“เด็กๆ จะไปรู้เรื่องอะไร เกิดทันกันเหรอ?”
เคยได้ยินประโยคนี้กันมาก่อนไหม? แล้วสงสัยไหมว่า ทำไมเขาถึงถามเราแบบนั้น
ท่ามกลางกระแสตื่นตัวทางการเมืองที่มีเยาวชนเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวต่างๆ เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใหญ่บางคนที่ไม่เห็นด้วยก็ดังขึ้นมาให้เราได้ยินกันครั้งคราว พร้อมกับคำถามว่าที่ว่า เรื่องราวในประวัติศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519’ ที่ถูกหยิบขึ้นพูดถึงนั้น เด็กๆ จะไปรู้ได้ยังไง ในเมื่อตอนนั้นพวกเขาก็ยังเกิดไม่ทันกันนี่นา
The MATTER เลยลองไปพูดคุยกับนักเรียนชั้นมัธยมและนักศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อรับฟังเสียงของพวกเขา และหาคำตอบว่า เอ .. รู้ได้ยังไงน้า เกิดทันกันเหรอ?
รู้จักเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ ได้ยังไง
นักเรียนชั้น ม.ปลาย จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เล่าให้ฟังว่า เขาไปเจอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ตามเพจ Facebook ต่างๆ ซึ่งมีพูดถึงค่อนข้างเยอะ นอกจากนี้ ก็ google หาข้อมูลเพิ่มเติมบ้าง
“ในห้องเรียนจะสอนเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเท่าไหร่”
ขณะเดียวกัน นักเรียนหญิงชั้น ม.ต้น จากโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เล่าให้ฟังว่า เธอรู้จักเหตุการณ์นี้จากการเรียนพิเศษกับติวเตอร์ โดยติวเตอร์ได้นำทั้งภาพเหตุการณ์และหนังสือต่างๆ มาให้นักเรียนศึกษาเพิ่มเติมด้วย
“แต่ในห้องเรียนเขาจะสอนเรื่องทั่วๆ ไป อย่างพวกอยุธยา สุโขทัย ไม่ค่อยโยงมาถึงเรื่องแนวนี้เท่าไหร่”
ขณะที่ นักเรียนชายชั้น ม.ปลาย อีกคนบอกว่า “ส่วนมากจะเจอในทวิตเตอร์ ก็ไล่ดูไป เจอคนทวีตเอาไว้เป็น thread เราก็ไปนั่งอ่านตาม”
เช่นเดียวกับ นักเรียนที่กำลังอยู่ในช่วง gap year ซึ่งเล่าว่า จากที่เรียนมา 12 ปี เธอแทบไม่เคยทราบถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ เลย โดยในห้องเรียน ครูจะพูดแค่ว่าเหตุการณ์ทั้งสองเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยของหมู่นักศึกษา และการขับไล่จอมพลถนอม และกล่าวถึงคณะราษฏรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าทุกโรงเรียนจะไม่สอนเรื่องราวเหล่านี้ให้นักเรียนเลย เพราะก็มีบางคนที่เล่าว่า ได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ มาจากในห้องเรียน และหนังสือเรียนอยู่บ้างเช่นกัน
“ในห้องเรียนมีวิชาที่ชื่อว่า ประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งก็มีสอนเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ไม่ได้เยอะมาก เป็นเกร็ดเล็กๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างตามสเต็ป ไม่ได้ลงรายละเอียดชัดเจน แต่ก็รู้ว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น” นักเรียนชั้น ม.ปลายจากโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งกล่าว
