“นักเขียนเป็นอาชีพที่โดดเดี่ยว มันเดียวดาย มันเศร้า มันอะไรก็ไม่รู้”
“มันน่าเสียดายนะ แต่ก็หลับหูหลับตาทำไป”
“ทำงานออกมาไม่ดี บทจะเป็นจำเลยก่อน”
“คนเขาไม่ค่อยได้มารู้หรอกว่า เบื้องหลังคนทำงานเขียนบท มันทั้งเงินน้อยมากๆ ถ้าเทียบกับสัดส่วนของต้นทุน และเวลาการทำงานที่น้อยมากๆ ด้วย”
คุณคิดว่าชีวิตของนักเขียนบทในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง? เมื่อเร็วๆ นี้ประเด็นเรื่องชีวิตการทำงาน และการให้เครดิตแก่นักเขียนบทไทย ได้กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันในวงกว้าง หนึ่งในประเด็นที่น่าตั้งคำถามต่อก็คือ ถ้านอกเหนือจากข้อพิพาทที่เป็นอยู่แล้ว สถานการณ์ของอาชีพนักเขียนบทในไทย ตอนนี้มันอยู่ในจุดไหนแล้ว?
ยิ่งถ้ามองในแง่มุมสิทธิแรงงาน ค่าตอบแทน รวมถึงการได้อยู่ในสภาพแวดล้อมของการทำงานที่ถูกต้องแล้ว ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ในไทยยังโอเคกันอยู่รึเปล่า? ซึ่งช่วงที่ผ่านมาหลายคนอาจเห็นภาพนักเขียนบท ออกมาปกป้องอาชีพของตัวเองจากความไม่เป็นธรรม จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า เส้นทางอาชีพของ ‘นักเขียนบท’ ในประเทศไทยต้องเจอกับอะไรบ้าง? และมีปัญหาอะไรที่พวกเขาต้องการจะส่งเสียงออกมาบ้าง?
ประเทศนี้อยู่ยากสำหรับคนที่มีความฝันเป็นนักเขียนบท
“พี่ก็รู้สึกเสียใจ เวลาเพื่อนพี่หลายคนที่เริ่มต้นมาพร้อมกัน และมีไฟอยากเป็นคนเขียนบท ได้ล้มหายตายจากไปทำอย่างอื่น” พลอย–ชนิกานต์ แตงน้อย คนเขียนบทละคร ซีรีส์ ผู้ทำสิ่งนี้มามากกว่า 10 ปี เล่าว่านักเขียนบทเป็นอาชีพที่ ‘อยู่ยาก’ ทำให้ที่ผ่านมาเห็นเพื่อนร่วมความฝันหลายคนพากันถอนตัวไปตามๆ กัน
“เขามีฝันนะ แต่ว่าประเทศนี้มันอาจอยู่ยากสำหรับคนที่มีความฝัน”
ในมุมมองของเธอ เหตุผลหลักๆ ก็คงหนีไม่พ้น ‘ค่าจ้างเขียนบท’ โดยเธออ้างอิงคำพูดของนักเขียนบทคนหนึ่งว่า “คนเขียนบทอาจจะได้เงินน้อยกว่าพนักงานเสิร์ฟอีก” ซึ่งชนิกานต์ยกตัวอย่างว่า การรับงานหนึ่งครั้ง หรือในหนึ่งโปรเจกต์อาจมีการตกลงเงินเท่านี้บาท แต่นักเขียนต้องใช้เวลาอยู่กับงานๆ เดียวหลายเดือน ซึ่งเมื่อหารค่าจ้างกับจำนวนเดือนแล้ว “ได้เงินน้อยมาก”
ชนิกานต์บอกว่าอีกหนึ่งอุปสรรคในอาชีพคือ ‘เวลาที่จำกัด’ โดยในโปรดักชั่น หรือเวลาทำหนังทำละคร การเขียนบทจะเป็นขั้นตอนแรกๆ ซึ่งเหมือนกับการ “สร้างวิมานมาจากอากาศ” แต่กระบวนการทางความคิดเหล่านั้น ไม่ได้แสดงออกเป็นรูปธรรมชัดเจน ทำให้หลายครั้ง คนไม่ค่อยเห็นคุณค่าของแรงและทรัพยากร ที่นักเขียนใส่ลงไปในผลงาน
“นี่คือความย้อนแย้งอย่างหนึ่งของวงการด้วย คุณพูดว่า ให้ความสำคัญกับเรื่องบทมาก แต่คุณไม่พร้อมที่จะทุ่มเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อให้นักเขียนพัฒนาบท แล้วในขณะเดียวกัน คุณก็เร่งรัดบทมากๆ” เธอมั่นใจว่าคนเขียนบททุกคนเก่ง ถ้าเขามีเวลาและเงินมากพอสำหรับการสร้างสรรค์ผลงาน
ด้วยปัญหาเช่นนี้ ทำเธอรู้สึกว่า “นักเขียนเป็นอาชีพที่โดดเดี่ยว มันเดียวดาย มันเศร้า”
“ไม่อยากมีปัญหาแล้ว รีบรับเงินแล้วก็รีบไปทำงานอื่น”
