ปัญหาลิงที่ลพบุรี อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ อันที่จริง เราไม่ได้ตั้งใจจะเขียนสกู๊ปข่าวลิงลพบุรีชิ้นนี้ แต่เมื่อได้ลงพื้นที่ จึงพบว่า ปัญหามันหนักหนามากจริงๆ
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน นักข่าวและช่างภาพข่าว The MATTER ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อลงพื้นที่ จ.ลพบุรี ทำข่าวงาน ‘โต๊ะจีนลิง’ ประจำปี 2566 งานเลี้ยงลิงบริเวณพระปรางค์สามยอด ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 35 ในฐานะเทศกาลที่น่าจะเป็นสีสันของการท่องเที่ยวไทย
แต่พอได้เดินไปรอบๆ จึงได้เห็นสภาพชุมชนที่ถูกครองโดยปริมาณลิงที่ล้นหลาม
มองไปด้านหน้าพระปรางค์สามยอด ตึกแถวตรงร้าน ‘ชโยวานิช’ แทบจะกลายเป็นเมืองร้าง ในวันที่ลงพื้นที่ ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ มีเพียงร้านขายเสื้อผ้าหลงเหลืออยู่ร้านเดียวที่ยังยืนหยัดต้อนรับลูกค้าอยู่ ขณะที่ถัดมาด้านข้างพระปรางค์ ก็มีกิจการเปิดอยู่แค่ร้านซ่อมจักรยานยนต์ กับร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ด
ส่วนโรงหนังมาลัยรามา ด้านหลังพระปรางค์สามยอด กลายสภาพเป็นที่อยู่อาศัยของลิง
ข้อมูลสำรวจประชากรลิงลพบุรีล่าสุด โดยส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่า เฉพาะในเขตเมืองเก่า จำนวนลิงมีมากถึง 2,206 ตัว
แล้วชาวลพบุรีจะเอาอย่างไรกันต่อ? คือคำถามที่เกิดขึ้น หลังจากที่เราได้ไปสำรวจพื้นที่เขตเมืองเก่าของจังหวัดภาคกลางแห่งนี้
พ่อค้าแม่ขายย้ายหนีลิง
“ทำไมกล้าตั้งร้านตรงนี้ ไม่กลัวเลยเหรอ” เราถาม พี่เล็ก แม่ค้าในตรอกที่ควรจะเป็นแหล่งค้าขายคึกคัก ไม่กี่ร้อยเมตรจากพระปรางค์สามยอด
“นี่ไงอาวุธเต็มเลย” พี่เล็กตอบ พลางชี้ให้ดูหนังสติ๊กกับลูกแก้ว – อุปกรณ์ไล่ลิง ที่อาจไม่ถูกต้องตามหลักสิทธิสัตว์เท่าไรนัก แต่ต้องยอมรับว่า มันคือของทั่วไปที่ใครในลพบุรีต้องมี
“เมื่อวานนี้ ของวางกันแป๊บเดียวเอง…” เธอเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ชาวบ้านต้องเจอกับการอาศัยร่วมกันกับลิง “ปัญหาตอนนี้คือ มาแย่งของเขา แล้วก็ตอนนี้มันเริ่มดุ เพราะว่าอาหารมันไม่พอกิน พอแย่ง ถ้าเราไม่ให้ มันกัดเลย ใช่ เริ่มดุแล้วตอนนี้
“ดูตลาดสิ จากที่เคยเจริญ อันนี้คนมาซื้อของเสร็จปุ๊บ ลิงแย่ง รถเขาก็กัดลูกยางหมด รถราคาตั้งหลายตังค์ ของพี่เนี่ย จอดฝั่งนู้น แป๊บเดียวเอง มันดึงคิ้วกระจก กระจกหน้าพี่แตก เสียไปตั้งหลายตังค์ ใช่ แตกเลย
