การที่มีผู้นำอยู่ในตำแหน่งนานๆ ย่อมมีผลต่อการพัฒนาประเทศ และเห็นผลงานได้ชัดเจนว่า ผู้นำนั้นได้เปลี่ยนประเทศให้พัฒนามากขึ้น หรือถอยหลังอย่างไร
และในสัปดาห์นี้ ก็เป็นวาระที่อังเกลา แมร์เคิล นายกฯ เยอรมนี ผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศมายาวนานถึง 16 ปี ลงจากตำแหน่ง อำลาประชาชน พร้อมมีการเลือกตั้งใหม่ที่จะเป็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ของประเทศ ซึ่งระยะเวลาทศวรรษกว่าๆ ของเธอในตำแหน่งนี้ ก็ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการเมืองเยอรมนี รวมไปถึงการกำหนดนโยบายที่เปลี่ยนความเป็นอยู่ของประชาชน และประเทศไปอย่างมากมาย
ในขณะที่เยอรมนีกำลังจะมีผู้นำคนใหม่อย่างเป็นทางการ The MATTER ชวนมาย้อนดูผลงาน และมรดกทางการเมืองของแมร์เคิลตลอด 16 ปีนี้ว่ามีอะไรบ้าง นโยบายของเธอเปลี่ยนสังคม การเมืองเยอรมนีอย่างไร รวมไปถึงเธอกู้วิกฤตของประเทศ และ EU ให้ผ่านพ้นอย่างไรบ้าง
แมร์เคิลกลายเป็นผู้นำที่เสมือนแม่ของเยอรมนี รวมไปถึงสหภาพยุโรป ซึ่งที่ผ่านมาเธอเป็นผู้นำที่มีลุคสาวแกร่งภายใต้พรรคคริสเตียนเดโมแครต (Christian Democratic Union: CDU) ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม รูปแบบการเมืองของเธอถูกเรียกว่า Merkelism ซึ่งเน้นทางสายกลาง และเธอยังนิยามตัวเองว่าเป็นนักปฏิบัติ นโยบายของแมร์เคิลถูกมองว่ามีทั้งความทันสมัย จากการเสนอกฎหมายใหม่ๆ หรือยกเลิกระบบต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันบางส่วนก็ถูกมองว่าล้าหลังด้วย
ผู้นำหญิงที่โดดเด่น และนโยบายการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ
มรดก และผลงานที่โดดเด่นของแมร์เคิลอย่างแรกที่ถูกจดจำคือ ความเป็นผู้นำผู้หญิง แมร์เคิลขึ้นมาเป็นนายกฯ คนแรกของเยอรมนีในปี 2005 ในยุคสมัยที่ยังไม่มีผู้นำหญิงมากนักในเวทีโลกที่เต็มไปด้วยผู้นำชาย โดยเธอติดอันดับผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก 10 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2011-2020 จากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbe ทั้งเธอยังกลายเป็นต้นแบบที่ทำให้ผู้หญิงได้มีพื้นที่ และเป็นตัวแทนมากขึ้น
แมร์เคิลยังมีส่วนในการสนับสนุนผู้หญิงหลายคนให้ขึ้นมามีตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ เช่น เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน รัฐมนตรีกลาโหมที่เป็นผู้หญิงคนแรกของเยอรมนี ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป หรือในปี โดยเธอเคยกล่าวสุนทรพจน์ในงานครบรอบ 100 ปีที่ผู้หญิงในเยอรมนีมีสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้ง ในปี 2018 ว่าเธอหวังว่าจะมีผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์ และการเมืองมากขึ้น และบอกว่า “การคิดถึงเรื่องสัดส่วนของผู้หญิงในสภายังเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยด้วย”
เธอยังกล่าวว่า เธอหวังว่าทั้งผู้หญิง และผู้ชายจะมีความเท่าเทียมกัน “ฉันหวังว่ามันจะกลายเป็นเรื่องของผู้ชายและผู้หญิงที่จะแบ่งปันงานการเลี้ยงลูก หรืองานบ้านอย่างเท่าเทียมกัน และจะไม่มีใครถูกบังคับให้มีบทบาทหรืองานเฉพาะเพราะเพศของเขาหรือเธอ”