นอกจากนี้อีกสิ่งที่คนเขียนบทฟรีแลนซ์ต้องเจอตลอดเวลาคือ การทำงานกับผู้ว่าจ้าง โดยธีรยา (นามสมมติ) อีกหนึ่งนักเขียนบท ครีเอทีฟ และผู้กำกับ ผู้อยู่ในวงการนี้มาร่วม 5 ปี มองว่านักเขียนเป็นอาชีพที่ “ไม่ค่อยมีอำนาจต่อรอง” ซึ่งเธอเล่าประสบการณ์ฟรีแลนซ์ของตัวเองว่า หากเกิดปัญหาหรือความขัดแย้งในการทำงานขึ้น นักเขียนจะไม่สามารถไปต่อสู้ หรือพยายามฟ้องร้องอะไรกับนายทุน เพราะจะกลายเป็นเรื่องไม่คุ้มค่า และเสียเวลาแน่นอน
“ยังไงเขาก็ใหญ่กว่าเราอยู่แล้ว แล้วเราก็เป็นแค่บุคคลที่ล่องลอย”
ธีรยาเล่าว่าเคยเจอกรณีที่ได้รับงานจากนายทุนต่างประเทศ โดยมีคนไทยเป็นตัวกลางดีลงาน ซึ่งเธอก็ทำบทและดีลนักแสดง เตรียมไว้หมดแล้วทุกอย่าง แต่อยู่ดีๆ ฝ่ายบริหารของบริษัทนั้นก็หาย ไม่สามารถมาเซ็นงบซีรีส์ในไทยได้ เนื่องจากปัญหาภายในบริษัท จนสุดท้ายงานนั้นก็ไม่เกิดขึ้น ส่วนในด้านของคนเขียนบทก็ไม่อยากมีปัญหา จึงรีบรับเงินให้เรื่องจบ แล้วรีบไปทำงานอื่นเพื่อหาเงิน
เมื่อศิลปินต้องทำงานตามทุน
เธอบอกว่าบทละครก็คืองานศิลปะประเภทหนึ่ง และ “คนเขียนบทก็คือศิลปินท่านหนึ่ง” แต่เมื่อศิลปินต้องมาทำงานที่ commercial มากๆ คนเขียนบทหลายคนจึงรู้สึกทุกข์ทรมาน ที่ไม่ได้สร้างสรรค์ผลงานตามใจต้องการ
ธีรยายกตัวอย่างประสบการณ์การเขียนบทซีรีส์วาย ที่เธอเขียนออกมาตามสไตล์ที่ตัวเองถนัด รวมถึงพยายามเล่ามุมอื่นๆ แต่ผู้กำกับ หรือโปรดิวเซอร์ก็บอกกับเธอว่า “อะไรที่เธอคิดว่ามันดี ให้ลบล้างใหม่หมดเลย” เพราะผู้ชม “จะบอกว่าบทเธอดี บทเธอได้รางวัล ก็ต่อเมื่อคู่พระนางอยู่ด้วยกันเยอะๆ” แต่เมื่อไหร่ที่บทเธอทำร้ายจิตใจตัวละคร เช่น ให้ตัวพระนางอยู่ด้วยกันน้อยๆ มีเส้นดราม่าเยอะ ไม่สมหวัง หรือมีอุปสรรคเยอะเกิน เธอจะไม่ได้รับคำชม และโดนบอกว่าบทเธอแย่
“มันน่าเสียดายนะ แต่ก็หลับหูหลับตาทำไป” ธีรยาบอกว่าเมื่อเจอแบบนี้แล้ว ตัวเองก็พยายามหาโอกาสอื่นที่มีคนชื่นชอบในสไตล์งานของเธอ เพราะสุดท้ายแล้ว นักเขียนก็ต้องฟังผู้บริโภค “แล้วเราก็ต้องตามใจเขาอะ เพราะเขา spend (จ่าย) เงินให้จริงๆ”
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากคนเขียนบทหลายคนจะละทิ้งความฝัน และหันไปไล่ตามเส้นทางอาชีพอื่น เมื่อเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ
“ภาพตัวเองในอนาคตยังอยู่ในความไม่แน่นอนว่ายังเขียนบทอยู่รึเปล่า” ธีรยา บอก
ราคาของการเรียกร้องความเป็นธรรม
“ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนมีราคาเสมอครับ แม้แต่การเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่เพื่อนนักเขียนบทก็มีราคาของมันเช่นกัน” ข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่บนเฟซบุ๊กของ รัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ–นักเขียนบทมากรางวัล ผู้ทำงานแวดวงนี้มากว่า 10 ปี โดยเล่าเหตุการณ์ ‘ประหลาด’ ที่เขาไม่เคยเจอมาก่อนนับตั้งแต่ทำงาน ซึ่งบริษัทแห่งหนึ่งได้ติดต่อขอให้เขาเซ็นสัญญา “ไม่รับเครดิตนักเขียนบท” ในซีรีส์ที่กำลังจะออนแอร์