“จากที่เมื่อก่อนตรงนี้นะ ร้านค้าแน่นหมด อย่างขายของกินปากซอย เมื่อก่อนเขาจะเป็นพวกโรตีสายไหม มะขามหวาน พอลิงแย่งเอาไป กำไรเขาก็ไม่คุ้มกับที่ลิงเอาไปแล้ว” พี่เล็กเล่าให้ฟังถึงความคึกคักในอดีต
ขณะที่บริเวณรอบๆ พระปรางค์สามยอด ร้านซ่อมจักรยานยนต์ ‘มนัสชัย’ คือหนึ่งในไม่กี่ร้านที่ยังยืนหยัดอยู่ “ถ้าผมมีเงินทุน ก็ไปเหมือนกัน ไม่อยู่เหมือนกัน แต่เรายังไม่มีเงินทุน” ชนะชัย สังข์สิทธิ์ เจ้าของร้าน บอกกับเรา
“มันอยู่ได้ไหม มันอยู่ไม่ได้นะ ย้ายหนีหมดแล้ว”
“ร้านขายปลาก็ย้ายไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ย้ายหนีหมด ก็ดูเอาแล้วกัน มันเจ๊งหมดแล้ว ตรงนี้เหลือร้านผม ตรงนี้เขาไม่ค่อยได้เปิดอยู่แล้ว เขาก็ปิดอยู่แล้ว โรงแรมก็ปิดกิจการไปแล้ว [ธนาคาร] ออมสินก็จะย้ายเร็วๆ นี้ เขามีโครงการแล้ว เขาไปเช่าที่ใหม่แล้วครับ” ชนะชัยเล่า
ส่วนที่ยังร่วมชะตากรรมอยู่ ก็มีร้าน ‘เบิร์ด’ ร้านขายเสื้อผ้าตึกแถวย่านชโยวานิช ที่ต้องยอมรับว่าเป็นบริเวณที่เสื่อมโทรมอย่างหนัก พื้นฟุตบาทกระจัดกระจายด้วยอาหารลิงที่กลายเป็นเศษขยะ
เราถามเจ้าของร้าน ‘เบิร์ด’ ว่าไม่อยากย้ายเหรอ “ก็คิดดู ทั้งชีวิตคนเราก็มีบ้านอยู่หลังเดียว” เขาตอบ
ปัญหาลิงลพบุรีจะไปทางไหนต่อ?
วิศรุต สมงาม จากกลุ่มพลเมืองลิง ผู้ขับเคลื่อนเรื่องการสื่อสารและการมีส่วนร่วมเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาลิง วิเคราะห์ปัญหาให้ The MATTER ฟังว่า มีอยู่ 3 ส่วนที่ปะติดปะต่อกัน หนึ่งคือ จำนวนประชากรลิงที่เขามองว่า เข้าขั้น ‘วิกฤต’ ที่เรียกว่า ‘overpopulation’
สองคือ เมื่อประชากรล้นหลาม อาหารก็ไม่เพียงพอ “ถ้าอาหารไม่เพียงพอ มันจะขยายถิ่นฐานออกไปเพื่อไปหาอาหารในแหล่งอื่น ซึ่งโดยความรับรู้ของมัน มันก็เข้าใจว่า โอเค ที่ไหนมีบ้าน ที่ไหนมีคน ที่นั่นย่อมมีอาหาร มันก็บุกรุกเข้าไปในบ้านและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน” ซึ่งส่วนที่สามก็คือ ปัญหาการบุกรุกชุมชน จนทำให้ข้าวของเสียหาย หรือคนได้รับบาดเจ็บ
สำหรับวิศรุต หนทางแก้ไขที่เขาอยากเห็น คือ ภายในระยะเวลา 20 ปีหลังจากนี้ คนต้องแยกกับลิงอย่างชัดเจน แต่ในระหว่างช่วง 5-10 ปีแรก สิ่งที่ควรจะทำ คือ การทำหมันให้ได้มากที่สุด และโยกย้ายลิงออกไปในพื้นที่ที่มีระบบนิเวศเหมาะสม
“จำนวนขนาดนี้มันชัดเจนแล้วว่าประชาชนรับไม่ไหว เมืองก็รับไม่ไหว พอจำนวนลิงเยอะขนาดนี้ ศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจของเมืองก็ลดถอยลงไปด้วย ซึ่งมันน่าเป็นห่วงมาก” วิศรุตอธิบาย
