม่มีตำแหน่งอาจารย์ให้บรรจุ หรือไม่มีแม้กระทั่งการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (R&D)
ตอนที่ผมเรียนจบจากสหรัฐฯ ทันทีที่ผมจบ ก็มีบริษัทเอกชนมาหาผมเลย และการจบปริญญาเอกมันก็มีความต้องการสูงในงานที่ได้เงินดี ทีนี้คำถามก็คือรัฐให้เงินในการสนับสนุน ในการส่งเรียนต่อจนจบเอก ทั้งในและนอกประเทศ แต่เรามีอะไรที่รับรองสิ่งนี้ไหม?
อีกเรื่องคือ เรื่องของทุนวิจัย คือทุนวิจัยเราจะมีงบจำกัดว่าห้ามใช้ครุภัณฑ์เกินเท่านี้ ห้ามทำอันนี้เกินเท่านี้ ห้ามจ้างเกิน 15% ถ้าสมมติเราพูดถึงงบวิจัยในประเทศโลกที่หนึ่ง คนที่จบปริญญาเอกแล้วและมาทำงานวิจัยจะได้ค่าจ้างประมาณ 100,000 บาทต่อเดือน แต่ในประเทศไทย บางทีก็ 20,000-30,000 บาท เพราะฉะนั้น จริงๆ ก็คือเขาให้เงินมา แต่งบวิจัยสุดท้ายกลายเป็นงบว่าจ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราต้องสร้างศูนย์เครื่องมือที่เราเอาเงินไปจ่ายเพื่อที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ออกมา แต่ไม่ได้ทำให้เกิดระบบโครงสร้างพื้นฐานของด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นมา
เทียบให้เห็นภาพอีกนิดได้ไหมว่า การสนับสนุนของต่างประเทศเป็นยังไง แล้วของไทยขาดตรงไหน?
อ.สุกฤต: ขอเสริมในสายงานของผมนะ หลายคนอาจจะได้ยินคำว่า quantum computer ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ Google และ Microsoft ลงทุนตรงนี้มานานแล้ว อย่าง Microsoft เขามีหน่วยที่เรียกว่า Q# unit อยู่ที่ Silicon Valley ซี่งเขาจ้างนักฟิสิกส์ระดับปริญญาเอกจำนวนมากที่เข้าใจเรื่องของ quantum computer ซึ่งเขาผลิตเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาจากตรงนี้
แต่กับประเทศไทย เท่าที่ผมทราบ เราผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อบริษัทบางแห่ง หน้าที่ของเราก็คือ mass produced เอายางมาพัฒนาคุณภาพ แล้วส่งต่อไปให้ประเทศอื่นในการประกอบ แล้วเอารถกลับมาขายในราคาที่แพงกว่า นี่คืออุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น แต่ในต่างประเทศอุตสาหกรรที่เกิดขึ้นคืออุตสาหกรรมที่คิดค้นอะไรใหม่ๆ
อ.บวรศักดิ์: อีกปัญหาคือ ค่านิยมของประเทศนี้ที่ไม่ยอมรับการทำผิด ด้วยกระบวนการเรียนวิทยาศาสตร์ มันคือการเดินทางเพื่อให้รู้ว่า ผลลัพธ์ที่ได้เมื่อคุณตีความตามเหตุผลแล้ว ทำไมถึงออกมาเป็นแบบนั้น เป็นการศึกษาว่า ‘ทำไม’ ไม่ใช่ศึกษาว่าอันนี้ถูกหรือผิด
แต่ประเทศไทย ถ้าเกิดวิจัยสักเรื่องนึง แล้วผลลัพธ์มันไม่ดี สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคืออะไร ก็โดนตัดงบ ไปต่อไม่ได้ ขึ้นหิ้งบ้าง ทั้งที่ความล้มเหลวของการวิจัยมันก็มีประโยชน์ของมัน เพราะมันทำให้เรารู้ว่า การทำแบบนี้ไม่เวิร์ก
