“ซ้ายชนะเลือกตั้ง ชนะแค่ตัวเลข จำนวน สส. แต่ไม่สามารถปกครองได้ ไม่สามารถมีอำนาจบริหารได้ ดังนั้น ใครบอกว่าซ้ายชนะ ไม่จริง – ในขณะเดียวกัน คนไปบอกว่า งวดนี้ขวาแพ้ ขวาจัดแพ้ มันจะแพ้ได้ยังไง”
นี่คือข้อสังเกตของ ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่นอกจากจะเป็นที่รู้จักในฐานะนักการเมืองไทย ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เขายังเป็นผู้เฝ้าติดตามการเมืองฝรั่งเศสอย่างใกล้ชิด
เพียงไม่ถึง 1 เดือนหลังจากประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประกาศยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ฝรั่งเศสก็จัดการเลือกตั้งขึ้น โดยมีขึ้น 2 รอบ ในวันที่ 30 มิถุนายน และ 7 กรกฎาคม เพื่อเลือกผู้แทนจำนวน 577 คน เข้าสภาฯ ของฝรั่งเศส ที่เรียกว่า สมัชชาแห่งชาติ (Assemblée Nationale)
ภายหลังจากที่ฝ่ายขวาจัดได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป (European Parliament) เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สะท้อนกระแสสูงของขวาจัดในยุโรป โลกก็ต่างเฝ้าดูว่า การเลือกตั้งในฝรั่งเศสจะสะท้อนกระแสออกมาเป็นกระแสเดียวกันด้วยหรือไม่
ผลการเลือกตั้งก็ปรากฏว่า ขั้วฝ่ายซ้ายได้ที่นั่งมากเป็นอันดับ 1 ถึง 188 ที่นั่ง ส่วนขั้วฝ่ายขวาจัด แม้จะได้คะแนนป็อปปูลาร์โหวต (popular vote) เป็นจำนวนมาก แต่ก็ได้ที่นั่งเป็นอันดับ 3 คือ 142 ที่นั่ง – แต่การที่ไม่มีฝ่ายใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด จึงนำมาสู่ปรากฏการณ์รัฐสภาแขวน (hung parliament) กลายเป็นความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาล
“ถามว่าใครชนะเกมนี้ คือ เอมมานูเอล มาครง เพราะเขาไม่เสียหายอะไรเลย เขาได้เป็นประธานาธิบดีต่อ” ปิยบุตรกล่าว
เราพูดคุยกับปิยบุตร ในวันที่ฝ่ายซ้ายไม่ได้ชนะ ส่วนขวาจัดก็ไม่ได้แพ้ คงไม่ต้องสาธยายว่าชายผู้นี้เหมาะจะพูดเรื่องนี้อย่างไร–เขาเล่าเรียนระดับปริญญาโทและเอกที่ฝรั่งเศส เป็นผู้เชี่ยวชาญระบบกฎหมายทั้งไทยและฝรั่งเศส สังเกตการณ์และตั้งข้อสังเกตถึงการเมืองฝรั่งเศสมาอย่างต่อเนื่อง และจากประสบการณ์การทำพรรคอนาคตใหม่ ก็ยังมีมุมมองที่น่าสนใจในแบบฉบับนักการเมืองโดยตรง
ที่สำคัญ เขาบอกว่า The MATTER จะเป็นที่แรกที่เขาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเมืองฝรั่งเศส
บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้จะเข้มข้นไปด้วยการวิเคราะห์ของปิยบุตร เราคุยกันถึงระบบเลือกตั้ง การขับเคี่ยวของการเมืองฝรั่งเศส การขึ้นมาของขวาจัด อำนาจที่ไม่ถูกตรวจสอบของประธานาธิบดีฝรั่งเศส ลัทธิเสรีนิยมใหม่ กระทั่งมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ก่อนจะย้อนกลับมามองการเมืองไทย
อะไรคือหมุดหมายสำคัญของการเลือกตั้งฝรั่งเศสครั้งล่าสุด
พัฒนาการของการเมืองฝรั่งเศส ตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญ 1958 หรือสาธารณรัฐที่ 5 ในอดีตที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นการเมืองในลักษณะ bi-party system คือการเมืองพรรคใหญ่ 2 พรรค แต่ในระยะหลัง มันขยับกลายเป็น 3 พรรค ตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งเมื่อปี 2022 ทำให้องค์ประกอบของสภาฯ มี 3 กลุ่มใหญ่ๆ นั่นก็คือ กลุ่มฝ่ายซ้าย กลุ่มขวากลาง และกลุ่มขวาจัด
องค์ประกอบของสภาฯ แบบนี้เอง ทำให้เสียงข้างมาก ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) มีเสียงที่ไม่ได้มากมายเด็ดขาดเสียทีเดียว ดังนั้น เวลาโหวตกฎหมายสำคัญๆ แต่ละที มันก็เป็นไปได้ที่จะไม่ผ่าน
ปัญหาต่อไปก็คือ เมื่อช่วงต้นปี มีการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป (European Parliament) ปัญหาก็คือครั้งนี้ ฝ่ายขวาจัดได้คะแนนมากกว่า 30% ทำให้มาครงตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร พอยุบสภาฯ เสร็จก็ต้องมาเลือกตั้งใหม่
พอเลือกตั้งใหม่ มันเลยกลายเป็นเดิมพันที่สำคัญหลายๆ เรื่อง เดิมพันข้อที่ 1 คือ ตกลงแล้ว พรรคขวาจัดจะกลายมาเป็นเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรไหม ซึ่งก็คิดกันว่ามีแนวโน้ม เพราะเพิ่งชนะเลือกตั้งสภายุโรปมาหมาดๆ ถ้าได้กลายเป็นเสียงข้างมาก ก็จะกลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศสที่พรรคขวาจัดได้เป็นรัฐบาล ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
