สถานการณ์ COVID-19 ตอนนี้ เรียกได้ว่าระบบสาธารณสุขล่ม บุคลากรการแพทย์ไม่พอกับผู้ป่วย ความช่วยเหลือไปไม่ถึงใครหลายๆ คน จนเมื่อรัฐบาลจัดการไม่ได้ จึงเกิดอาสาสมัครกลุ่มต่างๆ ขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะอาสาหาเตียง ส่งยา ส่งอาหาร ทำข้อมูลในระบบ ซึ่งงานพวกนี้ พวกเขาต่างเข้ามาทำด้วยใจ และทำด้วยแรงฟรีๆ
แต่แม้ว่าจะมีอาสามากมาย และมีการเข้ามาแก้มาช่วยในหลายจุดแล้ว แต่สถานการณ์ต่างๆ ก็ยังไม่ได้ดีขึ้น รวมไปถึงระบบต่างๆ อย่าง Home Isolation ก็ยังมีปัญหาอยู่มากมาย จนอาสาสมัครเหล่านี้บอกกับเราว่า ไม่ว่าเขาจะลงแรงแค่ไหน ก็ทำได้แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า
The MATTER พูดคุยกับอาสาสมัครหลายส่วน ในหลายกลุ่มว่า จุดที่พวกเขาทำงานนั้นเป็นยังไงบ้าง พวกเขาเจอปัญหาอะไร รัฐบาลมาช่วยเหลืออะไรบ้างในตอนนี้ และในฐานะอาสาที่กำลังทำงานแทนรัฐบาลนั้น เขาอยากสะท้อนอะไรให้รัฐบาล
ระบบไหน งานอะไรที่อาสาเข้าไปช่วยเหลือบ้าง
ตอนนี้ เรียกได้ว่าอาสาสมัครแทบจะเข้าไปช่วยเหลือปัญหา COVID-19 ในทุกขั้นตอนแล้ว รวมไปถึงในทุกๆ กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรงงาน ชุมชนแออัด หรือในขั้นตอนออนไลน์ทั่วๆ ไป นักศึกษาปริญญาโทรายนึงเล่าว่า เขาเข้ามาทำงานอาสาได้ 3 สัปดาห์แล้ว โดยหลักๆ ทำงานกับกลุ่ม jitasa.care “เราทำอาสาติดต่อ ก็คือจะเอา data ที่คน input มาในระบบ โทรไปหาเค้าว่าเขาได้รับความช่วยเหลือหรือยัง ถ้ายังเราก็จะติดต่อหาความช่วยเหลือให้ ถ้าเกิดว่าเขาได้รับความช่วยเหลือแล้ว เราก็จะปิดเคส
ส่วนใหญ่ที่เราติดต่อจะเป็นผู้ป่วยสีเขียว ที่เขาทำ Home Isolation ซึ่งระบบของ สปสช. ที่ขอความช่วยเหลือว่า เขาไม่ได้รับการติดต่อกลับภายใน 48 ชั่วโมง เราก็ไปประสาน จี้ หรือไปถามที่อนามัยเขต เพราะสุดท้ายแล้วต้องให้ สปสช.ส่งกลับมาที่อนามัยเขตเพื่อให้อนามัยเขตกระจายยาไปให้ เราก็จะติดต่ออนามัยเขตโดยตรงเลยว่า มีผู้ป่วยเคสนี้อยู่ในเขตเรา เพื่อให้เขาได้ความช่วยเหลือ ซึ่งนอกจากสีเขียวก็เจอสีเหลืองบ้าง แต่เรายังไม่ค่อยเจอสีแดง”
ขณะที่พนักงานที่ work from home อีกคนเล่าว่า ก่อนหน้านี้น้องชายของเธอติด COVID-19 ทำให้มีประสบการณ์ในการหาข้อมูล ก่อนที่จะเห็นทีอาสา Let’s be hero ของหมอเจี๊ยบ ลลนา “ทีมที่เราอยู่ชื่อว่า Move to heaven คือประสานหาว่าถ้ามีคนเสียชีวิตในบ้านหรือเสียชีวิตที่โรงพยาบาลญาติสามารถติดต่อเข้ามาให้พวกเราช่วยในการประสานงานหาวัด หารถขนศพให้ญาติหรือครอบครัวที่เค้าอาจจะทำอะไรไม่ถูก ซึ่งตอนนี้เคสพวกนี้ก็ยังถึงมือเราไม่มาก และหวังว่าจะไม่ต้องทำเรื่องนี้มาก เพราะอยากให้ทุกคนรอด ระหว่างที่เรารอระบบ Let’s be hero เราก็มีน้องที่รู้จักเค้าสมัครเป็นอาสาใน Jitasa.care ก็เลยสมัครไป เพราะเรายังทำงานประจำอยู่ การได้ทำ WFH เลยทำให้เราพอจะช่วยโทร ช่วยประสาน ตามเรื่องต่างๆ ได้”
ครูสอนร้องเพลงรายหนึ่ง ที่ผันตัวมาเป็นอาสาสมัครกับกลุ่มชุมชนแออัดเปราะบาง เล่าให้เราฟังว่า เขาเข้ามาอาสาช่วยชุมชนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และลากยาวมาถึงตอนนี้ โดยงานอาสาหลักขอเขาคือชุมชนแออัดแห่งนึงในกรุงเทพฯ แต่ก็มีบ้างที่ไปช่วยชุมชนอื่นๆ ด้วย