อันนี้สะท้อนลงมากับคำถามเมื่อกี๊เลยว่าทำไมการศึกษาถึงยังไม่ได้ไปต่อ เพราะว่าตอนนี้การศึกษาแทบทุกระดับ ถูกตัดสินด้วย ‘ถูก’หรือ ‘ผิด’ เด็กหลายคนต้องโตมากับระบบแบบนี้ เขาทำให้ตัวเองตอบโจทย์กับระบบการเรียนเพื่อให้ได้คำตอบถูกผิด โดยที่เขาไม่สนใจอย่างอื่นเลยว่า ในการเดินทางของการเรียนรู้มันเกิดอะไรขึ้น มีเหตุผล ที่มาที่ไปยังไง เราไม่ได้หาเหตุผล เราไม่ได้หาพัฒนาตรรกะ เราพัฒนาแค่ตอบคำถามว่า ถูก หรือ ผิด
แล้วการที่บ้านเราไม่ค่อยมีฮีโร่ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ทั้งๆ ที่มีนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์เก่งๆ อยู่เยอะ เป็นเพราะอะไร
อ.บวรศักดิ์: ถ้าถามผมรู้สึกว่าเขาไม่ได้หาย แต่สังคมไม่ได้ให้ค่าเขาเท่าที่ควร
พีพี: การเป็นฮีโร่ หมายความว่า นอกจากจะต้องมีโปรไฟล์ที่ดี ทำในสิ่งที่ดี ต้องมีเวลาและมีความสนใจของคนที่อยากฝากเขาเหมือนกัน ผมคิดว่า สังคมไทยเราถูกปลูกฝังให้ชินกับการที่เราไปชื่นชมคนที่มีอำนาจ ชินกับคนที่สามารถจะเอนเตอร์เทนเราได้ ไม่ได้ให้ความสนใจกับฮีโร่ที่มอบความรู้ หรือคนที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจเด็กๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีมากขึ้นนะ ใน JSTP ก็มีอาจารย์หลายคนที่เวลามาพูดอะไร เด็กก็จะตื่นเต้น ผมว่ามันก็มีอยู่ เพียงแต่ว่าเราก็ยังต้องการสปอตไลท์ให้คนเหล่านี้ เพื่อที่เขาจะเป็นโรลโมเดลให้กับสังคมต่อไป
เพราะอะไร สปอตไลท์ถึงส่องไปไม่ถึงคนเหล่านี้
พีพี: ผมว่ามันมีหลายเหตุผลนะ ตอนนี้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก เพราะเวลาเด็กนึกถึงนักวิทยาศาสตร์ นักนวัตกรรม ก็มีตัวอย่างมากมายทั้งคนที่ทำ start up คนที่อยู่ในมหาวิทยาลัย คนที่อยู่ในไทยหรือต่างประเทศที่เขาสามารถจะมองเห็นได้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องของสื่อ เรื่องของค่านิยมในสังคม แล้วก็เรื่องของพื้นที่ด้วย ที่ผมสังเกตเวลากลับไทย จะเห็นว่าข่าวรายงานอาชญากรรมทุกวัน รายงานประเด็นสังคมอุดมดราม่าทุกวัน ว่าวันนี้มีดราม่าใครทะเลาะกับใคร ซึ่งหมายความ ถ้าเราทำให้สังคมมันลีดไปทางนั้น โอกาสที่เขาจะมีพื้นที่ให้กับคนที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคมมันก็จะน้อยลง
อ.สุกฤต: เรื่องของสื่อไทย จากทีพีพีพูด ผมก็เห็นว่ามีสื่อไทยที่ไปแปลบทความด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นมามากขึ้นนะ สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเกี่ยวกับนักศึกษาซึ่งต่างจากคนยุคผมคือเขาเห็นว่าทั้งโลกเกิดอะไรขึ้นผ่านอินเทอร์เน็ต มันถึงได้มี #whatshappeninginthailand หรือ #whatshappeninginmyanmar หรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นรอบโลก เหมือนกับว่าความตระหนักรู้ของคนของคนกำลังเริ่มถูกทำให้เป็นสากลมากขึ้น
ขณะเดียว หลายคนมองว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยากและไกลตัว ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