ขณะที่ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ตอนที่เขาเรียนอยู่ชั้น ม.ต้น ครูสอนเรื่องนี้แค่ผ่านๆ ให้ทราบว่า มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น และมีม็อบนักศึกษา แต่ตอนที่เขาเรียนอยู่ชั้น ม.ปลาย คุณครูก็สอนเรื่องนี้อยู่เช่นกัน
“ตอนแรก คุณครูมอบหมายให้นักเรียนไปค้นคว้าทำรายงานมาก่อน แล้วนำข้อมูลมาถกเถียงกันในห้องว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะอะไร อะไรเป็นชนวน แล้วมันแฟร์ไหม”
นักเรียนหญิงชั้น ม.ปลายจากโรงเรียนอีกแห่งเล่าให้ฟังว่า เธอเองก็รับรู้เรื่องนี้จากในห้องเรียนเช่นกัน แต่ก็รู้สึกว่า เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ รวมถึงเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศเรา เป็นเรื่องที่นักเรียนควรได้เรียนรู้มากกว่านี้
“เราโดนปิดกั้น ผู้ใหญ่จะพูดว่า ‘ยังเด็กอยู่ไม่ต้องเรียนรู้เรื่องอะไรพวกนี้หรอก’ ซึ่งตอนนี้ พอเราโตขึ้น ก็เห็นจากสื่อโซเชียลเยอะมาก ในทวิตจะมีคนที่ทำเป็นเทรดลงมาให้เราอ่าน หรือบางทีก็มาเป็นลิงก์ พอกดเข้าไปก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้น ก็คิดว่า การให้ข้อมูลนี้ มันทำให้คนสนใจและตื่นตัวเรื่องการเมืองมากขึ้นด้วย”
รู้ได้ยังไง เกิดทันเหรอ?
“กูเกิ้ลก็มีครับ ผมศึกษาได้ เปิดหาข้อมูลเองได้” นักเรียนชายคนหนึ่งโต้กลับมาทันทีที่ได้ยินคำถาม
ส่วนนักเรียนหญิงชั้น ม.ต้น ที่ได้เรียนเรื่อง 6 ตุลาฯ จากสถาบันสอนพิเศษ แสดงความเห็นว่า การรับรู้เหตุการณ์นี้ไม่เกี่ยวว่าเกิดทันหรือไม่ทัน เพราะเป็นเรื่องที่ไปหาศึกษาต่อเองได้
“ผมชอบเอาข้อมูลที่หาได้ไปโต้กลับผู้ใหญ่อยู่เหมือนกัน แต่บางทีก็จะโดนตอบกลับแบบนี้เหมือนกัน เหมือนเขายึดมั่นมาแบบนั้น เราพูดอะไรไปเขาก็ไม่ฟัง ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง” นักเรียนชั้น ม.ปลายคนหนึ่งกล่าว
ขณะเดียวกัน นักเรียนที่กำลังเข้าช่วง gap year อยู่นั้น มองว่า ถึงจะเกิดไม่ทัน แต่เมื่อประเทศมันมาถึงขั้นวิกฤตขนาดนี้ คนรุ่นใหม่ก็พร้อมใจกันแก้ปัญหา และถ้าจะแก้ปัญหาก็ต้องสืบหาต้นตอสาเหตุ ซึ่งก็นำไปสู่การที่ได้รู้เรื่องราวในอดีตหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น
บางคนก็มองย้อนกลับไปว่า เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์หลายๆ เหตุการณ์นั้น ผู้ใหญ่เองก็เกิดไม่ทันเช่นกัน อย่างนักเรียนหญิงชั้น ม.ปลาย อีกคนตอบว่า เอาจริงๆ ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่ทันเหมือนกัน ส่วนใหญ่ก็ศึกษาจากหนังสือเอาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นใช้ความคิดกับหนังสือ ความรู้ตัดสินดีกว่า อย่าตัดสินที่อายุ เช่นเดียวกับนักศึกษาอีกคน ที่กล่าวว่า