“ตั้งแต่ COVID-19 ระลอก 2 เมื่อปลายปี พี่ก็มาช่วยซัพพอร์ตในพาร์ทที่เป็นเรื่องของการทำถุงยังชีพ แล้วก็มีหน้างานพิเศษคือ เรื่องเกี่ยวกับการลงทะเบียนระบบรับเงินเยียวยา เพราะว่าคนในชุมชนเขาจะไม่เข้าใจ พี่ก็เลยต้องเดินไปในชุมชนแล้วก็ไปสอบถามหรือบอกชุมชนว่า วันนี้เราจะมาอยู่จุดนี้นะ เพื่อที่ใครมีปัญหาเกี่ยวกับระบบรับเงินเยียวยาเราก็จะดูแลให้” โดยเขาเล่าว่าชุมชนนั้นมีคนเยอะมาก จึงมาทำงานประสานกับชุมชน เพื่อจัดสรรสิ่งที่ชุมชนต้องการจริงๆ ด้วย เช่นของสำหรับเด็ก เป็นต้น
ทีมงานหลักของกลุ่มนี้ มีสมาชิกทั้งหมดเพียง 11 คน และมีอาสาอื่นๆ มาเสริม ขณะที่การระบาดหนักขึ้นในระลอกใหม่ ที่ทำงานหลักของเขาได้ขอไว้ไม่ให้ลงชุมชน งานของเขาจึงเปลี่ยนมาเป็น Case Manager
“Case manager ก็คือติดตามเคสและจัดการเคส ซึ่งมันต้องติดตามผ่านตัวเคส และติดตามผ่านทางชุมชน แล้วประสานงานย้อนกลับมาที่หน่วยงานของเราต้นทางว่าจะต้องช่วยเหลือยังไง และก็มีข้อมูลช่วยเหลือที่สามารถแนะนำได้อย่างถูกต้อง ซึ่งถ้าเกิดมองโครงสร้าง หัวหน้าพี่คือคนที่จัดการระบบทุกอย่าง แล้วมันจะโยงไปเรื่องของการจัดถุงยังชีพ เรื่องการช่วยเหลือ การส่งข้าวต่างๆ
สิ่งที่ต้องทำก็คือเมื่อมีเคสแจ้งมาว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ในชุมชนนี้ ก็ต้องไป track ข้อมูลมาให้ได้ ต้องไปตามข้อมูลว่าเขาเป็นใครยังไง ไม่ว่าจะเป็นจากแจ้งโดยตรงจากเบอร์เขา หรือแจ้งมาผ่านชุมชน เมื่อเราได้ข้อมูลนี้ว่ามีคนติดในชุมชนมาเราก็ติดตามเคสเขาว่าเป็นยังไงบ้าง เราขอเก็บข้อมูลเคสเขาไว้ได้ไหม เผื่อต้องการที่จะช่วยเหลือเขาเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของถุงยังชีพ เรื่องของการรักษาพยาบาล เราก็ต้องมีความรู้ว่าการรักษาพยาบาลเนี่ยทำยังไงถึงจะถูกส่งไปตรงจุด เขามีสิทธิ์ที่ไหน เขาไปตรวจโรคนี้ที่ไหนมา หรือแม้กระทั่งว่าจุดตรวจมีที่ไหน ดังนั้นมันจึงเป็นการเก็บข้อมูลแบบในเชิงระบาดวิทยา แล้วมันก็จะเป็นเหมือนกับหน้าชีท Google sheet ที่จะมี ช่องเยอะมากจากที่เราเก็บ DATA”
ครูสอนร้องเพลงคนนี้ยังบอกเราอีกว่า เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว งานอาสาของเขาทำหลายอย่างมากๆ ไม่ว่าจะเรื่องหาสิทธิ์รักษาพยาบาล การดูนโยบายรัฐว่าต้องไปโรงพยาบาลไหน ขนส่งผู้ป่วย วิ่งถังอ๊อกซิเจน เข้าโรงพยาบาล หรือต้องไปศูนย์พักคอยอย่างไร แต่เขาก็ยอมรับว่างานของเขามักจะอยู่ตรงกลาง เจอทางตันที่ยากจะไปต่อ ทั้งแม้ว่าชุมชนจะไม่เหมาะกับระบบ Home Isolation ก็ต้องลงทะเบียนไว้ หรือหลายครั้งต้องไปต่อรองกับโรงพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ด้วย
“ผมเป็นครูร้องเพลงนะครับ แต่ผมต้องโทรไปที่ ER แล้วบอกว่า ผู้ป่วยคนนี้ออกซิเจนต่ำแล้ว คุณต้องรับ เสี่ยงต่อชีวิต ER ก็จะเถียงกลับมาว่าโรงพยาบาลเตียงเต็ม ER เตียงเต็ม เราก็ต้องเถียงกลับไปว่าผู้ป่วยคนนี้เลขประชาชน XXXX เพื่อที่เขาจะได้เช็คก่อนว่ามันใช่ไหม ถ้าใช่เราก็ต้องยัดให้ได้ ถ้าล้นสามสี่คนก็จะขอไป มีบางเคสที่เขาขอว่าไปที่โรงพยาบาลต้นทางได้ไหม โรงพยาบาลที่ตรวจได้ไหม เราก็บอกว่าไม่ได้จริงๆ เขาก็ยังบอกว่าเนี่ย ER มันล้นนะคะ เราก็บอกว่าถ้าเกิดโรงพยาบาลนี้ไม่รับผมก็ไม่รู้จะเลี้ยวไปไหน ผมอาจจะต้องเลี้ยวไปวัด เขาก็เลยรับ”
ปัญหา และบั๊คในระบบที่เหล่าอาสาพบเจอ
“พวกเราทำได้แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า” นี่คือสิ่งที่อาสาบอกกับเรา ซึ่งจากการทำงานของพวกเขา เขาต่างสะท้อนปัญหาที่เจอให้เราฟัง ซึ่งก็มีที่แตกต่าง และเห็นตรงกันด้วย
