การแต่งงานอาจไม่ใช่เรื่องของคนสองคนเสมอไป
คนเราจะแต่งงานโดยที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือรักก่อนมาได้จริงหรือ? คำตอบคือ จริง เพราะบนโลกของเรามีสิ่งที่เรียกว่า ‘การคลุมถุงชน’ อยู่ ซึ่งเป็นการแต่งงานที่ถูกจัดแจงจากพ่อแม่หรือผู้อาวุโส โดยคู่สมรสอาจรู้จักหรือไม่รู้จักกันมาก่อนก็ได้ทั้งนั้น รวมถึงตัวบ่าวสาวไม่จำเป็นต้องสมัครใจยินยอม ก็สามารถเกิดงานแต่งงานขึ้นมาได้
การคลุมถุงชน เป็นธรรมเนียมการแต่งงานซึ่งมีมาแต่โบร่ำโบราณในแทบทุกแว้นแคว้นทั่วโลก โดยมักพ่วงมาด้วยเหตุผลเบื้องหลังบางอย่างเสมอ คู่รักในประวัติศาสตร์หลายคู่ที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน ก็ขึ้นชื่อว่ามาจากการคลุมถุงชนด้วยกันทั้งนั้น The MATTER เลยอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเรื่องราวความรักแบบไม่ได้จัดสรรเอง ของบรรดาคู่รักในประวัติศาสตร์เหล่านี้กันเสียหน่อยว่า อะไรทำให้พวกเขาต้องมาเข้าพิธีวิวาห์ด้วยกัน
พระเจ้าเฮนรีที่ 8 กับ แคทเธอรีนแห่งอารากอน
สำหรับแฟนประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษ คงคุ้นกับชื่อของ พระเจ้าเฮนรีที่ 8 (Henry VIII) เพราะเขาคือบุคคลดังและบุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์โลก ที่นอกจากจะสร้างคุณูประการต่อประเทศอังกฤษแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งคนที่ประสบกับปัญหาการแต่งงงานแบบไม่ได้เลือกคู่ครองด้วยตัวเองเช่นกัน
เรื่องราวชีวิตและการอภิเสกสมรสของเฮนรีที่ 8 ถูกจดบันทึกเอาไว้มากมาย เช่น งานของ อลิสัน เวียร์ (Alison Weir) อย่าง ‘The Six Wives of Henry VIII’ บอกเล่าถึงการแต่งงานของทั้งคู่ ว่าจุดเริ่มต้นมาจากการต้องขึ้นครองราชย์ในปี 1509 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 18 พรรษา ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สมควรแก่การมีภรรยาและทายาทสืบราชบัลลังก์ เพราะในเวลานั้น ยังมีรายชื่อผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์พร้อมเข้ามาแทนที่ได้ทุกเมื่อ
ที่ปรึกษาของกษัตริย์เลยต่างแนะนำให้แต่งงานกับ พระนางแคทเธอรีน แห่งอารากอน (Catherine of Aragon) พี่สะใภ้ม่ายผู้เคยแต่งงานกับเจ้าชายอาร์เธอ (พี่ชายของเฮนรีที่ 8 ที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ 1502) แม้การแต่งงานกับภรรยาของผู้เป็นพี่จะไม่ใช่ทางเลือกเหมาะสมเท่าไหร่นัก แต่ด้วยด้วยช่วงเวลาบีบคั้นให้ยุวกษัตริย์ต้องหาคู่ครอง ประกอบกับความต้องการของราชสำนักในการสานสัมพันธ์กับสเปน ทำให้ท้ายสุดแล้วก็ได้เข้าพิธีอภิเสกกับพระนางแคทเธอรีน
อย่างไรก็ตาม ชีวิตภายหลังการแต่งงานของทั้งคู่ ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะถ้าหากมันไม่มีปัญหาใดๆ ตามมา ก็คงไม่ปรากฏชื่อพระเจ้าเฮนรี ที่ 8 กษัตริย์นักรักแห่งราชวงศ์ทิวดอร์แน่นอน โดยเป้าหมายถัดไปจากการแต่งงานคือการมีรัชทายาทสืบบัลลังก์ แต่ถึงอย่างนั้น พระนางแคทเธอรีน กลับไม่สามารถมอบลูกชายให้พระเจ้าเฮนรีได้ มีเพียงบุตรีเพียงคนเดียวที่เหลือรอดมา นี่จึงกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ต้องการหย่ากับพระนางแคทเธอรีน และมองหาสตรีที่จะมาเป็นภรรยาคนใหม่ต่อไป
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับ พระนางมารี อองตัวแน็ต