อ.สุกฤต: อย่างแรกคือเรื่องของภาษา ผมมองว่ามันมีการใส่คำที่สวยหรูเข้าไปเพื่อที่จะอธิบายอะไรที่มันไม่ make sense เช่น เรื่องของคลื่นนิ่ง เป็นความรู้ฟิสิกส์ ม.4-5 เวลาที่คลื่นสองตัววิ่งมาชนกัน คลื่นที่มีแอมพลิจูดเท่ากัน มาชนกัน เราจะเรียกมันว่า คลื่นอาพันธ์ พอพูดคำว่า คลื่นอาพันธ์ คนไม่เข้าใจแล้ว แต่ในภาษาอังกฤษ เขาเรียกว่า Coherent Sources คำว่า Coherent เป็นศัพท์ทั่วไปที่ฟังแล้วเข้าใจได้
ผมมองว่าสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยเป็นความเสียเปรียบในด้านนี้ คือเราไม่คุ้นเคยกับภาษาท้องถิ่นของคนที่คิดเทคโนโลยีพวกนี้ขึ้นมา ทำให้วิทยาศาสตร์มีภาษาศัพท์แสงอยู่ในระดับหนึ่ง เกิดความรู้สึกว่า มันอยู่บนหอคอยงาช้าง เป็นอะไรที่เราต้องไปเทิดทูนบูชา
อีกอย่างคือ เรื่องที่เด็กถูกสอนแบบกำหนดถูกผิดเนี่ยแหละ ผมมองว่าการพัฒนาระบบ TCAS ให้มีระบบสอบสัมภาษณ์ ระบบ portfolio ก็ทำให้อะไรมันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ในแง่ของเรามีการคุย มี human element เพิ่มขึ้นมา แต่การที่เด็กจะมาถึงจุดนี้ได้ สุดท้ายเขาก็ต้องทำคะแนนถูกผิดที่ถูกตัดสินโดยใครสักคนหนึ่งว่าอันนี้คือสิ่งที่ถูก อันนี้คือสิ่งที่ผิด ตอนนี้เรากำลังให้คนเลือกคำตอบที่ถูกโดยที่ไม่สนใจกระบวนการการเรียนรู้เลย
อ.บวรศักดิ์: ไม่รู้ผมคิดไปเองรึเปล่า แต่ว่าในไทยจะมีภาพอยู่ภาพนึงก็คือ เมื่อใดก็ตามที่มีคนมาพูดอะไรบางอย่าง แล้วพูดศัพท์เทคนิคเยอะๆ จะมีภาพลักษณ์ว่าคนนั้นเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ซึ่งส่วนตัวผมรู้สึกว่าเป็นคอนเซปต์ที่โคตรแปลกเลย แล้วหลายๆ ครั้ง สิ่งที่ใครคนหนึ่งพูดมาก็ผิดแบบวายวอดเลยด้วยซ้ำ ผมเองก็จัดค่าย JSTP ผมหยิบหัวข้อที่ค่อนข้างแอดวานซ์ เช่น เรื่องของ AI machine learning แล้วผมก็เอาไปสอนเด็ก ม.ต้นได้ คือผมรู้สึกว่ามันเป็นภาพที่ถูกแสดงออกไปที่ไปสร้างบรรทัดฐานว่าวิทยาศาสตร์มันต้องยาก วิทยาศาสตร์มันต้องประกอบไปด้วยอะไรก็ตามที่ highly technical จะต้องมีศัพท์ยากๆ จะต้องเข้าใจยากๆ แล้วคนที่เข้าใจจะต้องเป็นคนเก่งเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ทุกอย่างที่ผมพูดมามันเป็นภาพลวงตาหมดเลย แต่ว่าภาพนั้นมันปรากฎอยู่ในการศึกษาไทย ณ ตอนนี้
ตรงจุดนี้ รัฐสามารถสนับสนุนให้คนเข้าใจได้อย่างไรว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่จับต้องได้
พีพี: รัฐสามารถสนับสนุนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในเรื่องของการทำให้วิทยาศาสตร์เข้าถึงได้ง่าย แล้วจริงๆ ประเด็นนี้ถูกเถียงกันเยอะมากในต่างประเทศ ว่าการเข้าถึงวิทยาศาสตร์มันควรจะเข้าถึงแบบไหน แบบที่คนท่องได้ว่าระบบสุริยะมีดาว 9 ดวง หรือมันควรจะเข้าใจว่าแต่ละอันมันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเรายังไง สหรัฐฯ ก็มีงานศึกษาที่บอกว่าเด็กหลายๆ คนเรียนเรื่องระบบสุริยะมา แต่ก็ยังเชื่อว่าโลกแบนอยู่ หรือเชื่อว่าวันนึงจะเดินตกโลกอยู่ คือมันแสดงให้เห็นว่าบางครั้งการที่เรารู้ข้อเท็จจริงหรือว่าชุดความรู้บางอย่าง ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะมี critical thinking หรือสามารถที่จะวิเคราะห์สถานการณ์ เอาความรู้ที่เรามีมาทำให้เกิดกระบวนการคิดบางอย่างที่ทำให้เราสามารถจะใช้ชีวิต หรือว่าตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเราได้
เราเลยรู้สึกว่ามันมีหลายวิธีที่รัฐจะสนับสนุนให้วิทยาศาสตร์เข้าถึงคนหมู่มากได้ แต่ว่าก็ต้อง make sure ด้วยว่าการเข้าถึงไม่ใช่การเอาข้อมูลไปล้างสมองเขา เอาข้อมูลวิทยาศาสตร์ยัดเข้าไปในหัว แล้วไม่นำไปสู่ critical thinking หรือไม่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ที่จะแก้ปัญหาใหม่ๆ ในชีวิตเขาได้ ผมเคยเรียกว่ามันเป็น ‘ขี้ของวิทยาศาสตร์’ นึกถึงเวลาเราไปกินชาบู ความสุขเกิดจากการที่เราได้ปิ้งกินเอง แล้วสุดท้ายเราก็มีของเสียออกมา
วิทยาศาสตร์ก็เหมือนกัน หลายๆ ครั้งเราก็ไปเรียนสิ่งที่นิวตันขี้ออกมา ไปเรียนสิ่งที่ไอน์สไตน์ขี้ออกมา ออกมาเป็นความรู้ที่ยัดไปในหัวเด็ก แทนที่เราจะสร้างสถานการณ์แบบเดียวกับที่นิวตันไปนั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ล แล้วเกิดแรงบันดาลใจเกี่ยวกับจักรวาล แล้วก็คิดบางอย่างขึ้นมาได้ คือเราไปเอา buy product หรือไปเอาทางลัดที่คนอื่นทำเสร็จแล้วมา และโยนเข้าไป แทนที่เราจะสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เอื้อให้เด็กนำไปสู่การค้นพบ เข้าใจ หรือเรียนรู้ด้วยตัวเอง มันเลยมีหลายมิติที่ซ่อนกันอยู่ในนั้น
อ.สุกฤต: สิ่งที่พีพูดก็กลับมาเรื่องข้อสอบ ออกข้อสอบมัธยม ข้อสอบ TCAS แล้วมาวัดยังไงว่าเด็กคนนี้เก่ง วัดว่าเขาเอากฎของนิวตันมาใช้ได้ดีแค่ไหน ซึ่งกฎของนิวตันเด็กก็ไปท่องสมการโพรเจกไทล์มา แต่เขาไม่ได้สนใจว่าสมการโพรเจกไทล์มายังไง กระบวนการคิดที่เข้าไปตรงนั้นมันคือยังไง ซึ่งมันเป็นของที่ค่อนข้างปัจเจกและวัดได้ยาก คือถ้าเราไม่สามารถที่จะไปใส่ใจบุคลากรทีละคน เด็กทีละคน แล้วก็ช่วยสร้างตัวเขาขึ้นมา ผมมองว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะช่วยเสริมสิ่งที่เขาถนัดขึ้นมาได้
อ.บวรศักดิ์: ผมเพิ่งสัมภาษณ์นักศึกษา ป.ตรีไป แล้วผมใช้คำถามว่า เรากำลังจะสร้างหุ่นยนต์หนึ่งตัว แต่สมมติหุ่นยนต์มันวิ่งอยู่บนพื้น มันเกี่ยวอะไรกับกฎของนิวตัน เชื่อมั้ยว่าเด็ก 80% ตอบไม่ได้ ทั้งๆ ที่ตรงนี้คือคอนเซปต์ที่สำคัญมากๆ แล้วมันไม่จำเป็นต้องอาศัยเรื่องของการคำนวณใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมันคือการอธิบายปรากฎการที่เกิดขึ้น แต่เด็กส่วนใหญ่ถ้าผมให้สูตรไปเขาคิดได้ เขาจะข้ามปรากฎการณ์ทั้งหมดเลย แล้วไปโฟกัสกับอะไรก็ไม่รู้ ความจริงเรื่องพวกนี้มัน relate อยู่กับธรรมชาติรอบตัว แต่สิ่งที่เด็กเรียนรู้ไม่เคยเกี่ยวโยงกับธรรมชาติเลย ไม่เคยสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันเลย เพราะฉะนั้นง่าย ที่สุดถ้าจะอธิบายวิทยาศาสตร์ให้คนทั่วไปเข้าใจเกี่ยวโยงกับชีวิตประจำวัน ซึ่งมันหาได้อยู่แล้ว แต่สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลย ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน
แล้วในต่างประเทศ เขาสอนเรื่องวิทยาศาสตร์กันยังไง
พีพี: ประโยคนึงที่ผมจะระลึกอยู่ตลอดก็คือ เวลาครูในไทยถามว่าเด็กเข้าใจรึเปล่า ถ้าเราลองมองคำนี้ดีๆ คือมันเข้าไปในใจ จำฝังใจรึยัง แต่ว่าประโยคที่อาจารย์ต่างประเทศจะถามก็คือ make sense รึเปล่า คุณได้คิดแล้วมันผ่านประสาทสัมผัสไปแล้ว มันเป็นเหตุเป็นผลรึเปล่า ซึ่งอันนี้พีว่าสะท้อนค่านิยมที่ต่างกันว่าในไทยเราจะถามว่า คุณเป็นหุ่นยนต์ที่เฟอร์เฟกต์รึยัง เป็นโปรแกรมจำทุกอย่างที่คุณจำเป็นจะต้องเรียนรู้กับสิ่งนั้นครบแล้วพร้อมที่จะไปสอบรึยัง แล้วก็จบไป เราไปให้ความสนใจกับการสอบว่ามันคือ ultimate goal ถ้าคุณสอบแล้ว คุณลืมหลังจากวันนั้นเลยก็ไม่เป็นไร เพราะคุณก็ได้เกรด 4 ไปแล้ว ทั้งที่จริงๆ การศึกษาคือการทำให้มนุษย์คนนึงค้นพบตัวเอง แล้วสามารถเอาความรู้ไปสร้างสิ่งที่มีคุณค่ากับเขา กับสังคม กับโลกได้ ซึ่งพอเรามองว่าตรงนี้มันสำคัญน้อยกว่าการสอบ มันก็ทำให้การศึกษาเราบิดเบี้ยวไปตั้งแต่ต้น
อ.บวรศักดิ์: อยากแชร์เรื่องนึง ผมจำได้ว่า ตอน ม.ปลายมีอาจารย์คนนึงสอนดีมาก แต่มันไม่ตอบโจทย์ผมในตอนนั้น ผมเลยไม่ตั้งใจเรียน เขาสอนฟิลิกส์ด้วยการเอาการทดลองทุกอย่างมาโชว์ให้ดู และอธิบายถึงที่มาที่ไป แต่ผมกับเพื่อนมองว่า เราไม่ได้คะแนนจากส่วนนั้น ซึ่งผมมองย้อนกลับไปผมเข้าใจทุกอย่าง ในฐานะที่ตอนนี้ผมเป็นอาจารย์แล้ว ผมเข้าใจว่าทำไมอาจารย์เขาถึงทำแบบนั้น แล้วก็เข้าใจเด็กด้วยว่าทำไมมีรีแอคชั่นแบบนี้ เพราะว่าวัตถุประสงค์ที่เป็น ultimate goal ของการศึกษาไทย ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย มันต่างกับวัตถุประสงค์ของการศึกษาในต่างประเทศ
ผมเคยไปเรียน ม.6 ที่สหรัฐฯ มาปีนึง ก่อนที่ผมจะเข้า ป.ตรีที่นั่น เขาพยายามให้เด็กค้นหาตัวตน ถ้ารู้สึกว่าเรียนแล้วไม่ใช่ ก็แค่ไม่ใช่ แล้วก็ค้นหาตัวตนต่อไป ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้เพอร์เฟกต์ ไม่จำเป็นต้องเรียนทุกอย่าง แล้วเวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัย เขาก็ไม่ได้สอบทุกอย่างเหมือนกัน เขาให้เด็กสามารถเลือกได้ว่าคุณอยากสอบเลข ก็สอบเลข อยากสอบฟิสิกส์ ก็สอบฟิสิกส์
แต่ที่ไทย การศึกษาคือคุณอยากเข้ามหาวิทยาลัยนี้ คุณต้องทำให้ถูกเยอะๆ แม้ว่าวิชานั้นคุณจะไม่ได้ใช้มันอีกเลยตลอดชีวิตก็ตาม ผมว่ามันผิดตั้งแต่วัตถุประสงค์แล้ว ฉะนั้นถ้าธงที่ปักว่าการศึกษาคืออะไรมันผิดตั้งแต่ต้น ไม่ต้องไปพูดว่าอะไรคือความแตกต่าง เพราะมันตอบคนละโจทย์แต่ต้นอยู่แล้ว
