ทุกบาดแผล ทุกเรื่องราวล้วนผ่านเข้ามาไม่มีในเรื่องราวของผู้คนหรือระดับประวัติศาสตร์ของชาติ เหตุการณ์เดือนตุลาเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์แปลกประหลาดของไทย ดินแดนแห่งความอารีที่ในขณะเดียวกันเราก็รักษาหน้าตาความงดงามจนทำให้เราจงใจหลงลืมการฆ่าฟัน ความรุนแรง และการต่อสู้กลางมหานครอันสถาพรไปได้อย่างหน้าพิศวง
เป็นเรื่องหน้าเศร้าที่หลายสิบปีผ่านไป รอยเลือดของการต่อสู้และบาดแผลชั่วชีวิตของผู้สูญเสียนั้นก็ดูจะกลับมาฉีกขาดอีกครั้ง เพราะประวัติศาสตร์ สิ่งที่ผู้ล่วงลับต่อสู้แสวงหา ก็ดูจะหลุดลอยหายไป เหลือไว้เพียงสายลม
ในโอกาส 6 ตุลาเวียนมาบรรจบ การจดจำจึงเป็นสิ่งที่พึงหวนมาอีกเรื่อง และนอกจากบันทึกประวัติศาสตร์ ภาพถ่ายและหนังสือทางวิชาการที่จะช่วยให้เราไม่หลงลืมไป งานเขียนเช่นวรรณกรรมและกวีนิพนธ์ก็เป็นอีกหนทางของการจดจำ เป็นการจดจำที่ใช้อำนาจถ้อยคำและท่วงทำนองที่บรรจุพลังทางวรรณศิลป์ เรื่องราวและความรู้สึกไว้อย่างหนักแน่น และบางครั้งก็บางเบาอย่างน่าประหลาด
สำหรับกวีนิพนธ์จากเหตุการณ์เดือนตุลา โดยเฉพาะ 6 ตุลาถือเป็นงานเขียนที่มีพลัง มีลักษณะและมีจุดมุ่งหลากหลาย ส่วนหนึ่งด้วยความที่เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นการนองเลือดครั้งใหญ่ที่ฝ่ายอำนาจใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาอย่างผิดมนุษย์ กวีนิพนธ์หลายชิ้นถูกเขียนขึ้นทั้งในระหว่างเหตุการณ์ จากผู้ที่เป็นสักขีพยานความโหดร้ายนั้น ส่วนหนึ่งบทกวีจึงทั้งทำหน้าบันทึกเรื่องราว กระทั่งระบายความคั่งแค้นและใช้กล่อมเกลา ปลอบขวัญทั้งตัวกวีเองและเยียวยาบาดแผลของผู้คนในสังคมในขณะนั้น
กวีนิพนธ์บางชิ้นเขียนขึ้นดุจการย้อนรำลึก เพื่อย้ำเตือนห้วงเวลาปัจจุบันให้กลับไปเรียนรู้และเรียกร้องจากเหตุการณ์เมื่อครั้งก่อนหน้า หลายชิ้นเขียนขึ้นเพื่อสดุดี เป็นเหมือนการกรองมาลัยที่ทำด้วยถ้อยความ วางบูชาให้กับดวงวิญญาณของผู้ที่ลาลับไป ยืนยันว่าการตายจะไม่สูญเปล่า ละเราจะไม่มีวันลืมรอยเลือดที่ป่ายเปื้อนประชาชน
งานร้อยกรองถือเป็นวรรณกรรมสำคัญของวัฒนธรรมไทย งานกวีนิพนธ์เดือนตุลา เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญของวิวัฒนาการทางวรรณศิลป์ของไทย บทกวีในห้วงนั้นถูกเขียนขึ้นโดยกวี โดยนักเคลื่อนไหว โดยปัญญาชนที่หลายท่านยังคงสร้างสรรค์ผลงานและกลายเป็นไอคอนของโลกวรรณกรรมไทย รูปแบบการเขียนในช่วงนั้นจึงมีตั้งแต่การใช้รูปแบบกวีนิพนธ์ที่เป็นที่นิยมเช่นโคลงสี่สุภาพ กลอนแปด