เดิมพันข้อที่ 2 คือ ตกลงแล้ว การตัดสินใจยุบสภาฯ ของมาครง ถูกหรือผิด ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่า เฮ้ย บางทีเขาตัดสินใจยุบ แต่เผื่อเขาจะได้แรงสนับสนุนเยอะกว่าเดิม หรือยอมเดิมพัน เลยเกิดขวาจัดขึ้นมา ถ้าคิดว่ามาครงยุบสภาฯ ผิด ไม่ดี ก็ลงโทษมาครงด้วยการไม่ไปเลือกพรรคที่สนับสนุนมาครง เป็นต้น
เดิมพันข้อที่ 3 คือ การเลือกตั้ง 2024 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป มันกลายเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยปริยาย ว่าจะเลือกของ 3 ขั้วที่ผมว่า ของซ้าย ขวากลาง และขวาจัด จะเอาใครเป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องมันเป็นแบบนี้
เลือกตั้งเสร็จแล้ว ผลออกมาเป็นอย่างไร
สิ่งที่มันน่าสนใจคือ ประกาศยุบสภาฯ ปุ๊บ ให้เวลาหาเสียงน้อยมาก แล้วก็ลงเลือกตั้งเลย ทีนี้ ระบบเลือกตั้งฝรั่งเศส มันเป็นแบบนี้ มันเป็นระบบเลือกตั้งเสียงข้างมากเด็ดขาด 2 รอบ หมายความว่า การแข่งขันรอบที่ 1 ถ้ามีใครได้เกินร้อยละ 50 คนนั้นได้เป็น สส. เลย แต่ถ้าไม่มี ก็จะเอาเฉพาะคนที่ได้เกินร้อยละ 12.5 ไปแข่งกันในการแข่งขันรอบที่ 2 ใครที่ 1 คนนั้นก็ได้เป็น
ระบบเลือกตั้งแบบนี้เปิดโอกาสให้มีการจับกลุ่มจับก้อน สร้างพันธมิตรกัน นอกจากนั้นแล้ว ระบบเลือกตั้งของฝรั่งเศสก็อนุญาตให้แต่ละพรรคการเมือง จับกลุ่มเว้นเขตกัน ตกลงกันได้เลยล่ะ ว่าฉันลงเขตนี้ เธอลงเขตนั้น เว้นเขตให้กันซึ่งกันและกัน ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้ ประเทศไทยไม่ยอมให้มี
ด้วยระบบเลือกตั้ง และระบบการให้สร้างพันธมิตรกันระหว่างพรรคการเมืองในการลงเลือกตั้งได้เอง ทำให้แต่ละพรรคก็ต้องไปคิดกันว่าจะทำยังไงถึงชนะ ยกตัวอย่างเช่น ฝ่ายซ้าย ซึ่งมีหลากหลายพรรคมาก ถ้าแต่ละพรรคลงกันเอง ไม่มีทางชนะ หรือชนะไม่มาก ฝ่ายขวาจัดเขาก็เด่นของเขา เขาไม่มีใครร่วม ขวากลางซึ่งมีอยู่ 2-3 พรรค ก็ต้องตัดสินใจร่วมมือกัน
ฝั่งซ้าย มันมีตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์ พรรคอีโคโลจิสต์ (Parti écologiste) พรรคสังคมนิยม (Parti socialiste) และพรรคลาฟร็องแซ็งซูมีซ (La France Insoumise) 4 พรรคนี้ก็ตัดสินใจจับมือเป็นพันธมิตรกัน ครั้งที่แล้วตอน 2022 ก็เคยทำมาแล้ว ทำให้ตัวเองได้ สส. จำนวนมาก รอบนี้ก็เลยตกลงกัน ทำพันธมิตรกันอีก หวังว่าตัวเองจะได้เสียงข้างมากเป็นรัฐบาล
ขวากลางของมาครง พรรคอองซอมเบลอ (Ensemble) เขาก็ไปจับพรรคกลางอีกพรรคหนึ่งลง แล้วก็มีขวากลางอีกพรรคหนึ่งชื่อ เลเรปูว์บลีแก็ง (Les Républicains หรือ The Republicans) แล้วก็มีขวาจัด ชื่อพรรค ราซอมเบลอมองต์ นาซิโอนัล (Rassemblement National หรือ National Rally) ของ จอร์แดน บาร์เดลลา (Jordan Bardella)
ลงเลือกตั้งกันไปปุ๊บ เราจะเห็นได้ชัดเลยว่า พรรคขวาจัด ราซอมเบลอมองต์ นาซิโอนัล ได้คะแนนเยอะมาก ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์นะ ส่วนพรรคซ้ายก็ได้เยอะมาก เหมือนกัน แต่ทีนี้ รอบแรก มันไม่พอ มันต้องมาเลือกรอบ 2 พอเลือกรอบที่ 2 คราวนี้ก็จับพันธมิตรกันเต็มเลย บางทีซ้ายก็ไปจับกับขวากลางก็มี เพื่อสกัดขวาจัดในหลายๆ เขต
พอมันเป็นไปลักษณะนี้ มันทำให้พรรคขวาจัดไปไม่ถึงฝั่งฝัน พรรคขวาจัดเลยได้จำนวน สส. น้อยลงไป และพรรคที่ได้ลำดับที่ 1 คือพันธมิตรของฝ่ายซ้าย ที่ชื่อว่า นูโว ฟรอนต์ ป็อปปูแลร์ (Nouveau Front Populaire หรือ New Popular Front) ส่วนขวากลางลดลงจากปี 2022 อย่างเห็นได้ชัด ทีนี้ ปัญหามันก็เกิดขึ้นว่า จะทำอย่างไร เพราะว่าไม่มีใครได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาฯ คราวนี้แหละ ก็เลยยังตั้งรัฐบาลไม่ได้
อาจารย์มองว่าการได้คะแนนของฝ่ายซ้ายน่าสนใจอย่างไร
สำหรับผม นี่คือการสร้างระบบพันธมิตรฝ่ายซ้ายด้วยกัน จริงๆ พรรคฝ่ายซ้ายทั้ง 4 พรรคไม่ได้รักใคร่กลมเกลียวกันหรอกครับ วิธีคิด ชุดความคิด ก็ไม่ได้ตรงกันทั้งหมด แล้วพอเข้าไปทำงานในสภาฯ ก็เห็นไม่ตรงกันตั้งหลายครั้ง เพียงแต่ว่าถ้า 4 พรรคลงพร้อมกันหมด แข่งกันเอง ก็แพ้แน่ ดังนั้น ก็เลยมาจับกัน
