“พูดแบบนี้เขาเสียหายนะ ระวังโดนฟ้องหมดตัวไม่รู้ด้วย” ในช่วงที่กระแสต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตนั้นร้อนแรงเสียเหลือเกิน สิ่งที่มาคู่กันแบบขาดไม่ได้ ก็คือการวิจารณ์ของเหล่าชาวเน็ต ไม่ว่าจะต่อเหตุการณ์นั้น หรือต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องก็ตาม
จนมักจะตามมาด้วยคำเตือนที่เราจะเห็นกันอยู่บ่อยๆ ว่าถ้าล้ำเส้นไปด่าใครเข้า อาจกลายเป็นความผิดฐาน ‘หมิ่นประมาท’ โดนฟ้องติดคุกหัวโต หรือต้องจ่ายค่าเสียหายในหลักล้าน แต่ก็ยังมีความเชื่ออีกชุดหนึ่งว่า ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็น บ้างบอกว่าด่าเลี่ยงๆ ไม่เป็นไร หรือใช้ตัวย่อก็รอดแล้ว
แต่มันง่ายดายขนาดนั้นเชียวหรือ?
เพื่อให้ทุกคนเข้าใจกฎหมายเรื่องการหมิ่นประมาท การฟ้อง และการปกป้องตัวเอง ว่าแบบไหนฟ้องได้หรือไม่ได้ The MATTER ชวนไปถาม-ตอบ กับ ผศ.ดร.ณัชพล จิตติรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกัน
จากความเห็นของ ผศ.ดร.ณัชพล สรุปแล้ว การจะดูว่าการด่าหรือวิจารณ์นั้นจะเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาทหรือไม่ จะต้องดูว่ามีองค์ประกอบความผิดครบหรือเปล่า คือมีคนหนึ่ง ใส่ความบุคคลอีกคนหนึ่ง ให้บุคคลที่สามฟัง และน่าจะทำให้เกิดความเสียหาย ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้
ดังนั้นถ้าหากขาดองค์ประกอบความผิดข้อใดข้อหนึ่งไป ก็จะไม่มีความผิด แต่ข้อกฎหมายนั้นจะไม่ได้ฟันธงไว้แบบที่หลายคนอาจเคยเข้าใจ ว่าคำนั้นผิด คำนี้รอด เพราะเป็นการเขียนไว้กว้างๆ ให้ครอบคลุมทุกการกระทำที่เข้าข่ายนั่นเอง
เราจึงสามารถดูได้ง่ายๆ ว่าจะมีสิทธิโดนฟ้องไหมจากการตัดสินในมุมมองของวิญญูชน หรือคนทั่วๆ ไป ว่าข้อความนั้นมันก่อให้เกิดความเสียหายได้หรือเปล่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาลจะต้องพิจารณา
ถ้าหากเราวิจารณ์เรื่องนั้นๆ โดยสุจริต ในที่นี้ คือเป็นการวิจารณ์ถึงเรื่องที่เป็นที่สนใจในสังคมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นข่าวดาราคนดัง นักการเมือง นักธุรกิจ ก็น่าจะปลอดภัย แต่จะต้องไม่ล้ำเส้นไปจนถึงเป็นการมุ่งร้ายโดยส่วนตัวต่อคนคนนั้น ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ในประเด็นเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาทนี้ ยังมีคนบางส่วนที่บอกว่า การหมิ่นประมาทไม่ควรมีโทษทางอาญา ซึ่งจะมีบทลงโทษทางอาญาอย่างเช่นการปรับหรือจำคุก และควรจะมีโทษเพียงทางแพ่งเท่านั้น อันหมายถึงการชดใช้ค่าเสียหาย เพราะไม่อย่างนั้นอาจเป็นช่องว่างให้คนนำกฎหมายนี้มาใช้ปิดปากหรือกลั่นแกล้งกันได้
กรณีนี้ ผศ.ดร.ณัชพล ให้ความเห็นว่า ในบางประเทศก็แตกต่างจากประเทศไทย โดยไม่มีการลงโทษทางอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทแต่ให้ชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่ง ซึ่งเกิดจากความแตกต่างของลักษณะของสังคมในแต่ละประเทศ
หากบางประเทศเห็นว่า การบัญญัติกฎหมายให้การหมิ่นประมาทเป็นความผิดเป็นเรื่องที่ทําให้สังคมมีความสงบสุขเกิดขึ้น ก็อาจจะมีการกําหนดให้เป็นความผิดทางอาญา
อย่างในประเทศไทยที่พื้นฐานคนมีความเลือดร้อนมาก จากเพียงคำพูดก็นําไปสู่การทําลายร่างกาย หรือโทษที่รุนแรงมากกว่าตามมา จึงอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญายังคงมีอยู่
ซึ่ง ผศ.ดร.ณัชพล มองว่า เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรมีการศึกษาวิจัย หรือนำตัวเลขเชิงสถิติต่างๆ มาพูดคุย ว่าในอนาคต กฎหมายนี้ควรปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด
เชื่อว่ามาถึงตรงนี้ หลายคนคงได้ทำความเข้าใจถึงกฎหมายหมิ่นประมาทมากยิ่งขึ้นแล้ว ซึ่งคงจะช่วยให้ทุกคนปกป้องสิทธิของตนเองได้เมื่อถูกผู้อื่นทำให้เสียหาย แต่ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการเรียนรู้ที่จะใช้สิทธิในการแสดงออกของตนเองแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น