กวีบางท่านเช่นศักดิ์สิริ มีสมสืบก็ค่อนข้างใช้สไตล์ความเปรียบและลีลาไปในทำนองกวีนิพนธ์สมัยใหม่ ใช้คำเรียบง่าย ให้ภาพชัดเจน มีการหยุดสะดุดของถ้อยคำ บางท่านย้อนกลับไปสู่ถ้อยคำและรูปแบบการประพันธ์แบบกวีโบราณ ราวกับจะยั่วล้อกับความคิดบางอย่างที่ตกทอดกันมา
หรือกวีและนักเขียนบางท่านที่อาจมองเห็นและเน้นภาพของคนธรรมดา ของลูกชาวบ้านร้านตลาดที่ล้วนเข้ามาต่อสู้และตกตาย นักเขียน เช่น สุจิตต์ วงศ์เทศก็เลยเลือกใช้กลอนนิทาน หรือเพลงร้องเล่นรวมถึงอ้างอิง ‘เจ้าขุนทอง’ ตัวละครฮีโร่ชาวบ้านที่ไปปล้นค่ายพม่าและตายตก นำกลับมาเล่าใหม่เป็นตัวแทนของนักศึกษา และใช้เสียงของพ่อแม่ที่รอคอยลูกอยู่ที่ชนบท
การเดินทางของนกพิราบ (ษา วตี)
วานนี้ ดอกจำปีกลับโรยราเหมือนว่าฝัน
เจ้าพระยาที่ไหลเอื่อยเรื่อยเรื่อยนั้น เพียงชั่ววันกลับแดงเรื่อเจือเลือดจาง
บทเพลงโพธิ์ระบัดใบจบไปแล้ว เหลือเสียงแผ่วสะอื้นสะท้านรอบลานกว้าง
และซอกมุม สนาม ตึก หนทาง ทุกตารางแผ่นดินที่มีคนตาย
เจ้าขุนทอง (สุจิตต์ วงษ์เทศ)
วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ ตาลโตนดเจ็ดต้น
ขุนทองเจ้าไปปล้น ป่านฉะนี้ไม่เห็นมา
คดข้าวใส่ห่อ ถ่อเรือไปตามหา
เขาก็ร่ำลือมา ว่าเจ้าขุนทองตายแล้ว
นั่งรถยนต์เรไร นั่งรถไฟนกแก้ว
ส่งเสียงแจ้วแจ้ว ว่าเจ้าขุนทอง เจ้าขุนทอง
เจ้าออกจากบ้าน เมื่อตะวันเรืองรอง
แล้วหันมาสั่งน้องน้อง ว่าพี่จะไปหลายวัน
ไปเพื่อสิทธิเสรี เพื่อศักดิ์ศรีชาวบางระจัน
โอ้เจ้านกเขาขัน แล้วเจ้าขุนทองก็ลงเรือน
สะพายย่ามหาดเสี้ยว ซึ่งใส่หนังสือแสงเดือน
ทั้งสมุดที่ลบเลือน ด้วยรอยน้ำตาแต่เมื่อคืน
ขุนทองเจ้าร้องไห้ อยู่ในเรือนจนดึกดื่น
ว่าดอกจำปีถูกปืน ตายอยู่เกลื่อนเจ้าพระยา
ลูกเอ๋ยหนอลูกเอ๋ย เจ้าอย่าเฉยเชือนชา
แม่มาร้องเรียกหา นี่พ่อมาตั้งตาคอย
เจ้ามิใช่นักรบ ที่เคยประสบริ้วรอย
รูปร่างก็น้อยน้อย เพราะเรียนหนังสือหลายปี
แม่ก็รู้ว่าลูกรัก นั้นมีความภักดี
พ่อก็รู้ว่าลูกมี กตัญญูต่อแผ่นดิน
แต่ใครเขาจะรู้ เพราะเขามิใช่พระอินทร์
มนุษย์อาจได้ยิน แต่อำนาจมาบังตา
ลูกบอกว่าลูกรู้ จึงสู้แบบอหิงสา
แม่กับพ่อก็รอมา หลายเพลาหลายเพล