“ถึงเกิดไม่ทันแต่ก็สามารถศึกษาได้ อย่างที่เราพร่ำเรียนกันว่า จักรวาลเกิดได้อย่างไร ถามว่าเราเกิดทันไหม ก็ไม่มีทาง ไม่มีใครเกิดทันหรอก แต่เรารู้เพราะเราศึกษาไงว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้น เรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน”
ขณะที่ สองนักเรียนชั้น ม.ปลายของโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ตอบว่า เหตุการณ์นี้มีให้อ่าน มีหลักฐาน มีภาพเหตุการณ์รวมถึง มีข่าวให้เห็นอยู่ด้วย ดังนั้น เราก็ควรจะเชื่ออะไรที่เห็นหลักฐานมากกว่าอะไรที่พูดกันลอยๆ
“ขนาดบางทีในหนังสือเรียนเอง ก็ให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงเหมือนกัน ถ้าเราหาอะไรที่มีความน่าเชื่อถือมากพอ แล้วถ้าเราหามาได้ เราก็จะเลือกเชื่อสิ่งนั้น ถ้าโดนถาม ผมอาจจะพูดดีๆ ว่า ไปอ่านมา ไปเจอข้อมูลมา แต่ก็จะรับฟังเขาด้วยเหมือนกัน เพราะเราก็เกิดไม่ทันจริงๆ แต่ไม่ได้แปลว่าจะเชื่อทันทีที่ฟัง”
คำพูดว่า ‘เด็กสมัยนี้ เกิดไม่ทัน ไม่รู้เรื่องหรอก’ ดูจะเป็นคำกล่าวที่ใช้ไม่ได้ในยุคที่อินเตอร์เชื่อมโยงเราเข้ากับโลกใบนี้ ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างความกระตือรือร้นให้เยาวชนรุ่นใหม่ๆ ศึกษาเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจสังคมที่พวกเขาอาศัย โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คนหนึ่ง มองว่า คนส่วนใหญ่ชอบพูดว่า เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยถ้าเราสังเกตดีๆ เรื่องราวก็วนๆ เหมือนเดิม ซึ่งสิ่งนี้เห็นด้วย ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่าอะไรคืออะไร และเราควรทำอย่างไร
“เช่นเดียวกันเราจะมองไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด ถ้าเราไม่มองย้อนกลับไป ทีนี้พอเรารู้ว่าในอดีตมันเป็นอย่างไร เราก็สามารถแก้ไขปัจจุบันได้ เราเห็นช่องโหว่ของมัน เราเห็นปัญหาความไม่เป็นธรรม เราศึกษาทำความเข้าใจ แบบนี้เราก็จะเห็นวิธีการแก้ไขปัญหาได้”
ประวัติศาสตร์ที่อยากเรียน
แน่นอนว่า ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรเรียนรู้ ด้วยคำพูดที่เราได้ยินกันหลายๆ ครั้งว่า ‘อย่าทำผิดซ้ำสอง’ ซึ่งแปลว่า การที่เรารู้เรื่องราวในอดีต ไม่ว่าจะดีหรือไม่ จะช่วยให้เรารู้และเข้าใจถึงความเป็นมาของสถานการณ์ในปัจจุบัน และเป็นบทเรียนให้เราได้นั่นเอง
แต่คำถามที่ตามมาก็คือ ประวัติศาสตร์ที่เราเรียนกันอยู่นั้น ช่วยให้เรารู้ และเข้าใจเหตุการณ์ในอดีตได้มากน้อยแค่ไหนกัน?