ข้ามช่องแคบอังกฤษมาที่ดินแดนฝรั่งเศสกันบ้าง กับเรื่องราวเบื้องหลังการอภิเสกสมรสระหว่าง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) กับ พระนางมารี อองตัวแน็ต (Marie Antoinette) 2 บุคคลสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ที่ต้องแต่งงานกันตั้งแต่วัยเยาว์
เรื่องราวการแต่งงานของทั้งคู่ ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการแต่งงานด้วยเหตุผลทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ซึ่งเป็นที่รู้กันผ่านบรรดาสนธิสัญญาระหว่างฝรั่งเศสและออสเตรีย เช่น The First Alliance of Versailles ในปี 1756 และฉบับอื่นๆ ที่แสดงถึงความต้องการในการปรองดองกันเอง โดยการอภิเษกระหว่างโดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส (ตำแหน่งของพระเจ้าหลุยส์ ณ เวลานั้น) กับ มารี อองตัวแน็ต อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสานสัมพันธ์ในครั้งนี้ด้วย
การอภิเษกสมรสกันของทั้งคู่ เปรียบเสมือนตัวเชื่อมรอยร้าวและความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีเท่าไหร่นักของออสเตรียกับฝรั่งเศส ซึ่งก็เป็นผลพวงมาจากช่วงสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย ในช่วงทศวรรษ 1740 แม้เราจะรู้ว่าจุดจบของทั้ง 2 พระองค์ในบั้นปลายชีวิตเป็นอย่างไร แต่คงต้องยอมรับว่า การแต่งงานของทั้งคู่ได้พลิกหน้าประวัติศาสตร์โลกไปไม่น้อยเลยเหมือนกัน
นโปเลียน โบนาปาร์ต กับ มารี หลุยส์
เมื่อช่วงเวลาเปลี่ยนผัน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เคยเชื่อมกันก็อาจแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ก่อนหน้านี้ เราพูดถึงการเกี่ยวดองกันระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรียไปแล้วก็จริง แต่ภายหลังเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศก็ย่ำแย่อีกครั้ง การแต่งงานของ นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte) และ มารี หลุยส์ แห่งออสเตรีย (Marie Louise of Austria) เลยเป็นอีกหนึ่งตัวกลางสำคัญ ที่จะเชื่อมทั้ง 2 ประเทศให้กลับมาดีกันได้
จากหนังสือ ‘Napoleon’s Other Wife’ ของ เดโบราห์ เจย์ (Deborah Jay) เล่าถึง การแต่งงานในครั้งนี้ของนโปเลียนว่า เป็นการจัดแจงขึ้นโดย เคลเมนส์ เวนเซิล ฟอน เมตเทอร์นิช (Klemens von Metternich) รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรีย ที่เล็งเห็นผลประโยชน์ทางการเมืองจากการแต่งงานกันของทั้งคู่ จึงได้ชักจูงให้ทั้งสองมารู้จักและสานสัมพันธ์กันต่อ โดยมีหลักฐานเป็นจดหมายโต้ตอบของทั้งคู่ใน ‘The Letters Of Napoleon To Marie-louise’
เมื่อการแต่งงานของทั้งคู่ถูกจัดขึ้น สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศก็ได้ทุเลาลง นำมาซึ่งช่วงเวลาแห่งสันติภาพและมิตรภาพระหว่างฝรั่งเศสและออสเตรียอีกครั้งในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ แถมการเข้าสู่ประตูวิวาห์ครั้งนี้ของนโปเลียน ยังเป็นการสร้างความชอบธรรมในการปกครองฝรั่งเศสให้แก่ตัวเขา เพราะ ณ เวลานั้น นโปเลียนเพิ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งจักรพรรดิได้ไม่นาน จึงอาจมองได้ว่า การจับคู่ในครั้งนี้ของเมตเทอร์นิช สามารถมอบประโยชน์ทางการเมืองได้ทั้ง 2 ฝ่ายในเวลาเดียวกัน