ดอกโสนบานเช้า ดอกคัดเค้าบานเย็น
ออกพรรษามาตระเวณ ที่อนุสาวรีย์ทูน
ไม่มีร่างเจ้าขุนทอง มีแต่รัฐธรรมนูญ
พ่อกับแม่ก็อาดูร แต่ภูมิใจลูกชายเอย
ปลงศพเจ้าขุนทอง (สุจิตต์ วงษ์เทศ)
วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ ปลูกข้าวโพดสาลี
เจ้าขุนทองคนดี ครบปีแล้วที่เจ้าตาย
ข้าวสาลีตายหมด ส่วนข้าวโพดก็เสียหาย
เพราะพ่อกะแม่ไม่เว้นวาย คิดถึงลูกไม่มีแรง
ลูกเอ๋ยหนอลูกเอย เจ้าไม่เคยหน่ายแหนง
ทำงานตะวันแดง พ่อก็เบาแม่ก็เบา
ข้าวเหลืองอ่อนรวงเหี่ยว ส่วนข้าวเหนียวก็อับเฉา
นาที่หว่านข้าวเบา นกก็กินหนูก็กิน
“ขุนศรีจะถือฉัตร ยกกระบัตรจะถือธง”
โอ้พระคุณทั้งสององค์ ปลงศพเจ้าขุนทอง
นักเรียนนักศึกษา ประชาราษฎร์จะเนืองนอง
ใบมะขามจะหล่นรอง รับน้ำตาสาธุชน
เสียงคลื่นเจ้าพระยา เป็นเสียงสังข์สากล
เสียงพัดของลมบน จะเป็นเสียงขลุ่ยธรรมดา
ปี่พาดราดตะโพน เป็นเสียงตะโกนถึงชาวนา
ว่าดอกเอ๋ยดอกชะบา ช่วยกันรับไว้กับกาย
ดอกไม้สีขาว ที่แพรวพราวพริ้มพราย
จะหล่นโรยลงโปรยปราย รอบรอบเมรุวีรชน
แม่จะนับกาลเวลา พ่อจะเชิญประชุมชน
แทนขุนทองของทุกคน ถ้าใครทำลายลูกเอยฯ
รำลึกทวนรอยเท้าแห่งวิถี (ศักดิ์สิริ มีสมสืบ)
นกกระดาษตระหนกพร่านบินร่านร่อน
ว่ายว่อนเวิ้งฟ้าน้ำตาเจิ่ง
โครมครืน…ตื่นเตลิดกระเจิดกระเจิง
เปิดเปิง…ปืนอีโบ๊ะรัวโละเละ
สาดกระสุนลูกชำมะเลียงรัวกระหน่ำ
เจ้าตาคมล้มคว่ำลงโผละเผละ
เลือดตกอกแตกแหลกเละ
หยดหมาดหยาดเหมะดังเม็ดมณี
เนื้อนวลปริแตกแยกออก
ลิ่มหลาวยาวกว่าศอกตอกเต็มที่
โหยกรีดหวีดร้องก้องปฐพี
ค่าแค่เสียงแมลงหวี่ วู่วี่ดัง
โยกเอยโยกเยก
น้ำตาท่วมเมฆมิหยุดหลั่ง
กระต่ายน้อยลอยคอท้อประดัง
เหนี่ยวยอดฟ้าคว้าหวังก็พังครืน
ปีศาจรุ้งพุ่งพาดฟาดสาย
พุ่งปลายทะลวงอกอันตกตื่น
รุ้งดื่มเลือดจนเหือดร่าง…ฟ้าครางครืน
ระคนเสียงประเปรี้ยงปืนกำราบปราม
ต้นมะขามต้นนี้หรือต้นไหน
เปีย จุก แกละ รำไห้สะอื้นถาม
กิ่งนี้หรือกิ่งไหนเล่าไม้งาม
ที่นงราม เจ้าเนื้อแน่นถูกแขวนคอ
ลมวูบ กิ่งไหว ร่างไกวแกว่ง
ถูกตีต่อยห้อยต่องแต่ง…ถีบเตะต่อ
ไม่ครวญคร่ำไม่ร่ำไห้ไม่ตัดพ้อ
เชือกรัดคอแน่นซิหนอจึงเงียบไป
เจ้าตาปลิ้นลิ้นห้อยย้อยถึงคาง
มือสองข้างกำแน่นแค้นไฉน
แค้นเคืองขอให้ขาดพร้อมขาดใจ…
…เขาฌาปนกิจให้ด้วยเผายาง
…
หก ตุลา สอง ห้า หนึ่ง เก้า
รำลึกทวนรอยเท้าแห่งวิถี
หักนิ้วนับทีละนิ้วนิ้วละปี
