การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เป็นกระบวนผลัดแผ่นดินที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ เราคงได้ยินชื่อปฏิบัติการที่เรียกว่า ‘London Bridge’ มีรหัสว่า ‘London Bridge is Down’ ตัวรหัสนี้นอกจะเป็นการส่งข่าวสำคัญแล้ว ยังมีนัยหมายถึงการปฏิบัติตามขั้นตอนอันซับซ้อนในช่วงเปลี่ยนผ่านอันสำคัญนี้
โดยนอกจากขั้นตอนที่เรียกว่า ‘Operation London Bridge’ คือปฏิบัติการหลักของการรับมือการเสด็จสวรรคต ภายในปฏิบัติการนี้ก็ยังจะมีรหัสปฏิบัติการย่อยๆ อีกมากมาย โดยรหัสต่างๆ เป็นการวางแนวทางปฏิบัติหรือขั้นตอนย่อยๆ ในระยะเวลาสิบวันนับจากวันที่เสด็จสวรรคต รหัสย่อยนั้นบางส่วนมีลักษณะเป็นการวางแผนรับมือตามเงื่อนไข แต่ส่วนใหญ่เป็นแนวทางจัดการในงานพระศพที่มีพิธี และรายละเอียดปลีกย่อย รหัสที่เราอาจจะเริ่มได้ยินมากขึ้นคือ ‘Unicorn Protocol’ อันหมายถึงแผนดำเนินการเมื่อพระราชินีเสด็จสวรรคตที่ปราสาทบาลโมรัล สกอตแลนด์
ดังนั้น รหัสปฏิบัติการต่างๆ ภายในปฏิบัติการลอนดอนบริดจ์ค่อนข้างให้ภาพรวม และเป็นลำดับขั้นตอนของพิธีสำคัญที่ทั่วโลกกำลังจับตาได้โดยสังเขป จากขั้นตอนของการเถลิงกษัตริย์พระองค์ใหม่ที่ส่วนหนึ่งมีการเสด็จเยือนพื้นที่ต่างๆ ทั่วสหราชอาณาจักร ไปจนถึงพิธีฝังพระบรมศพ และถวายความอาลัย ที่สัมพันธ์กับทั้งตัวพระราชพิธีและการจัดการกับสาธารณชน จากสะพานลอนดอนถึงยูนิคอร์น ปฏิบัติการขนนก ราชสีห์ และปรากฏการณ์น้ำเกิด หรือ Spring Tide
Operation London Bridge
ปฏิบัติการลอนดอนบริดจ์นับเป็นร่มใหญ่ของปฏิบัติการทั้งหมดที่อังกฤษจะดำเนินการหลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต แผนปฏิบัติการจะรวมตั้งแต่การประกาศการสวรรคต การจัดการพิธีของรัฐไปจนถึงพิธีไว้อาลัยและพิธีฝังพระบรมศพ ขั้นตอนพิธีหลังจากนี้จะกินเวลาสิบวันนับจากวันรุ่งขึ้นของวันที่เสด็จสวรรคต แผนการลอนดอนบริดจ์ถูกวางขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 และมีการซักซ้อมหลายครั้ง บางส่วนที่เราอาจจะเห็นแล้ว เช่น การปรับผังและวิธีการออกอากาศของสำนักข่าว การแขวนป้ายประกาศที่รั้วพระราชวังบักกิงแฮม ซึ่งขั้นตอนในนามปฏิบัติการลอนดอนบริดจ์ นับเป็นแผนการที่ละเอียดและสัมพันธ์กับหน่วยงานสำคัญของอังกฤษรวมถึงสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในเครือจักรภพและประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับอังกฤษโดยตรง
Operation Spring Tide