ทีนี้ 4 พรรค พรรคที่นำกว่าเพื่อนเยอะที่สุดก็คือ ลาฟร็องแซ็งซูมีซ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สามารถปกครองขั้วนี้ได้ เพราะ 3 พรรคที่เหลือ ก็ไม่ชอบนักการเมืองบางคนของลาฟร็องแซ็งซูมีซ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ชอบผู้นำของเขา คือฌ็อง-ลุก เมล็องชง (Jean-Luc Mélenchon) ดังนั้น ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปกันมา แต่ในท้ายที่สุด ด้วยความกลัวขวาจัดจะคลื่นลมพัดพามาจนได้จำนวนเสียงข้างมาก เขาก็ไปจับพันธมิตรกัน และเว้นเขตเลือกตั้งกัน ตั้งชื่อว่า นูโว ฟรอนต์ ป็อปปูแลร์
ปัญหาคือ ถ้าคุณจับกัน แล้วคุณได้เกินครึ่งหนึ่งของสภาฯ ก็ง่าย คุณก็ตั้งรัฐบาล แต่คุณได้ไม่ถึงครึ่งของเสียงข้างมากในสภาฯ ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ มันก็เลยเกิดปรากฏการณ์ที่ทั้ง 3 ขั้วการเมืองตั้งรัฐบาลไม่ได้ตอนนี้ แน่นอน ขวาจัดไม่ได้เป็นแน่นอน เพราะซ้ายกับขวาไม่ยอมให้ขวาจัดเป็น ขวาจัดก็หลุดออกไป ทีนี้ ซ้ายจะเป็นเอง ก็เป็นไม่ได้ เพราะเสียงไม่พอ ขวาจะเป็นก็เป็นไม่ได้ เพราะเสียงไม่พอ ปัญหามันก็เกิดขึ้นว่า จะจับกันยังไง
ผมคิดว่า ประธานาธิบดีมาครงน่าจะคาดการณ์มาไว้ก่อนว่า ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ ในท้ายที่สุด เขาลอยตัว เขาเป็นประธานาธิบดี เขาอยู่อีก 3 ปี ส่วนสภาฯ ก็ว่ากันไป คุณก็ไปจับให้ได้ ฉันก็เป็นประธานาธิบดีต่อ ฉันก็ไปประชุม NATO ต่อ ฉันก็เป็นผู้นำประเทศต่อ ส่วนสภาฯ จะว่ายังไง คุณไปจับกันให้ได้
การที่ผลเลือกตั้งออกมาเป็นแบบนี้ ถามว่าใครชนะเกมนี้ คือ เอมมานูเอล มาครง เพราะเขาไม่เสียหายอะไรเลย เขาได้เป็นประธานาธิบดีต่อ
มิหนำซ้ำ เสียงข้างมากในสภาฯ พวกคุณก็ไปคุยกันเองสิ แล้วถ้าคุยกัน เผลอๆ นายกฯ อาจจะเป็นขวากลางก็ได้ ถ้าเทียบกับการเมืองไทยคือ ไปดูด ไปเอาเสียงของซ้ายมายกมือให้ แลกกับการที่คุณได้เป็นรัฐมนตรีไง ร่วมรัฐบาลกัน
ในท้ายที่สุด องค์ประกอบของสภาฯ องค์ประกอบของรัฐบาล ก็จะเป็นเหมือนเดิม คือ รัฐบาลก็จะไม่ได้มีเสถียรมากมาย และมันจะทำให้พลังของฝ่ายซ้ายแตกด้วย จากเมื่อก่อนก็ทะเลาะกันเยอะอยู่แล้วนะ แต่จับมือกันหลวมๆ เพื่อลงเลือกตั้ง จับเสร็จปุ๊บแตกเลย แตกเรื่องอะไร อ้าว ใครจะเป็นนายกฯ ก็ทะเลาะกันเองข้างในตอนนี้ และมันมีแนวโน้มว่าซ้ายบางคนเห็นความสำคัญระยะสั้น คือต้องเป็นรัฐบาล ก็จะเลือกที่จะเป็นไปก่อน โดดเดี่ยวลาฟร็องแซ็งซูมีซออกไป เพราะลาฟร็องแซ็งซูมีซกลายเป็นเป้าที่ขวาก็ไม่เอา ซ้ายบางปีกก็ไม่เอา
แปลว่าฝ่ายซ้ายก็ไม่ได้ชนะ แต่จริงๆ แล้วฝ่ายขวาจัดก็ไม่ได้แพ้เหมือนกัน?
ถามว่าการเลือกตั้งของประเทศฝรั่งเศสมันสะท้อนเจตจำนงได้อย่างแท้จริงไหม ผมคิดว่ามันไม่ตรงเสียทีเดียว เพราะอะไร เพราะระบบเลือกตั้งแบบนี้แหละ เพราะระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก 2 รอบ ไม่ใช่ระบบป็อปปูลาร์โหวต (popular vote) ทั้งประเทศ มันก็เป็นธรรมดาที่ ถึงเวลามันใช้กลไกระบบเลือกตั้งซิกแซกไปมา เพื่อจะรวมพลังกันเอาชนะอีกฝ่าย
ดังนั้น ในท้ายที่สุด บางคนวิเคราะห์การเมืองด้วยการดูว่า โอ้ พรรคฝ่ายซ้ายได้ สส. เยอะที่สุด ฝ่ายขวาจัดลงไปอยู่ที่ 3 โอ้โห นี่คือชัยชนะของฝ่ายซ้าย ดูอย่างนี้คือดูผิวเผิน ดูลึกๆ ซ้ายไม่ได้ชนะครับ
ซ้ายรวมกัน 4 พรรค ถ้าให้ซอยทีละพรรค ไม่มีใครได้เยอะเลย แต่เพราะรวมกันไง สร้างพันธมิตรกัน ถึงเอาชนะเลือกตั้งในเขตต่างๆ ได้ ลองไม่รวมสิครับ แพ้หมด ทีนี้รวมกัน ชนะมาแล้วไง ชนะแล้วก็มี อำนาจไม่ได้ เพราะเสียงไม่ถึง ทะเลาะกันเองอีก หาแคนดิเดตนายกฯ ของตัวเองไม่ได้อีก
ให้ผมสรุปสั้นๆ คือ ซ้ายชนะเลือกตั้งได้อันดับที่ 1 ครั้งนี้ เพราะจับมือกันลงเลือกตั้ง ซ้ายได้ สส. เยอะที่สุดในสภาฯ แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ หานายกฯ ไม่ได้ ซ้ายชนะเลือกตั้ง ชนะแค่ตัวเลข จำนวน สส. แต่ไม่สามารถปกครองได้ ไม่สามารถมีอำนาจบริหารได้ ดังนั้น ใครบอกว่าซ้ายชนะ ไม่จริง
