‘ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม’ เครื่องมือยุติความขัดแย้ง?
9 เมษายน สภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณาร่าง ‘นิรโทษกรรมประชาชน’ และร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมคดีจากการชุมนุมทางการเมืองรวมทั้งสิ้น 4 ฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาแตกต่างกัน
แต่จุดสำคัญที่น่าจับตาคือ การนิรโทษกรรมคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะมีเพียงร่างของภาคประชาชนที่เขียนอย่างชัดเจนว่า ‘ต้องนิรโทษกรรมคดี ม.112’ ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติ และ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน เสนอให้ผู้ต้องหาคดี ม.112 จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม
กฎหมายนิรโทษกรรมเคยมีมาแล้วถึง 23 ฉบับ

เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ cr.ศิลปวัฒนธรรม
หากย้อนไปตั้งแต่การเปลี่ยนการปกครอง 2475 ประเทศไทยเคยมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมไปแล้ว 23 ฉบับ เช่น การนิรโทษกรรมให้กับผู้ต่อต้านญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือการนิรโทษกรรม ‘ผู้ชุมนุม’ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ, 6 ตุลาฯ และ พฤษภาทมิฬ 2535 โดยในกรณีเหล่านี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่สลายการชุมนุม และนำไปซึ่งการบาดเจ็บและการเสียชีวิตของประชาชน ก็ได้รับการนิรโทษกรรมเช่นเดียวกัน
ดังนั้นแล้ว พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับปัจจุบัน ที่เสนอโดยภาคประชาชน จึงมีการลงรายละเอียดถึงกรณีที่จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม คือ มาตรา 113 (ความผิดฐานกบฏ) และไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐ (ที่กระทำเกินกว่าเหตุ) เพื่อเป็นการยุติวงจรการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปราบปรามการชุมนุมเกินกว่าเหตุ
คดีที่เกี่ยวข้องกับ ‘สถาบันฯ’ เคยได้รับการนิรโทษกรรม

‘#ม็อบ26ตุลาฯ ไปสถานทูตเยอรมนี’ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2020
ที่ผ่านมาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม จากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในทุกครั้ง มักจะกำหนดให้นิรโทษกรรมแบบกว้างขวาง โดยไม่ได้ระบุฐานความผิดเอาไว้ว่า ‘นิรโทษกรรมเพียงบางข้อหา’ หรือ ‘ไม่นิรโทษกรรมให้บางข้อหา’ กำหนดเพียง ‘กรอบเวลา’
จึงทำให้ทุกคดีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด ได้รับนิรโทษกรรมไปด้วย เช่น เหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีประเด็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จากการแสดงละครแขวนคอ จนนำไปสู่การล้อมปราบนิสิตนักศึกษาโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และการใช้กำลังของกลุ่มประชาชนจัดตั้ง
และหลังจากนั้นมีนิสิตนักศึกษา และประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดีในฐานความผิดกบฏและมาตรา 112 ขณะที่บางส่วนสามารถหลบหนีเข้าป่าและร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ท้ายสุดในปี 2521 รัฐบาลก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรม ยกเลิกการดำเนินคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2519 รวมทั้งคดีตามมาตรา 112 ด้วย เพื่อยุติความขัดแย้งและหาทางออกในภาวะสงครามเย็น
ปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังในคดี ม.112 อย่างน้อย 30 คน เช่น บัสบาส-มงคล ถิระโคตร จำคุก 54 ปี 6 เดือน, อัญชัญ ปรีเลิศ จำคุก 43 ปี 6 เดือน และ อานนท์ นำภา จำคุก 20 ปี 10 วัน เดือน 20 วัน จากคดี ม.112 จำนวน 7 คดี ดังนั้นหาก ‘พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน’ ผ่าน ผู้ต้องขังเหล่านี้จะได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำเป็นที่แน่นอน