ใกล้จะได้เลือกตั้งแล้ว เหลืออีกเพียง 2 เดือนก็จะได้เข้าคูหากัน แต่ทำไมการจะเลือกผู้แทนของเราครั้งนี้ดูยังงงๆ มีแต่เรื่องให้สับสน ทั้งเรื่องเขตเลือกตั้งที่เพิ่งแบ่งใหม่ ไหนจะสูตรการคิดคะแนนอันสลับซับซ้อน ผู้สมัครพรรคเดียวกันข้ามเขตก็เปลี่ยนเบอร์แล้ว หรือพรรคที่ชนะเลือกตั้ง ก็อาจจะไม่ได้เป็นรัฐบาลอีก
ในงานเสวนาวิชาการ “ว่าด้วยบทเรียนและบทบาทในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย” เพื่อเปิดตัวเครือข่าย We Watch สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี’ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พูดถึงหลุมพรางในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่มีมากถึง 16 หลุม ซึ่งอาจเป็นกับดักทำให้ผลการเลือกตั้งแปรเปลี่ยนไปได้
หลุมที่ 1 ระบบการเลือกตั้งที่สับสน
ระบบเลือกตั้งที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 แม้จะเป็นระบบใหม่ในเมืองไทย แต่แท้จริงไม่มีประเทศไหนใช้ระบบนี้แล้ว โดยเยอรมนีเคยใช้ระบบนี้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และใช้อยู่เพียง 3 ปีเท่านั้น
“ระบบเลือกตั้งนี้ออกแบบมาเพื่อลดทอนความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง และสร้างความคลุมเครือต่อการตัดสินใจของประชาชน เพราะเรามีบัตรเลือกตั้งแค่ใบเดียว และต้องชั่งน้ำหนักว่าจะเลือก ส.ส. เลือกพรรค หรือเลือกคนที่จะมาเป็นนายกฯ”
หลุมที่ 2 เซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองเดิม
มีการเซ็ตซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองเก่า ส่งผลกระทบต่อหลายพรรค เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ที่เดิมเคยมีสมาชิกมากถึง 2.8 ล้านคน ก็เหลือเพียง 8 หมื่นคนเท่านั้น
หลุมที่ 3 ไพรมารีโหวตเลือกผู้สมัคร ส.ส.
การจัดให้มีการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารีโหวต) สำหรับกำหนดตัวผู้สมัคร ส.ส. ทั้งที่พรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่มีระบบสมาชิกที่แน่นหนาพอจะเป็นปัญหา ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นล่าสุดกับพรรคอนาคตใหม่ จึงอยากให้เริ่มใช้ระบบนี้เมื่อมีความพร้อม
หลุมที่ 4 ม.44 ใส่ล็อกพรรคการเมือง
คสช.ได้ชะลอการเตรียมความพร้อมของพรรคการเมืองต่างๆ โดยใช้มาตรา 44 ใส่ล็อกห้ามทำกิจกรรม ประกาศนโยบายก็ไม่ได้ ระดมเงินก็ไม่ได้ ขายของก็ไม่ได้ แม้สัปดาห์ล่าสุดจะเพิ่งปลดล็อกบางส่วนแล้วก็ตาม
หลุมที่ 5 รัฐบาลกลายเป็นผู้เล่นทางการเมือง
รัฐบาลในตอนนี้ได้กลายมาเป็นผู้เล่นทางการเมือง ไม่ใช่กรรมการเหมือนอย่างในอดีตแล้ว และหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ตอบรับคำเชิญให้มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็จะยิ่งทำให้รัฐบาลและ คสช.เข้ามาเป็นผู้เล่นเต็มรูปแบบ โดยมีอำนาจเหนือองค์กรอิสระและพรรคการเมืองอื่นๆ
หลุมที่ 6 กกต.มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการแบ่งเขตเลือกตั้ง
การใช้มาตรา 44 ให้อำนาจ กกต.อย่างเบ็ดเสร็จในการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ โดยมี 5-6 จังหวัดที่ถูกวิจารณ์ว่า อาจเอื้อประโยชน์กับบางพรรค อาทิ สุโขทัย นครราชสีมา
หลุมที่ 7 บล็อกนักการเมือง ไม่ให้พูดคุยกับประชาชน
ที่ผ่านมา มีการบล็อกนักการเมือง ไม่ให้ออกไปพูดคุยหาเสียงกับประชาชน ด้วยวิธีการส่งทหารไปเยี่ยมเยียน นั่งคุยที่บ้าน นักการเมืองหรือหัวคะแนนก็จะออกไปไม่ได้ ซึ่งเราจะเห็นหลุมแบบนี้อีก ในช่วงการเลือกตั้ง เมื่อมี พรฎ.กำหนดวันเลือกตั้งออกมาแล้ว
หลุมที่ 8 แขวนนักการเมืองท้องถิ่นบางพื้นที่