เรื่องนึงที่อาสาพูดคือปัญหาเรื่องช้อมูล ที่ประชาชนต้องลงทะเบียนใหม่ๆ ทุกๆ ครั้ง กับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งถือเป็นความทับซ้อนทางข้อมูล “เวลาเขาหาความช่วยเหลือตามหน่วยงาน “ทั้ง Let’s be hero หมอแล็บ เส้นด้าย เราต้องเริ่มบอกข้อมูลใหม่ในทุกๆ รอบ แล้วต้องพิมพ์ ชื่อ ที่อยู่ อาการ บางหน่วยต้องโทรบอก บางคนรอสาย บางคนกรอก แล้วเขาก็ป่วยอยู่ ทีนี่พอเขาติดต่อไป 10 ที่ พอมีคนติดต่อเขากลับมาอันนึง อีก 9 ที่ เราไม่ได้แจ้งว่าได้รับการช่วยเหลือแล้ว ก็กลายเป็นว่า เคสซ้อนทับกันมาก เขาอุตส่าห์เอาชื่อเข้าระบบ กว่าจะรันคนใหม่เข้ามา
มันเหมือนจะลดเคสในโรงพยาบาลแต่มันกลับไปเพิ่มเคสในระบบอื่นๆ แล้วจริงๆ อันนี้มันเป็นอาสาทั้งนั้น เราไม่ได้ Data กลางของรัฐเลย ไม่รู้สึกถึงการช่วยเหลือของรัฐเลย เราจะติดต่อรัฐแค่เคสด่วนๆ คือเรียกรถ ซึ่งมันก็มีเส้นด้าย ที่ติดต่อได้เหมือนกัน หรือมันจะมีโรงพยาบาลถ้าต้องการโดยตรง เราเลยรู้สึกว่า ปัญหาหลักๆ ตอนนี้คือการส่งต่อข้อมูล ตอนนี้เราได้รับสำเนาบัตรประชาชนมาเยอะมาก ซึ่งในอนาคตเราไม่รู้ว่าจะเกิดปัญหาเรื่องข้อมูลเหล่านี้หลุดออกไปตามมาหรือเปล่า เพราะตอนนี้ผู้ป่วยพร้อมใจกันจะให้ข้อมูลทุกอย่างในชีวิตกับอาสามากๆ บางแพลตฟอร์มมันก็มีว่าให้ยืนยันว่าจะไม่ส่งต่อข้อมูล แต่เราก็ไม่รู้ว่าชีทจะหลุดไปถึงใคร ยังไงหรือเปล่า เราก็ไม่รู้ เรียกได้ว่ามันไม่มีระบบ Data กลางของรัฐเลย”
ข้อมูลก็เป็นปัญหาหนึ่ง แต่ตอนนี้ระบบต่างๆ เกิดคอขวดขึ้น ทำให้คนไม่สามารถโทร หรือเข้าถึงการติดต่อ และการเข้ารับการรักษาได้เลย ทั้งยังมีเรื่องการส่งเคส รับเข้าโรงพยาบาลต่างๆ ที่ปัญหาเยอะไปหมด พนักงานประจำที่ทำงานอาสาควบคู่เล่าถึงเคสหนึ่งที่สะท้อนถึงวิกฤต และปัญหาให้เราฟังว่า
“มีเคสหนึ่งที่เราคิดว่าพีคที่สุดที่เราทำ มันสะท้อนหลายอย่างมาก คือ คุณแม่ และเด็ก 5 เดือนติด COVID-19 เค้าพยายามติดต่อเองหลายวัน แต่ไม่มีที่ไหนรับตรวจ PCR และไม่รับรักษา วันแรกที่แม่ของเด็กรู้ว่าลูกติดเพราะตรวจแบบ ATK เค้าพาลูกไปโรงพยาบาลที่น้องเกิด สิทธิของน้องอยู่ที่นั้น โรงพยาบาลตอบว่าที่นี่ไม่รับตรวจผู้ป่วย COVID-19 รับรักษาแค่ทหารเท่านั้น คุณแม่ที่อุ้มลูกไปอยู่หน้าโรงพยาบาลแล้วไม่ควรได้รับคำตอบแบบนี้ เราเลยขอข้อมูลทุกอย่างของเค้า เช็กอาการว่ายังเขียวอยู่หรือเข้าเหลืองแล้ว เอาข้อมูลทั้งหมดมาถือไว้เพื่อคุยกับแต่ละที่
เราไม่มีทางลัดอะไร ทำตามระบบและช่องทางที่รัฐประกาศไว้ เริ่มโทรไปหาโรงพยาบาลที่น้องเกิดอีกทีเพื่อเช็คอีกทีว่าทำไมเค้าไม่รับรักษาเด็กตั้งแต่แรกเพราะว่าตามสิทธิการรักษาพื้นฐานต้องไม่มีใครถูกปฏิเสธการรักษาไม่ว่าจะไม่มีเงิน ไม่มีประกัน หรือเป็นคนต่างด้าว แล้วยิ่งเด็กมีสิทธิการรักษาที่นี่ โรงพยาบาลก็ไม่มีเหตุผลและไม่มีสิทธิปฏิเสธการรักษาเลย ระหว่างนั้นเพื่อนเราอีกคนก็พยายามติดต่อว่ามีโรงพยาบาลไหนรับตรวจเด็กบ้าง เราก็โทรไปที่โรงพยาบาลที่น้องแจ้งเกิด โทรเข้าห้องฉุกเฉินไม่รับโทรศัพท์เราเลยสุ่มกดเบอร์ที่คิดว่าต้องรับก็โทรไปห้องทะเบียน เค้าก็บอกว่าที่นี่ไม่รับตรวจแล้วเราก็บอกว่าไม่ได้นะ เพราะน้องมีสิทธิที่นี่ เจ้าหน้าที่ก็ถามว่าเกิดที่นี่อาจไม่มีสิทธิที่นี่ก็ได้ เราบอกว่าเราโทรไป 1330 แล้ว และเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าเด็กมีสิทธิที่นี่ โรงพยาบาลเลยยอมเช็คอีกรอบ และก็เจอว่าเด็กมีสิทธิอยู่ที่นี่จริงๆ เจ้าหน้าที่ก็ปฏิเสธไม่ได้ ก็เลยบอกว่าให้เราโทรเข้าห้องฉุกเฉินเองอีกทีว่าเค้าจะรับไหม เราก็ถามว่าแล้วต่อเบอร์ภายในให้ไม่ได้เหรอ ทำไมเราต้องโทรใหม่ด้วย เค้าก็บอกว่ามันไม่ได้เชื่อมกัน
