โลกใบนี้น่าหลงใหลแค่ไหน เราจินตนาการสิ่งมหัศจรรย์ ธรรมชาติและสรรพชีวิตอันแปลกประหลาดจากทั่วโลกไว้อย่างไร เรามองเห็นนกที่โผบิน เห็นกระทิงยักษ์ ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดเช่นนางเงือก เห็นโครงกระดูก เห็นเหล่าพืชหายากที่รวบรวมมาจากทุกมุมของโลก
ทั้งหมดนี้เป็นข้าวของที่เราพบได้ใน ‘ห้อง’ ที่เรียกว่า cabinet of curiosities ห้องจัดแสดงที่ถ้าย้อนไปในยุคศตวรรษที่ 16-17 เราจะเจอห้องเหล่านี้ได้ในบ้าน คฤหาสน์ ไปจนถึงห้องในพระราชวัง ห้องเหล่านี้ถูกเรียกว่าเป็นบรรพบุรุษของพิพิธภัณฑ์ เป็นจุดตัดในยุคที่วิทยาศาสตร์เริ่มก่อตัวขึ้นพร้อมๆ กับความหลงใหลในความแปลกประหลาดของโลกใบนี้ ในห้องมักจะจัดแสดงตัวอย่างชิ้นส่วนหรือสัตว์สตัฟฟ์จากสิ่งมีชีวิตที่ชาวยุโรปในยุคนั้นเดินทางไปรวบรวมมาจากทุกมุมโลก
ทว่า การจัดแสดงตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในยุคนั้นก็ตามชื่อของห้อง คือเป็นห้องแห่งความน่าฉงนสงสัย นอกจากจะเป็นความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นและจำลองโลกกว้างผ่านการรวบรวมตัวอย่าง(specimen) ของสิ่งมีชีวิตจากทั่วโลกแล้ว นัยของความหลงใหลในนามวิทยาศาสตร์นี้มีความชื่นชอบในความแปลกประหลาด ความหลงใหลในเรื่องของอสูรกาย และในการจัดแสดงนั้นก็มีความน่าขนลุกหรือกระทั่งความเกรงขามประกอบอยู่ในความรู้สึกสงสัยในความมหัศจรรย์ของโลกที่พวกเขาเริ่มสำรวจ
ในวันที่ห้องแห่งความประหลาดของ กีเยร์โม เดล โตโร (Guillermo del Toro’s Cabinet of Curiosities) เข้าฉายรับวันฮาโลวีน The MATTER ก็จะขอชวนผู้อ่านท่องไปยังห้องหับที่บรรจุสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดจากยุคแห่งการสำรวจ ดูชมมุมมองของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติก่อนจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา แอบดูทัศนคติและความหลงใหลต่อธรรมชาติที่วิทยาศาสตร์ยังคงปนเปไปความเชื่อและความชอบในสิ่งลี้ลับ ในห้องของการสะสมในนามของความรู้และวิทยาศาสตร์ ในห้องส่วนตัวที่ย่อโลกใบใหม่ที่พวกเราเริ่มมองเห็นมุมต่างๆ ของโลก ในนามของความกลัวและความฉงนสงสัยของมวลมนุษย์
ห้องเพื่อการศึกษากับบริบทเรืองภูมิปัญญา
เจ้า cabinet of curiosities เป็นผลพวงโดยตรงของยุคเรืองปัญญา เป็นห้องที่สัมพันธ์กับความคิดในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ในหลายมิติ เจ้าห้องนี้แต่เดิมมีชื่อเรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า Wunderkammer เป็นห้องที่เริ่มปรากฏในบ้านหรือคฤหาสน์ของชนชั้นสูงในช่วงศตวรรษที่ 16 เป็นห้องสำหรับสะสม (collection) ที่ใช้แสดงอะไรหลายอย่างของเจ้าของบ้าน ทั้งอำนาจ (ในการได้ของต่างๆ มา) ความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ หรือการมีตัวอย่างสิ่งมีชีวิตเพื่อการศึกษาเช่นกายวิภาคศาสตร์หรือธรรมชาติวิทยา