ในขณะเดียวกัน คนไปบอกว่า งวดนี้ขวาแพ้ ขวาจัดแพ้ มันจะแพ้ได้ยังไง ผมเอาตัวเลขให้ดู สถิติพัฒนาการของพรรคขวาจัด ซึ่งเมื่อก่อนชื่อ ฟรอนต์ นาซิโอนัล (Front National) ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็น ราซอมเบลอมองต์ นาซิโอนัล
เลือกตั้ง สส. ปี 2012 ป็อปปูลาร์โหวต 13.60% แต่ได้ สส. คนเดียว มันแปลกไหม ถ้าคิดเป็นระบบแบบปาร์ตี้ลิสต์บ้านเรา มันก็ต้อง 13-14 คนถูกไหม แต่ปรากฏได้ สส. คนเดียว ก็เพราะว่า พอเป็นเขตเลือกตั้ง มันเจอรุม เจอทุกฝ่ายช่วยกันจับมือบล็อคไม่ให้ชนะ
ปี 2017 – 13.20% ได้มา 7 ที่นั่ง
ปี 2022 – 18.61% ได้มา 88 ที่นั่ง
ปี 2024 – 33.15% ได้มา 142 ที่นั่ง
ทีนี้ ลองมาเทียบดูการเลือกตั้ง สส. รอบนี้นะ พรรคที่ได้เปอร์เซ็นต์ป็อปปูลาร์โหวตทั้งประเทศสูงที่สุด คือพรรคขวาจัดนะครับ 33.35% พรรคซ้ายได้ 28.28% และขวากลางได้ 21.79%
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า ขวาจัดไม่ได้แพ้นะ ทิศทาง 4 การเลือกตั้งหลัง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ค่าเฉลี่ยทุกครั้ง เกินร้อยละ 30 ทุกครั้ง นั่นหมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศฝรั่งเศสเกินร้อยละ 30 เลือกขวาจัดมาโดยตลอด 2-3 การเลือกตั้งครั้งหลัง
ใครบอกว่าขวาจัดแพ้ ผมว่าไม่ใช่ ประเทศฝรั่งเศสยังมีคนนิยมขวาจัดอยู่เหมือนเดิม บางคนบอก โลกนี้ ทุกประเทศหันขวา ยุโรปหันขวา มีฝรั่งเศสหันซ้าย ไม่จริง ขวาจัดยังเยอะเหมือนเดิม เพียงแต่เขาติดเรื่องระบบเลือกตั้งเท่านั้นที่ไม่สามารถเปลี่ยนให้จำนวน สส. มันเยอะ
ในขณะเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่น่ากังวลใจอีกเหมือนกัน ก็คือ ขวาจัดเขาชนะ เขาได้คะแนน 33% ทั่วประเทศ ฐานคะแนนที่เขาได้ตอนนี้คืออยู่ในชทบท อยู่ในต่างจังหวัด ฐานคะแนนของซ้ายเกาะกันอยู่ในปารีสและเมือง ฐานของคะแนนของขวาจัดยังไปอยู่ที่ไหนอีก ไปอยู่ที่ชนชั้นแรงงาน ไปอยู่ที่เกษตรกร เลือกขวาจัดมาก ทั้งๆ ที่ถ้าเราพูดกันผิวเผิน เกษตรกรและแรงงานควรเลือกพรรคฝ่ายซ้ายถูกไหม
แสดงว่าความนิยมฝ่ายขวาจัดในฝรั่งเศสก็สะท้อนไปกับบริบทยุโรป?
ถูกต้อง ผมยังเชื่อว่า หลากหลายประเทศในยุโรปขยับไปขวาจัดกันหมด สาเหตุคือ แนวทางนโยบายของสหภาพยุโรป (European Union) จำนวนมาก ทำให้ประชากรในรัฐสมาชิกไม่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ หรือที่เราเรียกว่า neoliberalism ซึ่งจะพยายามให้รัฐแต่ละรัฐรัดเข็มขัด ใช้จ่ายให้น้อย ดังนั้น มันก็เป็นไปได้ว่าจะนำไปสู่การตัดลดสวัสดิการ นำไปสู่การขยายระยะเวลาการเกษียณอายุ ในขณะเดียวกัน ด้วยความเป็นยุโรป ก็จะต้องสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน เปิดพื้นที่ เปิดทางให้ผู้ลี้ภัยได้เข้ามา
คราวนี้ ด้านหนึ่งคุณไปตัดงบสวัสดิการ อีกด้านหนึ่งคุณบอกว่าต้องเปิดพื้นที่ให้กับผู้ลี้ภัย คนทั่วๆ ไปก็คิดง่ายๆ กัน บอกว่า ประเทศเราจะไม่มีตังค์อยู่แล้ว ยังจะมาตัดงบสวัสดิการ ขยายเวลาเกษียณอายุ เงินทองก็ไม่ค่อยมีแล้ว แล้วทำไมยังรับคนเหล่านี้เข้ามาอีก คิดแบบง่ายๆ ก็จะคิดกันแบบนี้ ดังนั้น โดยสภาพ ขวาจัดมันเลยปลุกระดมคนง่าย ขวาจัดเขาก็พุ่งไปที่ pain point ของประเทศตนเอง ของสังคมตนเอง
ถ้าเราคิดแบบเมื่อก่อน พรรคที่จะต้องไปเก็บคนเหล่านี้ขึ้นมาคือใคร คือซ้าย ถูกไหม แต่ซ้ายทำไม่สำเร็จ ขวาจัดไปเก็บได้หมดเลย แล้วก็ปลุกเรื่องชาตินิยมขึ้นมา ดังนั้น เทรนด์แนวโน้มในประเทศยุโรปจะเป็นอย่างนี้กันหมดเลย
ย้อนกลับมาที่ระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา ตอนนี้มีปัญหาอย่างไร
ที่ผมเขียนในเพจของผมบ่อยๆ ผมก็เอามาจากนักวิชาการฝรั่งเศส เขาพูดกันหลายคนว่า ทุกวันนี้ เอมมานูเอล มาครง ก็เหมือนพระมหากษัตริย์แล้ว เพียงแต่คุณลงเลือกตั้ง แล้วคุณจะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องรับผิดชอบ ยุบสภาฯ ทิ้งก็ได้ ถึงเวลาจะเลือกคนนั้นคนนี้เป็นนายกฯ ก็ได้ จะทำอะไรก็ได้หมดเลย ส่วนตัวเองก็รอเลือกตั้งใหม่ 5 ปี แล้วพอเลือกตั้งใหม่ คุณได้กลับมาอีก ถามว่าคนนิยมคุณจริงไหม ไม่แน่นะ อาจจะไม่ได้นิยมจริง