แม้ว่ารัฐพงศ์ จะไม่ได้ระบุสาเหตุที่อีกฝ่ายติดต่อมาเช่นนั้น แต่เขาเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘ราคาของการเรียกร้องความเป็นธรรม’
เขาเล่าว่า ตัวเองได้เข้าไปช่วยเขียนเรื่องนี้ หลังจากที่ทีมโปรดักชั่นของซีรีส์ มีมุมมองที่แตกต่างจากนักเขียนคนก่อนหน้า โดยมี “เวลาเพียง 2 เดือน ในการทำงานทั้งหมด” ตั้งแต่การดูซีรีส์ต้นฉบับไม่น้อยกว่า 3 รอบ รวมถึงวางโครงสร้างบทใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย และความต้องการของโปรดักชั่น จนถึงเขียนบท “จบทั้งเรื่องด้วยตัวคนเดียว ภายในระยะเวลา 2 เดือน” บวกกับมีงานบทละครที่ซ้อนอยู่อีกเรื่อง ทำให้ในช่วงนั้นเขาต้องเขียนบทไม่ต่ำกว่า 500 หน้าต่อเดือน
“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตัดขาดการติดต่อกับทุกคน ไม่ค่อยได้กินและไม่ค่อยได้นอน เพราะอยากเร่งให้งานเสร็จตรงตามกำหนด ที่เขาต้องใช้งานเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อโปรดักชั่น และอยากให้คุณภาพของงานที่เขียนมีคุณภาพสูงสุด”
รัฐพงศ์ระบุบนสเตตัสว่า เมื่อถูกขอให้เซ็นชื่อไม่รับเครดิต เขาก็ยินดีเซ็นให้ พร้อมกล่าวว่า “ถ้าราคาของการเรียกร้องความยุติธรรมจะทำให้ผมเสียเครดิตจนไม่สามารถเป็นนักเขียนบทต่อไปได้ ผมก็จะยอมจ่าย” และ “ต่อให้ต้องไปทำอาชีพอื่น ผมก็จะยังคงยืนยันในความถูกต้อง ดีกว่าที่จะต้องเขียนหรือทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพียงเพื่อจะทำให้นายทุนพึงพอใจ”
เราได้สัมภาษณ์รัฐพงศ์เพิ่มเติม เขาบอกว่าปัญหาเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับค่ายใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะก็เห็นหลายกรณีที่บริษัทขนาดใหญ่มีมาตรฐานการให้เครดิตที่ชัดเจน จึงไม่เกี่ยวกับขนาดของบริษัท แต่เกี่ยวกับจิตสำนึกของคนที่ทำงานในบริษัทนั้นๆ มากกว่า
“ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริษัทใหญ่หรือเล็ก แต่ขึ้นอยู่กับบริษัทที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่มีธรรมาภิบาล” เขากล่าว
จากที่เล่ามาทั้งหมด แม้เส้นทางอาชีพของเหล่านักเขียนบทจะดูมืดมนเสียเหลือเกิน แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็ยังมีกลุ่มนักเขียนที่รวมตัวกัน เพื่อหาทางออกให้ปัญหาต่างๆ ที่เจอ
จากศาลาคนเศร้า สู่สมาคมฯ นักเขียนบท
“มี workshop ที่พัฒนาคนเขียนบทเยอะมาก แต่ก็จะเกิดคำถามว่า คนเขียนบทจะเก่งไปทำไม ในเมื่อทั้งค่าแรงและคุณภาพชีวิตของคนเขียนบท มันชวนท้อแท้ขนาดนี้” ภาส พัฒนกำจร ผู้ที่นอกจากจะเป็นผู้กำกับและนักเขียนบทประสบการณ์มากว่า 18 ปีแล้ว ยังเป็นเลขานุการของ สมาคมวิชาชีพนักเขียนบท อีกด้วย
ภาสมองว่าปัญหาหลักๆ ตอนนี้คือวิชาชีพที่ทำสื่อและภาพยนตร์ ขาดการรวมตัวที่แข็งแรง บวกกับคนที่ทำงานจริงๆ มีอำนาจค่อนข้างน้อย จึงคิดว่าหากมีหลายสมาคมมาอยู่ร่วมกัน อาจจะสามารถสร้างอำนาจต่อรองได้มากขึ้น