สิ่งที่เขาเห็นด้วย คือ โมเดลเขาพระยาเดินธง ซึ่งจะเป็นพื้นที่รองรับลิงได้มากถึงหลายพันตัว และจะเป็นการแยกคนกับลิงอย่างชัดเจน โมเดลดังกล่าวเคยปรากฏอยู่ในแผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิง โดยคณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ออกมาเมื่อปี 2560 แต่ก็ไม่ได้รับการสานต่อ
วิศรุตชวนคิดต่อไปว่า “คนลพบุรีอาจจะต้องทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับเรื่องตัวตนของตัวเองก่อนว่า เราเป็นเมืองที่มีอารยธรรมเป็นมรดกที่อาจจะสามารถยกระดับขึ้นไปเป็นมรดกโลกก็ได้ เราสามารถจัดระเบียบเมืองให้เป็นเมืองที่น่าอยู่น่าเที่ยวมากกว่านี้ได้ แล้วทำไมเราถึงไม่อยากปลดล็อกศักยภาพของเราเองให้ไปได้ไกลขนาดนั้น
“เพราะแต่ก่อน ย่านเมืองเก่าลพบุรีเป็นย่านที่เป็นทำเลทอง มีโรงหนังด้วย แน่นอนว่า มันไม่มีลิง หรือถ้ามี มันก็อยู่ในวงที่จำกัด ถ้าเราย้อนกลับไปภาพตอนนั้นได้ เราไม่ต้องการหรือ?”
เช่นเดียวกับ สพ.ญ.จุฑามาศ สุพะนาม หรือ หมอเตย สัตวแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญและมีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาลิงลพบุรีมาอย่างยาวนาน ที่มองว่า ปลายทางก็คงต้องเป็นการแยกคนกับลิงอย่างเหมาะสมเช่นเดียวกัน
“ภาพในอนาคตที่ต้องการเห็นคือ ลิงที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีที่อยู่ที่เหมาะสม ขาดอาหารและน้ำ ชีวิตลิงต้องมาเสี่ยงกับอุบัติเหตุต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัว ต้องมีแหล่งที่อยู่อาศัยแหล่งใหม่ เพื่อไม่ให้ลิงใช้พื้นที่ทับซ้อนร่วมกันกับคน สมควรที่ภาครัฐต้องเร่งจัดการกับปัญหานี้ให้เร็วที่สุด”
“เพราะถ้าหากลิงเดือดร้อน ชาวบ้านก็เดือดร้อนมากๆ เช่นกัน การหาพื้นที่ที่เหมาะสมและมีขนาดใหญ่มีความพอเหมาะกับลิงจำนวนมากกว่า 2,000 ตัว การจัดการเรื่องอาหารและน้ำ ผู้ดูแล และงบประมาณ ควรต้องมีการพูดถึงและวางแผนกันได้แล้วในตอนนี้ แต่พบว่า ณ ปัจจุบัน ต่างฝ่ายต่างยังไม่พยายามจะแก้ปัญหาให้ได้อย่างจริงจังและจริงใจ”
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีความเห็นอีกฝั่ง โดยเฉพาะในส่วนหน่วยงานภาครัฐ ที่มองการแก้ไขปัญหาอีกแบบ โดยที่ลิงยังต้องอยู่ร่วมกับคนต่อไป “เพราะจะมีกลุ่มคนที่บอกว่า ลิงเป็นสัญลักษณ์ของเมืองลพบุรีไปแล้ว ฝรั่งเขามาเที่ยวที่นี่ก็เพราะเขาอยากมาดู” วิศรุตอธิบายถึงเหตุผล
ภาครัฐดำเนินการไปถึงไหนแล้ว?
สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ คือ การทำหมันลิง ที่หมอเตยระบุว่า จำนวนลิงที่ทำหมันในเขตเมืองเก่าตอนนี้มีมากกว่า 2,000 ตัว แต่ประเด็นของการย้ายฝูงลิงไปในพื้นที่ที่เหมาะสม ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีการหารืออย่างเป็นรูปธรรม
ช่วงปีที่ผ่านมา ก็มีรายงานข่าว ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี ทำหมันลิงไปทั้งหมด 322 ตัว ในช่วง 19-28 มกราคม และ 17-26 สิงหาคมที่ผ่านมา
“ที่ยืนยันได้ว่าอัตราการเกิดของลิงลดลงคือ จำนวนแม่ลิงที่ตั้งท้อง คลอดลูก และตัวลูกลิงแรกเกิด เริ่มลดจำนวนลง แม่ลิงมีลูกอ่อนแรกเกิดเกาะหน้าอกลดลง แต่เนื่องจากหลังการทำหมันลิงเสร็จแล้วไม่ได้นำลิงไปพักไว้ที่อื่น แต่ปล่อยลิงกลับฝูงเดิม จึงทำให้ลิงยังคงเยอะเหมือนเดิมในสายตาของคนทั่วๆ ไป และคนในชุมชนที่อาศัยอยู่ร่วมกับลิง” หมอเตยอธิบาย
ในขณะเดียวกัน จริงๆ แล้ว การทำหมันลิงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
“เพราะลิงมีความฉลาด และจดจำพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ได้ดี ในทุกครั้งที่เห็นเพื่อนลิงถูกขังในกรงดัก ถูกจับใส่กรงเล็กและเคลื่อนย้ายออกไป ดังนั้นลิงส่วนใหญ่ก็จะพยายามหลีกหนีการดักจับได้เกือบทุกครั้ง” หมอเตยเล่า
“ลิงนะครับ ถ้าเมื่อไรที่ใส่ชุดมา ใส่ชุดอย่างกรมอุทยานมา ใส่เสื้อเอี๊ยม ใส่หมวกอะไรมา เขาหนีหมด บอกตรงๆ เขาพูดไม่ได้เท่านั้นเอง ความฉลาดมันก็คือคนนี่แหละ แต่เพียงว่าพูดไม่ได้ แค่นั้นเอง แต่ความคิดความอ่าน มันคือคน เขารู้ทุกอย่าง” ชนะชัย เจ้าของร้านซ่อมจักรยานยนต์ข้างพระปรางค์สามยอด เล่าให้เราฟัง
“พอพวกนี้มาปุ๊บ เขาจะย้ายไปอยู่ตามตึก เขาหลบ เขากลัว เขารู้ ก็เหมือนคนนี่แหละ จะมาจับมาทำหมัน เขาเข็ด เขาก็รู้ไง เหมือนจะมาทำหมัน ตอนแรกก็เอาผลไม้ไปล่อ เอาอะไรไปล่อ ก็ได้ [เดี๋ยวนี้] ไม่ละครับ พิซซ่าก็ไม่เอา เขารู้ไงว่าต้องโดนจับ”
ขณะที่หมอเตยเล่าถึงอุปสรรคอีกว่า “อีกอย่าง คือเรื่องงบประมาณ ในการจัดซื้อยาเเละเวชภัณฑ์ต่างๆ อาจจะมีงบประมาณทางจังหวัดจำกัดในแต่ละปี และเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานเองก็มีงานเยอะมาก เจ้าหน้าที่อาจจะไม่เพียงพอ กับการระดมทีมเพื่อทำหมันลิงในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละครั้ง”