ในยุคของแมร์เคิล เธอยังมีนโยบายการสนับสนุนให้พ่อได้มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น กับนโยบายของกระทรวงครอบครัว ที่มีกฎหมายลาเลี้ยงดูบุตร เพื่อหวังว่าจะแก้ปัญหาการเกิดที่ต่ำในประเทศ โดยนโยบายนี้จะให้ผู้เป็นพ่อได้ลาอยู่บ้าน เลี้ยงดูลูก แต่ยังคงได้รับเงินเดือน 2 ใน 3 ต่อปี ซึ่งหลังมีนโยบายนี้ ก็พบว่ามีผู้ชายที่ลงชื่อใช้สิทธิลาเพื่ออยู่กับครอบครัวเพิ่มมากขึ้นด้วย
ทั้งไม่เพียงแค่เพศหญิง หรือชายเท่านั้น ในยุคของแมร์เคิลยังมีนโยบายที่ก้าวหน้าอย่างสำคัญ กับกลุ่ม LGBTQ เมื่อกฎหมายสมรสกับเพศเดียวกัน ผ่านกฎหมายในปี 2017 ซึ่งแม้ว่าเธอจะออกมาบอกว่าในมุมมองของเธอ เธอคิดว่าการแต่งงานคือเรื่องของชาย และหญิง รวมถึงได้โหวตคัดค้านกฎหมายนี้ แต่ตัวเธอเองก็ได้เสนอให้กฎหมายนี้ได้เข้าสภา และยังละเมิดกฎของพรรค ให้สมาชิกพรรคได้โหวตในประเด็นนี้ ตามความเชื่อ และมุมมองของแต่ละคนเองด้วย ทำให้เรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จ และก้าวหน้าทางเพศครั้งสำคัญในประเทศนี้
สิ่งแวดล้อม ค่าแรง และนโยบายก้าวหน้าอื่นๆ
ไม่เพียงแค่เรื่องเพศ ในยุคของแมร์เคิลยังมีนโยบายที่ก้าวหน้าอื่นๆ อีก อย่างเช่น การยกเลิกเกณฑ์ทหาร ในปี 2010 หลังกระทรวงกลาโหม และพรรครัฐบาลเห็นชอบ โดยหวังจะสร้างกองกำลังติดอาวุธที่ทันสมัย และเป็นมืออาชีพ มากกว่าการบังคับ ทั้งในประเด็นนี้ แมร์เคิลยังมองว่า เป็นความท้าทายด้านความมั่นคงและเป็นโฉมหน้าการเมืองใหม่อย่างสมบูรณ์ด้วย
นอกจากนี้ยังมีนโยบายในปี 2012 ที่ทำให้เยอรมนีก้าวหน้าอย่างมากในเรื่องสิ่งแวดล้อม และพลังงานสีเขียว อย่างการประกาศยกเลิกโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ และการใช้เชื้อเพลงฟอสซิลทั้งหมดภายในปี 2022 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่เคยตั้งไว้ว่าจะยกเลิกในปี 2036 โดยการตัดสินใจนี้เกิดขึ้นหลังจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2011
การยกเลิกโรงไฟฟ้า ทำให้เยอรมนีหันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ที่ยั่งยืนกว่า ซึ่งเธอได้กล่าวถึงนโยบายนี้ว่า “ในฐานะประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งแรก เราสามารถบรรลุการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไปสู่พลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพ โดยมีโอกาสทั้งหมดที่นำมาสู่การส่งออก การพัฒนาเทคโนโลยีและงานใหม่ๆ” ด้วย
แมร์เคิลยังเป็นผู้นำคนแรกของเยอรมนี ที่เริ่มต้นการตั้งค่าแรงขั้นต่ำของประชาชน ในปี 2014 โดยในตอนนั้นได้ตั้งจำนวนค่าแรงไว้ที่ 8.50 ยูโรต่อชั่วโมง (ประมาณ 334 บาท ต่อชั่วโมง) ซึ่งจะปรับใช้ในปี 2015 และล่าสุด รัฐบาลก็ได้มีการประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้ง เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เป็น 10.45 ยูโร (ประมาณ 410 บาทต่อชั่วโมง) ภายในกลางปี 2022 ทั้งไม่ใช่ภายในประเทศเท่านั้น เธอยังเรียกร้องให้ประเทศในสหภาพยุโรปมองหาแนวทางเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศต่างๆ จะมีค่าแรงขั้นต่ำที่ใกล้เคียงกันด้วย