เพียงแต่เป็น the lesser of two evils ไง ก็คือเหมือนครั้งที่แล้ว ถามว่าคนนิยมมาครง จริงไหม ไม่ใช่นะ เพียงแต่ว่าเข้าชิงกัน 3 คน ก็คือ มาครง, มารีน เลอ แปน (Marine Le Pen) และเมล็องชง ถึงเวลาเข้าไปชิงกัน 2 คน ก็คือขวากับขวาจัด ก็จำเป็นโดยปริยาย คนไม่อยากให้ขวาจัดเป็น ก็ไปเลือกมาครงเป็นประธานาธิบดี ดังนั้น ถามว่า นี่คือความนิยมของคุณเกินครึ่งประเทศเหรอ ผมว่าไม่ใช่ แต่ด้วยระบบแบบนี้ คุณก็ตักตวงกลไกในทางรัฐธรรมนูญใช้ไปได้เรื่อยๆ
ผมมีความเห็นว่า ฝรั่งเศสใช้สาธารณรัฐที่ 5 มานานแล้ว ตั้งแต่ปี 1958 ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้ว มันไม่เวิร์กแล้วครับ มันไม่เวิร์กตรงไหน? จริงๆ ฝรั่งเศสตอนสาธารณรัฐที่ 4 เป็นระบบรัฐสภาเหมือนเรา แล้วมันมีปัญหา คือรัฐบาลเปลี่ยนบ่อย ไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้น พอสาธารณรัฐที่ 5 ขึ้น ชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle) ซึ่งมาเป็นคนนำ ก็ไกด์ไลน์ให้ มีแชล เดอเบร (Michel Debré) เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ ก็เลยพยายามออกแบบรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง
ทีนี้ พวกเราทราบไหมว่า ประธานาธิบดี เดอ โกล ตอนแรกไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงนะ มาจากการเลือกของสภาฯ แต่อยู่ไป 4 ปี พอปี 1962 เดอ โกล ไปแก้รัฐธรรมนูญ ให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยใช้วิธีทางลัดด้วย ไม่ใช่แก้ผ่านสภาฯ และประชามติ แต่อยู่ดีๆ แกเอาคำถามไปถามประชามติเลย และประชาชนก็เห็นด้วยหมด ประธานาธิบดีก็เลยมาจากเลือกตั้งโดยตรงตั้งแต่นั้น ก็เลยมีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจเพิ่มขึ้นเข้าไปอีก
มันเลยกลายเป็นระบบที่ลักลั่น ประธานาธิบดีก็เลือกตั้ง นายกฯ ก็มาจากสภาฯ ก็ต้องมีเสียงข้างมากในสภาฯ สนับสนุน แบบนี้ปัญหาสุดท้ายคือ นายกฯ กับประธานาธิบดี ใครใหญ่กว่ากัน? ซึ่งคำตอบในตัวบทรัฐธรรมนูญจะบอกว่า นายกฯ บริหารประเทศ แต่เอาเข้าจริงๆ ประธานาธิบดีลงมาสั่งนายกฯ และสั่งแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะจริงๆ อำนาจที่ต้องทำ เป็นในนามนายกฯ
ดังนั้น ระบบนี้ นักวิชาการฝรั่งเศสจำนวนมากเขาเลยตั้งชื่อว่า ตอนนี้ฝรั่งเศสเป็น la monarchie républicaine ก็คือ เป็น monarchy ที่เป็น republic เป็นระบบกษัตริย์แบบสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีคล้ายๆ กับกษัตริย์เลย เพียงแต่ว่าคุณมาจากการเลือกตั้ง แต่คุณใช้อำนาจหลายอย่างโดยไม่ต้องรับผิดชอบ
ผมคิดว่า วันนี้มันมาถึงช่วงหัวต่อหัวเลี้ยวแล้ว ก็มีคนเรียกร้องเยอะว่า เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐที่ 6 เถอะ แล้วกลับมาเป็นระบบรัฐสภา เหมือนเยอรมนี เหมือนอิตาลี เหมือนสเปน เหมือนอังกฤษ
แต่ก็นั่นแหละ ยังมีอุปสรรคอยู่ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสก็แก้ยากมาก
คิดว่าระบบเลือกตั้งฝรั่งเศสเองก็ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง?
คนก็เริ่มถามว่า ระบบเลือกตั้ง 2 รอบ เสียงข้างมากเด็ดขาด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของฝรั่งเศสเลยนะ ถึงเวลาเปลี่ยนแล้วหรือยัง ถ้าเราดูสถิติการเลือกตั้ง พรรคที่เรียกร้องอยากเปลี่ยนมากๆ เลย คือพรรคอะไรรู้ไหม? ขวาจัด และซ้ายจัด ซ้ายแบบลาฟร็องแซ็งซูมีซ เขาอยากให้ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (mixed-member proportional system – MMP) แบบเยอรมนี คือทุกคะแนนมีความหมาย ทุกคะแนนทอนเป็นจำนวนที่นั่งในสภาฯ ได้หมด เขาอยากใช้แบบนี้
เพราะอะไร? เพราะถ้าใช้แบบนี้ เขาจะได้ สส. เป็นกอบเป็นกำ คุณลองคิดดูสิ ถ้าใช้ระบบนี้ 33% ของ ราซอมเบลอมองต์ นาซิโอนัล มันเท่าไหร่ล่ะ โอ้โห เยอะมาก รับรอง อีกนิดเดียวได้บริหารประเทศแล้ว แต่พอเป็นระบบเลือกตั้งแบบนี้ จำนวนที่นั่งมันก็ไม่สะท้อนกับเสียงที่เขาได้รับในการโหวต
แต่เชื่อผมไหมล่ะว่า ไม่มีทางที่ฝรั่งเศสจะยอมเปลี่ยน เพราะรู้ว่าเปลี่ยนเมื่อไหร่ ขวาจัดจะขึ้น และซ้ายของลาฟร็องแซ็งซูมีซจะขึ้น มันก็เลยเป็นแบบนี้ เป็นระบบเลือกตั้งที่ใช้ระบบเสียงข้างมาก 2 รอบ และจำนวน สส. ในสภาฯ ไม่สะท้อนความเป็นจริงกับจำนวนป็อปปูลาร์โหวต