ตามธรรมเนียม การเสด็จสิ้นของกษัตริย์พระองค์หนึ่งจะนำไปสู่การรับรองหรือเถลิงพระยศกษัตริย์องค์ต่อไปในทันที ในช่วงเวลาของการไว้อาลัย (mourning) และรัฐพิธีจนถึงพิธีฝังพระบรมศพ Operation Spring Tide เป็นขั้นตอนของพระเจ้าชาร์ลที่ 3 ในการปฏิบัติพระกรณียกิจรับตำแหน่งกษัตริย์พระองค์ใหม่ซึ่งดำเนินคู่ไปกับพิธีพระบรมศพ ขั้นตอนสำคัญในการขึ้นเสวยราชยสมบัติจะประกอบด้วยสองส่วนใหญ่ๆ คือ การเฉลิมพระนาม (proclamations) การเฉลิมพระนามจะเกิดขึ้นในเช้าวันถัดไปหลังสมเด็จพระราชินีเสด็จสวรรคตที่ St. James’s Palace ในการเฉลิมพระนามนั้นพระเจ้าชาร์ลที่ 3 จะปรากฏตัวพร้อมสมาคมที่เรียกว่า Accession Council ในเช้าวันนั้นก็จะนับว่า เป็นประกาศการสวรรคต และและเฉลิมพระเกียรติขึ้นเป็นประมุขพระองค์ใหม่อย่างเป็นทางการ
การ proclaim หรือเฉลิมพระยศมีการทำหลายครั้งในหลายพื้นที่ เพื่อรับการเฉลิมพระนาม และรับการแสดงความอาลัย (motion of condolence) ในที่ประชุมหรือคณะสำคัญต่างๆ เช่น จากนายกรัฐมนตรีและรัฐสภา ซึ่งจุดเด่นหนึ่งคือการที่พระเจ้าชาร์ลจะเสด็จไปยังประเทศต่างๆ ของสหราชอาณาจักร คือจะเสด็จเยือนประเทศรอบๆ เช่น ในวันที่ 3 หลังจากขึ้นครองราชย์จะเสด็จเยือนเอดินเบอระ สกอตแลนด์ วันที่สี่เสด็จเยือนไอร์แลนด์เหนือ แล้วเสด็จกลับลอนดอน วันที่ 7 เสด็จแคว้นเวลส์ เป็นต้น โดยในปฏิบัตรนี้จะมีปฏิบัติการย่อย ซึ่งเรียกตามพื้นที่เสด็จ คือขณะเยือนสกอตแลนด์เรียกว่า Operation Kingfisher ที่เวลส์เรียกว่า Operation Dragon และที่ไอร์แลนด์เหนือเรียกว่า Operation Shamrock อันเป็นชื่อสัตว์ และพืชที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์และตำนานท้องถิ่น
ส่วนชื่อของปฏิบัติการสัมพันธ์กับการขึ้นลงของน้ำในคืนเดือนเกิดและเดือนดับ โดยในคืนเดือนดับ (new moon) ในช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุดจะรู้จักในนาม King Tide
Operation Unicorn
แผนการยูนิคอร์น เป็นแผนที่ปรากฏต่อสาธารณะครั้งแรกในปี ค.ศ.2019 และมีหลักฐานว่าถูกอ้างถึงในรัฐสภาสกอตแลนในปี ค.ศ.2017 แผนการนี้ว่าด้วยเงื่อนไขการเสด็จสวรรคต ขั้นตอนการเคลื่อนย้ายพระบรมศพ และการดำเนินการของรัฐบาลสกอตแลนด์ในกรณีสวรรคตที่สกอตแลนด์ โดยสถานการณ์ปัจจุบัน คือสวรรคตที่ปราสาทบาลมอรัล หลักๆ แล้วจะพูดถึงการเปิดพื้นที่ เพื่อเป็นพื้นที่สำคัญที่เกี่ยวข้องคือ Holyrood Palace และ St Giles’ Cathedral กระบวนการสำคัญของปฏิบัติการนี้ คือการย้ายและพักพระบรมศพโดยมีรถไฟหลวงเป็นพาหนะในการเคลื่อนสู่กรุงลอนดอน การเคลื่อนพระบรมศพกลับลอนดอนจะเริ่มเคลื่อนและพักพระบรมศพไว้ในวันที่ 2 หลังจากสวรรคต และพระบรมศพจะกลับถึงลอนดอนในการเดินทางสุดท้ายในวันที่ 5