เมื่อถามเหล่านักเรียน-นักศึกษาไปว่า ประวัติศาสตร์ที่อยากเรียนรู้ เป็นแบบไหน คำตอบที่ได้กลับมาก็มีหลากหลายรูปแบบ บางคนมองว่า อยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบที่ไม่ถูกปิดกั้น หรือเมินเฉยต่อเหตุการณ์อันเลวร้ายในอดีตที่เคยเกิดขึ้น เพราะเราต้องเรียนรู้เรื่องที่เราผิดพลาดไป จึงไม่ควรปิดบังเด็กๆ จากการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้
“การรู้ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญ และอาจจะทำให้เรารู้ทันเหตุการณ์ได้ เช่น รอบที่แล้ว (ในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ) มีวิทยุยานเกราะ พอมาครั้งนี้ เราก็รู้แล้ว ก็จะไม่ถูกหลอกได้ง่ายๆ อีก” นักเรียนชั้น ม.ปลายคนหนึ่งกล่าว
บางคนก็มองว่า อยากเรียนประวัติศาสตร์ไทยที่เกิดขึ้นจริงๆ ให้ละเอียดกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึง เรียนในประเด็นที่ใกล้ตัวกับเรามากขึ้นด้วย
“หนูชอบเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แต่เรื่องที่เขาสอนกันมันเป็นเรื่องเก่าเกินไปแล้ว อย่างสนธิสัญญานู่นนี่นั่น หนูไม่ได้อยากรู้แล้ว อยากรู้เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น เรื่องที่ใกล้ตัวเราหน่อย เป็นประวัติศาสตร์สมัยใหม่ บางทีเอาเรื่องเก่าๆ เกินไปมาสอน เรารู้สึกว่ารู้ไปก็เท่านั้น”
อีกทั้ง นักเรียนหญิงชั้น ม.ปลาย คนหนึ่งเล่าถึงปัญหาของการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในห้องเรียนว่า เป็นการเรียนการสอนที่อัดข้อมูลให้นักเรียนมากเกินไป ยิ่งในช่วงที่ใกล้สอบด้วย เลยกลายเป็นว่า การเรียนประวัติศาสตร์ในห้อง เหมือนเรียนเพื่อให้จำไปสอบ มากกว่าจะนำไปใช้
ขณะที่ นักเรียนชั้น ม.ปลายอีกคนมองไปว่า วิชาประวัติศาสตร์ ควรสอนให้เรารู้จักการตั้งคำถามมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะการตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องที่สำคัญ และจะช่วยให้เราประเมินได้ว่า อะไรควรเชื่อ และอะไรไม่ควรเชื่อ
“อยากให้มีการถกเถียงในห้องเรียนมากขึ้น เราจะได้แลกเปลี่ยนระหว่างครูกับนักเรียนด้วยว่าคิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้ เราเอาเรื่องนี้มาใช้ยังไงได้บ้าง มากกว่าที่ครูจะมาป้อนให้เราเฉยๆ”
นักเรียนอีกคนมองว่า การเขียนประวัติศาสตร์ควรเขียนตามความจริง ไม่ใช่เพียงปรุงแต่งให้ฝ่ายใดฝ่ายนึงดูดีหรือพ้นข้อครหา ไม่ว่าอะไรที่ซ่อนไว้ใต้พรม ก็ควรถูกเอาออกมาเขียนและส่งต่ออย่างเปิดเผย
“ถึงแม้เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์บางอย่างอาจทำให้เราดูไม่ดี หรือทำพลาด แต่นั่นก็เป็นความจริงที่นำพาให้ไทยเป็นชาติไทยมาถึงทุกวันนี้ ดังนั้น จึงอยากเรียนประวัติศาสตร์จากความจริง อย่าให้ต้องมาหาอ่านเองอย่างทุกวันนี้เลย”
อย่างไรก็ดี นักเรียนบางคนก็มองว่า ประวัติศาสตร์มีหลากหลายด้าน เกินกว่าที่เราจะได้เรียนจากมุมมองเพียงด้านเดียวเท่านั้น ดังนั้น การเรียนประวัติศาสตร์จากแหล่งความรู้อื่น นอกเหนือจากสายตาของเราเอง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน
“เราอยากเรียนประวัติศาสตร์ในส่วนที่ไม่ได้เป็นไปตามหนังสือที่เขากำหนด อยากเรียนรู้จากหลายๆ ด้าน ถ้าเรียนประวัติศาสตร์ไทย มันก็จะได้แต่มุมของคนไทยเอง อยากให้ไปดูหนังสือของต่างชาติว่า เขามองเราเป็นยังไงบ้าง”
เห็นได้ชัดว่า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และในยุคสมัยที่อินเตอร์เน็ตเชื่อมโลกเอาไว้ เราก็สามารถหาอ่านและศึกษาเรื่องราวต่างๆ เพิ่มเติมได้ง่ายขึ้นด้วย .. นี่ก็คงเป็นคำตอบ สำหรับคำถามที่ว่า ‘รู้ได้ไง เกิดทันเหรอ?’ แล้วล่ะเนอะ