เราวางสายแล้วโทรใหม่อีกที โทรหลายรอบ จนห้องฉุกเฉินรับโทรศัพท์ และก็บอกว่าไม่รับตรวจแล้ว ตอนนี้เตียงเต็ม เราก็บอกว่าผู้ป่วยไม่ได้อยากได้เตียง เค้าอยากได้รับการรักษา แต่โรงพยาบาลไม่รับตรวจไม่ได้ เค้าก็เลยให้เราคุยกับหมอฉุกเฉิน หมอก็บอกว่าตอนนี้เค้าไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย ถ้ามาก็รักษาไม่ได้ เราก็ถามว่าอุปกรณ์อะไร ทำไมไม่มี หมอก็บอกว่าให้เราไปถามสาธารณสุขหรือไปถามรัฐบาลเอง เค้าเป็นคนทำงาน ทำเต็มที่แล้ว เค้าไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมไม่มี สุดท้ายหมอบอกว่าจะมาก็มา แต่ไม่รับรองว่าจะรักษาได้ สอดท่อไม่ได้ ทำได้มากที่สุดคือให้อ๊อกซิเจนเด็ก
เวลาที่กดรับเคสหนึ่งถ้ามันจบที่ประสานหน่วยงานแล้วเค้ารับเรื่องไปและทำงานต่อก็ดีไป แต่กลายเป็นว่าพอเราส่งเรื่องไปแล้ว เราก็ต้องโทรตามจี้อีกว่าเค้าได้ดำเนินการไหม หรือเรื่องที่ส่งไปกองอยู่ตรงนั้น หลายคนเลยที่รอเป็นอาทิตย์จนจะหายเอง หรือไม่ก็ใกล้ตายแล้วถึงจะได้รับการติดต่อ
หลายเคสจากที่อาการเขียวถ้าได้รับการรักษาที่ทันท่วงที เค้าก็ไม่เข้าเหลือง ไม่เข้าแดง แต่ความเชื่องช้านี้ มันเป็นปัญหาหลักและปัญหาใหญ่ที่ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตและยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน”
เช่นเดียวกัน ครูสอนร้องเพลง ก็สะท้อนเคสที่เขาเจอเช่นกันว่า ล่าสุดเพิ่งเจอเคสคุณลุงกับคุณป้าในชุมชน เขาเคยป่วยหนักๆ มาก่อน เขารู้ว่าถ้าเขาไปโรงพยาบาล ไปฉุกเฉินในสถานการณ์นี้เขาไม่โอเคหรอก เขาก็ไม่อยากไป โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เขาต้องไปนอนรอเตียง ไม่ได้แม้กระทั่งห้องฉุกเฉิน ห้องที่ต้องเรียกว่าฉุกเฉินมันไม่ฉุกเฉินอีกต่อไป เขาก็เลยเลือกจะอยู่บ้าน แล้วก็แซวกับ Case Manerger อีกคนว่า เนี่ยถ้าออกซิเจนเหลือ 20 ค่อยมารับ ก็คือเสียชีวิตแล้วค่อยมา มันกลายเป็นเขาที่เตรียมตัวแบบนี้แล้ว”
ไม่เพียงแค่การหาโรงพยาบาล หรือหาเตียงเท่านั้น แต่ตอนนี้ แม้จะมีระบบ Home Isolation ก็ยังมีความล้าช้าเช่นเดียวกัน ฟรีแลนซ์คนหนึ่งที่มาทำงานด้วยการส่งถุงยังชีพ และยาในบริเวณพระราม 2 ก็เล่าถึงปัญหาความล่าช้าที่เธอพบเช่นกันว่า “เจอเคสผู้ป่วยรอยา แล้วยามาช้า เขาเขียนหมายเหตุไว้ว่า ต้องการยาด่วนมาก ให้ไปรับเองก็ได้ ก่อนไปส่งจะให้ไรเดอร์โทรไปหาก่อน ปรากฎว่าผู้ป่วยเสียชีวิตเมื่อคืนเที่ยงคืน เราหน้าชาเลย ยาฟาวิฯ ไม่ทันต่อความต้องการและยังแสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่ตกหล่นหลายวัน ไม่ทันต่อการเซฟชีวิตคน รู้สึกว่าวิกฤตมาก นี่ลงชื่อในระบบยังช้า แล้วผู้ป่วยนอกระบบอีกมากมายที่เราดูแลไม่ทั่วถึง”
เรารู้สึกว่าเวลาเป็นสิ่งมีค่ามาก ส่งของส่งข้าวส่งยาไม่ทัน บางรายเสียชีวิตแล้ว พึ่งจะมีชื่อให้ไปส่งถุงยังชีพในระบบ ถ้าอยากช่วยจริงๆ ควรจ้างบริษัททำ Data และที่สำคัญส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้วย ตอนนี้ระบบกลายเป็นว่ากันคนออกจากระบบ ติดตามเคสไม่ได้ เกิดความสูญเสีย ส่วนเรื่องอาหาร กระทบต่อปากท้องรายวันของผู้ป่วยแน่นอน ทีมเราโทรไปอธิบายเรื่องใช้แอพฯ สั่งอาหาร บางรายออกปากเลยว่าขอให้ส่งข้าวให้เขาต่อได้ไหม เขาไม่สะดวกสั่งผ่านแอพฯ จริงๆ”
