2017 ปีของการเลือกตั้งอย่างคึกคักของหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะฝรั่งเศส เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และอื่นๆ อีก ซึ่งตอนนี้ก็เวียนมาถึงคิวหนึ่งในประเทศมหาอำนาจประจำสหภาพยุโรป อย่างเยอรมนี ที่วันพรุ่งนี้ ประชาชนชาวเยอรมันก็พร้อมเตรียมเข้าคูหา ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกันบ้างแล้ว
แต่ระหว่างที่ประเทศเราก็ยังคงรอเลือกตั้ง ที่ยังไม่รู้ว่าจะได้ลงคิวเข้าคูหากันเมื่อไหร่ The MATTER ก็ขอชวนมาทำความเข้าใจกับการเลือกตั้งในเยอรมนี รู้จักนโยบาย และผู้ลงสมัครท้าชิงจากพรรคเด่นๆ ในครั้งนี้ไปด้วยกัน
เยอรมนี มีการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (Mixed Member Proportional) โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้ง 16 รัฐ จะต้องเลือกสมาชิกสภา Bundestag 598 ที่นั่ง แบบ 2 ระบบ โดยเป็นแบบแบ่งเขต 299 ที่นั่ง ซึ่งส.ส. ตรงนี้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง และแบบที่ 2 คือ แบบบัญชีรายชื่ออีก 299 ที่นั่ง ซึ่งคือการเลือกจากความนิยมของพรรคการเมือง
ผู้ลงสมัครและนโยบายของแต่ละพรรค
อังเกลา แมร์เคิล – พรรค Christian Democratic Union (CDU)
แน่นอนว่าการเลือกตั้งคราวนี้ ‘อังเกลา แมร์เคิล’ ผู้นำพรรค Christian Democratic Union (CDU) และพรรคย่อย the Christian Social Union (CSU) ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวากลางของเยอรมนีก็จะลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 โดยที่นี่เค้าไม่มี กฎหมายจำกัดสมัยการดำรงตำแหน่ง ซึ่งตอนนี้เธอได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ มา 12 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2005
ก่อนหน้านี้ แมร์เคิลและพรรคของเธอได้รับคะแนนนิยมที่ลดลง มาจากการให้เงินช่วยเหลือประเทศสหภาพยุโรปที่เจอวิกฤติทางการเงินอย่างกรีซ กว่าพันล้านยูโร และนโยบายเปิดรับผู้อพยพ ที่ทำให้มีผู้อพยพลี้ภัยเข้ามาในเยอรมันกว่าล้านคน ซึ่งนโยบายเหล่านี้ก็สร้างความไม่พอใจให้ชาวเยอรมัน จนเธอและพรรคถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
ในครั้งนี้แมร์เคิล และพรรค CDU ก็มาพร้อมนโยบายเราจะทำตามสัญญาขอเวลาภายในปี 2025 ว่าจะทำให้มีการจ้างงานเต็มที (full employment) ทั้งจะขอลดภาษี สนับสนุนให้ปฏิรูปสหภาพยุโรป รวมทั้งให้ความช่วยเหลือประเทศอื่น และยังคงเปิดรับผู้อพยพลี้ภัยด้วย
มาร์ติน ชูลซ์ – พรรค Social Democratic Party of Germany (SPD)
Social Democratic Party of Germany (SPD) พรรคฝ่ายซ้ายกลางของเยอรมนี ที่เป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดของประเทศ คู่แข่งสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ มาพร้อมหัวหน้าพรรค ‘มาติน ซูลส์’ ผู้ซึ่งลาออกจากประธานสภาสหภาพยุโรป ที่เขาได้รับเลือกถึง 2 สมัย มาเพื่อลงท้าชิงในครั้งนี้
นโยบายสำคัญของซูลส์ ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ คือการสัญญาว่าจะเพิ่มเงินจำนวน 3 หมื่นล้านยูโร กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกละเลย อย่างถนน ทางรถไฟ โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานดูแล โดยจะปรับขึ้นภาษีกับผู้มีรายได้สูง ทั้งพรรคยังมีนโยบายรับผู้อพยพ แต่ต้องการเน้นที่แรงงานผู้มีทักษะด้วย
อลิซ ไวเดิล และ อเล็กซานเดอร์ กอแลนด์ – พรรค Alternative for Germany (AfD)
Alternative for Germany (AfD) พรรคขวาจัด น้องใหม่ที่เพิ่งจะก่อตั้งเมื่อปี 2013 มาพร้อมนโยบายขวาสุดโต่ง และรุนแรง อย่างเช่นการต่อต้านมุสลิม ต่อต้านผู้อพยพ โดยต้องการจำกัดจำนวนคนเข้าประเทศ 200,000 คนต่อปี ยกเลิกการใช้เงินสกุลเงินยูโร หยุดการช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศอื่น รวมถึงต่อต้านสหภาพยุโรปด้วย
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคขวาจัดมีคะแนนอยู่ในความนิยมเป็นอันดับที่ 3 ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะสามารถครองเสียงที่นั่งในสภา โดยจะถือเป็นครั้งแรก ตั้งแต่พรรคนาซีพ่ายแพ้และสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ที่พรรคฝ่ายขวามีที่นั่งในสภาด้วย
พรรคอื่นๆ
ยังคงมีอีก 3 พรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้แก่ พรรคฝ่ายซ้าย The Left, พรรคเสรีนิยม Free Democratic Party (FDP) และพรรค Green ที่ร่วมชิงที่นั่งในสภา ซึ่งหากพรรคใหญ่ๆ ไม่สามารถครองเสียงข้างมากได้ พรรคเหล่านี้ อาจจะมีบทบาทและเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมีส่วนในการก่อตั้งพรรคร่วมรัฐบาล
ผลโพลสำรวจคะแนนนิยม
เมื่อมีการเลือกตั้ง ก็ย่อมต้องมีการสำรวจความนิยม ซึ่งผลโพลล่าสุดของสำนักข่าว The Telegraph (อัพเดทวันที่ 21 กันยายน) จะเห็นสัดส่วนคะแนนดังนี้
พรรค CDU – 36.2%
พรรค SPD – 22.3%
พรรค AfD – 10.2%
พรรค The Left – 9.6%
พรรค FDP – 9.4%
พรรค Green – 7.7%
ซึ่งมีการคาดการณ์จากหลายฝ่ายว่า พรรค CDU จะได้ที่นั่งมากที่สุดในสภา แต่ไม่สามารถตั้งพรรคเดี่ยวได้ และมีแนวโน้มว่าพรรครัฐบาลนั้นจะต้องเป็นพรรครัฐบาลผสม แต่จะมีสัดส่วนของแต่ละพรรคอย่างไร เราคงต้องรอติดตามผลการเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้ ว่าจะเป็นไปตามโพล หรือพลิกโผให้แอบตกใจเหมือนการเลือกตั้งประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมาในปีนี้กัน
อ้างอิง
http://www.telegraph.co.uk
illustration by Namsai Supavong