ไทยฉีดวัคซีนเข้าใกล้ภูมิคุ้มกันหมู่ตามแผน .. จริงเหรอ?
หลังจากที่เพจ ไทยรู้สู้โควิด เสนอข้อมูลว่าคนไทยฉีดวัคซีนเข้าใกล้ปริมาณที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ขึ้นมาแล้ว ก็เกิดคำถามในวงกว้างว่า ตอนนี้เราฉีดวัคซีนจนเข้าใกล้ระดับที่มีภูมิคุ้มกันหมู่แล้วจริงเหรอ เพราะที่ผ่านมาก็มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการฉีดวัคซีนมาให้เห็นกันตลอด
แม้โพสต์ต้นทางจะหายไปแล้ว แต่ The MATTER อยากขอพาทุกคนมาดูปัญหาการฉีดวัคซีนในไทยที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นกันว่า ไทยฉีดวัคซีนกันจนเข้าใกล้ ภูมิคุ้มกันหมู่ แล้วจริงๆ เหรอ?
- คนไทยได้วัคซีนครบโดส ยังไม่ถึง 10%
การฉีดวัคซีนให้ครบโดส เป็นหนึ่งในประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาเมื่อจะดูว่า เราเข้าใกล้จุดที่ประชากรมีภูมิคุ้มกันหมู่แล้วหรือยัง โดยตอนนี้ เราฉีดวัคซีนกันมาแล้ว 176 วัน (นับจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์) ซึ่งถ้าอ้างอิงข้อมูลตจากแถลงการณ์ของศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 จะพบว่า สัดส่วนของประชากรที่ได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม อยู่ที่ 9.16% หรือก็คือ 6,065,003 ซึ่งยังไม่ถึง 10% ของจำนวนประชากรเลย
และการจะดูว่าประชาชนได้ภูมิคุ้มกันหมู่หรือยัง ก็ต้องคิดจากจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว แต่จากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้น คงเห็นกันแล้วว่า จำนวนคนที่ได้รับวัคซีนครบโดสนั้น ยังอยู่อีกไกลกว่าจะได้ภูมิคุ้มกันหมู่
- คนไทยอีกกว่า 70% ยังไม่ได้วัคซีนเข็มแรก
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึง ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนเข็มแรกของไทยมาจนถึงตอนนี้ (นับจาก 28 กุมภาพันธ์) มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 20,430,028 คน หรือคิดเป็น 30.87% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยต้องย้ำว่า นี่เป็นตัวเลขของการฉีดวัคซีนเข็มแรกเท่านั้น
นั่นแปลว่า จนถึงตอนนี้ ยังมีคนไทยอีกกว่า 70% ยังไม่ได้แม้แต่วัคซีนเข็มแรกด้วยซ้ำ ทั้งที่การจะเข้าถึงภูมิคุ้มกันหมู่ได้นั้น ต้องฉีดครบสองเข็มแล้วมากกว่า 70%
- ฉีด Sinovac ครบโดสมาแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันเริ่มตก
วัคซีน Sinovac ถูกตั้งคำถามถึงเรื่องประสิทธิภาพอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่เรื่องของอาการไม่พึงประสงค์ที่น่ากังวล ประสิทธิภาพในการป้องกันโรค มาจนถึงระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันจะทำงาน
ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวว่า หลายคนฉีดวัคซีน Sinovac ไปแล้วครบสองเข็ม แต่ภูมิคุ้มกันกลับลดลง ซึ่ง นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวไว้ว่า คนที่ได้ฉีดวัคซีน Sinovac ครบสองเข็มไปแล้วระยะหนึ่ง ภูมิคุ้มกันเริ่มลดลง ทำให้เกิดการติดเชื้อและปอดอักเสบ ควรเร่งฉีดวัคซีนเข็มสามเป็น AstraZeneca หรือ Pfizer ให้คนกลุ่มดังกล่าว
- ไม่ใช่บุคลากรด่านหน้า/กลุ่มเป้าหมาย แต่ได้ Pfizer ก่อน
หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ บริจาควัคซีน Pfizer มาให้ ไทยได้กำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่มี 7 กลุ่มโรคเสี่ยงได้รับการจัดสรรวัคซีนส่วนนี้ แต่กลับพบคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับวัคซีน Pfizer ไป
ตัวอย่างเช่น กรณีแพทย์หญิงของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช ที่นำวัคซีนไปฉีดให้ญาติ ซึ่งไม่ใช่บุคลากรด่านหน้า หรือกรณีที่เกิดขึ้นใน จ.นครราชสีมา ที่มีบุคคลอื่นเข้ารับวัคซีนก่อนถึง 3 คน ได้แก่ ภรรยาของ ผอ.รพ.แห่งหนึ่ง สามีของหัวหน้ากลุ่มเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค และคนงานในร้านขายยาของเภสัชกร
รวมไปถึง กรณีที่มีการเผยแพร่รายชื่อคนได้รับวัคซีนในโรงพยาบาลภูมิพลฯ โดยปรากฏว่ามีรายชื่อซ้ำกันอยู่จำนวนมาก ซึ่งพล.อ.ต.หญิงอิศรญา สุขเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ แถลงถึงประเด็นนี้ว่า เป็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการข้อมูลของโรงพยาบาล ซึ่งต้องปรับปรุง ส่วนเรื่องที่ข้อมูลยังไม่เรียบร้อยแล้วมันออกมาได้อย่างไรนั้น เป็นอีกเรื่องที่ต้องดูแล
- สั่ง Sinovac มาเพิ่มเพราะวัคซีนอื่นส่งมาไม่ทัน
