ปลายปี ค.ศ.2022 มีคอนเสิร์ตประกาศกันมาไม่เว้นวัน เหมือนว่าปีนี้พระโคเลือกกินบัตรคอนเสิร์ตเข้าไป
และเมื่อศิลปินที่เรารักจะจัดคอนเสิร์ตทั้งที แฟนคลับอย่างเราๆ ก็พลาดไม่ได้ที่จะกดบัตรแย่งชิงเพื่อไปดูเขาแสดงความสามารถ แต่ใครจะรู้ว่าแก๊งโกงบัตรคอนเสิร์ต ก็เตรียมสแตนด์บายรอโกงเงินเราอยู่ติดๆ เหมือนกัน
วันนี้ The MATTER มี 8 ข้อควรระวังที่พบได้บ่อยเวลาซื้อบัตรมาให้ทุกคนเช็คกันดู ก่อนตัดสินใจซื้อบัตรคอนเสิร์ต
01 ร้านรับกดบัตร
แค่มีข่าวลือว่าจะมีคอนเสิร์ตที่ไทย แฟนคลับก็ตั้งตารอแบบอดใจไม่ไหว เพราะไม่ว่าแฟนคลับคนไหนก็ต้องอยากได้บัตรคอนเสิร์ตของศิลปินอยู่แล้ว ดังนั้นวิธีที่จะช่วยให้จิตใจหายกังวลก่อนถึงวันกดบัตรได้ก็คือจ้างร้านรับกดบัตรเอาไว้ อย่างน้อยหลายมือก็ดีกว่ามือเดียว
มิจฉาชีพประเภทนี้จะมาในรูปแบบของคำว่า ‘มือโปร’ โกงราคาบัตรกันตั้งแต่ยังไม่เริ่มกดบัตรจริงๆ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีประกาศว่าจะมีคอนเสิร์ต หรือมีผังคอนเสิร์ตกับราคาบัตรออกมาแล้ว มิจฉาชีพประเภทนี้จะก็ประกาศตัวทันทีว่าเซียนในวงการกดบัตรขนาดไหน เหมือนกำลังพูดกับแฟนคลับที่รอคอยอยู่ว่า “จ้างฉันสิ ถ้าเธออยากได้บัตรคอนเสิร์ตน่ะ”
เรตราคารับกดก็มีตั้งแต่ ระดับร้อยต้นๆ ไปจนถึงหลักพันเลยทีเดียว แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกร้านที่รับกดบัตรจะโกงไปเสียหมด เพราะร้านที่รับกดบัตรจริงๆ ก็มีอยู่ เพียงแค่ต้องเช็คให้ดีๆ
บางร้านรับเงินค่ากดบัตรเราไปจริง แต่ไม่ได้กดบัตรให้เรา บางร้านรับคิวกดบัตรเป็นสิบๆ คิว แล้วอ้างว่ามีทีมคอยช่วยกด สุดท้ายพอกดบัตรไม่ได้ ก็เลี่ยงไม่คืนเงินค่ากดให้เรา แล้วบอกว่าเป็นค่าเสียเวลา ค่าลูกทีมกดบัตร ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้บริการร้านไหน อาจจะต้องตกลงกันให้ดีว่าถ้ากดไม่ได้ จะคืนเงินค่าจ้างกดให้เราไหม หรือหักค่าจ้างกดกี่บาท
วิธีเช็คเบื้องต้นว่าร้านเหล่านี้จะโกงหรือไม่ พื้นฐานที่สุดก็คือ
– ระวังแอ็กเคานต์เปิดใหม่ ที่ไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรมาก่อน หรือถ้าจะเชื่อได้ อย่างน้อยควรให้แอ็กเคานต์หลักที่ใช้เล่นจริง ให้เราสามารถตามตัวได้
– สังเกตร้านที่มีรีวิวจากคนนอก ที่ไม่ใช่เอาแอ็กเคานต์หลุมมารีวิวเอง (วิธีสังเกตแอ็กหลุมง่ายๆ ก็คือเปิดมาเพื่อรีวิวให้ร้านนี้โดยเฉพาะ)
– ก่อนถึงวันกดบัตร อาจจะต้องติดต่อกลับทางร้านไปสักหน่อย คอนเฟิร์มที่นั่ง รวมถึงโซนที่ต้องการให้เรียบร้อย
02 ขายบัตรอัปราคา
บัตรหมดใน 2 วินาที แล้วเราก็ดันเป็นคนที่แถวรันคิวยังไม่ขยับไปไหน หน้าตาเว็บกดบัตรเป็นยังไงยังไปไม่ถึง ทางเดียวที่จะได้เข้าไปดูคอนเสิร์ต ก็คือต้องซื้อบัตรต่อจากคนอื่น แต่ใครล่ะจะมาขายให้เท่าราคาบนบัตร ส่วนมากก็ขายอัปกันไปแล้วกว่าเท่าตัว
มิจฉาชีพประเภทนี้มักจะมีลูกเล่นที่แตกต่างกันไป เช่น เรากดบัตรมาได้เกิน / เพื่อนเทเรา (ทั้งๆ ที่เพิ่งกดบัตรได้เมื่อชั่วโมงก่อน แต่เพื่อนเทแล้ว??) / ขอคนพร้อมโอน เพราะใกล้จะหมดเวลาจ่ายเงิน / กดมาขายต่อให้ follower เท่านั้น / เสนอราคามาหลังไมค์ / ขอคนใจถึง หรือจะใช้เทคนิคพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เสมือนว่าอยากได้ลูกค้าต่างชาติ เพราะจะดันราคาได้สูงกว่าคนไทยด้วยกันเอง
วาทศิลป์แต่ละอันแพรวพราวซะเหลือเกิน แฟนคลับที่ยังไม่มีบัตรพอได้มาอ่าน ก็มีความหวังที่จะได้ครอบครองบัตรใบนั้นเต็มไปหมด
แต่อย่าลืมว่าบัตรคอนเสิร์ต มีข้อกำหนดเอาไว้จากทางผู้จัดอยู่เสมอว่า ‘ห้ามซื้อขายบัตรเกินราคา’ ดังนั้นการขายโดยอัปราคาบัตรเป็นการทำผิดกฎของผู้จัด ถ้าเจอแบบนี้สิ่งที่ควรทำก็คือการแจ้งกลับไปยังผู้จัดงาน เพื่อให้ระงับบัตรใบนั้น และนำเข้าสู่ระบบเพื่อให้แฟนคลับได้เข้าไปกดใหม่อีกครั้ง หรืออีกทางหนึ่งคือแจ้งไปยัง สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เพื่อรักษาสิทธิของผู้บริโภค
03 บัตรผี บัตรทิพย์
ซื้อบัตรอัปราคายังอาจมีโอกาสได้ไปดูคอนเสิร์ต แค่เจ็บใจที่ต้องซื้อมาในราคาแพง แต่ถ้าเจอบัตรคอนเสิร์ตทิพย์นี่ นอกจากเสียเงินแพงแล้ว ยังไม่ได้ดูคอนเสิร์ตอีกด้วย
หลังจากที่เราโอนเงินซื้อบัตรต่อจากคนอื่นแล้ว คนขายก็บล็อกเราทันตาเห็น เรื่องแบบนี้มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ โดนโกงหลังจากตกลงซื้อขายและโอนเงินให้แล้ว
ส่วนมากมิจฉาชีพประเภทนี้จะมาในทรงร้อนเงิน เร่งเร้าให้เราโอนเงิน และมักจะใช้เทคนิคเช่นว่า มีคนมารอซื้อต่อ ถ้าไม่พร้อมโอนปล่อยผ่านเลยนะคะ เสียเวลา / ขอคนพร้อมโอนเท่านั้น / ราคาเท่านี้หาที่ไหนได้
ส่วนรูปที่นำมาลงขาย ก็จะเป็นรูปที่ก็อปคนอื่นมาใส่ลายน้ำตัวเองเพื่อโกง หรือเหนือชั้นขึ้นมาหน่อย ก็จะตัดต่อเลขที่นั่ง เลขแถวใหม่ แต่บางคนยังไม่เนียนพอก็ปล่อยโป๊ะไปก็มี เพราะที่นั่งบนบัตรไม่มีจริง ในแถวมีแค่ 16 ที่นั่งแต่บัตรที่จะขายดันเป็นที่นั่งที่ 20 สงสัยจะเป็นเก้าอี้ทิพย์
