เชื่อว่าหลายคนคงติดตามการแถลงการณ์เกี่ยวกับการค้นพบสารซีเซียม-137 แต่อาจจะสับสนหรือไม่เข้าใจกับบางข้อมูลที่ทางเจ้าหน้าที่ได้กล่าวถึง ดังนั้น เราจะมาสรุปแถลงการณ์ครั้งนี้ให้ทุกคนอีกครั้งแบบเข้าใจง่ายๆ
โดยในการแถลงการณ์ครั้งนี้จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี, เลขาธิการสํานักงานปรมาณูเพื่อสันติ, นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม, หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี, ผู้บังคับการตำรวจภูธร และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี
วันนี้ (20 มีนาคม) รณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสํานักงานปรมาณูเพื่อสันติ แถลงการณ์เกี่ยวกับการค้นพบสารซีเซียม-137 ที่ถูกรายงานว่าสูญหายตั้งแต่ 10 มีนาคม ที่โรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง ณ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งถูกค้นพบแล้ว ที่กระเป๋าบิ๊กแบ็คหรือถุงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่โรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง
ผู้ว่าฯ กล่าวถึงกระบวนการหลอมเหล็กว่า “จะมีฝุ่นแดงหรือฝุ่นเหล็กออกมาจากฟิลเตอร์ ก่อนจะปล่อยให้เย็นแล้วกลายเป็นผลึกเม็ดเล็กๆ ซึ่งเราตรวจพบสารสารซีเซียม-137 จากเหตุนี้ ต่อมาก็รีบเร่งให้เจ้าหน้าที่ปิดกั้นพื้นที่ ห้ามให้คนเข้าออก นอกจากนี้ ยังไม่มีสารสารซีเซียม-137 ในบริเวณโดยรอบ
“วันนี้เราพบซีเซียมผสมอยู่กับเหล็กที่มันไม่ใช่ฝุ่นเหล็กฟุ้งแบบทั่วไป มันอยู่ในระบบปิด ซึ่งเราไปเจออยู่ห่างจากโรงงานที่สูญหายประมาณ 10 กิโลเมตร แต่ไม่รู้ว่ามันเป็นตัวที่เราตามหาหรือเปล่า”
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า ต้นเรื่องจากโรงงานไฟฟ้า และท้ายเรื่องที่โรงงานหลอมเหล็ก เชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นโดยมนุษย์ ไม่ได้หล่นลงมาเองโดยธรรมชาติ ดังนั้น หน่วยงานรัฐต้องประสานงานกันทุกฝ่ายเพื่อหาสาเหตุ ถือเป็นอุบัติเหตุที่มนุษย์ยังไม่ได้รับความเสียหาย
ส่วนบริเวณที่เก็บถุงบิ๊กแบ็คมีประมาณ 24 กระสอบที่ปนเปื้อน แต่มีอยู่กระสอบหนึ่งได้ถูกนำไปถมที่บริเวณด้านหลังโรงงาน ทางเจ้าหน้าที่จึงเคลียร์พื้นที่อุดดินทั้งหมด และยกมาอยู่ในโกดังที่ปิดล้อมไว้แล้ว
เนื่องจาก สารซีเซียม-137 มีขบวนการกำจัดที่ไม่สามารถฝังกลบได้เหมือนขยะทั่วไปเพราะถือว่าเป็นขยะปนเปื้อนที่เป็นอันตราย ส่วนมาตรการต่อไปคือดำเนินการกับคนที่เกี่ยวข้อง ต้องตรวจย้อนกลับหาร่องรอยว่าใครนำมาส่งโรงงาน
จนถึงตอนนี้หลายคนคงสงสัยว่า สรุปแล้วสารซีเซียม-137 ที่หายไปถูกหลอมแล้วหรือยัง? และถ้าหลอมแล้วเราจะได้ผลกระทบอะไรบ้าง?