มหาตมะ คานธี กับ กัสตูร์บา
หลายคนอาจคุ้นชินกับ มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) ในบทบาทของ นักปฏิวัติผู้ใช้วิธีอหิงสา แต่อีกด้านหนึ่ง เขายังมีบทบาทในฐานะสามีและผู้นำครอบครัวด้วยเช่นกัน แต่ใช่ว่า ตัวเขาเลือกรับบทบาทนี้เองเสียเมื่อไหร่ เพราะมหาตมะ คานธี จำต้องเข้าพิธีแต่งงานตั้งแต่ขวบวัยเพียง 13 ปี กับสาวน้อยผู้มีอายุแก่กว่าเขาแค่ปีเดียว อย่าง กัสตูร์บา กาปาเดีย (Kasturbai Kapadia) ด้วยการจัดสรรและตกลงกันระหว่างพ่อแม่ของทั้ง 2 ฝ่ายตามธรรมเนียมของชาวอินเดียในสมัยนั้น
การต้องแต่งงานกันตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้มุมมองในการแต่งงานของมหาตมะ คานธี ก็ถูกมองผ่านเลนส์ของเด็กด้วยเช่นกัน ตัวเขาเขียนบันทึกไว้ใน ‘The Story of My Experiments with Truth’ ซึ่งเป็นอัตชีวประวัติของคานธีว่า ณ วัยเพียงแค่นั้น เขามองการแต่งงานเป็นเหมือนช่วงเวลาที่เขาจะได้เสื้อผ้าใหม่มาใส่ ได้ร้องเล่นเต้นรำอย่างสนุกสนาน ได้จัดงานเลี้ยงหรูหรา พร้อมกับมีเด็กสาวคนหนึ่งมาเล่นด้วยกันเท่านั้น
แต่เมื่อคานธีเติบโตขึ้น เขาเริ่มมองว่าการถูกบีบบังคับให้แต่งงานตั้งแต่เด็กเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และเขาก็ได้แสดงออกด้วยการประณาม รวมถึงต่อต้านธรรมเนียมปฏิบัตินี้ของอินเดีย ผ่านบันทึกอัตชีวประวัติของตัวเองด้วยเช่นกัน
โทกุงาวะ อิเอยาสุ กับ สึกิยามะ-โดโนะ
เคลื่อนตัวมากันที่ดินแดนอาทิตย์อุทัย หลายคนคงรู้กันอยู่แล้วว่า โทกุงาวะ อิเอยาสึ (Tokugawa Ieyasu) คือขุนศึกยิ่งใหญ่ ผู้พลัดเปลี่ยนยุคสมัยของญี่ปุ่นให้เข้าสู่ ‘ยุคเอโดะ’ แต่นอกจากเรื่องราวทางการทหารและการสู้รบแล้ว ตัวเขายังมีชีวิตรักและเรื่องราวส่วนตัวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
จากงานศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นและประวัติของโทกุงาวะ อย่าง ‘Tokugawa Ieyasu: Shogun’ ของคอนราด ทอตแมน (Conrad Totman) ได้อธิบายว่า การแต่งงานครั้งแรกของโทกุงาวะ กับ สึกิยามะ-โดโนะ (Tsukiyama-dono) หรือที่จะรู้จักกันดีในชื่อของ ‘Lady Tsukiyama’ หนึ่งในสตรีจากตระกูลอิมะงาวะ เกิดขึ้นมาจากความต้องการของ อิมะงาวะ โยชิโมโตะ (Imagawa Yoshimoto) ผู้นำตระกูล ที่ต้องการกระชับความสัมพันธ์กันระหว่างตระกูลอิมะงาวะและตระกูลโทกุงาวะ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างพันธมิตรทางการทหารสำหรับทำศึกสงครามในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม ชีวิตคู่ของทั้งคู่ก็ไม่ได้ดำเนินไปอย่างยืดยาว คุโรดะ โมโตกิ (Kuroda Motoki) อาจารย์และนักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ผู้ศึกษาเกี่ยวกับตัวของ สึกิยามะ-โดโนะ ได้อ้างอิงหลักฐานร่วมสมัยพร้อมระบุว่า โทกุกาวะ ได้สั่งตัดศีรษะของภรรยาในปี 1579 เนื่องจาก ตัวเขาพบว่าภรรยาของตนกำลังวางแผนต่อต้าน โอดะ โนบุนางะ (Oda Nobunaga) ขุนนาง ซึ่งตัวเขากำลังรับใช้อยู่ ณ เวลานั้น นำมาสู่จุดจบของทั้งชีวิตคู่และชีวิตของสึกิยามะ-โดโนะ
และนี่ก็เป็นเรื่องราวของ 5 คู่รักในประวัติศาสตร์ที่ถูกจับคลุมถุงชน เพราะมีผลประโยชน์บางอย่างผูกมัดพวกเขาเข้าไว้ด้วยกัน ใครมีเรื่องราวของคู่แต่งงานคู่ไหนที่น่าสนใจ ก็มาคอมเมนต์บอกกันได้อีกนะ!
อ้างอิงจาก