Operation Overstudy
แผนการ Overstudy เป็นแผนสำรองในการเคลื่อนพระบรมศพในกรณีที่การเคลื่อนโดยรถไฟทำไม่ได้ ทั้งเป็นแผนสำรองของแผนยูนิคอร์น และการเป็นสำรองเฉพาะหน้ากรณีการเสด็จสรรคตที่ต่างประเทศ แผนนี้คือวางแนวทั้งเครื่องบิน และสนามบินที่จะใช้รับพระบรมศพกลับยังกรุงลอนดอน
Operation Lion
หลังจากพระศพเคลื่อนถึงกรุงลอนดอนในวันที่ 4 หลังสวรรคต เมื่อพระศพถึงลอนดอนแล้ว จะมีการเคลื่อนพระศพจากพระวังบักกิงแฮมไปยังโถงของพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (ในรัฐสภา) ในวันที่ 5 โดยการเคลื่อนพระศพจะใช้เส้นทางสำคัญ (ceremonial route) เพื่อเคลื่อนพระศพผ่านกรุงลอนดอน โดยปฏิบัติการราชสีห์นี้ คือการเคลื่อนขบวนและการจัดพระศพจากบักกิงแฮมสู่เวสต์มินสเตอร์
Operation Feather
หลังจากเชิญพระบรมศพเข้าสู่โถงของเวสต์มินสเตอร์ แล้ว จะมีการเปิดโถงเพื่อให้สาธารณชนเข้าแสดงความอาลัยต่อหน้าหีบพระบรมศพ เป็นเวลา 3 วัน Operation Feather คือ ขั้นการจัดการในช่วงที่พระบรมศพอยู่ที่โถงเวสต์มินสเตอร์ หีบพระบรมศพจะวางอยู่บนตั่ง (catafalque) มีการประดับประดา โดยตามแผนการเปิดให้เข้าสักการะพระบรมศพจะเปิดให้เข้า 23 ชั่วโมงต่อวัน และรวมการจัดการเรื่องการจัดขนส่งสาธารณะ และคิวของผู้ที่เดินทางมายังรัฐสภาที่คาดว่าจะมีจำนวนนับหมื่นคนต่อวัน อย่างไรก็ตามรายละเอียดต่างๆ ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการเช่นจำนวนวันหรือลักษณะการเปิดพื้นที่ให้สาธารณะเข้า
Operation Golden Orb
แผนลูกโลกทองคำ เป็นแผนหลังจากพิธีฝังพระบรมศพสิ้นสุดลง คือหลังจากสิบวันสุดท้ายที่จะถึงนี้ พระเจ้าชาร์ลก็จะต้องประกอบพิธีบรมราชาภิเษก (coronation) ต่อไป ตามประเพณีจะจัดขึ้นภายในหนึ่งปีหลังจากขึ้นครองราชย์ (accession) แผน Golden Orb เป็นผังการจัดพระราชพิธีที่เน้นความสัมพันธ์ และประกอบพิธีกับศาสนจักรคือมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งแผนยังเป็นความลับอยู่ แต่พระเจ้าชาร์ลที่ 3 เมื่อครั้งดำรงพระยศเจ้าฟ้าชาย ก็เคยให้สัมภาษณ์และพูดถึงปฏิบัติดังกล่าว โดยทรงกล่าวว่าจะเป็นงานที่ ‘ประหยัดกว่าและกินระยะเวลาสั้นกว่า (shorter and cheaper)’ ซึ่งในพระราชพิธีนี้จะรวมการเฉลิมพระยศสมเด็จพระราชินีคามิลลา (the Queen Consort)
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Manita Boonyong