ถ้าพูดถึงไทยเอง ก็ควรเปลี่ยนระบบเลือกตั้งที่มีปัญหา ไม่สะท้อนเจตจำนงด้วยไหม
ผมเป็นคนที่สนับสนุนระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนีมาโดยตลอด เราเรียกว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMP) ทุกคะแนนมันมีความหมาย และมันก็มี สส. เขต กับ สส. ปาร์ตี้ลิสต์ ก็คือ เขาจะให้เลือกในเขตตัวเองเสร็จก่อน แล้วก็มารวมทั้งประเทศ พอรวมทั้งประเทศเสร็จปุ๊บ สส. เขตของพรรคนี้ได้เท่าไหร่ หักออก ไปใส่ปาร์ตี้ลิสต์ ก็ให้พวกปาร์ตี้ลิสต์มา
แบบนี้มันหมายความว่า พรรคพรรคหนึ่งได้ 30% ก็รู้แล้ว ถ้ามี 100 คน ก็ได้ 30 คน พรรคพรรคหนึ่งได้ 50% ก็รู้แล้ว พรรคนี้ได้ 50 คน จาก 100 คน พูดง่ายๆ จำนวนคะแนนเสียงที่ลงเลือกตั้ง มันสะท้อนออกมาเป็นที่นั่งเลือกตั้งได้ใกล้ชิดที่สุด
ของประเทศไทย ผมเชียร์ให้ทำแบบนี้ ทำไมผมถึงเชื่อเช่นนั้น โดยไม่กังวลว่าจะเกิดปรากฏการณ์แบบที่ฝรั่งเศสกลัวว่า พอเป็นระบบสัดส่วนแล้วจะทำให้พรรคขวาจัดขึ้น คือผมเชื่อว่า เฉดการเมืองในประเทศไทยไม่ได้สุดขั้ว (extreme) ขนาดนั้น ถ้าคุณใช้ระบบสัดส่วนขึ้นมาจริงๆ มันจะสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้ และมันก็จะช่วยทำให้อิทธิพลของบ้านใหญ่ประจำจังหวัดลดลงทันที
จากมุมมองของไทย เรามองการเมืองฝรั่งเศสได้อย่างไร
ผมมองแบบนี้ ผมมักจะไม่ชอบเปรียบเทียบประเภทว่า บ้านเขาเจริญ บ้านเราไม่ดี บ้านเขาเป็นประชาธิปไตย บ้านเรายังเป็นเผด็จการซ่อนรูป ซึ่งผมว่าไม่จริง
ผมเชื่อว่า รัฐแต่ละรัฐมีความเป็นอสูรกายอยู่ เมื่อไหร่ก็ตาม มันไปถูกกระทบกระทั่งเข้ากล่องดวงใจ อสูรกายตัวนี้จะปรากฏโฉมออกมา
ดูประเทศฝรั่งเศสสิครับ พูดกันใหญ่โตว่า สิทธิมนุษยชน แม่แบบของประชาธิปไตย ดูเวลาเขาสลายการชุมนุมสิ โหดมากนะครับ ยิงตาบอดหลายคนนะ การชุมนุมของ ชีเลท์ โชน (gilets jaunes) หรือเสื้อกั๊กเหลือง โดนสลายหนักมาก แล้วก็อะไรอีกครับ เวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ไม่มีระบบการตรวจสอบ ต่างอะไรกับเวลาประเทศไทยทำ
ดังนั้น เวลามองต่างประเทศ มองโลกตะวันตก ผมอยากให้สังคมไทยเอาแว่นสายตา มายาคติอันนี้ออกไป เราอย่าไปคิดว่าโลกตะวันตกมันเจ๋ง มันดี มันเป็นแม่แบบ มันตะวันตก (westernized) มันโมเดิร์น ส่วนของเรา มันไม่เจริญ ไม่พัฒนา ผมก็ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยพัฒนากว่าเขาเรื่องประชาธิปไตย แต่ผมว่าทุกประเทศเหมือนกันหมด ตอนนี้ มันเป็นวิกฤตการณ์ของประชาธิปไตย เป็นวิกฤตการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชน ทุกประเทศเป็นอย่างนี้หมด มากน้อยต่างกัน ดังนั้น เราอย่าไปคิดว่า โอ้โห ของเขาดีเลิศ
แต่ถ้าสรุปบทเรียนจากการเมืองฝรั่งเศส ประเทศไทยเรียนรู้อะไรได้บ้าง
ผมคิดว่า ไม่มีระบบการเลือกตั้งไหนดีที่สุดหรอก และไม่มีระบบการเมืองไหนที่ดีที่สุด มันก็ต้องทดลองใช้ แล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ คืออย่างนี้ คุณออกแบบระบบการเลือกตั้งมา นักการเมืองเขามีวิธีปรับเข้ากับระบบการเลือกตั้งนั้นๆ อยู่แล้ว อย่างเช่น พอระบบการเลือกตั้งเป็นแบบเสียงข้างมาก 2 รอบ นักการเมืองเขาก็ปรับพฤติกรรมว่าจะทำยังไงให้ชนะ ก็จับกลุ่มกัน แท็กทีมกัน บางทีก็เทคะแนนให้กันและกันแบบนี้ เพื่อบล็อคอีกพรรคหนึ่ง
ผมยกตัวอย่าง สมมติใช้ระบบเสียงข้างมาก 2 รอบในประเทศไทย ผมว่าก้าวไกลโดนบล็อคหมด ถูกไหม น่าจะโดนบล็อคหลายเขตด้วย แต่ถ้าใช้ระบบสัดส่วนเหมือนเยอรมนี ก้าวไกลจะมีคะแนนเยอะกว่านี้อีก รวมทั้งรวมไทยสร้างชาติด้วย ที่สนับสนุนคุณประยุทธ์ครั้งที่แล้ว
เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า การออกแบบระบบการเลือกตั้งสะท้อนถึงการกำหนดได้เลยว่าใครจะชนะเลือกตั้ง อย่างนี้เป็นต้น ถามว่า ระบบไหนเพอร์เฟ็กต์ สมบูรณ์ที่สุด ผมว่า มันอยู่ที่เจตจำนง คุณต้องการออกแบบโครงสร้างในสภาฯ อย่างไร ออกแบบโครงสร้างรัฐบาลอย่างไร อย่างฝรั่งเศส ยังไงก็ตามเขาก็คงไม่เปลี่ยน เพราะเขารู้ว่า ถ้าใช้ระบบสัดส่วนเมื่อไหร่ ขวาจัดมาแน่ มันก็จะอยู่กันอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
