14 ตุลาฯ กับ 6 ตุลาฯ เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ใครหลายคนคุ้นหู แต่ด้วยความคล้ายคลึงของสองเหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ขาด ทำให้หลายคนอาจจดจำเรื่องราวสลับกันไปบ้าง
วันนี้ครบรอบ 43 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เราขอชวนทุกคนมาย้อนดูเรื่องราว เปรียบเทียบเหตุการณ์ระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 วันแห่งการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยของเหล่าวีรชนที่ไม่ควรถูกลืมเลือน
14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
1. ที่มา:
จุดเริ่มต้นของเรื่องราว มาจากการทำรัฐประหารตัวเอง ของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 หลังจากที่ทหารปกครองประเทศมายาวนาน ทำให้ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่าย
อีกจุดชนวนที่สำคัญ คือ เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพตก ที่จังหวัดนครปฐม ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2516 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน รวมถึงการพบซากกระทิง สัตว์ป่าอื่นๆ ปืนล่าสัตว์ และอาวุธจำนวนมาก มีการออก ‘บันทึกลับจากทุ่งใหญ่’ ประกอบกับการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ล่าช้ามาก ทำให้ประชาชนไม่พอใจอย่างหนัก นำไปสู่การประท้วงเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แล้วจอมพลถนอมก็ออกคำสั่งควบคุมชุมนุมผู้เรียกร้องไป 13 คน โหมกระแสให้คนมารวมตัวมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ
2. บุคคลสำคัญ:
จอมพลถนอม กิตติขจร ขณะเกิดเหตุเป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ ก่อนจะบวชเณรกลับไทย เป็นหนึ่งในชนวนเหตุของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ
จอมพลประภาส จารุเสถียร ขณะเกิดเหตุเป็นรองนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาทหารบก และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจ หลังเกิดเหตุลี้ภัยไปยังไทเป
พันเอกณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของจอมพลถนอม บุตรเขยของจอมพรประภาส หลังเกิดเหตุลี้ภัยไปยังไทเป
ธีรยุทธ บุญมี หนึ่งในกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนถูกจับพร้อมกับเพื่อนๆ รวม 13 คน
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หนึ่งในแกนนำนักศึกษา เป็นผู้แต่งเพลง ‘สู้ไม่ถอย’ ที่ใช้ในการชุมนุม
ประพัฒน์ แซ่ฉั่ว นักศึกษาที่ร่วมชุมนุม โด่งดังจากภาพถือไม้ยืนประจันหน้ากับทหาร จนได้รับฉายา ‘ไอ้ก้านยาว’ ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลเป็นปัญญาชาติรักษ์
3. บทสรุป:
ก่อนผู้ชุมนุมจะสลายตัว นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนส่วนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกั้นทางขณะเดินทางกลับ จนเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 สุดท้าย ในหลวง ร.9 ทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์จึงกลับคืนสู่สภาพปกติในวันที่ 15 ตุลาคม และอดีตผู้นำ 3 คน อย่าง จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เดินทางหนีออกนอกประเทศ นับว่าการต่อสู้ในครั้งนั้นประชาชนเป็นฝ่ายชนะ และนำมาซึ่งยุคประชาธิปไตยรุ่งเรือง
6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
1. ที่มา:
ความเฟื่องฟูของเสรีภาพทางความคิด เป็นส่วนให้แนวคิดสังคมนิยมแพร่หลายไปในวงกว้าง แต่เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2519 จอมพลถนอมที่เคยหนีออกนอกประเทศ เดินทางกลับไทยด้วยการบวชเป็นสามเณรเข้ามา ประชาชนจึงออกมาประท้วง แล้วในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2519 ช่างการไฟฟ้าสองคนที่ออกมาแจกใบปลิวต้านกลับมาของจอมพลถนอม ก็ถูกฆ่าด้วยการแขวนคอ ทำให้กลุ่มนักศึกษาหยิบเรื่องนี้มาแสดงละคร เพื่อประท้วงการใช้ความรุนแรงที่เชื่อว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ
วันต่อมา หนังสือพิมพ์ดาวสยามพาดหัวข่าวว่า ละครของนักศึกษาเป็นการหมิ่นพระบรมโอรสาธิราช ทำให้กลุ่มฝ่ายขวา เช่น กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพล ไปชุมนุมปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีกลุ่มนักศึกษาประท้วงกันอยู่นำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาฯ
2. บุคคลที่อยู่ร่วม/ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์:
หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ถูกยึดอำนาจในช่วงเย็นวันเดียวกัน โดยคณะรัฐประหารที่นำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่
พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดขณะนั้น นำคณะรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หลังเกิดการล้อมปราบนักศึกษา
ชวน หลีกภัย ถูกกล่าวหาพร้อมกับรัฐมนตรีอีก 2 คน ว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ จนต้องหนีเข้าป่าไปช่วงเวลาหนึ่ง และบันทึกเรื่องราวไว้ในหนังสือ ‘เย็นลมป่า’
สมัคร สุนทรเวช ถูกมองว่ามีบทบาทสำคัญในการปลุกระดมสร้างความเกลียดชังฝ่ายนักศึกษาผ่านสถานีวิทยุยานเกราะ หลังเหตุการณ์ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
สุธรรม แสงประทุม แกนนำนักศึกษา
เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ แกนนำนักศึกษา
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะนั้น ถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์จนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ
ธงชัย วินิจจะกูล แกนนำนักศึกษา
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แกนนำนักศึกษา
วิชิตชัย อมรกุล ผู้ถูกแขวนคอที่ต้นไม้บริเวณสนามหลวง
จารุพงษ์ ทองสินธุ์ ผู้ถูกสังหารและลากไปตามสนามฟุตบอล
3. บทสรุป:
ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล คือ 46 คน เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 5 คน นักศึกษาและประชาชน 41 คน ได้รับบาดเจ็บ 145 คน และอีก 18 คนที่ตกเป็นจำเลย แต่ไม่มีผู้ก่อเหตุสังหารหมู่คนใดโดนดำเนินคดีเลย
หลังจากนั้น หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ถูกยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่มี พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า และแต่งตั้ง ธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมาในทันที ทั้งยังมีกระแสความหวาดกลัว และความเกลียดชังที่รุนแรงจนกลายเป็นเรื่องที่พูดถึงไม่ได้
16 ตุลาคม พ.ศ. xxxx
มีแค่ 14 ตุลาฯ กับ 6 ตุลาฯ จ้า อย่าจำสับสนนะ