เมื่อสำนักพระราชวังบักกิงแฮมได้แถลงในช่วงบ่ายวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.2022 ว่า คณะแพทย์มีความกังวลเกี่ยวกับพระพลานามัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และมีรายงานเกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์อังกฤษชั้นสูงเสด็จฯ ไปยังพระตำหนักบัลมอรัล (Balmoral Castle) ในสกอตแลนด์ หัวใจของชาวบริติชและประชาชนในเครือจักรภพต่างก็หยุดนิ่ง ร่วมกันสวดอ้อนวอนขอพระผู้เป็นเจ้าให้ราชินีผู้ชราภาพของพวกเขากลับมามีพระพลานามัยแข็งแรงอีกครั้ง
แต่ในท้ายที่สุด เมื่อช่วงเย็นวันเดียวกัน สำนักพระราชวังก็ได้ออกแถลงว่า พระองค์ทรงสวรรคตอย่างสงบที่ปราสาทมัลบอรัล ขณะพระชนมพรรษา 96 พรรษา หลังจากทรงครองราชย์มา 70 ปี สิ้นสุดรัชสมัยที่ยาวนานที่สุดของสหราชอาณาจักร
ทันทีที่ข่าวการสวรรคตของพระองค์แพร่สะพัดออกไป รัฐบาลสหราชอาณาจักรก็ได้เริ่ม ‘ปฏิบัติการสะพานลอนดอน (Operation London Bridge)’ เพื่อจัดเตรียมการไว้อาลัยและแผนพระราชพิธีพระบรมศพทันที ซึ่งรวมถึง ‘ปฎิบัติการยูนิคอร์น (Operation Unicorn)’ ในการเคลื่อนย้ายหีบพระศพจากปราสาทมัลบอรัล ในสกอตแลนด์ มายังกรุงลอนดอน เพื่อประกอบพระราชพิธีพระบรมศพที่จะเกิดขึ้นที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) ในวันจันทร์ที่ 19 กันยายน
โดยระหว่างนั้น สำนักพระราชวังอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถวายความอาลัยหีบพระบรมศพเป็นเวลา 4 วันเต็ม จนเกิดเป็นภาพผู้คนมากมายหลายแสนคนยืนต่อแถวหลายกิโลเมตร เพื่อเข้าถวายความอาลัยต่อพระราชินีนาถอันเป็นที่รักครั้งสุดท้าย และนั้นก็เป็นจุดที่เราและเพื่อนนักศึกษาอีกสามคน ตัดสินใจเดินทางเข้าลอนดอน เพื่อเป็นประจักษ์ของการสิ้นสุดของรัชสมัยที่ยาวนานและรุ่งเรืองที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร
เช้าตรู่ของวันจันทร์ที่ 19 กันยายน ค.ศ.2022 เราทั้งสี่คนเดินทางออกจากเมืองลิเวอร์พูล ทางตอนเหนือของอังกฤษด้วยรถยนต์ โดยวางแผนกันว่าจะนำรถไปจอดใกล้ๆ กับสถานีรถไฟใต้ดิน Stanmore ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน และจับรถไฟใต้ดินเข้าเมืองแทน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงในการเดินทางถึง Hyde Park สวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดกลางกรุงลอนดอน และเป็นจุดหมายปลายทางที่ประชาชนจากทั่วสหราชอาณาจักรมารวมตัวกันมากที่สุด
เมื่อเดินทางถึงสถานีใต้ดิน Green Park อันเป็นสถานีที่อยู่ไม่ห่างจากจุดหมายมาก ฝูงชนต่างก็พากันเดินเท้าออกจากสถานี มุ่งหน้าไปจับจองพื้นที่ตามเส้นทางที่คาดว่าจะได้เห็นหีบพระบรมศพ แต่เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนได้เดินทางมาจับจองพื้นที่จนเต็มตั้งแต่หลายวันก่อนหน้า ทำให้พวกเราต้องเปลี่ยนแผนไปรับชมพระราชพิธีใน Hyde Park แทน ซึ่งรัฐบาลก็ได้อำนวยความสะดวกด้วยการตั้งจอฉายพระราชพิธีให้ประชาชนได้รับชมหลายจุด