อีกข้อหนึ่ง บทเรียนที่ผมคิดว่าอาจจะสื่อสารไปถึงคนที่เริ่มสนใจการเมืองการเลือกตั้ง ครั้งที่แล้วผมเห็นมีผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลจำนวนมากเลยรู้สึกเจ็บแค้นว่าทำไมได้ 151 ที่นั่ง ได้ 14.4 ล้านเสียงแล้ว ไม่ได้ตั้งรัฐบาล ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ระบบรัฐสภามันก็เป็นแบบนี้แหละครับ พรรคอันดับที่ 1 อาจจะไม่ได้ตั้งรัฐบาลก็ได้ ถ้ารวมเสียงไม่ได้ แต่ของเรามันซับซ้อนกว่านั้น เพราะมี สว. รอบที่แล้วด้วย 250 คน
แต่ครั้งหน้า ปี 2570 ผมว่าก็จะมีปรากฏการณ์แบบนี้อีก พรรคอันดับที่ 1 อาจจะตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็ได้ ถ้าอันดับที่ 2-10 เขาผนึกกำลังกัน มันก็คล้ายๆ กับที่ นูโว ฟรอนต์ ป็อปปูแลร์ ของฝรั่งเศสกำลังเจออยู่ ได้ที่ 1 แต่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะขวาไม่ยอมยกให้ แต่ในขณะเดียวกัน เผลอๆ ขวานี่แหละจะขึ้นมาเป็นนายกฯ แล้วเดี๋ยวไปดึงบางส่วนของซ้ายมาสนับสนุนตัวเอง
ดังนั้น ถ้าต้องการให้เป็นรัฐบาลจริงๆ มันก็เหลือทางเดียว – ต้องเลือกให้เกินครึ่งสภาฯ เกิน 250 เสียง
อาจารย์กล่าวถึงพันธมิตรของฝ่ายซ้ายฝรั่งเศสที่จับมือกัน ฝ่ายซ้ายไทยจะทำแบบนั้นได้ไหม
อย่างแรกก่อน ระบบกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ ถ้าลองไปทำ กกต. เล่นแน่นอน ที่ผ่านมามีความพยายามทำ แต่ในลักษณะที่แยกกันเป็นคนละพรรค แต่อาจจะใช้ออฟฟิศบัญชาการใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่างเช่น ตอนเพื่อไทยกับไทยรักษาชาติ แต่ไทยรักษาชาติถูกยุบเสียก่อน ดังนั้น ประเทศไทยมันยาก หนึ่ง ระบบกฎหมายไม่อนุญาต
สอง ผมเชื่อว่า ในวัฒนธรรมการเมืองการเลือกตั้งของไทย ไม่มีใครยอมใคร ไม่มีใครยอมเป็นผู้เสียสละในการไม่ลงเลือกตั้ง จากประสบการณ์ที่ผมเคยทำพรรคอนาคตใหม่มา ผมก็ทราบเลยว่า คนอยากลงเลือกตั้งเยอะจริงๆ แม้กระทั่งลงแล้วแพ้ก็ยังอยากลง
สมมติพรรค ก. ตกลงกับพรรค ข. บอกว่า อีสานโซนนี้ให้ฉัน ข. ไม่ต้องส่ง พรรค ข. บอกว่า ภาคกลางโซนนี้ให้ฉัน ก. ไม่ต้องส่ง ถามว่า ผู้สมัครของพรรค ก. ในโซนหนึ่งที่ไม่ถูกส่งลง กับพรรค ข. ในอีกโซนหนึ่งที่ไม่ถูกส่งลง เขายอมไหม ไม่ยอม พอไม่ยอมแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เขาก็จะไปหาพรรคใหม่สังกัด ยังไงเขาก็ต้องลง เพราะนักการเมืองไทยคิดว่า การลงเลือกตั้งทุกครั้งสำคัญมาก อย่างน้อยแพ้ก็ไม่เป็นไร ชื่อมันติด ชื่อมันอยู่กับชาวบ้าน ถือว่าได้เจอชาวบ้าน ได้ทำอะไรตลอดเวลา
ผมเชื่อว่า การจับมือสร้างพันธมิตรแบบที่ฝรั่งเศสทำเกิดขึ้นยากในประเทศไทย
อีกข้อหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่มันแตกต่างกัน และเป็นความคิดที่ผมคิดว่าประเทศไทยน่านำมาใช้ คือ ฝรั่งเศสและหลากหลายประเทศไม่ได้บังคับสังกัดพรรคการเมือง แต่ประเทศไทยบังคับสังกัดพรรค ด้วยเจตนารมณ์ที่ว่า กลัว สส. ขายตัว เหมือนสมัยหนึ่ง ในช่วงหลัง 2517 ลงเลือกตั้งโดยไม่ต้องสังกัดพรรค สุดท้ายคนที่ไม่สังกัดพรรคโดนซื้อหมด แต่ในความเป็นจริง ต่อให้สังกัดพรรค ก็ยังโดนซื้อได้อยู่ดีในยุคปัจจุบันนี้
แต่ถ้าบอกว่าไม่ต้องสังกัดพรรค ผมว่าแต่ละคนบางทีมีความเป็นอิสระ บางทีมีลักษณะที่ว่า มีคะแนนนิยมในพื้นที่ของตัวเอง อยากลงคนเดียวโดยไม่ต้องมีพรรคก็ชนะ แบบนี้เป็นต้น มันควรเปิดโอกาส
ประการถัดไป ที่ผมคิดว่า เป็นความคิดที่น่าสนใจมาหยิบยืม คือ เขามีพรรคลงเลือกตั้ง นั่นก็เรื่องหนึ่งนะ แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในสภาฯ เขาจะให้จับกลุ่ม เรียกว่า กรุ๊ป ปาเลอมองแตร์ (groupe parlementaire) คือกลุ่มในรัฐสภา แต่ละคนก็มาจับกลุ่มกัน เพื่อจะไปเอาโควตากรรมาธิการ แล้วก็ทำงานร่วมกันในสภาฯ
บางอาจจะมาเดี่ยวๆ สมมติมีพรรคหนึ่งได้ สส. แค่ 2 คน ถ้าคุณสังกัดพรรคอย่างนี้ คุณก็ไม่มีทางทำอะไรได้เลย เขาก็ขอมารวมกลุ่ม กรุ๊ป ปาเลอมองแตร์ กับพรรคอื่น ผมคิดว่า ระบบนี้เป็นระบบที่น่าสนใจ คุณลงเลือกตั้ง คุณสังกัดพรรคหนึ่ง แต่ถึงเวลาเข้ามาในสภาฯ มันขยายการจับกลุ่มออกไปได้ พูดง่ายๆ มันคือการสร้างพันธมิตรกันในสภาฯ เพื่อทำงานในสภาฯ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ประเทศฝรั่งเศสเขาใช้กัน
ช่วงนี้โลกกำลังให้ความสนใจกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส – โอลิมปิกกับการเมืองเกี่ยวข้องกันอย่างไร
