“ย้ายหนีหมดแล้ว” ชนะชัย สังข์สิทธิ์ เจ้าของร้านซ่อมจักรยานยนต์ ‘มนัสชัย’ ด้านข้างพระปรางค์สามยอด จ.ลพบุรี เคยบอกกับเรา เมื่อครั้งที่เราไปสำรวจย่านเมืองเก่าลพบุรี ซึ่งกลายสภาพไม่ต่างจากเมืองร้าง อันเป็นเพราะปัญหาประชากรลิงล้นหลาม
ภาพเด็กหญิงถือปืนของเล่นเล็งใส่ลิง (ซึ่งจริงๆ เป็นภาพเก่าที่เคยได้รับรางวัลตั้งแต่ปี 2564) และภาพลิงถือปืน ที่กลายเป็นไวรัล ทำให้คนไทยกลับมาสนใจปัญหาลิงลพบุรีกันอีกครั้ง ซึ่งจริงๆ เราคงต้องยอมรับตามตรงว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยแม้แต่น้อย แถมยังสร้างผลกระทบต่อกับประชาชนใน จ.ลพบุรี หรือแม้กระทั่งลิงเอง มาอย่างยาวนาน
ถึงกับมีชาวลพบุรีนำภาพไวรัลเด็กหญิงถือปืนไปมอบให้กับ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หวังให้ช่วยแก้ปัญหา
จนกระทั่งในที่สุด วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 อธิบดีกรมอุทยานฯ นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฯ ได้ร่วมกันลงนาม MOU เพื่อแก้ไขปัญหาลิงในเขตเมืองเก่า
‘พิภพวานร’ ที่ชาวเน็ตชอบหยอกล้อกัน จึงอาจไม่ได้เพิ่งกำเนิด หากแต่มีมานานแล้ว และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ภาครัฐพยายามแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไป
คำถามคือ ที่ผ่านมาภาครัฐเคยมีมาตรการอะไรเพื่อแก้ปัญหาลิงมาบ้าง? The MATTER ชวนย้อนดูมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งที่เคยทำและไม่เคยทำ ซึ่งนำมาสู่คำถามเรื่องประสิทธิภาพของนโยบายเหล่านั้น
สวนลิง ข้าง สภ.ท่าหิน ถูกทิ้งร้าง
ถ้าพูดถึงความพยายามแก้ปัญหาประชากรลิงล้นเมืองลพบุรีของภาครัฐ อย่างแรกๆ ที่นึกถึงก็น่าจะเป็นโครงการสวนลิง บนพื้นที่ขนาดราว 11 ไร่ ข้างโรงพัก สภ.ท่าหิน ต.โพธิ์เก้าต้น อ.เมืองลพบุรี ซึ่งตั้งใจจะใช้เป็นสถานที่ที่เป็นที่อยู่ของลิง เพื่อบรรเทาจำนวนประชากรลิงในเมือง
โครงการดังกล่าวก่อสร้างในช่วงปี 2557-2559 เมื่อสืบค้นข้อมูลในช่วงนั้น ก็พบสำนักข่าวจำนวนหนึ่งรายงานตรงกัน เช่น สำนักข่าวอิศรา ระบุว่า งบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งมาจากงบของจังหวัด ใช้ไปถึง 27 ล้านบาท ยังไม่นับงบในการปรับปรุง ซึ่ง จำเริญ สละชีพ นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี เผยว่า ใช้ไปอีกหลักสิบล้านบาท
ทว่าเกือบทศวรรษตั้งแต่ก่อสร้างเสร็จ จนถึงวันนี้ สวนลิงดังกล่าวกลับถูกทิ้งร้าง โดยไม่มีลิงมาอยู่แม้แต่ตัวเดียว
ทำไมถึงเป็นช่นนั้น? ไทยรัฐออนไลน์ รายงานคำชี้แจงของ เผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ระบุว่า โครงการดังกล่าวยังไม่ได้มาตรฐาน – ด้านในกรง ต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับพฤติกรรมลิง และต้องมั่นใจว่าจะได้รับสวัสดิภาพที่ดี ส่วนด้านนอก แนวตะเข็บรั้วก็ยังไม่แข็งแรงพอ
