“ประเทศไทยมีแต่ได้กับได้” สรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร
วันที่ 27 มีนาคม 2568 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. หรือที่เรียกกันว่า ร่าง พ.ร.บ. เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex)
ภายหลังการประชุมครั้งนั้น แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีประชาชนเห็นด้วย 80% ผ่านกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็น และจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยจะเป็นการสร้างการท่องเที่ยวแบบใหม่ ไม่ต้องรอการท่องเที่ยวตามฤดูกาล หรือการท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิม
นำมาสู่เสียงคัดค้านจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ ผู้นำฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภา กลุ่มแพทย์ ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ประชาชนชาวภูเก็ต และพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะอนุญาตให้มีการเล่นพนันถูกกฎหมายได้ในกาสิโนที่ถูกกำหนดไว้ว่าจะต้องมีสัดส่วนไม่เกิน 10% ของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
เดิมที ร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ถูกบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 9 เมษายนนี้ อย่างไรก็ดี นายกฯ แพทองธาร แถลงในวันที่ 8 เมษายนว่า พรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกัน ให้เลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน โดยจัดลำดับความสำคัญใหม่ให้กับปัญหาที่เร่งด่วน เช่น การตั้งกำแพงภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump)
ในระหว่างนี้ The MATTER ชวนดูข้างในร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. ที่นายกฯ บอกว่า “ไม่ได้ถอนหรือดึงเรื่องกลับมา” และจะกลับมาสู่การพิจารณาอีกครั้งในการประชุมสภาฯ สมัยถัดไป
‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’ คืออะไร?
มาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ. ให้คำนิยามของ ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’ หรืออย่างเป็นทางการคือ ‘ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร’ ไว้ว่า “การให้บริการเพื่อการท่องเที่ยว การพักผ่อนหย่อนใจ หรือการนันทนาการ ในรูปแบบของธุรกิจสถานบันเทิงตามบัญชีท้าย พ.ร.บ. นี้หลายประเภทรวมกัน ร่วมกับกาสิโน”
สำหรับประเภทธุรกิจตามบัญชีท้าย พ.ร.บ. ที่ไม่ใช่กาสิโน กำหนดไว้ดังนี้
- ห้างสรรพสินค้า
- โรงแรม
- สถานบริการ
- สนามกีฬา
- ยอร์ชและครูซชิ่งคลับ
- สถานที่เล่นเกม
- สระว่ายน้ําและสวนน้ํา
- สวนสนุก
- กิจการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
มาตรา 50 กำหนดว่า ในการดำเนินธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร จะต้องมีการประกอบประเภทธุรกิจตามบัญชีท้าย พ.ร.บ. ดังกล่าว อย่างน้อย 4 ประเภท และจะต้องมี ‘พื้นที่สำหรับส่งเสริมสินค้า บริการ และศิลปวัฒนธรรมไทย’ ไม่น้อยกว่า 10% ของพื้นที่ ในขณะที่มาตรา 49 กำหนดสัดส่วนของกาสิโนว่า จะต้องไม่เกิน 10% ของที่ดินหรือพื้นที่ใช้สอยของอาคาร
สำหรับกาสิโนที่จะต้องมีสัดส่วนไม่เกิน 10% นั้น มาตรา 72 กำหนดการจัดเขตบริเวณไว้ว่า ถ้าตั้งอยู่ในอาคารร่วมกับธุรกิจประเภทอื่นๆ “จะต้องจัดกาสิโนให้อยู่ในชั้นของอาคารแยกต่างหาก” และต้องมี “ทางเข้าออกหรือระบบลิฟต์เฉพาะสำหรับผู้ประสงค์จะเข้ากาสิโน” แต่หากตั้งอยู่ในอาคารแยกต่างหากอยู่แล้ว “ต้องมีรั้วกั้นเขตและมีทางเข้าออกเฉพาะ”
ส่วนบุคคลที่จะเข้าไปในกาสิโนได้ จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ลงทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมเรียบร้อย และไม่มีลักษณะต้องห้าม หรือถูกสั่งห้ามเข้า ถ้าเป็นคนสัญชาติไทยที่จะเล่นพนัน ต้องมีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน และคนไทยต้องเสียค่าเข้า ครั้งละ 5,000 บาท
กำหนดหน่วยงานกำกับดูแล
ร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ยังกำหนดให้มีหน่วยงานที่จะมากำหนดนโยบายและควบคุมการดำเนินกิจการ (หมวด 1-3) จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ (1) คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร (2) คณะกรรมการบริหารสำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร และ (3) สำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร
คณะกรรมการแรก ‘คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร’ มีนายกฯ นั่งเป็นประธานกรรมการ รองนายกฯ ที่นายกฯ มอบหมาย นั่งรองประธานฯ มีกรรมการโดยตำแหน่ง 10 คน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่แต่งตั้งโดยนายกฯ ไม่เกิน 6 คน
คณะกรรมการนโยบายมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะนโยบายในภาพกว้าง ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เช่น นโยบายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เสนอแนะการกำหนดพื้นที่ประกอบธุรกิจ แนวทางการกำหนดจำนวนในอนุญาต และเสนออัตราภาษีที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
ลำดับรองลงมา คือ ‘คณะกรรมการบริหารสำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร’ มีบุคคลซึ่งนายกฯ แต่งตั้ง เป็นประธานฯ มีหน้าที่และอำนาจเสมือนเป็น ‘บอร์ด’ ในการควบคุมการดำเนินงานของ ‘สำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร’ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติของคณะกรรมการนโยบาย
นำมาสู่หน่วยงานลำดับสาม ‘สำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร’ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เรียกได้ว่าเป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติการ (operational) โดยมีวัตถุประสงค์ในการควบคุม กำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ ส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบธุรกิจของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
ผลได้–ผลเสีย จากเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์?
แล้วประเทศไทยจะได้อะไรบ้าง?
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ทีมงานนายกรัฐมนตรี เผยแพร่อินโฟกราฟิก ‘ร่าง พ.ร.บ. เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่ได้มีแค่คาสิโน’ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘Ing Shinawatra’ สรุปประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้ ดังนี้
- กระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนในระยะแรก ที่คาดว่า ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
- สร้างงาน 9,000-15,300 ตำแหน่ง
- รายได้จากการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น 1.1-2.3 แสนล้านบาท
- รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 12,037-39,427 ล้านบาทต่อปี จากภาษีจากธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ภาษีจากกาสิโน และค่าธรรมเนียมเข้ากาสิโน
อย่างไรก็ดี สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา เตือนว่า แม้การเปิดกาสิโนอาจก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจในบางด้าน แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดของการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ณ ขณะนี้ คือ ยกร่างกฎหมายโดยไม่มีรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (feasibility study)
อีกประเด็นหนึ่งที่สมเกียรติชี้ให้เห็น คือ ร่างกฎหมายกำหนดให้จัดสรรใบอนุญาตโดยใช้วิธีแบบ ‘ประกวดนางงาม’ (beauty contest) ซึ่งหมายถึงคัดเลือกโดยให้คะแนนตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ฝ่ายการเมืองกำหนดขึ้น แทนที่จะใช้วิธีการประมูล จึงอาจส่งผลต่อความโปร่งใส และเสี่ยงต่อการที่ฝ่ายการเมืองสามารถใช้ดุลพินิจในการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการบางราย
สมเกียรติระบุต่อว่า “ผมจึงอยากให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้ โดยเริ่มจากการศึกษาความเป็นไปได้ที่ได้มาตรฐาน และถ้าพบว่าได้ผลประโยชน์มากกว่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจริง ก็ควรประกาศจำนวนใบอนุญาตที่จะออกก่อนล่วงหน้า แล้วออกใบอนุญาตด้วยวิธีการประมูลแข่งขันกันจากผู้ขอใบอนุญาตที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ครบถ้วน
“เมื่อรัฐบาลจะเอาร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภา ผมยังอยากเห็นการนำเสนอแนวทางอย่างชัดเจนในการป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
“ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันไม่ให้คนไทยติดพนัน การป้องกันอาชญากรรมและการฟอกเงินตลอดจนการลดผลกระทบจากปัญหาสังคมต่างๆ” ประธาน TDRI ระบุ