ดังนั้นก่อนจะซื้อบัตรต่อใคร ควรเช็คจำนวนที่นั่งสักหน่อยว่ามีจริงไหม หรือให้คนขายนำบัตรไปถ่ายกับบริเวณอื่นๆ ในบ้าน เพื่อยืนยันตัวตน อย่าลืมขอบัตรประชาชนและตรวจสอบก่อนโอนเงินทุกครั้ง และถ้าหน้าแอ็กเคานต์คนขาย ลงขายบัตรใบเดิมซ้ำหลายๆ รอบ แนะนำให้ปล่อยผ่าน เพราะอาจขายทิพย์มาหลายคนแล้ว เพื่อความชัวร์ที่สุด เลือกนัดรับจ่ายเงินจะได้สบายใจกันทั้งสองฝ่าย
อีกหนึ่งบัตรผีสุดคลาสสิก ที่กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนจะเข้าคอนเสิร์ตแล้ว ก็คือ ‘บัตรคอนเสิร์ตปลอม’ เหล่ามิจฉาชีพถึงกับลงทุนทำบัตรคอนเสิร์ตปลอมออกมา ซึ่งก็พัฒนาให้แนบเนียนมากขึ้นมาเรื่อยๆ แต่เราก็ยังสามารถตรวจสอบบัตรผีพวกนี้ได้ ด้วยการใช้ไฟแบล็กไลท์ส่องไปบนบัตรคอนเสิร์ต ผู้จัดเจ้าไหนที่บัตรที่มีลายน้ำตัวนี้ แฟนคลับก็สามารถหาปากกาแบล็กไลท์มาใช้ตรวจสอบกันได้นะ
นอกจากนี้บัตรคอนเสิร์ตทิพย์ ไม่ได้แค่ต้องระวังว่าเราจะโดนโกงเพราะซื้อบัตร แต่ยังต้องระวังถ้าหากเราจะลงรูปว่ากดบัตรคอนเสิร์ตได้ เพราะมิจฉาชีพจ้องจะขโมยรูปไปใช้ตาเป็นมัน ถ้าเราโดนนำรูปไปแอบอ้างขายแล้ว ทางผู้จัดอาจจะระงับเลขที่นั่งบนบัตรของเรา โดยที่เราไม่ได้รับเงินค่าบัตรคืนได้ เรียกว่าเป็นประเภทที่อาจซวยทั้งขึ้นทั้งล่องจริงๆ ฉะนั้นก่อนจะลงรูปอาจจะต้องคาดลายน้ำตัวโตๆ เอาไว้ด้วยนะ
04 QR code เรา แต่ใครแสกน
สมัยนี้อะไรๆ ก็เป็นออนไลน์ดิจิทัลไปหมด ไม่เว้นแม้แต่บัตรคอนเสิร์ต ที่หลายผู้จัดเริ่มไม่ให้บัตรอ่อน บัตรแข็งกันแล้ว แต่จะให้เปิด QR code แสกนเพื่อเข้างาน
ทีนี้ก็หวานหมูพวกมิจฉาชีพเลยทีเดียว เพราะแคปหน้าจอแล้วส่งต่อได้เป็นสิบๆ คน ใครมาคนแรกก็รอดตัวได้เข้างานไป แต่ถ้ามาทีหลังก็แสดงความเสียใจด้วยที่อดเข้างาน
ถ้าเป็นแอปพลิเคชั่นที่สามารถส่งบัตรคอนเสิร์ตให้กันได้ และถือสิทธิ์บัตรได้เพียงคนละหนึ่งใบ ก็อาจจะสบายใจในข้อนี้ได้ แต่หากผู้จัดไม่ได้มีมาตรการรัดกุมสำหรับการแสกนเข้างานแล้วนั้น ในส่วนนี้อาจเป็นภัยกับผู้บริโภคมากกว่าที่คิด
วิธีที่อาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ก็คือการนัดรับบัตรหน้างาน เพื่อเช็คให้ชัวร์ว่าเราจะสามารถเข้างานได้จริงๆ แม้ว่าอาจจะหายากสักหน่อย แต่ก็คงจะดีกว่าโดนโกงค่าบัตรไปฟรีๆ
05 บัตรสลักชื่อ ขายต่อไม่ได้
ตอนนี้มีบางผู้จัดใช้ระบบเมมเบอร์ที่สามารถกดบัตรได้ก่อนเวลาคนทั่วไป และเมื่อกดบัตรแล้วจะไม่สามารถขายต่อ แลกเปลี่ยน หรือขอรับเงินคืนได้ เพราะมีชื่อสลักอยู่ด้านหลังบัตรแล้ว