ขณะที่เทศบาลเมืองลพบุรี เป็นผู้รับหน้าที่ดูแลสวนลิงต่อ แต่ปรากฏว่าไม่มีอำนาจในการจับลิงเข้ามาอยู่ เพราะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องได้รับมอบอำนาจจากกรมอุทยานฯ
ล่าสุด สวนลิงจะได้กลับมาใช้งานใหม่อีกครั้งหลังลงนาม MOU เปิดทางให้เจ้าหน้าที่จับลิงประมาณ 500 ตัว หรือเทียบเป็นราวๆ 22.6 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนลิงในเขตเมืองเก่าลพบุรี ไปไว้ในกรงของสวนลิง ซึ่งก็จะต้องได้รับการปรับปรุงเป็นสถานอนุบาลลิง และจะเปิดใช้เร็วๆ นี้ ชวนจับตาดูว่า การดำเนินการขั้นต้นนี้จะแล้วเสร็จเมื่อไร และใช้งบประมาณเท่าไร
โมเดลเขาพระยาเดินธง: นิคมลิงระบบปิด ไม่ได้ไปต่อ
ความจริงแล้วแนวคิดการสร้างนิคมลิงแบบระบบปิดไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ ในช่วงปี 2560-2561 เคยมีความเคลื่อนไหวจากคณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พยายามจะศึกษาการสร้างนิคมแบบดังกล่าว ที่เขาพญาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
หากแต่เรื่องก็เงียบไป หลังไม่ผ่านประชาพิจารณ์ที่ทำกับประชาชนในพื้นที่ ทำให้คนที่รณรงค์เรื่องนี้บางส่วนบอกว่า น่าเสียดาย
วิศรุต สมงาม จากกลุ่มพลเมืองลิง ผู้ขับเคลื่อนเรื่องการสื่อสารและการมีส่วนร่วมเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาลิง ให้ความเห็นกับ The MATTER ว่า “เขาพระยาเดินธงเป็นโมเดลที่น่าเสียดายมาก สนช. ตอนนั้นลงทุนไปเยอะมากกับคณะทำงานชุดนี้ ทุ่มเงินไปเยอะเพื่อจ้างนักวิชาการ มูลนิธิ wildlife ระดับโลก มาช่วยกัน
“แล้วก็ทำประชาพิจารณ์ เอาประชาชนที่อยู่ในโซนเขาพระยาเดินธงมาทำประชาพิจารณ์กันว่า คุณคิดอย่างไรบ้าง ถ้าจะมีนิคมลิงอยู่ตรงเขาลูกนี้ ปรากฏว่า มันไม่ผ่านประชาพิจารณ์ แค่นั้นเอง”
เขามองว่า แนวคิดของโมเดลดังกล่าวในด้านวิชาการดีพอแล้ว แต่ขาดด้านประชาสัมพันธ์ “คือคุณไม่สามารถย่อยข้อมูลให้ประชาชนเขารู้สึกได้ว่า มันมีประโยชน์อะไรที่ลิงไปอยู่ตรงนี้ แล้วมันช่วยลดวิกฤตได้ยังไงบ้าง ช่วยจังหวัดได้ยังไงบ้าง อันนี้อาจจะต้องคลี่ตรงนี้ออกมาให้เขาเห็นให้ได้ว่า เมื่อเกิดนิคมลิงเขาพระยาเดินธงได้ สิ่งที่เขาจะได้คืออะไร ในแง่เศรษฐกิจ”
ทำหมันไม่ทันจำนวนประชากร?
ถ้าพูดถึงมาตรการควบคุมประชากรลิงโดยตรง แน่นอนว่าเราต้องคุยกันเรื่องการทำหมันลิง ซึ่งแม้จะมีข่าวภาครัฐดำเนินการทำหมันลิงมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ แต่ด้วยภาพจำของประชากรลิงที่ล้นหลาม ทำให้หลายคนมองว่า การทำหมันอาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรหรือเปล่า?