อ.สุกฤต: ผมมีประสบการณ์เป็นผู้ช่วยสอนที่สหรัฐฯ อยู่ 8 ปี ยกตัวอย่างโจทย์ฟิสิกส์ปีหนึ่งของคนที่เรียนเอกฟิสิกส์ ซึ่งฟิสิกส์ปีหนึ่งจะเรียนด้วยกันหมดเลย แล้วมันก็จะดู test แบบเดียวกับอย่างที่อาจารย์บวรศักดิ์บอกว่าใครเอาสูตรมาใช้ได้ดีกว่ากัน แต่ในทางกลับกันคือข้อสอบฟิสิกส์ที่สหรัฐฯ ยกตัวอย่างง่ายๆ มหาลัยที่ผมไปเรียนโจทย์มันจะไม่ตรงกับสูตรอะไรเลย แต่ว่ามันจะกลับไปว่า ถ้าเราไม่เข้าใจพื้นฐาน เราจะไม่สามารถตอบโจทย์ข้อนี้ได้เลย เพราะโจทย์แนวนี้หรือการวัดความเข้าใจในระดับนี้ มันต้องใช้เวลาในการตรวจเยอะ ฉะนั้นการที่เราประเมินออกมาเป็นคะแนน การที่เราทำอะไรก็ตามที่ไม่ได้เป็นช้อยส์สามารถวัดได้ง่ายๆ มันตรวจง่าย แต่ผมมองว่าเรากำลังมักง่ายกับการประเมิน ซึ่งสิ่งนี้การศึกษาของสหรัฐฯ เขาค่อนข้างที่จะเน้นว่าเด็กเข้ามาจะเติบโตได้ยังไง แต่ก็ไม่ได้จะบอกว่า การศึกษาของสหรัฐเป็นที่สุดนะ จริงๆ ก็ไม่ใช่ แต่เราต้องตีโจทย์ให้แตกว่าโจทย์คืออะไร เราควรจะตั้งเป้าหมายแบบไหน แล้วสร้างสภาพแวดล้อม แบบไหนให้เด็กเรียนรู้ แล้วสร้างบุคลากรที่ดีของโลกได้
แต่ในอีกแง่หนึ่ง การเรียนสายวิทย์ก็มักถูกเชิดชูมากกว่าสายอื่นๆ
อ.บวรศักดิ์: เป็นค่านิยมที่ไร้สาระ ถ้าเกิดมองลึกลงไปจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทย์ ศิลป์ หรือภาษา พวกนี้แต่ละอย่างเกื้อหนุนกัน แล้วทุกศาสตร์มันใช้ในการอธิบายหลายๆ ศาสตร์ การที่สังคมจะหลอมมาเป็นสังคมนึงได้ ไม่ได้อาศัยแค่ขาวิทยาศาสตร์ขาเดียว มันต้องมีขาอื่นๆ ด้วย
ผมสอนสายวิศวะ ในงานอดิเรกผมก็นั่งเล่นเกม นั่งเล่นดนตรี มันก็มีมุมมองศิลป์ของผมอยู่ แล้วถามว่าเวลาผมเล่นดนตรี แน่นอนผมก็มีมุมที่เล่นเพื่อความจรรโลงใจ แต่ว่าพวกนั้นหลายๆ ครั้งก็ถูกอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ได้ แล้ววิทยาศาสตร์หลายๆ ครั้ง ก็ไปบังเอิญ โป๊ะเชะกับศิลปะ ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้ ความจริงมันควรจะเคารพซึ่งกันและกัน เพราะว่ามันเกื้อกูลกันอยู่ ไม่ควรจะชูว่าอันนี้ดี อันนี้แย่
อ.สุกฤต: ในฐานะเป็นอาจารย์สอนคณะวิทยาศาสตร์ ต้องถามว่า คณะวิทยาศาสตร์อยู่ใน ranking ระดับไหนของประเทศไทย? คนเรียนสายวิทย์เพื่อที่จะไปเรียนวิศวกร หรือไม่ก็หมอ หรือไม่ก็เภสัชกรอะไรพวกนี้ ซึ่งจริงๆ ก็คือเรามี hierarchy ของอาชีพที่มันดูมีภูมิฐาน ผมก็มองว่าสุดท้ายคณะวิทยาศาสตร์กลายเป็นคณะซิ่ว หรือเข้าง่ายออกยาก เพราะว่าคะแนนเข้าเราต่ำ แต่จริงๆ กระบวนการฝึกฝน การเรียนรู้ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งก็อยู่ที่กรอบความคิดที่ว่า เราจะไปปลูกฝังเด็กยังไงว่าอันนี้คือสิ่งที่ดีที่สุด อันนี้คือสิ่งที่แย่ที่สุด สิ่งที่ดีที่สุดคือการให้เขาไปค้นหาเอาเองว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา แล้วอะไรคือสิ่งที่โลกต้องการ ซึ่งตรงนี้ต้องมากจากการลองผิดลองถูก การที่เราไปบอกว่าคนที่จะประสบความสำเร็จต้องทำสิ่งนี้เท่านั้น ความจริงคือมันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า one size fits all หรือรองเท้าคู่เดียว ใส่มาแล้วทุกคนจะสบาย มันเป็นไปไม่ได้