ครูสอนร้องเพลง ที่ทำงานอาสาจนเห็นภาพใหญ่ และเข้ามาแก้ระบบต่างๆ ในวิกฤตนี้ อธิบายให้เราฟังว่า “Home isolation ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่หมอจะต้องโทรไปหาคนไข้ที่บ้าน และส่วนที่จะต้องมีการขนส่งอุปกรณ์ตั้งต้น อ๊อกซิมิเตอร์ ยาพื้นฐาน อาหารแห้งคือเซ็ทตั้งต้น และเซ็ทที่เป็นข้าวของกิน มันต้องเกิดการดำเนินการทั้งระบบนี้ จึงจะเริ่ม home isolation ได้ ดังนั้นพวกเราเลยไปซัพให้มันเกิดระบบขึ้น เพราะว่าไม่งั้นมันจะเป็นคอขวดใหญ่มาอยู่ที่การติดต่อเข้าระบบ
“คอขวดที่ใหญ่มันจะมี 3 อย่างคือ 1) โทรไม่ติด คนก็ไม่เข้าระบบ 2) คนเข้าระบบไปแล้วแต่ไม่มีคนดำเนินการต่อ หรือดำเนินการต่อไม่ไหว หรือ 3) พร้อมที่จะเริ่ม แต่ไม่มีคนทำงาน เช่น โลจิสติก การส่งข้าว การดูแลส่งถุงยังชีพ มันเริ่มไม่ได้ มันมีคอขวดกะยึกกะยักอยู่หลายขั้นตอนดังนั้นพวกเราไปเสริมตรงนี้ด้วย บางครั้งคนไข้ผมไปๆ มาๆ ผมก็ประสานว่ามันไปติดอยู่ตรงไหน มันเกิดอะไรขึ้น เราจะทำยังไง เขาก็จะมีลิงก์ให้ร้องเรียนเราก็กรอกลิงก์นั้น คือในความเป็นจริงมันมีทุกอย่างแหละครับ แต่คนไข้เข้าไม่ถึง เพราะมันงง
ทั้งถ้าเกิดผล Rapid test มันได้ด้านเดียว คือด้าน Home Isolation ซึ่งถ้าชุมชนแออัดไปตรวจ Rapid test เขาไม่มีตังค์ค่าตรวจ RT-PCR เพราะมันแพง ตรวจ Rapid test คุณก็อยู่ได้แค่ Home Isolation ซึ่งในชุมชนนี้ก็ไม่เหมาะจะ Home Isolation แต่ก็ไปไม่ได้แม้กระทั่ง Community Isolation หรือศูนย์พักคอย แต่ก่อนคือตรวจอะไรก็ไปศูนย์พักคอย เพราะมันคือพักคอย แต่ตอนนี้ศูนย์พักคอยยกระดับเป็น CI เพื่อที่จะจ่ายยาได้ ดูแลดีขึ้น แต่กลายเป็นว่ามันล็อคเพราะมีแค่ Rapid test ไม่ได้ ต้องมีผล RT-PCR คือล็อคหลายเรื่อง ล็อคเข้า CI เข้าโรงพยาบาลสนามก็เข้าไม่ได้ เข้า Hospitel ก็เข้าไม่ได้ เข้าโรงพยาบาลหลักก็เข้าไม่ได้”
ซึ่งจุดนี้ เขาสะท้อนปัญหาที่ใหญ่มากของภาครัฐ คือการสื่อสาร “การที่ชี้แจงข้อมูลแล้วไม่ชัดเจน และเป็นข้อมูลที่ชี้แจงเพื่อไม่ให้ตัวเองโดนด่า เช่น กทม.ที่บอกว่า จุดตรวจเชิงรุกมีที่นี่ๆ แต่ในความเป็นจริงมันล้นมาก แล้วบอกให้ไปตรวจโดยที่ไม่ได้มีการจัดการหรือจัดแจงอะไรให้ดี รวมถึงบางที่ผลออกมาดีเลย์ไป 8 วัน และสอง การประกาศนู่นนี่นั่นของ ศบค. อีกเช่นกัน ประกาศออกมาไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการที่พอเราเข้าโรงพยาบาลไม่ได้เขาก็บอกให้กรอกระบบนี้สิ กรอกระบบนั้นสิ แล้วในความเป็นจริงระบบไม่รองรับ คู่สายไม่รองรับ ไม่ยอมทำระบบกรอกออนไลน์ทำช้ามาก สุดท้ายก็โอนไปให้ 1330 ซึ่งคู่สายเยอะสุดเป็นคนรับเรื่องแทน ดังนั้นการประกาศการแจ้งเนี่ย มันเละเทะ มันเหมือนแจ้งไม่รู้เรื่อง อย่างเช่น home isolation อันนี้พูดหัวข้อที่หนึ่งนะครับคือการประกาศแล้วแจ้งทุกอย่างทำไม่ได้ ระบบไม่ดีแล้วไม่บอก แค่พูดเหมือนฉันทำสิ่งนี้ได้ ติดต่อมาที่นี่สิ เพื่อให้ตัวเองไม่โดนด่า
ทั้งการสื่อสารจาก ศบค.งงมาก แล้วไม่ชัดเจนแบบมากๆ เราเจอหลายคนมากๆ ที่ไม่รู้แม้แต่ว่า ติดเชื้อแล้วจะเริ่มยังไงดี แล้วเราต้องตอบ ต้องรับสายคนเยอะมากๆ ใน 1 วัน”