มีการใช้ มาตรา 44 แขวนนักการเมืองท้องถิ่นในแต่ละที่ ส่งผลให้มีนักการเมืองท้องถิ่นบางคน ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ
หลุมที่ 9 ดูด ส.ส.ไปพรรคพลังประชารัฐ
ที่ผ่านมา มีอดีต ส.ส.ย้ายไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากที่สำรวจ พบว่ามีถึง 55 คน ที่เป็นอดีต ส.ส.เกรด A อาทิ จากพรรคเพื่อไทย 24 คน พรรคประชาธิปัตย์ 11 คน พรรคภูมิใจไทย 6 คน พรรคพลังชล 4 คน ฯลฯ
หลุมที่ 10 การให้ลงทะเบียนคนจน
การลงทะเบียนคนจน เพื่อแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) มีการคิดอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง เชื่อมโยงกัน โดยบัตรนี้มีกลุ่มทุนถึง 22 ได้ประโยชน์จากการใช้เงินของประชาชน
หลุมที่ 11 โอนเงิน 500 บาท
เชื่อมโยงจากการให้ลงทะเบียนคนจน และแจกบัตรสวัสดิการแล้ว ก็มีการโอนเงินให้ใน ATM 500 บาท และนอกจากเงินจำนวนนี้ ยังมีการแจกค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทางไปโรงพยาบาลด้วย ซึ่งเงินส่วนนี้ก็จะส่งผลเชื่อมโยงไปยังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
หลุมที่ 12 ส.ส.พรรคเดียวกัน ข้ามเขตคนละเบอร์
การเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ผู้สมัคร ส.ส.อาจจะมาจากพรรคเดียวกัน แต่แค่ข้ามเขต ก็อาจจะได้หมายเลขประจำตัวคนละหมายเลข ทำให้บางพรรคเสียเปรียบ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ถ้าไปดูข้อกฎหมายไม่ได้บังคับว่า ข้ามเขตแล้วต้องเปลี่ยนหมายเลข กกต.สามารถกำหนดให้จับหมายเลขครั้งเดียวแล้วใช้เหมือนกันทั่วประเทศได้
หลุมที่ 13 บัตรเลือกตั้งไม่มีโลโก้
เป็นข้อเสนอให้ตัดโลโก้และชื่อของพรรคออกจากบัตรเลือกตั้ง ซึ่งเวลาไปลงคะแนนจริงๆ อาจจะทำให้เกิดความสับสนได้
(แต่หลุมนี้ ล่าสุด กกต.ได้มีมติให้บัตรเลือกตั้งต้องมีโลโก้และชื่อของพรรคด้วย)
หลุมที่ 14 ป้ายหาเสียงมีแค่ ส.ส.เขต หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ
เป็นแนวคิดของ กกต.ที่จะให้ป้ายหาเสียง มีเพียงรูปของผู้สมัคร ส.ส.เขต หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ เท่านั้น รูปของบุคคลอื่นๆ รวมถึงผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อจะไม่สามารถอยู่บนป้ายได้
หลุมที่ 15 รัฐบาลตั้งพรรคมาลงแข่ง
นี่คือหัวใจสำคัญของกลโกงเลือกตั้งครั้งนี้ คือพรรคการเมืองที่มีรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง ทำให้นึกย้อนไปถึงการเลือกตั้งปี 2500 ที่มีพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เป็นนายกฯ ในขณะนั้นลงแข่งขันด้วย
หลุมที่ 16 เลื่อนเลือกตั้ง
เรื่องนี้ยังมีความเป็นไปได้อยู่ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งใช้บังคับ คืออย่างช้าที่สุด เป็นวันที่ 9 พ.ค.2562
แต่นอกจากหลุมพรางต่างๆ ก่อนการเลือกตั้ง รศ.สิริพรรณยังต้องข้อสังเกตถึงหลุมพรางหลังการเลือกตั้งไว้ด้วย
1.) การประกาศผลเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ให้เวลาถึง 2 เดือน จึงมีความเป็นไปได้ที่ กกต.จะแจกใบเหลือง-ใบส้ม หรือเสนอให้ศาลให้ใบแดง-ใบดำ กับผู้สมัคร ส.ส.เขตของพรรคต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย
2.) การอ้างว่า คนที่จะมาเป็นนายกฯ แค่ถูกเสนอไว้ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคต่างๆ ก็ถือว่าไม่ใช่ ‘นายกฯคนนอก’ แล้ว ซึ่งคำอ้างนี้ถือว่าบิดเบือนหลักการรัฐศาสตร์ และท้ายที่สุดจะเกิดปัญหาขึ้นมาว่า นายกฯ คนนั้นๆ จะต้องรับผิดชอบต่อประชาชน หรือต่อผู้ที่เสนอชื่อตัวเอง
3.) พรรคที่ชนะอาจไม่ได้เป็นรัฐบาล เพราะ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. จะได้มีสิทธิในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ ด้วย