UN ส่งหนังสือแสดงความกังวลกรณียุบพรรคก้าวไกล หวั่นกระทบระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพการแสดงออก และการเลือกตั้ง ด้านรัฐบาลไทยชี้แจงว่ากระบวนการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และเป็นไปเพื่อรักษาความเรียบร้อยของประเทศไทย
เมื่อ 30 เมษายน 2567 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur) หรือ UN ได้ส่งข้อความแสดงความกังวลถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน กรณี กกต. ยื่นยุบพรรคก้าวไกล คดีล้มล้างการปกครอง จากการเสนอยกเลิกกฎหมาย มาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง
จากเอกสารรายงานการสื่อสารเลขที่ AL THA 5/2024 UN ได้ระบุถึงความกังวลใน 2 ประเด็นหลัก คือ เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่มโดยสงบ
“ถ้าหากพรรคซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้าน และยังมีจำนวน สส. เยอะที่สุดในรัฐสภาไทยขณะนี้ถูกยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมือง อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อระบอบประชาธิปไตย พื้นที่สาธารณะ รวมถึงสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะการแสดงออกทางการเมือง” คือข้อกังวลหลักที่ถูกระบุในเอกสาร
นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงกฎหมายมาตรา 112 ว่า “เรากังวลว่ากฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จะถูกใช้โดยรัฐบาลในฐานะเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้ปิดปากประชาชนและฝ่ายตรงข้าม และมันยังมีโทษหนักทางอาญาอีกด้วย”
ล่าสุด เมื่อ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ตอบกลับการรายงานนี้แล้ว โดยมีประเด็นสำคัญที่ระบุว่า การหาเสียงว่าจะยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นละเมิดรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามมิให้ล้มล้างการปกครอง ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดการกระทำที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี สิทธิในการถกเถียงเรื่องสถาบันฯ นั้นก็ยังคงมีอยู่ ตราบใดที่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ซึ่งเป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
สำหรับเรื่องมาตรา 112 ได้ชี้แจงไว้ว่า “เนื่องจากประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ มาตรานี้จึงเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์อันเป็นเสาหลักของประชาชนชาวไทยอีกด้วย ดังนั้นกฎหมายนี้จึงมีความตั้งใจที่จะรักษาความสงบและความมั่นคงของชาติ ซึ่งถ้าหากมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ก็สมควรได้รับโทษร้ายแรง” พร้อมยืนยันว่าการดำเนินคดีนั้นเป็นไปตามกระบวนการที่รัดกุม
และประเด็นสุดท้ายในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ รัฐบาลไทยยืนยันว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เช่นเดียวกันกับเสรีภาพในการก่อตั้งพรรคการเมืองก็ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญเช่นกัน
หลังจาก iLaw ได้เผยแพร่สรุปข้อชี้แจงเหล่านี้ผ่านทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์บนโซเชียลมีเดีย ที่คนส่วนหนึ่งตั้งคำถามว่า จากข้อชี้แจงนี้หมายความว่า รัฐบาลกำลังแสดงความเห็นด้วยกับการ ‘ยุบพรรค’ หรือเปล่า?
ล่าสุด เมื่อเวลา 11.03น. ของวันนี้ (6 สิงหาคม 2567) รัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงผ่านเอ็กซ์ (X; เดิมชื่อทวิตเตอร์) ของตนเองว่า หนังสือของไทยเป็นการตอบคำถามตามข้อร้องเรียนของกลไกพิเศษเกี่ยวกับกระบวนการที่ผ่านมาแล้ว คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 31 มกราคม 2567 ที่ระบุว่าพรรคก้าวไกลใช้สิทธิเสรีภาพเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และการยื่นคำร้องของ กกต. ให้ยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นเพียงการชี้แจงไปตามข้อเท็จจริงของคดี
“รัฐบาลไม่ได้เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง เพราะที่ผ่านมามีการยุบพรรคการเมืองหลายครั้ง ตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน ไทยรักษาชาติ ฯลฯ ซึ่งการยุบพรรคที่ยึดโยงกับประชาชนทำให้เสียงของประชาชนไม่ถูกสะท้อนตามความเป็นจริง” รัศม์ ระบุ พร้อมย้ำว่ารัฐบาลไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟ้องยุบพรรค และจะไม่ก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ถึงอย่างนั้น ก็ยังคงมีผู้ตั้งคำถามกับข้อชี้แจงอยู่บ้างในบางประเด็น เช่น จุดยืนของรัฐบาลไทยที่มีต่อโทษของมาตรา 112 รวมถึงการตอบคำถามในหลายๆ ข้อที่เขียนเพียงแค่ว่า “เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ” เท่านั้น
ในวันพรุ่งนี้ (7 สิงหาคม 2567) ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัย เวลา 15.00น. เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้เราได้รู้ว่า พรรคก้าวไกลจะถูกยุบหรือได้ไปต่อ และจะมีคำอธิบายในรายละเอียดของคดีนี้อย่างไรต่อไป
อ้างอิงจาก