นี่ถือเป็นหน้าตาของการศึกษาที่อยากเห็นหรือเปล่า
อ.บวรศักดิ์: สำหรับผม การศึกษาแบบในโครงการ JSTP ตอบโจทย์จุดนี้ ในฐานะอาจารย์ เรามีหน้าที่ให้ข้อมูล โดยไม่ตัดสิน เรามีหน้าที่แชร์ประสบการณ์ เรามีหน้าที่ชี้ว่าอันนี้เคยทำมาแล้วนะ เพื่อให้เด็กๆ เขาประกอบการตัดสินใจ ซึ่งเขาจะต้องตัดสินใจเอง
แต่การศึกษาแบบนี้มันเหนื่อยนะ แล้วพอมันไม่สามารถทำกับทุกคนได้ มันเลยมีค่ายแบบ JSTP ขึ้นมาที่เราสามารถโฟกัสกับเด็กได้
อ.สุกฤต: เรื่องของ JSTP จริงๆ ก็มีข้อโต้แย้งอยู่ว่าทำไมเราจะต้องไปสนับสนุนเด็กที่ไปได้ดีอยู่แล้ว ให้เขาไปได้ดีมากขึ้น เทียบกับบางประเทศ อย่างจีน ผมก็เคยได้ยินข่าวว่า เขามีการตัดงบในการพัฒนาคนที่อยู่ระดับสูง เพื่อที่จะดันคนที่อยู่ระดับล่างให้ขึ้นมา ประเด็นคือเรายังไปไม่ถึงจุดนั้นเพราะว่า การศึกษาควรจะเป็นของที่แพงที่สุด หมายความว่า อาจารย์ ครู ควรจะเป็นของที่ถูกเอื้ออำนวยมาโดยรัฐบาล ให้คนเข้ามาแล้วสามารถที่จะเรียนรู้ได้ฟรี แต่เราต้องมั่นใจด้วยว่า มหาวิทยาลัยทั่วประเทศจะต้องมีประสิทธิภาพที่จะจัดสรรการศึกษาให้กับเด็กทุกคนได้
ความจริงก็คือโลกในอุดมคติสำหรับผม ผมอยากให้มีการศึกษาเป็นแบบ JSTP สำหรับทุกๆ คน ประเด็นคือเรายังไม่ถึงเลเวลนั้น เรายังมีครูที่ได้รับเงินเดือนขั้นต่ำไม่เพียงพอจนเขายังต้องไปหางานเสริม หรือแม้แต่กระทั่งอาจารย์ ถ้าสังเกตตามในเน็ต ก็จะมีดราม่าว่าวุฒิ ป.เอก ต้องทำอันนี้ได้ รู้จักภาษานี้ เขียนอันนี้ได้ พูดภาษาอังกฤษคล่อง อ่านเปเปอร์ มี critical มีตีพิมพ์เท่านี้ เงินเดือน 25,000 บาท แต่ในประเทศโลกที่หนึ่งอย่างฟินแลนด์ ครูเป็นอาชีพที่แพงที่สุด แต่นักเรียนเรียนฟรี เพราะว่าเขาทุ่มให้กับสิ่งพวกนี้
คำถามที่กลับมาคือในเชิงเศรษฐกิจของนโยบายรัฐบาล จะมีพรรคไหนที่บอกว่าจะปรับเงินเดือนครูเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 บาทได้ เพราะโดยพื้นฐานคือเราอยู่ในระบบที่คนต้องรันบนเอกสาร อยู่ในระบบที่ครูคนใหม่เข้ามา จะต้องไปเข้ากับระบบที่มีอยู่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราไปล้างสมองคนที่เป็นพ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ ให้ผลิตสิ่งเดิมๆ ออกมา
ถ้าถามว่าค่าย JSTP มันตอบทุกโจทย์มั้ย ไม่ได้ตอบทุกโจทย์ เพราะเรากำลังโฟกัสกับคนที่เลือกมาแล้ว ในทางกลับกันก็คือถ้าเราจะทุ่มเทในโลกอุดมคติจริงๆ ว่าการศึกษาควรจะเป็นยังไง ผมอยากให้มีค่าย JSTP สำหรับเด็กทุกคนในประเทศไทย แต่มันเป็นไปไม่ได้
การที่เราจะได้การศึกษาตามที่เราหวัง เราต้องอยู่ในสภาพสังคมแบบไหนก่อน?