เวลาเขาตัดสินใจเป็นเจ้าภาพในมหกรรมกีฬาใหญ่ๆ เขาก็คิดว่าจะมีเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องท่องเที่ยว เรื่องโฆษณาเมืองของตัวเองออกไป แต่นั่นมันเป็นผลลัพธ์ปลายทาง
แต่ระหว่างทางกว่าจะไปถึงวันนั้น ผมว่า มันมีหยาดเหงื่อแรงงานของผู้คนจำนวนมาก มีงบประมาณซึ่งเก็บมาจากภาษีประชาชนจำนวนมาก ไม่นับว่ามีคนที่ถูกเขี่ยออกจำนวนมาก เพื่อให้ไปสู่เส้นชัยตรงนั้น
ผมยกตัวอย่างเช่น คุณต้องการแสดงให้เห็นว่าเมืองของคุณดี เมืองของคุณทันสมัย เมืองของคุณมีแฟชั่นล้ำยุค และมีนักท่องเที่ยวมาดูกีฬาอะไรต่างๆ
แต่เบื้องหลังการถ่ายทำ – ใช้แรงงานกี่คน
เบื้องหลังการถ่ายทำ – คุณต้องไล่ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ ออกไปอยู่ข้างนอกกี่คน
เบื้องหลังการถ่ายทำ – คุณขึ้นค่าขนส่งมวลชน แพงมหาศาล
นี่ผมเลยตัดสินใจกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ในช่วงนี้ เพราะหนึ่ง ช่วงนี้ฝรั่งเศสร้อน สอง คนเยอะ สาม ค่าครองชีพแพงขึ้นถึง 2-3 เท่า
ขนส่งมวลชนในปารีสขึ้นถึง 2 เท่า วิธีการแบบนี้ก็คือวิธีคิดแบบลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ถึงเวลามันต้องเอา เก็บเงินกันเต็มที่เลย โดยอ้างว่าอะไร ก็ฉันต้องเก็บสิ เพราะฉันเอางบประมาณมาสร้างรถไฟฟ้าใหม่ ฉันมาทำขนส่งมวลชนให้มันสวยงามขึ้น ดีขึ้น ครบวงจรมากขึ้น ก็ต้องใช้เงินเต็มไปหมด
ผมกำลังบอกว่า ภาพบอกจัดมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่ สวย อลังการ แต่ข้างหลังการถ่ายทำ มันมีคนที่รับภาระตรงนี้เยอะอยู่
สมมติเวลาเมืองเมืองหนึ่งไปตัดสินใจเป็นเจ้าภาพ ผมไม่รู้เขาถามคนในเมืองหรือเปล่าว่าเขาอยากเป็นหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจนะ ลองไปถามคนปารีสทั้งหมด เขาอยากเป็นไหม มันคล้ายๆ บาร์เซโลนา ที่ตอนนี้คนบาร์เซโลนามาประท้วง บอกว่าไม่อยากให้มีนักท่องเที่ยวเยอะ เพราะมาแล้วค่าครองชีพแพง ค่าห้อง ค่าเช่าบ้าน แพงหมด อาหารการกิน แพงหมด
ผมเห็นมหกรรมกีฬาจัดที่ไหนก็จะเป็นแบบนี้ทุกครั้ง ไม่ว่าจะฟุตบอลโลกที่กาตาร์ เราก็จะเห็นว่า มีแรงงานจำนวนมากที่ถูกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรืออย่างเอเธนส์ ประเทศกรีซ ที่ทำโอลิมปิกครั้งปี 2004 สุดท้ายหนี้มหาศาล เป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของกรีซเหมือนกัน
แน่นอน ฝ่ายที่สนับสนุนให้จัด เขาก็เชื่อว่า นี่แหละ ซอฟต์พาวเวอร์ นี่แหละ กระตุ้นเศรษฐกิจ นี่แหละ จะทำให้คนเห็นเมืองของเรา มาท่องมาเที่ยว แต่เบื้องหลังการถ่ายทำ มีคนสูญเสีย คนได้รับผลกระทบจำนวนมาก
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ มันทำให้การเมืองฝรั่งเศสน่าสนใจหรือน่าติดตามอย่างไร
ผมคิดว่า การเมืองทุกประเทศ มันสนุกทั้งนั้นแหละ รวมทั้งการเมืองในระดับโลก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย มันน่าสนุกตรงที่ว่า
มันเป็นการปะทะกันระหว่างชุดความคิดความเชื่อ และชุดความคิดความเชื่อไหนจะได้ปกครอง (dominate)
มันเป็นการปะทะกันระหว่างทฤษฎีและปฏิบัติ
มันเป็นการปะทะกันระหว่างโลกในอุดมคติกับโลกในทางความเป็นจริง
มันเป็นการปะทะกันระหว่างวิธีการเข้าสู่อำนาจ จะเข้าสู่ด้วยวิธีแบบซิกแซก หรือเข้าสู่อำนาจแบบตรงไปตรงมา
ความขัดแย้งกันแบบนี้ก็น่าติดตามทุกประเทศ เพียงแต่ว่า ณ เวลานี้ เราอาจจะรู้สึกว่า มันเป็นทศวรรษที่ทิศทางประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนลดน้อยถอยลง ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย หรือในอาเซียน มันเป็นแนวโน้มแบบนี้กันหมดทั่วโลกเลย ในขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มจะเกิดสงครามขึ้นอีกหลายๆ ที่ ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจ
ในความเห็นผม ผมเชื่อความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในระดับประเทศหรือระดับนานาชาติ มันควรมีชุดอุดมการณ์ที่แข่งขันกันอย่างสูสีกัน อย่างน้อยก็ต้องมีสัก 2-3 ความคิดแข่งกัน ลักษณะความคิดเดียวครอบงำทั้งสังคม ทั้งโลก ผมว่าอันนี้จะเกิดผลร้ายตามมาในระยะถัดไป