รัฐบาลไทยสั่งวัคซีน Sinovac เข้ามาอีก 12 ล้านโดส โดยให้เหตุผลไว้ว่า วัคซีน Johnson & Johnson และ AstraZeneca คาดว่าจะให้รวมๆ กันอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านโดส แต่ว่าวัคซีนของ Johnson & Johnson ไม่สามารถจัดส่งวัคซีนให้ได้ตามเวลาที่กำหนดไว้
ขณะเดียวกัน วัคซีน AstraZeneca ที่คาดไว้ว่าจะจัดส่งให้เราได้ 10 ล้านโดสต่อเดือน อาจจะลดลงมาอยู่ที่ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ทำให้ต้องจัดสรร Sinovac เข้ามาเสริมส่วนที่หายไป
นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า การศึกษาของโรงเรียนแพทย์ทั้งจุฬาฯ รามาฯ และศิริราช ที่มีการระดมฉีดเป็นลักษณะฉีดไขว้ก็คือ Sinovac หนึ่งเข็ม ตามด้วย AstraZeneca ห่างกัน 3 สัปดาห์ แทนที่จะรอให้ฉีด AstraZeneca สองเข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์ พบว่าช่วยให้ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ และลดอัตราป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้
- ประชาชนต้องจ่ายเงินเข้าถึงวัคซีนทางเลือกเอง
เมื่อวัคซีนที่ดี ไม่ใช่วัคซีนที่ประชาชนมี ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องเสียเงินจ่ายค่าจองวัคซีนกันเอง โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กำหนดให้ราคาวัคซีน Moderna อยู่ที่ 1,650 บาทต่อเข็ม ในอัตราเดียวกันทุกโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการ
ยิ่งกว่านั้น ยอดจองรับวัคซีน Moderna ที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้สำรวจความต้องการ หรือเปิดจองอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งปรากฏว่ามีประชาชนสนใจรับวัคซีน Moderna มากถึง 9 ล้านคน
ขณะที่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก็ได้ประกาศนำเข้าวัคซีน Sinopharm โดยกำหนดราคาที่ 777 บาทต่อเข็ม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีประชาชนหลายคนเข้าจองวัคซีนซิโนฟาร์มจนเต็มจำนวนอย่างรวดเร็วตลอด นั่นแปลว่า ประชาชนจำนวนมากต่างต้องการเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพทั้งนั้น จนถึงขั้นต้องยอมเสียเงินจ่ายค่าวัคซีนเอง ทั้งที่วัคซีนควรจะเป็นสวัสดิการที่ทุกคนได้รับก็ตาม
- โดนเลื่อนนัดฉีดวัคซีน เพราะโรงพยาบาลยังไม่ได้รับการจัดสรร
คนไทยอีกหลายคนอยากฉีดวัคซีน แต่กลับโดนเลื่อนนัดคิวฉีดวัคซีนไป อย่างกรณีของไทยร่วมใจ ที่ประกาศเลื่อนคิวฉีดวัคซีนให้ประชาชน โดยระบุเหตุผลว่า “รอการจัดสรรวัคซีน” เช่นเดียวกับที่ หลายโรงพยาบาลออกมาประกาศเลื่อนคิวฉีดวัคซีน โดยให้เหตุผลตรงกันว่ายังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน
ประเด็นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการจัดสรรวัคซีนที่ทำให้ประชาชนจำนวนมาก ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนเสียที และยังเป็นการยืดเวลาที่จะทำให้ไทยมีภูมิคุ้มกันหมู่ออกไปอีกด้วย
- ไม่มีวัคซีน mRNA สำหรับต้านเชื้อกลายพันธุ์
COVID-19 เองก็ไม่ได้หยุดพัฒนาตัวเอง การรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่แต่ละประเทศต้องเร่งหาทางรับมือ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาซึ่งพบเป็นหลักในไทย และได้เป็นสายพันธุ์หลักของทั่วโลกไปแล้ว
เพื่อรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา ต้องมีวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งมีงานวิจัยรองรับว่ามีประสิทธิภาพในการต่อต้านไวรัสสูงกว่า 60% และยังสามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้สูงถึง 95% แต่ปัจจุบัน วัคซีนชนิด mRNA ที่มีอยู่ในไทยมีแค่ที่ได้รับบริจาคมาจากรัฐบาลสหรัฐฯ เท่านั้น
- ต้องฉีดอีกเท่าไหร่ คนไทยถึงจะมีภูมิคุ้มกัน
นพ.ปวิน นำธวัช ภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้สัมภาษณ์กับเราว่า ประมาณการณ์จากกรณีที่วัคซีนมีประสิทธิภาพสูง คือ ต้องฉีดวัคซีนให้เยอะกว่า 70% ของจำนวนประชากร ดังนั้น ยิ่งเราใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคห่างจาก 100% ไปเท่าไร ก็ต้องยิ่งฉีดให้มากกว่า 70% ของประชากรเท่านั้น จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้
แต่ถ้านับข้อมูลจากวันที่ 7 มิ.ย. ถึงวันที่ 22 ส.ค. เรามีจำนวนคนฉีดวัคซีนครบสองเข็มอยู่ที่ 4,687,546 โดยแบ่งเป็น
- Sinovac จำนวน 2,139,639 คน
- AstraZeneca จำนวน 1,743,557 คน
- Sinopharm จำนวน 775,279 คน
- Pfizer จำนวน 29,071 คน
นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องของการฉีดวัคซีนในไทย สะท้อนให้เห็นว่า เรายังคงอยู่กันอีกไกล กว่าที่ไทยจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาจริงๆ
อ้างอิงจาก
ข้อมูลการฉีดวัคซีนจากกรมควบคุมโรค