แต่ก็ยังไม่วายมีพวกหัวหมอ ที่เอาบัตรรอบเมมเบอร์ออกมาขาย แล้วหลอกผู้ซื้อว่าสามารถเข้างานได้ โดยอ้างความหละหลวมของสตาฟตรวจบัตรที่หน้างาน แต่ขอเตือนไว้ก่อนเลยว่า ‘ไม่สามารถทำได้’ เพราะสตาฟที่ตรวจบัตรหน้างานไม่ได้หละหลวมตามที่เขาหลอกลวง
การซื้อบัตรที่มีชื่อคนอื่นสลักอยู่ด้านหลังจึงไม่ใช่การซื้อสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ ก่อนทำการซื้อขายจึงควรถามให้แน่ใจว่า เป็นบัตรที่ไม่ใช้รอบสมาชิกใช่ไหม เพราะถ้าใช่ก็อาจจะเป็นอีกครั้งที่เสียเงินโดยที่ไม่ได้เข้าไปดู แม้ว่าจะมีบัตรอยู่ในมือแล้วก็ตาม
06 เอกสารรับบัตรไม่ตรง ไม่ครบ
ซื้อบัตรต่อจากคนอื่น ได้รับเอกสารรับบัตรจากคนที่เราซื้อมาแล้ว หัวใจพองโต เราไม่โดนโกงแน่ๆ! แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจไป เพราะเอกสารรับบัตรที่ได้มาอาจไม่ตรงกับชื่อผู้ซื้อก็ได้
เตรียมเอกสารไปหน้าเคาน์เตอร์รับบัตรด้วยรอยยิ้ม แต่กลับต้องหุบยิ้มแล้วเดินออกมา เพราะพนักงานแจ้งว่า เอกสารไม่ตรงกับบัญชีที่สมัครไว้ค่ะ
เมื่อตกลงซื้อขายบัตรแล้ว สิ่งที่ควรได้รับอย่างน้อยก็ต้องเป็นแอ็กเคานต์ที่ใช้กดบัตร พร้อมรหัสผ่าน (ที่ต้องมั่นใจว่าจะไม่ถูกเปลี่ยนด้วยบุคคลอื่น) เพื่อตรวจเช็คชื่อ ที่อยู่ และรายละเอียดก่อนจะไปถึงหน้าเคาน์เตอร์ที่รับบัตร เอาให้มั่นใจว่าเอกสารที่เราได้รับจากผู้ขายเป็นเอกสารที่ถูกต้องครบถ้วน หากต้องมีการมอบฉันทะเพื่อรับบัตร ก็จะต้องมีเอกสารและลายเซ็นที่ชัดเจน เพื่อความมั่นใจว่าเราจะได้รับบัตรคอนเสิร์ตแน่ๆ ไม่ต้องน้ำตาตกหลังไปแลกบัตร
07 รี ฟอล แจกบัตร
มิจฉาชีพประเภทนี้มาในรูปแบบของคำว่า “รี+ฟอล เดี๋ยวมาแจกบัตร” ต้นกำเนิดมาจากแอ็กเคานต์เล็กๆ ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ที่จะเปิดแอ็กมาแจกบัตรให้แฟนคลับ แต่เจ้าตัวมีบัตรจริงไหม ก็ไม่มีใครรู้
อันนี้หลายคนอาจจะรู้สึกว่าไม่ใช่การโกงสักหน่อย เพราะเราไม่ได้เสียเงิน แต่จริงๆ แล้ว เรากำลังทำให้มิจฉาชีพเหล่านี้ได้ยอดเอนเกจเมนต์ ที่อาจแปรเปลี่ยนเป็นอินฟลูเอนเซอร์ หรือแอ็กใหญ่ที่สร้างมูลค่าได้จากยอดผู้ติดตามได้
ถ้าเราเผลอไปกดติดตาม และรออย่างมีความหวัง ก็อาจเป็นกำลังสร้างความมั่นใจให้กับคำโกหกของคนเหล่านี้ได้ เหมือนการเล่นกับใจของแฟนคลับที่เฝ้ารอบัตรอยู่เนืองๆ ทางที่ดีเราอาจจะเลือกที่จะบล็อก หรือไม่ให้ค่ากับแอ็กเคานต์ที่เปิดมาเรียกยอดเอนเกจเมนต์เหล่านี้เลยจะดีกว่า
08 ผู้จัดคอนเสิร์ตโกง
คอนเสิร์ตรวมศิลปินเบอร์ดังจากต่างชาติ เอาระดับท็อปมารวมตัวกัน หรือคอนเสิร์ตในไทย ที่ประกาศขายบัตรจนแฟนด้อมต่างๆ แตกตื่น คอนเสิร์ตที่หลายคนเฝ้ารอ เพราะจะได้เจอศิลปินสักที แต่หารู้ไม่ว่า บางผู้จัดก็เชิดเงินหนีเราได้