นอกเหนือจากนั้นระบบหน้างานอื่นๆ เขายังเล่าเรื่องผู้ป่วยพิเศษ หรือผู้ป่วยเปราะบางที่เขาช่วยเหลือด้วย “ผู้ป่วยออทิสติก เราสามารถติดต่อทาง ผอ.กรมผู้พิการแล้วก็มีทางฝั่งโรงพยาบาลศรีธัญญา แล้วก็มีทางกรมสุขภาพจิต บางครั้งเราก็จะเจอเคสแปลกๆ อย่างเวลาเขาตรวจ swab จะยาก เพราะมันเจ็บ เขาจะต่อยคนตรวจ เราจึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญหรือครอบครัวมาอยู่ด้วย มันก็ต้องติดต่อหลายครั้ง แล้วก็จะมีเคสหนึ่งที่เป็นเคสดังในเส้นด้าย บ้านมหัศจรรย์ 8 คน ส่งผู้ป่วยได้ทุกคนยกเว้นออทิสซึ่ม ผมพยายามส่งแต่ส่งไม่ได้ สุดท้ายผ่านไป 9 วันกลุ่มเส้นด้ายถึงจะหาที่ได้ ผมไปหายาให้เขากินก่อน หาคลินิกที่ยอม Home isolation กับเขา ในช่วงที่ Home isolation ยังไม่ฮิต มีพยาบาลโทรมาประเมินอาการแล้วสั่งยาให้กับเขา”
ยังไม่หมดแค่นั้น ยังมีปัญหาคลาสสิคในระบบราชการอีกอัน ที่นักศึกษาปริญญาโทสะท้อนให้เราฟัง คือการหยุดเสาร์-อาทิตย์ของหน่วยงานราชการ “มันกระทบเยอะมาก เพราะการติดต่อหน่วยงานรัฐ ต้องรอเวลาราชการด้วย อนามัยเขตเสาร์-อาทิตย์หยุด หรือวันนัขขัตฤกษ์ล่าสุด เราก็โทรไปไม่ได้ และมีให้ช่างไฟมารับโทรศัพท์แทน ซึ่งเคสแบบนี้มันไม่ควรจะเป็นแบบนี้หรือเปล่า และอีกอย่างผู้ป่วยไม่รู้เลยว่าเขาต้องทำยังไง เขาอยากได้คนที่ทำให้เขาอุ่นใจตลอดว่าจะมีคนที่เขาติดต่อได้ตลอด ซึ่งหน่วยงานรัฐไม่มี บางทีให้ยาไปก็หายไปเลย”
รัฐบาลไปอยู่ที่ไหน เข้ามาช่วยแก้ปัญหาอะไรบ้างหรือเปล่า
อย่างที่บอกว่าตอนนี้มีอาสาสมัครในทุกฝ่าย มีหลายกลุ่มมากมาย แต่พวกเขาก็ทำได้ในปัญหาปลายเหตุเท่านั้น เราจึงถามว่า ระหว่างที่พวกเขาทำงานอาสานี้ เขาเห็นความพยายามของรัฐบาล ในการแก้ปัญหาบ้างไหม ซึ่งทุกคนก็แทบจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาไม่เห็นความช่วยเหลือเหล่านั้นเลย
“เราทำมาประมาณ 3 สัปดาห์ เราคิดว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่มีบริการอะไรให้เรามากขึ้น” นักศึกษาปริญญาโทเล่า “เราไม่รู้สึกว่าเราเชื่อมโยงกับรัฐเลย เราเชื่อมโยงกับหน่วยงานเอกชน กับจิตอาสาด้วยกัน ซัพพอร์ตซึ่งกันและกันมากกว่า แม้เราก็ต้องส่งเข้าโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนามของรัฐ แต่ไม่มีความช่วยเหลือรัฐที่มาถึงตัวผู้ป่วยโดยตรงเลย ต้องผ่านตัวกลางอาสาทั้งนั้นเลย
เราก็คิดนะว่า ทำไมต้องเป็นพวกเราอาสาที่ทำกันเอง จริงๆ เวลาแบบนี้เราควรอุ่นใจว่ารัฐจะซัพพอร์ทเรา เขาอาจจะไม่ต้องทำเอง 100% แต่ควรจะจัดการให้ได้มากกว่านี้ว่า เราไม่ต้องโทรส่วนกลาง ติดต่อไปที่เขต ในสโคปเล็กขึ้น โดยที่รัฐไม่ต้องมาให้เข้าส่วนกลาง แล้วส่วนกลางกระจายอีกทีนึง แต่ตอนนี้เราไม่ได้อะไรจากรัฐเลย ไม่จำเป็นต้องมีรัฐก็ได้”
เช่นเดียวกับพนักงานที่ทำงาน WFH พร้อมๆ งานอาสาที่บอกว่า “ถ้าบอกว่าไม่เห็นเค้าจะน้อยใจไหม แต่เราไม่เห็นจริงๆ อย่างดีที่สุดคือหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ตอนนี้ 1330 โทรติดง่ายขึ้น และเปลี่ยนเพลงรอสายแล้ว นอกนั้นเหมือนเดิม แต่ปัญหาที่เราเจอ เช่น คนเข้าไม่ถึงวัคซีน เข้าไม่ถึงการตรวจ เข้าไม่ถึงยา เข้าไม่ถึงการรักษา เข้าไม่ถึงเตียง เข้าไม่ถึงอะไรเลยยังคงมีอยู่และก็เจอปัญหาพวกนี้ซ้ำๆ ทุกวัน บางเคสใช้เวลาเป็นอาทิตย์กว่าจะได้รับการตอบรับจากซักหน่วยงานหนึ่งแล้วก็หายไปไม่ติดต่อกลับมาอีกเลย ประชาชนถูกปฏิเสธแบบนับครั้งไม่ถ้วน