หมดมือตีนพอดีนะเพื่อนรัก
หักนิ้วนับจากวันนั้นถึงวันนี้
ยี่สิบปีพอดีแล้วเพื่อนรัก
บวงสรวงวีรชน (ไพบูลย์ วงษ์เทศ)
เดือนต่ำดาวตก นกร้องไห้ ไม้ดอกไม้ใบร่วงหล่น
โพยมพยับดับแสงสุริยน หมอกเมฆมืดมนมัฆวาฬ
ทะมึนมัวม่านฟ้าฝ้าหมอง ขุ่นน้ำลำคลองห้วยละหาน
หุบห้วยตรวยโตรกชะโงกธาร เพิงผาปิ้มปานจะขาดใจ
รวงข้าวลู่ลมล้มคว่ำ กิ่งท้อกอระกำสะเทือนไหว
สิ้นซึ่งส่ำเสียงสำเนียงใด ประจงจุดเทียนไขชัชวาล
กราบกระดูกวีรชนหม่นหมอง แสงเทียนสีทองทอสาน
ดาวเคลื่อนเดือนคล้อยลอยอังคาร ขอวิญญาณเจ้าจงฉ่ำดังน้ำเย็น
เรื่อยไหลไปเถิดสุดขอบฟ้า ดับเถิดดวงตาอย่ารู้เข็ญ
คงคาคืนค่ำคงลำเค็ญ หยาดน้ำหยดกระเซ็นกระแสชล
ชลาลัยไหลเรื่อยเอื่อยอาด อังคารเจ้าห่างหาดไปสุดหน
ลมพัดใบไม้ไหวในใจคน เทียนก็ดับดาลดลในทันใด
แม้ดับเทียนสีทองส่องสว่าง มิอาจดับรอยด่างให้เลือนได้
วันนี้ไม่มีเสียงสำเนียงใด พรุ่งนี้เสียงจะใสถึงดวงดาว
ดาวจักเรืองแจ่มหล้าเมื่อฟ้าหม่น เดือนจะโรจน์อำพนเมื่อมืดหาว
เรียงถ้อยร้อยกวีวะวับวาว บันทึกคราวคับแค้นในแดนไตร
แม้ไม่มียุติธรรม์ในวันนี้ แต่ขอบฟ้ายังมีอรุณใหม่
ใครก่อเวรสร้างกรรมกระทำไว้ จักต้องรับชดใช้ชำระคืน
นิราศตุลา (วาณิช จรุงกิจอนันต์)
นิราศรินจินตภาพลงกราบก้ม
กราบผองผู้กล้าตุลาคม ที่ร่างล่มระเนนระนาวในคราวนั้น
สนามหลวงสงครามสนามหลวง สนามลวงว่าเรามีเสรีนั่น
สนามไม่มีพม่าไล่ฆ่าฟัน แต่เพื่อนเราเผ่าพันธุ์ฆ่ากันเอง
มะขามยืนเรียงรอบอยู่ขอบข้าง รายทางเขียวครื้มดูขรึมเคร่ง
เพียงลมพรูวู่ฟังก็วังเวง เหมือนบทเพลงพรรณนาก็อาลัย
ที่เคยหมอบยืนนั่งกำบังต้น รักษาชีวิตคนปลอดภัยได้
คมกระสุนตัดทิ้งทั้งกิ่งใบ และตัดชีวิตใครไปหลายคน
กิ่งไหนเล่าเขาเลือกเอาเชือกคล้อง มะขามร้องไห้ให้อยู่หลายหน
แอบสะอื้นยืนนิ่งชักกิ่งตน ที่ทานทนน้ำหนักไม่หักราญ
หางนกยูงที่เคยฟ่องฟ้อน กลีบก็ร่วงร่อนลงน่าสงสาร
เจ้าบอบบางร่างรู้หากสู้พาล กล้าหาญต้านลมดุพายุร้าย
กี่กลีบร่วงกลีบแหลกละเอียดยับ แต่มิท้อทุกข์ทับยอมแพ้พ่าย
จะกี่กลีบร่วงหล่นลงกล่นกราย อย่าหมายว่าจะนำไปจำนน
แดนโดมเหลืองแดงนี้แฝงฝัน ผูกพันปวงประชามาแต่ต้น
พิสูจน์แล้วด้วยเลือดเจียนเหือดตน มิเคยย่นยอบระย่อลงท้อทด
โดมแม่โดมเด่นนั้นเป็นสัญลักษณ์ ประกาศศักดิ์อิสราให้ปรากฏ
สืบสันติประชาธรรมงามงด เกียรติยศผู้กล้าประชาไทย