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2023 ภาสเล่าว่าจุดเริ่มต้นของสมาคมฯ มาจากการพูดคุยปรับทุกข์ระหว่างเหล่านักเขียน ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาเปรียบเทียบว่าเหมือน ‘ศาลาคนเศร้า’ เพราะแม้ต่างคนจะเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์จากต่างสายงาน แต่กลับพบว่าพวกเขามี pain point หลายอย่างที่ตรงกัน ทำให้เห็นปัญหาของกันและกันมากขึ้น
การพบกันครั้งนั้นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘สมาคมวิชาชีพนักเขียนบท’ ที่แม้ขณะนี้จะยังอยู่ในขั้นตอนการจดทะเบียนสมาคมฯ อย่างถูกต้อง แต่จุดประสงค์ของการรวมตัวกันนี้ คือสร้าง “โอกาสมาพูดถึงปัญหาและหาวิธีแก้ไข ทำให้คุณภาพชีวิตของนักเขียนบทดีขึ้น”
สื่อสารกัน โดยไม่เป็นศัตรูกัน
สำหรับขั้นตอนการก่อตั้งสมาคมฯ เขาเล่าว่า นอกจากจะต้องประสานกับสมาคมต่างๆ ที่อยู่มาก่อน เพื่อชี้แจงจุดยืนและขอบเขตงานที่ไม่ซ้ำกันแล้ว ยังต้องประสานกับนายจ้าง เพื่อแสดงตัวว่าทางสมาคมฯ ไม่ได้เป็นศัตรูกับเหล่านายจ้างเช่นกัน โดยมีการถามถึงความคาดหวังจากสมาคมฯ เพื่อช่วยให้วงการนี้ดีขึ้น
“ถ้าทุกอย่างมัน fair ยังไงก็ win-win ทั้งสองฝ่ายอยู่แล้ว ไม่มีใครต้องโดนด่าหรือเจ็บปวด”
ภาสกล่าวว่า สมาคมฯ อาจทำงานเป็นเหมือนตัวเชื่อมระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง พร้อมทั้งยังต้องใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไปมากๆ เนื่องจากการรับรู้สิทธิแรงงานของประเทศไทยค่อนข้างน้อย
เมื่อถามถึงข้อกฎหมาย เขาบอกว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองนักเขียนบทโดยเฉพาะ เช่นการกำหนดเวลาทำงาน หรือค่าแรงขั้นต่ำ แต่หลักๆ จะอ้างอิงตามกฎหมายการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะมาคุ้มครองนักเขียนบทได้ ก็คือสัญญาที่สามารถใช้บังคับในเชิงกฎหมาย ซึ่งจะเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดในการต่อสู้ และเป็นข้อตกลงขั้นต้นของผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง
นอกจากนี้ หากสมาคมฯ จัดตั้งเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการจ้างทนายประจำสมาคมฯ ที่คอยให้คำปรึกษาทางกฎหมายเบื้องต้น โดยเฉพาะการร่างสัญญาที่ค่อนข้างปลอดภัย และยุติธรรมกับตัวนักเขียน และหากมีกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็สามารถยื่นมาที่สมาคมฯ ได้ โดยทนายและสมาชิกในสมาคมฯ ก็จะรับเรื่อง และดูว่าสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง ทั้งในทางกฎหมายและการแสดงเจตนา เช่น การออกแถลงการณ์
“เวลาทำงานออกมาไม่ดี บทค่อนข้างเป็นจำเลยก่อน แต่เอาเข้าจริง คนไม่ค่อยรู้ว่า เบื้องหลังคนทำงานเขียนบท มันทั้งเงินน้อยมากๆ ถ้าเทียบกับสัดส่วนของต้นทุน และเวลาการทำงานที่น้อยมากๆ ด้วย” ภาสกล่าวว่ามีคนเขียนบทหลายคนที่ท้อและออกจากงาน เนื่องจากเขาอยู่ไม่ได้จริงๆ แต่คนมักคิดว่าการเขียนบทนั้นลงทุนน้อย หรือแค่คิดอะไรก็พิมพ์ไป
แต่ความจริงแล้วการเขียนบทครั้งหนึ่ง นักเขียนต้องลงทุนทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งยังต้องอาศัยความรู้และวิชาที่สะสมมาจากประสบการณ์ที่ประเมินค่าไม่ได้
“ผมรู้สึกว่าบทมันจะดีขึ้นได้ ตัวคนเขียนบทก็ต้องอยู่ได้ก่อนด้วย” เขาปิดท้าย