เราดูประยุทธ์ประกาศในทีวีว่าทุกหน่วยงานต้องไม่ปฏิเสธผู้ป่วย ต้องไม่มีใครตายที่บ้าน หรือตายข้างทางอีก เราก็คิดว่า เค้าสั่งแบบนี้แล้วหน่วยงานต่างๆ คงขยับมากขึ้น เราโทรหากองทัพบกที่บอกว่ารับทำทุกอย่าง แต่เขาก็บอกว่า ทำไม่ได้ จะหารถส่งผู้ป่วยไปต่างจังหวัดก็ตอบว่าส่งได้แค่ในกรุงเทพปริมณฑล โทรหาตำรวจ ตำรวจก็บอกว่าตอนนี้เหลือกันอยู่สองคนใน สน.เพราะที่เหลือไปคุมม็อบหมด ไม่มีรถรับผู้ป่วย ไม่มีชุด PPE ไม่มีอุปกรณ์อะไรที่จะช่วย โทรหากทมว่าจะทำยังไงคนตายในบ้านจะเข้ามาทำความสะอาดได้ไหม ก็ได้คำตอบว่าไม่ได้มีนโยบายลงไปช่วยแบบนี้ เราเลยถามไปว่าสรุปแล้ว กทม.มีหน้าที่อะไรในสถานการณ์แบบนี้ เจ้าหน้าที่ก็ตอบว่า ตรวจเชิงรุกและพ่นยาฆ่าเชื้อ หน่วยงานอนามัยสังกัด กทม. ก็หายไปไหนจากสถานการณ์นี้
ทำไมไม่กระจายกำลังและกระจายอุปกรณ์เครื่องมือ ยารักษาโรคลงไป จะรวมศูนย์ให้ไปแค่ที่ศูนย์ราชการหรือจุดตรวจแบบ Pop Up Store ที่ประชาชนต้องมาลุ้นต้องมาคอยตามว่ามีตรวจที่ไหนบ้างทำไม ทั้งๆ ที่ถ้าหน่วยงานรัฐประสานกัน เข้าไปในแต่ละชุมชนก็ทำได้ค่อย ๆ ถ้าทำแบบนี้ประชาชนทุกคนจะได้รับความรู้ ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและไม่ต้องแพนิค มีคนตรวจสอบว่าแต่ละที่รักษาความสะอาดไหม ใครฝ่าฝืนต้องช่วยกันจับตายังไง นี่คือหน้าที่ของรัฐ แต่ไม่ทำ”
เธอยังมองอีกว่า เธอคิดว่าตอนนี้มีแต่การโยนภาระให้ประชาชน “เราเป็นแค่อาสาสมัคร ไม่มีช่องทางที่ให้เราสะท้อนว่าตอนนี้มีปัญหาอะไร สิ่งที่เค้าออกมาพูดทางทีวีแต่ละวันไม่มีประโยคไหนที่บ่งบอกว่ากำลังทำงานแก้ปัญหา สิ่งที่ได้ยินมีแต่โยนภาระทั้งหมดกลับมาให้ที่ประชาชนดูแลกันเอง Home Isolation ที่ไม่มีหน่วยงานไหนสื่อสารอย่างชัดเจนว่าต้องทำยังไงบ้าง Community Isolation ที่เหมือนจะพยายามกระจายอำนาจ
เราที่เป็นอาสาทำได้ ก็คือช่วยให้ดีที่สุดเท่าที่มันอยู่ในมือเรา หาทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในระบบที่พัง ๆ แบบนี้
เรามีเพื่อนมีพี่ที่เป็นหมอ เป็นพยาบาลเป็นเภสัช ที่ทำให้เราสามารถถามได้เวลาเจอเคสที่ไม่รู้จะแก้ยังไง มีหลายคนที่คอยช่วยบอกช่องทางว่าทำอะไรได้บ้าง แต่ยังมีคนอีกหลายคนที่เค้าไม่มีใครเลย ถ้าไม่มีระบบอาสาสมัครไม่มีภาคประชาสังคมก็ไม่มีใครเข้าถึงเค้า เพื่อน ๆ เราโพสต์เฟสบุ๊ก แท็กชื่อประยุทธ์ อนุทิน กระทรวงหน่วยงานต่างๆ เพื่อที่จะให้เค้ามาอ่านปัญหา ฟังเสียงประชาชนว่าตอนนี้เค้าได้รับความเดือดร้อนอะไรบ้าง สิ่งที่พวกเค้าทำก็คือปิดคอมเมนต์ เสนอหน้าไปรับวัคซีนไฟเซอร์ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ผลงานตัวเอง เตรียมงานอยู่แค่พิธีการตัดริบบิ้นหลังจากนั้นหายหัวแล้วปล่อยให้คนทำงานเคว้ง”
เธอเสนอว่า “ถ้าอยากได้หน้ามากจุดนี้ นายกและรัฐมนตรีทุกคนต้องตั้งโต๊ะ Call Center แล้ว ถ่ายทอดสดแบบไม่พักว่าช่วยรับเรื่อง รับโทรศัพท์ 24 ชั่วโมง เวียนกันมารับโทรศัพท์ ลงตารางเลย อยากให้เค้าลองมานั่ง แค่ 1วันก็ได้ ห้ามใช้อำนาจ ห้ามบอกว่าตัวเองเป็นใคร ส่งเรื่องตามระบบที่มี แล้วเค้าอาจจะคิดได้และรู้ว่าจะต้องจัดการปัญหายังไงบ้าง”
ในขณะที่ครูสอนร้องเพลง ที่ทำงานอาสามาหลายเดือนบอกกับเราโดยตรงว่า “ผมทำไม่ไหวแล้วครับ คนโทรมาทั้งวันทั้งคืน เราก็หนักหนาสาหัส ไม่ว่าจะหนักหรือเบามันกินเวลาเราเยอะ จนเรารู้สึกว่าเราไม่ไหวแล้ว เราเลยรู้สึกว่าแบบ คนทำงานเขาไปไหนกันหรอ คนในระบบส่วนกลางของรัฐอะไรอย่างนี้มันไม่มีจริงหรอ คือเหมือนแบบทำไมเราต้องมาทำสิ่งเหล่านี้ นี่คือปัญหาของเราเหมือนกัน