นโยบายที่พาทั้งประเทศพ้นภัย รวมถึง EU และประเทศอื่นๆ
แมร์เคิลยังมีความเป็นผู้นำ และนำพาประเทศพ้นปัญหาเศรษฐกิจใหญ่ๆ มาได้แล้ว กับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ซึ่งตอนนั้น แมร์เคิลและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังได้กล่าวกับประชาชน และสร้างความมั่นใจว่ารัฐบาลจะค้ำประกันเงินออมของพวกเขา เพื่อป้องกันการดำเนินงานของธนาคาร ทั้งในปีนั้นเอง ในฐานะประเทศผู้นำใน EU เมื่อกรีซเข้าสู่ภาวะล้มละลาย เสี่ยงต้องออกจาก EU เธอยังเข้าช่วยเหลือเศรษฐกิจของกรีซไม่ให้ล้ม เพราะมองว่าจะกระทบต่อประเทศอื่นๆ ใน EU
แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อต้องใช้ไม้แข็ง เมื่อปี 2012 เมื่อกรีซเริ่มผิดนัดการชำระหนี้ เธอก็ได้เป็นคนที่แสดงภาวะผู้นำของ EU ออกมาผ่านการเจรจาต่างๆ ช่วงวิกฤตการยูโร โดยยืนยันว่าจะไม่ยกหนี้ให้กรีซด้วย
ไม่เพียงแค่กรีซ ที่แมร์เคิลในฐานะผู้นำประเทศมหาอำนาจ ที่แสดงความช่วยเหลือต่อประเทศอื่นๆ แต่ในปี 2015 เธอยังตัดสินใจนโยบายใหญ่ ที่ไม่ปิดพรมแดน รับผู้อพยพที่ตกค้างในฮังการีเกือบ 1 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่อพยพจากสงครามซีเรีย และตะวันออกกลาง แม้ในตอนนั้นหลายประเทศจะตัดสินใจในนโยบายที่ตรงข้ามกับเธอ และเธอเองก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก แต่เธอก็ได้แสดงความเป็นมนุษย์ ซึ่งเธอกลับได้กล่าวออกมาว่า “wir schaffen das” หรือที่แปลจากภาษาเยอรมันว่า เราจัดการได้
แมร์เคิล ยังเป็นผู้นำที่ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคอนุรักษ์นิยมเปลี่ยนแปลงไป มีนโยบายที่ก้าวหน้ามากขึ้น และปลดแอกหลายๆ อย่างจากความดั้งเดิม การลงจากตำแหน่งของเธอครั้งนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งการเมืองแบบ Merkelism และมรดกทางการเมืองของเธอ ก็อาจจะเป็นทั้งผลดี และความท้าทายให้กับทั้งพรรค CDU ของเธอ และกับทั้งการเมืองเยอรมนี และยุโรปยุคหลังจากนี้ ซึ่งรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร จะขึ้นมามีผู้นำที่โดดเด่นท้าทายแบบแมร์เคิลได้อีกหรือไม่ เราคงต้องติดตามกัน
อ้างอิงจาก
https://www.theguardian.com/world/2021/sep/26/what-is-the-legacy-of-the-angela-merkel-era
https://www.bbc.com/thai/international-58664545
https://workpointtoday.com/explainer-angela-merkel-2/
https://www.dw.com/en/financial-incentive-gets-german-dads-staying-home/a-3406890
https://www.france24.com/en/tv-shows/reporters/20210924-angela-merkel-a-tireless-crisis-manager
https://www.aicgs.org/2021/07/aicgs-asks-what-is-angela-merkels-legacy-on-gender-equality/
https://www.bbc.com/news/world-europe-58570507
https://www.nytimes.com/2010/09/28/world/europe/28iht-germany.html
https://www.tcijthai.com/news/2012/09/archived/153
https://www.bbc.com/news/business-26851906
https://www.politico.eu/article/german-chanellor-angela-merkel-calls-for-comparable-minimum-wage-across-eu/