ลนโพร่มโพโอ้อกเอ๋ย ข้นเลือดเคยแดงฉานเปื้อนลานได้
ไม่เหลือรอยเลือดมีอยู่ที่ใด แต่ลานใจรอยกรังเลือดฝังลาน
เจ้าพระยาสวยงามทุกยามเห็น สวยเช่นชีวาผู้กล้าหาญ
กระแสเสรีหมายคือสายธาร จะซึมซ่านแดงฉ่ะแดนเลี้ยงแผ่นดิน
ตราบเท่าเจ้าพระยายังรู้ไหล ตุลาคมครั้งใดจะรู้สิ้น
สายน้ำเสรีภาพที่อาบกิน เจือเลือดรินเหล่าผู้กล้าตุลาคม
ร่วงเหมือนใบไม้ร่วงในหน้าแล้ง (ขรรค์ชัย บุญปาน)
ร่วงเหมือนใบไม้ร่วงในหน้าแล้ง โลกเปิดแห่งประวัติศาสตร์ของโลกใหม่
ส่วนของโลกเป็นใจกลางแผ่นดินไทย ชีวิตคนคือใบไม้และผักปลา
มีแต่ความอัปยศอดสู อับอายผู้คนทั่วไปทั่วหล้า
ขาดสิ้นแล้วซึ่งสติปัญญา เกลียดตัวเองที่เกิดมาเป็นคน
คนไทยจะไว้ทุกข์ชั่วชีวิต ความคิดเข้าครองความหมองหม่น
หยาดน้ำตาจากตาที่บ่าล้น ไหลปนกันน้ำตาเทียน
กลิ่นธูปล่องลอยรำลึกหา จะเพียรร้อยมาลาเอามาเปลี่ยน
สักการะดวงวิญญาณอันว่ายเวียน และอัญเชิญมาเยี่ยมเยียนผองเพื่อนไทย
โอ้ดวงวิญญาณท่านผู้กล้า จะเป็นดวงดาริกาอยู่ชั้นไหน
รับรู้เถิดชีวิตท่านใช่ไม้ใบ หัวใจไทยทั้งชาติ…สำนึกแล้ว
เห่กล่อมตลามาศ (วิสา คัญทัพ)
ฟ้านั้น- ครอบเราตัวเท่ามด ออกคำสั่งออกกฏชี้บทบ่ง
บ้างครั้งแลบแปลบปร่าบ้างผ่าลง แลคำรามเสียงส่ง- สะเทือนดิน
นึกอยากแผดแดดกล้าส่องมาโลก ใครทุกข์- ใครโศก, มิรู้สิ้น
จะอ้างเหตุอ้างผลไม่ยลยิน ฟ้าหัวใจทมิฬไม่ฟังใคร
เพลานั้น- ฟ้าก่อคดีเดือด เป็นคดีนองเลือดครั้งยิ่งใหญ่
ทุกเม็ดฝนเย็นเยียบถ้าเปรียบไป ก็คือสาดกระสุนใส่ – มิใยดี
จาแรงโน้มนำแห่งอำนาจ มาสู่ความเด็ดขาด- บดขยี้
นับวินา-ทีต่อวินาที ร้อยวันพันปีไม่มีเลือน
ใครจะลืมวันชัยขับไล่ฟ้า ใครจะลืมวันฆ่าอันป่าเถื่อน
ใครจะลืมตุลาติดตาเตือน ใครจะลืมเลือดเปื้อนประชาชน
อนึ่งฟ้าย่อมมีประวัติฟ้า บันทึกความเป็นมาไม่ตกหล่น
กี่ฟ้าพลิกคว่ำยอมจำนน ฟ้าไม่อาจฆ่าคนหมดแผ่นดิน
เพลานี้ ฟ้าทำเลวทำดี- ก็รู้สิ้น
เราคือนกมีปีกย่อมหลักบิน ตามแรงไปไม่มีสิ้น,บินต่อไป
ปีกขะโอบอุ้มกองกระดูก วีรชนเพื่อนเรากอดเข้าไว้
ปกปัก-ป้องบังระวังภัย ไม่ให้ใครข้ามผ่านวิญญาณเธอ
ญาติพี่น้องทั้งหลายอย่าได้ห่วง ประวัติศาสตร์ทั้งปวงมั่นเสมอ
ขอให้วิญญาณเจ้าเขาและเธอ อย่าพบปะเจอะเจอเผด็จการ
ว่าจะไม่เขียนกวีวันนี้แล้ว แต่คล้ายเพื่อนผีแก้วมาเดินผ่าน
ให้ลุกขึ้นร้อยคำทำบุญทาน เห่กล่อมวิญญาณ- วีรชน
อ้างอิงข้อมูลจาก