หลักๆ คือสภาพจิตใจ ทำๆ ไปมันพอปรับๆ เหมือนชินได้ อย่างทำไปแล้วรู้สึกแย่ รู้สึกเฟลกับสิ่งที่เกิดขึ้น รู้สึกเครียดกับปัญหา สงสารชาวบ้าน คือคนมาตายใส่หน้าเรา อะไรแบบนี้เรารู้สึกแบบโอเคมันแก้ไขได้ในวันหนึ่ง แต่สักพักหนึ่งผมก็เริ่มรู้สึกว่า เออ ฉันหิวข้าว ก็เป็นปัญหานะ แล้วมันกลายเป็นปัญหาที่เรารู้สึกว่ามันไม่ไหว มันเกินที่เราจะรับ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด หรือสิ่งที่เราต้องเจอ สิ่งที่เราต้องรู้ หรืออย่างคุณภาพชีวิตเราด้วย สิ่งที่เรากังวลในหัวข้อนี้คือเราทำผิดกฎหมายอยู่เยอะแยะไปหมด แต่เราก็ต้องทำ แล้วจะยังไงอะ จะโดนจับไหม สุดท้ายจะยังไง ถ้าเกิดว่าเราให้การปรึกษาหรือให้การช่วยเหลือบางอย่างที่โรงพยาบาลปฏิเสธไม่ช่วยเหลือในผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติแล้วเขาตาย เขาจะมาฟ้องเราไหม
“จุดเริ่มต้นที่มาทำอาสาตรงนี้ตั้งแต่ที่มีระบาดคราวก่อนหนักๆ เพราะเราคิดว่า ชุมชนแออัดน่าจะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่มีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลในประเทศว่าจะปิดประเทศ หรือล็อคดาวน์ เราคิดว่าเรามาช่วยตรงนี้เพื่อที่จะให้มันดีขึ้น เและเราจะได้ใช้ชีวิตปกติ แต่มันก็ยังไม่จบ แล้วเหตุผลที่มันไม่จบก็เป็นเหตุผลที่เราไม่พอใจ ถึงเราจะไปหยุดชุมชนตรงนี้ได้แล้ว แต่รัฐบาลปล่อยให้มันระเบิดที่อื่นไปเรื่อยๆ เราก็เซ็งมาก แต่สุดท้ายแล้วถ้าเราปกป้องชุมชนแออัดได้ดีแค่ไหน มันก็ยังไปโผล่ที่อื่น มันก็ไม่จบ แล้วเมื่อมันไปโผล่ที่อื่นจนติดเยอะขนาดนี้ ชุมชนที่เราปกป้องเป็นอย่างดี แต่ว่าบ้านเขาเป็นบ้านที่มันใกล้ชิดแออัด กลายเป็นเราต้องมาแบกรับภาระที่เราทำดีแล้ว โดยที่ไม่มีที่สิ้นสุด และไม่ว่าความต้องการของเราคืออะไร เราไม่ได้สิ่งนั้นเลย
เราไม่ได้ต้องการไปช่วยเหลือประชาชน เพราะเรารู้สึกว่าฉันช่วยเหลือชีวิตเธอ ฉันเป็นนางฟ้านางสวรรค์ ไม่ใช่ เราต้องการการดำเนินชีวิตของเรากลับมา เราไม่ได้ต้องการจะเป็นคนดี ไม่ได้ต้องการจะมีความสุขกับการช่วยเหลือคน และผมจะนับว่าทุกเคสที่ผมต้องช่วยไม่ใช่ 1 คะแนนความดี แต่เป็น 1 คะแนนความผิดของรัฐบาล ผมไม่โอเค”
เขายังบอกอีกว่า ตอนนี้มีอาสาเยอะมากๆ และอาสาเข้าไปช้อนระบบของรัฐบาลแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น รัฐบาลก็จะทำตัวชิล ไม่ทำงานไม่ได้ “นอกจากที่เราช่วยเหลือประชาชนในฐานะอาสาแล้ว ทีมเราก็เป็นทีมที่ไปช้อนระบบ Home isolation โดยการทำโลจิสติก ทำเป็นเคส จัดการการเงิน จัดการข้าวของ วุ่นวายเหมือนกันนะแต่ว่าทำเป็นระบบมันก็พอรับได้ แต่เนี่ยคือจะพูดว่าเราก็ไปช้อนให้แล้ว แล้วมันก็ยังไม่สำเร็จ เรารู้สึกโกรธ รู้สึกว่านี่ทำให้เยอะแล้ว ลอยตัวหรือเปล่า คิดว่ามีคนทำให้หรอ ไม่ได้นะ คุณต้องมีเจ้าหน้าที่ของคุณทำงาน ซึ่งเราก็ทำให้แล้วคุณมาชิลไม่ได้ เรารู้สึกว่าเราไม่พอใจเลย เราก็ทำงานยากนะเพราะมันติดหลายอย่าง เราต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานไปเรื่อยๆ ตอนนี้เราก็ทำได้แหละแต่ว่ามันเป็นการทำงานแบบกลับไม่ได้ไปไม่ถึง แต่ก็ทำได้ แต่สิ่งที่ไม่พอใจในพาร์ทของตัวเองคือมันหนักหนาเกินกว่าที่เราจะแบกรับแล้ว เรื่องของสภาพจิตใจและก็คุณภาพชีวิตเรา ไม่มีเวลากินข้าว แล้วก็เรื่องของเรามาทำตรงนี้แล้วเราต้องการอะไร มันก็ไม่ได้รับการตอบรับ