นอกจากเรื่องการทำหมัน อีกสิ่งหนึ่งที่หมอเตยอยากให้ภาครัฐดำเนินการให้เร็วที่สุดเป็นการเฉพาะหน้า คือ การจัดหาพื้นที่วางเครื่องให้อาหารแบบกึ่งอัตโนมัติ ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาแล้วโดยมูลนิธิลพบุรีสามัคคีสงเคราะห์ รวมถึงจุดตั้งภาชนะใส่น้ำดื่มสะอาด
“ตอนนี้ ลิงกระจายตัวออกไปในวงกว้างเพราะเขาหาอาหารในจุดที่ลิงอาศัยอยู่ไม่ได้ จึงเร่ร่อนออกไปหาอาหารในพื้นที่ไกล ลิงอดอาหาร ลิงก็จะยิ่งโมโหหิว มีพฤติกรรมก้าวร้าว ไล่แย่งอาหาร และไล่กัดผู้คนที่เดินผ่านไปมา”
ประชาชนยังต้องการมีส่วนร่วม
“ที่ผ่านมา เวลาภาครัฐจะทำอะไร เขาก็จะมีการเรียกประชุม โดยเรียกแค่หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเขาใช้คำว่าบูรณาการ คำว่าบูรณาการของเขา มันไม่มีคำว่าประชาชนอยู่ในสมการเลย” คือความเห็นของวิศรุต
สิ่งที่วิศรุตเรียกร้องต่อไป คือการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มากขึ้น ในการกำหนดอนาคตของเมืองลพบุรี โดยที่ภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หรือเอ็นจีโอที่ขยับขับเคลื่อนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าไปอยู่ในวอร์รูมที่มีอำนาจในการตัดสินใจ
“อันนี้อย่างน้อยเราต้องการเปิดประตูบานแรกก่อนเลยก็คือ ประตูของการมีส่วนร่วม ภาครัฐจะทำงานน้อยลงและจะเหนื่อยน้อยลง ถ้าให้ภาคประชาชนที่เขามีความรู้ หรือเอกชนก็ตาม มูลนิธิเก่งๆ เยอะแยะเลยครับที่เขาพร้อม เข้าไปสนับสนุนในแง่ของวิชาการ ประตูบานแรกคือต้องเป็นประตูเรื่องการมีส่วนร่วม”
“ถ้าประชาชนไม่ได้ออกแบบร่วมแล้ว ประชาชนก็จะรู้สึกว่า เราอยู่แบบรอ ซึ่งที่ผ่านมามันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็คืออยู่แบบรอ รอให้ภาครัฐจัดการ และเราก็ไปด่าภาครัฐ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่อยากให้เกิดภาพแบบนั้น เราไม่ได้อยากว่าเขา เราอยากมีส่วนร่วมต่างหาก ที่เราออกมาเคลื่อนไหวกันแบบนี้”
ขณะที่หมอเตยสะท้อนเสียงถึงการแก้ไขปัญหาใหญ่ของจังหวัดภาคกลางแห่งนี้ว่า “การแก้ไขปัญหาเรื่องลิงของจังหวัดลพบุรีเกิดขึ้นได้ยากมาก อยากให้พลังมวลชนช่วยกันสอดส่องดูแล ว่าทำไมภาครัฐถึงดำเนินการจัดหาสถานที่ในการย้ายลิงออกไปเกือบ 20 ปีแล้ว ก็ยังไม่สำเร็จ ประชาชนชาวลพบุรียังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนเลย จนถึงวันนี้”
ไม่ต่างอะไรกับพี่เล็ก แม่ค้าที่ตั้งโต๊ะขายของไม่ห่างจากพระปรางค์สามยอด ซึ่งพูดกับเราผ่านสายตาที่ยังคงมีความหวังว่า “อยากให้แก้ไข ลพบุรีจะได้ไม่ร้าง”