อ.สุกฤต: ในแง่ด้าน motivation ตราบใดครูที่ไปสอนตรงตะเข็บชายแดน ยังไม่ได้เงินเดือนหลักแสน หรือได้รับการสนับสนุน เช่น มีเลขา จะได้ไม่ต้องมานั่งทำเอกสาร แล้วเขาสามารถโฟกัสกับการสอนได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การแข่งขันในการเป็นครูและอาจารย์ ก็จะเยอะขึ้น แล้วครูก็จะทุ่มเทมากขึ้น หลายๆ คนที่มาช่วยทำงานในค่าย JSTP ก็ยืนหยัดเพื่อสิ่งที่เหมือนๆ กัน มีอุดมคติเหมือนกัน ซึ่งเอาจริงๆ เราก็ไม่ได้ค่าจ้างนะ พวกเราเข้ามาทำค่าย ประชุมแบบ 4-5 ทุ่ม บางทีต้องลางานมาด้วย แต่เรามาเพราะรู้ว่ามันคุ้มค่า
อันนี้พูดด้วยอุดมคติสุดๆ เลยนะ ผมอยากให้เราอยู่ในสังคมที่รัฐไม่เก็บค่าเล่าเรียน โรงเรียนทุกที่ให้การศึกษาในระดับเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องไปจ่ายเป็นแสน เป็นล้านเพื่อที่จะเรียนโรงเรียนอินเตอร์ แต่ทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ในระดับเดียวกัน มี native speaker มาสอนเหมือนกับที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์ และทำให้เด็กเขาถึงอุปกรณ์ต่างๆ ได้
ซึ่งมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้ารัฐบาลไม่จัดสรรสิ่งจูงใจให้ครูและอาจารย์ ให้เขาจริงจังกับการศึกษาในแง่ที่ว่าเขาไม่จำเป็นต้องนั่งคิดถึงเรื่องอื่น ไม่จำเป็นต้องคิดถึงเรื่องเอกสาร ไม่จำเป็นต้องคิดว่าเช้าชามเย็นชาม หรือเราต้องสอนพิเศษแค่ไหนให้มีเงินพอ
ถ้าเขาสามารถที่จะโฟกัสกับนักเรียนทุกๆ คนได้ แล้วอาชีพนี้เป็นอาชีพที่การแข่งขันสูง แล้วมีหน้าที่การงานสูง แพงเหมือนกับในประเทศโลกที่หนึ่ง อย่างฟินแลนด์ ที่ครูมีเงินเดือนสูง และมีเกียรติเทียบเท่ากับหมอเลย ก็จะดีมาก แต่ในประเทศเรา ถ้าเทียบระหว่างครูตามตะเข็บชายแดนกับหมอตามโรงพยาบาลเอกชนดังๆ อันไหนเป็นอาชีพที่คนมองว่ามีเกียรติมากกว่ากันล่ะ?
อ.บวรศักดิ์: ผมเห็นด้วยมาก ผมก็รู้สึกแปลกใจว่าเราอยู่ในสังคมทุนนิยม แต่เราเรียกหา ‘การกุศล’ จากครูและอาจารย์ ถ้าไปดูในต่างจังหวัด การทำอาชีพนี้ไม่ต่างอะไรกับการบริจาค มันคืออาชีพ ลงทุน ลงแรงไปมันต้องได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า มันคือ fair trade เราอยู่ในโลกที่มันควรจะเป็น fair trade แล้ว
ผมเชื่อนะว่า การอัดเงินมาเยอะขึ้น สร้างแรงในการแข่งขัน ถ้าเงินเดือนสูง การแข่งขันเพิ่มขึ้น แสดงว่าคนที่จะมาอยู่จุดนี้ได้ ก็เป็นเหมือนกับหมอ วิศวกร เหมือนอะไรตอนนี้ ที่จะต้องแข่งขันกันเพื่อที่จะได้ไปอยู่ในจุดที่เราได้รับผลตอบแทนคุ้มค่ากับสิ่งที่เราลงแรงไป เป็นกลไกเบื้องต้นของเศรษฐศาสตร์เลย การแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม
อ.สุกฤต: อยากย้ำว่า ผมไม่ได้มองว่าคือคนเป็นครูไม่ดีนะ ผมรู้จักครูดีๆ เยอะ ผมมีทุกวันนี้เพราะว่าครูผมดี แต่จริงๆ ผมไม่อยากให้มีคำว่า ‘เด็กที่โชคดีเพราะเจอครูดี และครูผู้เสียสละ’ อาชีพไหนๆ ก็เสียสละ แต่ประเด็นคือทำยังไงเราถึงจะทำสร้างสิ่งจูงใจให้คนพร้อมที่จะลงทุนลงแรงกับอนาคตของชาติมากขึ้น อันนี้คือการสร้างระบบนิเวศของโลกของอุดมคติในมุมของผม
ครูดีๆ ในประเทศไทยมีจำนวนมาก แต่จำเป็นมั้ยที่เขาจะต้องเสียสละขนาดนี้