อันที่จริงเอาแค่คำว่า cabinet อันหมายถึงห้องก็สัมพันธ์กับยุคเรืองปัญญาแล้ว ในยุคนี้มีความสำคัญในแง่ที่มนุษย์เราเริ่มมองความเป็นมนุษย์ที่แข็งแรงขึ้น มีเป้าหมายเชิงภูมิปัญญา มีกิจกรรมบางอย่าง ดังนั้นการมีห้องที่เรียกว่า cabinet คือเป็นห้องสำหรับการทำการศึกษาเรียนรู้ เป็นทำนองห้องทำงานที่เราอาจจะเห็นในหนังย้อนยุค เป็นห้องที่รายล้อมด้วยชั้นหนังสือ มีโต๊ะสำหรับการอ่านการเขียน มีลูกโลก ภาพเขียน ของสะสมต่างๆ เป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมสันทนาการ (ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสติปัญญา อ่านหนังสือ ศึกษาหาความรู้ วาดภาพ เล่นดนตรี)
ห้องดังกล่าวอาจจะเอาไว้ทำงาน เอาไว้รับแขก หรือเอาไว้นั่งเฉยๆ แต่หลักๆ ทำให้เราเห็นว่ากิจกรรมของมนุษย์ในยุคมนุษยนิยมคือการหาความรู้ มีข้าวของที่สัมพันธ์กับความสลับซับซ้อนของความเป็นมนุษย์ และมีสุนทรียศาสตร์ในห้องนั้นประกอบอยู่ เป็นห้องหนึ่งของบ้านและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน(ของชนชั้นสูงและเศรษฐีมีเงิน)
กลิ่นอายของปรัมปราคติในวิทยาศาสตร์ยุคต้น
ทีนี้เจ้าห้องแห่งความฉงนสงสัยจะสัมพันธ์กับยุคเรืองปัญญาที่เฉพาะเจาะจงลงไปในแง่วิทยาศาสตร์โดยเฉพาะความรู้ด้านธรรมชาติวิทยา ในยุครุ่งเรืองของยุคเรืองปัญญานั้น สิ่งที่มนุษย์ทำคือการฝ่าฝืนความเชื่อทางศาสนาและพิสูจน์ว่าโลกกลม หนึ่งในแรงจูงใจและความหลงใหลในยุคนั้นจึงมีวิทยาศาสตร์และความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นตัวขับเคลื่อน ชาวยุโรปและนักชีววิทยาเดินทางไปทั่วโลกเพื่อศึกษาสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก
ในสมัยนั้นมีศาสตร์สำคัญเช่นอนุกรมวิธาน (taxonomy) คือการรวบรวมและจัดระบบและลำดับสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงศาสตร์ที่เคยต้องห้ามคือกายวิภาคศาสตร์—ศาสตร์ที่หลงใหลในเรือนร่างและโครงสร้างที่เคยมีชีวิต เรื่อยมาจนถึงองค์ความรู้ด้านการสตัฟฟ์สิ่งมีชีวิตเพื่อศึกษาทางด้านชีววิทยา
แต่ทว่าวิทยาศาสตร์ซึ่งด้านหนึ่งคือการรวบรวมวัตถุและตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตจากทั่วโลกในยุคแรกๆ คือราวศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมานั้น กลับมีเงาและความรู้สึกของสิ่งตรงข้ามของความเป็นวิทยาศาสตร์ ตามชื่อของห้อง—สิ่งของและตัวอย่างที่ถูกนำมาจัดแสดงมักเน้นไปที่ความน่ามหัศจรรย์ ความแปลกประหลาด บางส่วนตอบสนองความเชื่อปรัมปราที่อาจเป็นแรงผลักดันในการออกสำรวจ ตำนานเช่นนางเงือก มังกร เขายูนิคอร์น (จากวาฬนาเวล) พืชพรรณประหลาดกระทั่งมนุษย์ที่ต่างไปจากพวกตนเองก็ถูกนำมาจัดแสดงไว้ในห้องส่วนตัวเหล่านี้
นิยามของห้องของแปลกนี้จะคล้ายหรือถูกมองว่าบางส่วนคือบรรพบุรุษของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ส่วนใหญ่มักแสดงสัตว์สตัฟฟ์ โครงกระดูก โหลของอวัยวะและสิ่งมีชีวิต แต่วิธีการสะสมและจัดแสดงของห้องจัดแสดงในยุคแรกนั้นเน้นไปที่ความแปลกประหลาด ตั้งแต่ความน่าเกรงขาม สัตว์ยักษ์ใหญ่ถูกสตัฟฟ์ไว้ในท่วงท่าต่างๆ หมีที่เหมือนกระโจนใส่ผู้ที่เฉียดกรายเข้าไป นกหายากที่เหมือนกำลังโผบิน ด้านหนึ่งพวกมันกำลังสะท้อนภาพจักรวาลแบบใหม่ในสายตาของชาวยุโรป ภาพของมุมโลกต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความตระการตาของธรรมชาติ
ไฮไลต์ของห้องจัดแสดงมักให้ภาพธรรมชาติอันแปลกประหลาด โครงกระดูกที่บิดเบี้ยว หัวของกวางสองหัว ปลาประหลาด บางส่วนเล่าถึงหลืบเร้นของพื้นที่และประวัติศาสตร์ที่สะท้อนความฝันและเรื่องเล่าเก่าแก่ บางห้องแห่งความฉงนสงสัยมีการจัดแสดงกระดูกหรือซากนางเงือก ร่างของสิ่งมีชีวิตที่ถูกปะติดจนคล้ายบาซิลิสก์ มีการนำโครงกระดูกมาดัดเป็นท่วงท่า บางฉากดูน่าขนพองพอๆ กับการเป็นการนำเสนอด้านกายวิภาค เช่น การจัดกองหัวกะโหลกและโครงกระดูกที่เหมือนกับเล่นดนตรีและเต้นระบำ ทว่าในนามของธรรมชาติวิทยา วัตถุในห้องแห่งความประหลาดก็มักจะเป็นของปลอม
สถานะทางสังคม ตัวตน และความบันเทิง
ในนามของวิทยาศาสตร์ในตอนนั้น เจ้าห้องแห่งของประหลาดนี้ไม่เชิงว่าจะมีเป้าหมายเพื่อวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว—แต่ก็มีด้วย แน่นอนว่าห้องของสะสมที่ล้วนเป็นของหายากมักอยู่ในบ้านหรือคฤหาสน์ของคหบดี ขุนนาง เจ้าครองนคร อีกประเภทเป็นชุดของสะสมของนักวิทยาศาสตร์ซึ่งฟังก์ชั่นของห้องเหล่านี้ไม่สามารถแยกฟังก์ชั่นห้องทั้งสองแบบออกจากกันได้ คือมีไว้เพื่อแสดงสถานะทางสังคมและเพื่อใช้ศึกษาและสร้างคุณูปการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การจัดแสดงสิ่งของมักไม่ได้เน้นการให้ความเชื่อมโยงกันทางประวัติศาสตร์หรือมีกลุ่มการจัดแสดงแต่ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับรสนิยม การแสดงตัวตน และสถานะของเจ้าของห้องนั้นๆ
ทีนี้ในความแปลกประหลาด เป้าหมายหนึ่งของการมีชุดของสะสมเพื่อชมและจัดแสดงในยุคแรกนั้น ก็เพื่อ ‘ความบันเทิง (to entertain)’ เป็นสำคัญ แม้ว่าหลายครั้งการจัดแสดงวัตถุและตัวอย่างสิ่งมีชีวิตจะทำในนามของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์หรือกลุ่มความรู้เฉพาะเช่นในยุคศตวรรษที่ 18 ที่เริ่มมีราชสมาคมต่างๆ การจัดแสดงนิทรรศการ โดยเฉพาะจากนักธรรมชาติวิทยาทั้งหลายก็จะเน้นไปที่ความบันเทิงในการชมเป็นสำคัญ (learned entertainment)
ความน่าสนใจของการมีอยู่ของ cabinet of curiosities ส่วนหนึ่งจึงค่อนข้างสัมพันธ์กับความหลงใหลของมนุษย์เรา ยิ่งในยุคภูมิปัญญาหรือยุคสมัยใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น เราให้ความสำคัญกับเหตุผล กับการเรียนรู้ทางธรรมชาติในนามของวิทยาศาตร์ แต่แรงขับเคลื่อนหนึ่งของเราคือความหลงใหลในเรื่องลี้ลับ ในสิ่งแปลกประหลาดต่างๆ และในความยิ่งใหญ่และเข้าใจไม่ได้ของดินแดนของธรรมชาติ ยิ่งโลกบอกให้เรามีเหตุผล เราเองก็ดูจะยิ่งชื่นชอบในเรื่องผีและเรื่องลี้ลับมากขึ้นไปพร้อมๆ กัน
นอกจากนี้ การรวบรวม สะสมและจัดแสดงสิ่งของและสิ่งมีชีวิตอย่างประหลาดและน่าฉงนสงสัย อีกด้านก็แสดงให้เห็นความสัมพันธ์และมุมมองของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติ เราหลงใหลในความยิ่งใหญ่ ในความแปลกประหลาด ในพลังอำนาจ บางส่วนในการจัดแสดงของสิ่งของและธรรมชาติในยุคนั้นกลับเต็มไปด้วยสุนทรียศาสตร์ เป็นสุนทรียะที่คาบเกี่ยวอยู่บนเส้นบางๆ ในความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความน่าขนลุกของความเชื่อบางอย่างที่ปนเปกันอยู่ในข้าวของและบรรยากาศของห้องแห่งของแปลกนั้น
อ้างอิงจาก