เกิดอะไรขึ้น การ์ดตกจริงหรอ ? ทหารอียิปต์เข้าไทยมาได้อย่างไร ? ทำไมถึงไม่มีการกักตัว ?
คำถามที่หลายฝ่าย และประชาชนต่างต้องการคำตอบ และคำแถลงอธิบายจากรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ต่อเหตุการณ์ที่พบทหารอียิปต์ ติดเชื้อ COVID-19 แต่สามารถเข้ามาประเทศไทยได้โดยไม่โดนกักตัว 14 วันตามระเบียบ และเดินทางไปสถานที่ต่างๆ จนเกิดความกังวลว่า อาจจะเป็นการแพร่ระบาดเชื้ออีกระลอกได้
แต่ 3 วันที่ผ่านมา ตั้งแต่มีเหตุการณ์การพบเชื้อ หน่วยงานของรัฐหลายฝ่ายต่างก็ออกมาชี้แจงถึงหน้าที่ และมุมของตนเอง มีการอ้างอิง พาดพิงถึงหน่วยงานอื่นๆ กันไปมา โต้ตอบกันจนประชาชนอย่างเรางง ว่าสรุปแล้วเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
The MATTER จึงขอนำการแถลง และให้สัมภาษณ์ของเหล่าผู้มีอำนาจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาจำลองเป็นห้องแชทว่า พวกเขาตอบสื่อมวลชน และประชาชนว่าอย่างไรบ้างต่อเหตุการณ์นี้
วันที่ 13 ก.ค.2563
หลังจากที่ ศบค.แถลงถึงกรณีการพบทหารอียิปต์ติดเชื้อ เดินทางเข้ามาในไทย ทาง พล.ต.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย แถลงว่าทหารคนดังกล่าวเป็นลูกเรือของเครื่องบินทหารซึ่งทางสถานทูตอียิปต์ติดต่อมาที่กระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอเข้าน่านฟ้าไทย “กระทรวงการต่างประเทศจึงติดต่อมาทางกองทัพอากาศ กองทัพอากาศก็อนุญาตให้เขามาจอดที่สนามบินอู่ตะเภาได้ ส่วนเมื่อเข้ามาแล้วจะกักกันโรคเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่และกระทรวงสาธารณสุขดูแล”
ขณะที่ สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ยืนยันเช่นกันว่าทหารอียิปต์ไม่ใช่แขกของรัฐบาล แต่ฝ่าฝืนคำสั่งของจังหวัดและเจ้าหน้าที่ โดยไม่ยอมให้ตรวจ และไม่ฟังคำสั่งของจังหวัด โดยอ้างว่าได้รับสิทธิพิเศษไม่จำเป็นต้องตรวจ โดยตนจะเร่งเดินทางไปพร้อมกับชุดปฏิบัติการกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ
โดยจากเหตุการณ์นี้ ทหารอียิปต์ได้เดินทางเข้ามาที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ทางพล.ร.ท.กฤชพล เรียงเล็กจำนงค์ ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ก็ระบุว่า มีขั้นตอนในการดำเนินงานอยู่ มีศูนย์ปฏิบัติการที่แต่งตั้งขึ้น ทำตามระเบียบของ ศบค. และยืนยันว่า ขั้นตอนการตรวจสนามบินไม่พบความผิดปกติ ซึ่งการตรวจสอบก็ทำด้านนอกเทอร์มินอล ไม่ได้เข้ามาปะปนกับในอาคารผู้โดยสาร
วันที่ 14 ก.ค.2563
รายงานจากกองทัพอากาศได้ชี้แจงว่า คำขอให้เครื่องบินทหารอียิปต์เข้ามา มีการพิจารณาอนุมัติบินเข้าประเทศภายใต้ ข้อพิจารณาด้านความมั่นคงปลอดภัยทางการทหาร และความเป็นพันธมิตร พันธะทางทหารที่มีต่อกัน ขณะที่ผู้สื่อข่าวเองเมื่อไปถามถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ได้คำตอบว่า ได้มอบหมายให้ ศบค.ตรวจสอบ เพราะตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าทหารคนดังกล่าวเข้ามาช่องทางใด
ด้าน ล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ว่า เป็นความผิดส่วนบุคคลที่ลักลอบออกไปนอกพื้นที่ที่กำหนด เป็นการกระทำฝ่าฝืนส่วนบุคคลไม่ได้เกิดจากความหละหลวมหรือความผิดพลาดของระบบ และจะเสนอที่ประชุม ศบค. ให้ชะลอบุคคลที่เข้ามาในระยะสั้นและไม่ต้องอยู่ในสถานที่กักกัน
พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย ในฐานะ โฆษกกองทัพอากาศก็ระบุว่า สถานทูตประเทศนั้นๆ ติดต่อมายังกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงก็ส่งเรื่องมาให้กองทัพ ซึ่งหลังกองทัพอากาศตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคง และเคยมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ก็ตอบกลับไปยังกระทรวงต่างประเทศ ว่าไม่ขัดข้อง
รวมถึงเมื่อ ทอ.อนุมัติแล้ว ก็เป็นส่วนของสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ และกระทรวงการต่างประเทศจะต้องประสานกันเรื่องการป้องกันโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ด้วย
มาถึงการแถลงประจำวันของ ศบค. ซึ่งในวันนั้นเป็นการแถลงพิเศษ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.ก็ได้กล่าว ขอโทษ และเสียใจที่รัฐบาลการ์ดตกเอง โดยกล่าวว่า “คงจะโทษใครไม่ได้ นับเป็นความผิดของ ศบค.ที่ต้องดำเนินการแก้ไข” รวมทั้งชี้แจงมติ 3 เรื่องเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คือ ขอให้เจ้าหน้าที่ทูตที่เข้าไทยในช่วงนี้ ให้ไปกักตัวใน state quarantine, ยกเลิก 8 เที่ยวบินกองทัพอียิปต์เข้าไทย และชะลอให้เข้าประเทศแบบผ่อนคลาย
ในฐานะผอ. ของศบค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเอง ก็ได้ออกมาแถลงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าสถานการณ์ที่ จ.ระยอง ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องการไม่เคารพกติกา ไม่มีวินัย ไม่คิดถึงส่วนรวม และในฐานะผอ.ศบค. ขอรับผิดชอบในส่วนตรงนี้
“รัฐบาลโดยศูนย์โควิด-19 ไม่ได้หยุดยั้งในเรื่องเหล่านี้เลย ขอให้มีความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของเรา ซึ่งสามารถรองรับได้ แต่มันก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่ผมเสียใจ ก็ขอโทษพี่น้องประชาชนคนไทยด้วยแล้วกัน จะต้องมาดูแลกันให้มากที่สุดในหลายๆ ประเด็น” นายกกล่าว
ส่วนกระทรวงต่างประเทศหนึ่งในหน่วยงานรัฐที่มีส่วนในการประสานงาน โดยเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศก็แถลงว่า ได้มีการหารือกับสถานทูตอียิปต์ ซึ่งทางนั้นก็ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และในส่วนการอนุญาตเที่ยวบิน ก็ได้ชี้แจงกระบวนการเหมือนกองทัพอากาศว่า สถานทูตติดต่อมา และได้ส่งเรื่องไปให้ทางกองทัพอากาศอนุมัติ
โดยกล่าวว่า เครื่องบินนั้น“ไม่ได้มีภารกิจโดยตรงกับ ทอ. อย่างเช่นความร่วมมือกับ ทอ. แต่เป็นความร่วมมือในเชิงระหว่างมิตรประเทศ และ ทอ.เป็นผู้อนุมัติ”
และในช่วงเย็นวันนั้น ทางสถานทูตอียิปต์ประจำประเทศไทยเอง ก็ได้ออกแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และขอแสดงความเห็นใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ และย้ำว่าลูกเรือได้ปฏิบัติตามระเบียบการณ์ ในการตรวจเชื้อ COVID-19 และจะทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานของไทยเพื่อป้องกันโรคต่อไป
วันที่ 15 ก.ค. 2563
ในช่วงสายวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ตอบคำถามสื่อ ถึงเหตุการณ์นี้อีกครั้ง จากกรณีที่สื่อมวลชนถามว่าจะเยียวยา รับผิดชอบอย่างไร โดยประยุทธ์ก็ได้ถามกลับว่า “ผมต้องเยียวยาใคร ? เจอคนติดเชื้อหรือยัง ?” และยังชี้ว่า วันนี้ยังไม่มีใครติดเชื้อ ขอให้ออกมาใช้ชีวิตกันตามปกติ
รวมถึงย้ำว่า ตนจะรับผิดชอบอยู่แล้ว โดยการรับผิดชอบของตนคือการแก้ไขปัญหา ซึ่งในช่วงเย็นวันนี้ นายกฯ เองก็ได้บินด่วนไป จ.ระยองเพื่อสร้างขวัญกำลังใจชาวบ้านด้วย
อ้างอิงจาก
https://www.thairath.co.th (2)