น่าโกรธที่โดนโกงบัตรคอนเสิร์ตแล้ว ยังต้องโกรธที่ขายฝันว่าจะได้เจอศิลปินอีกต่อ
อันนี้อาจจะต้องใช้วิธีสวดมนต์เอาเสียหน่อย เพราะเราอาจไม่คาดคิดว่าผู้จัดจะมาโกง แต่ก็เคยมีเกิดขึ้นแล้วหลายต่อหลายครั้ง วิธีที่พอจะเช็คได้ก็คือ เมื่อมีประกาศคอนเสิร์ตแล้ว อาจจะต้องไปหาสักหน่อยว่าผู้จัดเป็นใคร บริษัทไหน มีที่อยู่ที่แน่ชัดหรือมีรายชื่อกรรมการบริหารหรือเปล่า อย่างน้อยก็ให้โล่งใจว่าถ้าคอนเสิร์ตถูกยกเลิกไป เราจะได้รับเงินคืน หรือสามารถรวมตัวกับแฟนคลับคนอื่นๆ เพื่อยื่นเรื่องฟ้องร้องได้ในกรณีที่เงียบหาย
วิธีตรวจเช็คคนขายบัตรต่อให้เราเบื้องต้น
แฟนคลับคนไหนที่กำลังจะซื้อบัตรคอนเสิร์ตต่อจากคนอื่น ถ้าไม่มีเพื่อนแตะไหล่เตือน ก็อาจจต้องท่องกับตัวเองว่าเราอาจเป็นคนดวงซวยที่โดนโกงได้ วิธีเบื้องต้นสามารถเช็คได้ว่าคนที่เราซื้อบัตรต่อจะโกงเราไหมก็คือ
– ตรวจสอบว่าแอ็กเคานต์มีการเคลื่อนไหว ไม่ใช่เพิ่งเปิดใหม่ไม่นาน มียอดผู้ติดตามในระดับหนึ่ง หรือสามารถให้แอ็กเคานต์ที่ใช้จริงกับเราได้
– ขอรูปบัตรประชาชน (อาจจะให้ถ่ายคู่กับช้อนส้อมในบ้าน เป็นมิชชั่นว่าไม่ได้ขโมยรูปใครมา) แล้วอย่าลืมเอาชื่อบนบัตรไปเสิร์ชหาก่อนว่า ชื่อนี้มีประวัติการโกงไหม ยิ่งถ้าชื่อบนบัตรประชาชนไม่ตรงกับชื่อบัญชีที่ให้โอนเงิน ก็จะต้องเสิร์ชทั้งชื่อบนบัตรประชาชน และชื่อบัญชี โดยเสิร์ชได้ในทวิตเตอร์ และเว็บ https://www.blacklistseller.com
– ทางที่ปลอดภัยที่สุดก็คือ นัดรับบัตร และจ่ายเงินตรงหน้าเท่านั้น
แต่ถ้าสุดวิสัยจริงๆ แล้วเราโดนโกงขึ้นมา ทางตำรวจกองปราบปรามให้ข้อแนะนำว่า อันดับแรกรวบรวมหลักฐานการซื้อขาย ทั้งแคปเจอร์หน้าจอบทสนทนา หลักฐานการโอนเงินต่างๆ หน้าบัญชีผู้ใช้ แล้วตรงเข้าไปที่สถานีตำรวจ เข้าพบพนักงานสอบสวนแจ้งความประสงค์ขอ “แจ้งความดำเนินคดี” กับมิจฉาชีพที่หลอกโกงเงินเรา โดยทางเจ้าหน้าที่จะลงบันทึกประจำวัน และออกหนังสือตรวจสอบรายการเดินบัญชี (statement) ไปยังธนาคาร เพื่อนำมาประกอบสำนวนการสอบสวนต่อไป
นอกจาก 8 กลโกงนี้แล้ว ยังมีอีกหลายวิธีที่พวกมิจฉาชีพจะสรรหามาหลอกแฟนคลับ แถมยังเป็นการหลอกที่น่าเจ็บใจ เพราะใช้ความรักที่เรามีให้ศิลปินมาทำร้ายเราเอง ดังนั้นก่อนจะซื้อบัตรต่อจากใคร หรือกดบัตรคอนเสิร์ตไหนๆ ก็อย่าลืมตรวจเช็คก่อนทุกครั้งนะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart