ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 กำลังรุนแรงต่อเนื่อง เริ่มมีการใช้ระบบ Home Isolation กับ Community Isolation และศูนย์พักคอย ซึ่งมีการแจกยาฟาวิพิราเวียร์ หนึ่งในยาที่ใช้ในการรักษาโรค COVID-19
แต่ที่ผ่านมา ก็มีปัญหาทั้งเรื่องยาที่ส่งไปล้าช้า ส่งไปไม่ทัน รวมถึงคนที่ได้รับยากินอย่างไม่ถูกวิธีด้วย ทั้งจากสถานการณ์ที่ผ่านมาช่วง 3 เดือนของการแพร่ระบาดในไทย ไทยต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มขึ้น 20 เท่า
ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาอะไร มีวิธีใช้ยังไงบ้าง มีอาการ และผลข้างเคียงยังไง รวมไปถึงว่าจะมีข้อระมัดระวังอะไรบ้าง The MATTER สรุปข้อมูลเกี่ยวกับยานี้มาแล้ว
ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)
เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ แต่เป็นยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์กว้าง จึงอยู่ในสูตรยารักษาผู้ป่วย COVID-19 ของไทยด้วย โดยเภสัชกรหญิงนันทพร เล็กพิทยา และเภสัชกรภิฏฐา สุรพัฒน์ งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำข้อมูลสรุปถึงยานี้ไว้ว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ออกฤทธิ์ 2 แบบ คือ
- ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส คือยับยั้งเอนไซม์ที่มีไวรัส
- ทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ จนภูมิต้านทานในร่างกายมนุษย์สามารถเข้าไปกำจัดไวรัสจนหมด หรือเหลือปริมาณน้อย
วิธีการใช้ (*ควรใช้ภายใต้ความดูแลของแพทย์)
สำหรับวิธีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ถือว่าเป็นยาอันตราย ดังนั้นควรใช้ภายใต้ความดูแล และดุลยพินิจของแพทย์ โดยสำหรัผู้ใหญ่ ควรรับประทานครั้งละ 9 เม็ดทุก 12 ชั่วโมงในวันแรก และลดเหลือครั้งละ 4 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ
ขณะที่ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม ต้องกินในจำนวนที่มากขึ้นคือ วันแรกจะรับประทานครั้งละ 12 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง และลดเหลือครั้งละ 5 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ ส่วนเด็กนั้น ขนาดของยาควรจะคำนวณตามน้ำหนักตัว แต่ล่าสุดนอกจากยาเม็ดแล้ว ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์คิดค้นสูตรยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับ เด็ก, ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป และผู้ที่ให้อาหารทางสาย โดยรับประทานวันละ 2 ครั้ง ห่างกันทุก 12 ชั่วโมง
*ถึงอย่างนั้นผู้ป่วยควรรับประทานยาตามวัน และเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ระยะเวลาในการรักษาอยู่ที่ 5-10 วัน
อาการข้างเคียง
สำหรับผลข้างเคียงนั้น มีหลายอาการ เช่น
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ท้องเสีย
- อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ หากรับประทานช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก
- ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ เมื่อทานร่วมกับยาบางชนิต
- อาจทำให้ตับอักเสบ จึงไม่ควรทานคู่กับยาบางชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร หรือยาที่มีผลต่อตับด้วย
ข้อควรระวัง
ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาอันตราย ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ ทั้งองค์การอาหารและยา (อ.ย.) เองก็ออกมาประกาศว่า ประชาชนอย่าซื้อยาฟาวิพิราเวียร์กินเอง เสี่ยงอันตราย รวมถึงจะเจอยาปลอมจากการซื้อออนไลน์ได้ด้วย รวมถึง ผศ. นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล จากร.พ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาด ก็ชี้แจงเช่นกันว่า ยานี้จำเป็นต้องใช้อย่างสมเหตุสมผล เพราะหากนำมาใช้เกินจำเป็นจะส่งเสริมการดื้อยาของเชื้อไวรัส และทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลงรวม ทั้งยังควรใช้กับผู้ที่มีอาการ และไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่ยังไม่มีอาการ หรือใช้เพื่อป้องกันโรคด้วย
สถานการณ์ยาฟาวิพิราเวียร์เดือนสิงหาคม 2564
เนื่องด้วยสถานการณ์ที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ความต้องการยานี้ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยนอกจากรอบ 3 เดือน ที่มีการใช้ยาเพิ่มขึ้น 20 เท่าแล้ว รพ.บางแห่ง เช่น รพ.สนามธรรมศาสตร์ก็ออกมาชี้ถึงความกังวลว่ายาจะขาดแคลน จนพบปัญหาว่า ผู้ป่วยใน Home Isolation หรือ Community Isolation ไม่ได้ยาครบโดส
ทั้งจากรายงานของสำนักข่าวประชาชาตินั้นยังระบุว่า “เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ยอดรวมการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ของทุกเขตสุขภาพ (1-12) ตัวเลขอยู่ที่ 693,696 เม็ด ทั้งนี้เป็นยอดที่ไม่นับรวมยอดของกรุงเทพมหานคร ที่คาดว่าตัวเลขน่าจะอยู่วันละประมาณ 1 แสนเม็ด ขณะที่ตัวเลขยอดคงเหลือ หรือสต๊อกยาที่แต่ละเขตเหลืออยู่มีรวมทั้งสิ้น 2,230,822 เม็ด” ซึ่งหากมีควาต้องการใช้ในจำนวนนี้ อาจทำให้ยาที่มาอยู่ไม่เพียงพอ
ขณะที่ล่าสุด ที่ประชุม ศปก.ศบค. โดย พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกฯ ศบค. ได้มีการยืนยันเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ ว่าสต๊อกยาโดยองค์การเภสัชกรรมมีการนำเข้าอย่างเพียงพอ และในวันที่ 7 ส.ค.จะเข้ามาอีก 2.5 ล้านแคปซูล แต่ก็น้อมรับข้อร้องเรียนของผู้ป่วย ญาติ สถานบริการ ขนาดเล็กที่อาจจะได้รับยาไม่ทันท่วงทีซึ่งเกิดจากการกระจาย โดยตอนนี้ทีมบริหารจัดการพยายามเร่งแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด
รวมถึงเอกชน 3 สถาบันเตรียมหารือนายกรัฐมนตรี ชง 3 ข้อเสนอ ปลดล็อกเอกชน ให้ อ.ย.อนุมัติให้เอกชนผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เองได้ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนที่จะเกิดขึ้นด้วย
อ้างอิงจาก