“ในขบวนการตอนนี้เราไม่มั่นใจว่าอุปกรณ์หลอมหรือยัง เพราะมันจะสลายตัวเมื่อถูกความร้อน เปลี่ยนสภาพเป็นของเหลวและอยู่ในเหล็กหรือยัง เพราะเมื่อพบอุณหภูมิ 600 องศาฯ มันจะกลายเป็นฝุ่นเหล็กอยู่ในระบบปิด เราวัดรอบโรงงานหลอมเหล็กแล้วไม่มีรั่วออกมา และอย่ากังวล แต่ผมไม่ยืนยันว่ามันเป็นอุปกรณ์นั้น” เลขาธิการกล่าวเสริม
ทางด้านกิตติกวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือตรวจวัดวัตถุค่ากัมมันตรังสีสารซีเซียม-137 ได้จากฝุ่นโลหะที่ได้จากการผลิตโลหะ และตรวจครอบคลุมรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงงาน ยังไม่พบความอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด พร้อมยืนยันว่าวัตถุที่พบการปนเปื้อนถูกควบคุมอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ไม่มีการฟุ้งกระจายสู่สิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่า ถ้าแท่งโลหะที่บรรจุสารซีเซียม-137 ถูกหลอมรวมกับเศษเหล็กในโรงงานหลอมเหล็กแล้ว ผลกระทบที่ตามมาคือ
ฝุ่นขนาดเล็กของสารซีเซียม-137 ที่ปล่อยออกมาจากปลายปล่องจะกระจายสู่บรรยากาศ และตกลงสู่แหล่งน้ำ ดินที่อยู่รอบๆ โรงงาน และเกิดการปนเปื้อนเข้าสู่วงจรอาหารได้แก่ ผัก ผลไม้ อาหารจากแหล่งน้ำใกล้เคียง และอาหารแปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร รวมทั้งอาจมีบางส่วนที่ประชาชนหายใจเข้าไปด้วย
“สารนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายบางส่วนจะถูกขับออกจากร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะและบางส่วนจะตกค้างและสะสมในกล้ามเนื้อ ตับ ไขกระดูก หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซมคือเป็นมะเร็งนั่นเอง” เขากล่าว
สอดคล้องกับข้อมูลของ สมรส พงศ์ละไม แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ระบุว่า ถ้าสารซีเซียม-137 ถูกหลอมเผาไหม้ และกลายเป็นไอ สามารถออกไปได้เป็นหลักร้อยถึงพันกิโลเมตรขึ้นกับลม และทำร้ายสิ่งมีชีวิตได้ทั้งการสัมผัสโดยตรง การกิน และการหายใจ
สารซีเซียม-137 จะสะสมในดิน น้ำ อาหาร ทำให้เกิดผลเสียต่อสัตว์และมนุษย์ และสารซีเซียม-137 ต้องใช้เวลาในธรรมชาติไม่ต่ำกว่า 100 ปีจึงจะสลายหมด ดังนั้น คนที่จะได้รับผลกระทบน่าจะหลายแสนคนเป็นเวลากว่า 100 ปี
เขายังย้ำว่า “คนที่คิดว่าเสี่ยงต่อการสัมผัส สารซีเซียม-137 ควรเฝ้าระวังเร่งด่วน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผิวหนังไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ”
ทั้งนี้ สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า เบื้องต้นจะต้องดำเนินการให้พนักงานในโรงงานที่พบสารปนเปื้อนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด และต้องตรวจสุขภาพทั้งหมด 70 คน แบ่งเป็นต่างด้าว 60 คน คนไทย 10 คน รวมทั้งต้องประเมินว่าจะปนเปื้อนสู่ครอบครัวหรือไม่ โดยต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวะอนามัยประเมินเป็นช่วง 6 เดือนถึง 1 ปี ขณะเดียวกันก็ต้องเฝ้าระวังในวงกว้างอยู่เช่นเดิม
โดยสรุปแล้ว พบสารซีเซียม-137 ในโรงหลอมเหล็กที่ปนเปื้อนในฝุ่นเหล็กระบบปิดจริง ทำให้ไม่ได้ฟุ้งกระจายออกมา นอกจากนี้ หลังการตรวจสอบรอบโรงหลอมเหล็กโดยเจ้าหน้าที่ ไม่พบรังสี แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นตัวที่หายไปหรือไม่
อ้างอิงจาก