คำอธิบายหนึ่งที่จะตอบคำถามได้ในเรื่องนี้ คือ งบประมาณการดำเนินการที่ไม่เพียงพอ สุทธิพงษ์ แกมทับทิม ให้สัมภาษณ์กับ ไทยรัฐออนไลน์ และ The101.world ตรงกันว่า งบประมาณที่ได้มา ไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ อย่างเช่น ปัจจุบันเข้าสู่ปี 2567 แต่งบประมาณประจำปียังไม่มา ก็ต้องใช้งบของปี 2566 ซึ่งทำให้ทำหมันลิงได้แค่หลักสิบตัว หรืออย่างมากก็ 100 ตัว
อีกประการหนึ่ง คือ เมื่อกรมอุทยานฯ ให้งบประมาณมา ก็จำเป็นต้องกระจายออกไปแก้ปัญหาลิงในจังหวัดอื่นๆ เช่น เพชรบุรี ชลบุรี และนครสวรรค์ เพราะลิงไม่ได้มีอยู่แค่ที่ จ.ลพบุรี จังหวัดเดียว
ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน สามารถทำหมันลิงใน จ.ลพบุรี ได้ทั้งหมด 5,135 ตัว (ตัวเลขสะสม) ส่วนในเขตเทศบาลเมืองลพบุรี ทำได้ทั้งสิ้น 2,757 ตัว (ย้ำว่าเป็นตัวเลขสะสม ตั้งแต่ปี 2557) ส่วนจำนวนประชากรลิงเมื่อปี 2566 ระบุว่า ทั้งจังหวัด มีอยู่ 5,709 ตัว เฉพาะในเขตเทศบาลเมือง มี 2,206 ตัว
อย่างไรก็ดี ก็ต้องบอกว่า ไม่ใช่ว่าการทำหมันจะไม่ได้ผลเสียทีเดียว The MATTER เคยพูดคุยกับ สพ.ญ.จุฑามาศ สุพะนาม หรือ หมอเตย สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาลิงลพบุรีมาอย่างยาวนาน ยืนยันว่าการทำหมัน ช่วยลดอัตราการเกิดของลิงลดลงจริง สังเกตจากจำนวนลิงตั้งท้อง และลูกลิงแรกเกิดลดลง
หมอเตย ระบุว่า ถึงแม้จะทำหมันลิงแล้ว แต่เมื่อเจ้าหน้าที่นำกลับไปปล่อยไว้ในที่เดิม จึงไม่แปลกที่คนทั่วไปจะมองว่า จำนวนลิงยังคงเท่าเดิมไม่ได้ลดลง
“เนื่องจากหลังการทำหมันลิงเสร็จแล้วไม่ได้นำลิงไปพักไว้ที่อื่น แต่ปล่อยลิงกลับฝูงเดิม จึงทำให้ลิงยังคงเยอะเหมือนเดิมในสายตาของคนทั่วๆ ไป และคนในชุมชนที่อาศัยอยู่ร่วมกับลิง” หมอเตยระบุ
ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องต่อมา อาจจะเป็นเรื่องของการย้ายฝูงลิงไปในพื้นที่ที่เหมาะสมมากกว่า
จับตา MOU ฉบับใหม่ แก้ปัญหาลิง
ปัญหาทั้งหมดดูจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย เพราะเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้มาร่วมกันลงนาม MOU ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาลิงในเขตเมืองเก่า
เนื้อหาของ MOU ระบุสาระสำคัญ คือ จะช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา ด้วยการมอบอำนาจให้เทศบาลเมืองลพบุรีจับลิงในเขตเมืองเก่าที่ทำหมันแล้ว มาดูแลรักษาที่สถานอนุบาลลิง
ทางด้านวิชาการ ร่วมมือกันในประเด็นการจับ ดูแลรักษาลิง และจัดการสุขภาพและสวัสดิการในสถานอนุบาลลิง ทางด้านงบประมาณ ร่วมมือกันพิจารณาจัดสรรงบประมาณ และ ด้านการประสานงาน ทุกฝ่ายจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงาน เป็นต้น
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการลงนาม MOU กัน แต่ครั้งนี้ก็เป็น MOU ที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และเปิดเป็นสาธารณะมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เราถามความเห็นของวิศรุตในเรื่องนี้ เขาแสดงความกังวลว่า ยังเป็นเอกสารที่อาจจะหละหลวมเกินไป “เขาเขียนแบบฟุ้งและกว้างมาก ซึ่งเรารู้สึกว่า อันนี้อันตราย มันก็จะทำให้เกิดช่องว่างในการที่จะละเว้นปฏิบัติได้”
อีกประการหนึ่ง เขาเสนอว่า ควรจะยกระดับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากขึ้น “นโยบายที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ให้มันเกิดจากการรับฟังความคิดเห็นประชาชนได้ไหม อยากให้ภาครัฐเขาทำเวทีรับฟัง พอมันไม่ค่อยมีกระบวนการประชาพิจารณ์ มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า ประชาชนรู้สึกว่าไม่มีส่วนร่วม สิ่งที่เขาคิดมาคือไม่ได้ยึดโยงกับความต้องการของประชาชน”
ก็น่าสนใจว่า หลังจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแก้ปัญหาไปในทิศทางใด หรือมีประสิทธิภาพมากน้อยขนาดไหน หลังจากที่ประเด็นนี้กลายเป็นความเดือดร้อนของคนในพื้นที่มานานนับสิบปี – หรือถ้าไม่ได้ผลจริงๆ ก็อาจจะต้องรอให้มีภาพลิงกลับมาไวรัลกันใหม่อีกครั้ง