สวน Hyde Park ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1536 ตามพระราชดำริของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (Henry VIII) ที่ต้องการที่ดินจากมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เป็นที่ล่าสัตว์ส่วนพระองค์และข้าราชบริพาร จนกระทั่งเปิดเป็นสวนสาธารณะอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1637 ในรัชสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจากประชาชน โดยหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของ Hyde Park คือ เหตุการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ในลอนดอน (The Great Plague of London) ในปี ค.ศ.1665 หนึ่งในห้าของชาวลอนดอนหรือประชากรกว่าหนึ่งแสนคนในขณะนั้นเสียชีวิตจากการระบาดของกาฬโรค ทำให้ชาวลอนดอนที่ยังสุขภาพดีหนีเข้ามาตั้งแคมป์ชั่วคราวใน Hyde Park เพื่อหนีการระบาดของโรคในเมือง
Hyde Park ได้กลายเป็นทั้งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและจัดกิจกรรมต่างๆของชาวลอนดอนเสมอมา โดยมีหลายเหตุการณ์สำคัญจัดขึ้นที่นี้ เช่น ในปี ค.ศ.1814 เจ้าชายผู้สำเร็จราชการแทน (Prince Regent) หรือเจ้าชายจอร์จ ซึ่งต่อมาจะได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 4 ได้จัดงานจุดพลุเฉลิมฉลองการสิ้นสุดของสงครามนโปเลียน (Napoleonic War) ในปี ค.ศ.1851 ก็ได้มีการจัดนิทรรศการใหญ่ (The Great Exhibition) ซึ่งเป็นงานจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์และอุตสาหกรรมจากทั่วโลก ในรัชสมัยพระราชินีนาถวิคตอเรีย และในปี ค.ศ.1977 งานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี (The Silver Jubilee) ของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ถูกจัดขึ้นที่นี้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ Hyde Park ยังมีชื่อเสียงจากการเป็นจุดปราศรัยและการประท้วงอย่างเสรีที่สำคัญของอังกฤษตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมีบุคคลในประวัติศาสตร์ที่สำคัญไม่ว่า คาร์ล มาร์กซ์, วลาดิเมียร์ เลนิน และ จอร์จ ออร์เวลล์ เคยเดินทางมาที่นี้เพื่อปราศรัยที่ Speak Corner ซึ่งปัจจุบันเราก็ยังสามารถเห็นกลุ่มคนมารวมตัวกันในเช้าวันอาทิตย์ในบริเวณนี้อยู่ตลอดเวลา โดยเนื้อหาจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ ตราบใดที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย
และในวันนี้ Hyde Park ก็ได้กลายเป็นสถานที่สำคัญของชาวลอนดอนและประชาชนอีกหลายพันหลายหมื่นคนที่ต้องการมาบอกลากษัตรีย์ผู้เป็นสัญลักษณ์ของสหราชอาณาจักรกว่า 70 ปี ไม่ว่าจะชายหรือหญิง จะเด็กหรือชรา ต่างก็พากันจับจองที่นั่งบนพื้นหญ้า สายตานับพันคู่จ้องมองไปที่จอขนาดใหญ่ที่กำลังฉายพระราชพิธี บรรยากาศเป็นไปด้วยเงียบ มีเพียงแต่เสียงจากงานพระราชพิธีและเสียงยิงสลุตอยู่ไม่ไกลเท่านั้น
จนกระทั่งเมื่อมีการเคลื่อนหีบพระบรมศพออกจากมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ มายังซุ้มประตูเวลลิงตัน (Wellington Arch) หรือประตูชัยรัฐธรรมนูญ (Constitution Arch) เพื่อเคลื่อนย้ายขึ้นรถบรรทุกพระบรมศพเดินทางออกจากกรุงลอนดอนมุ่งหน้าไปพระราชวังวินด์เซอร์ (Windsor Castle) เพื่อประกอบพิธีขั้นสุดท้ายที่โบสต์น้อยเซนต์จอร์จ (St. George Chapel) ก่อนจะฝังพระบรมศพเคียงข้างพระราชสวามี เจ้าชายฟิลิปป์ ดยุกแห่งเอดินเบอระ (Prince Philip, Duke of Edinburgh) ต่อไป ผู้คนต่างก็ทยอยกันยืนขึ้น สงบนิ่ง เป็นการไว้อาลัยส่งสมเด็จพระราชินีออกจากวิหารแห่งนี้เป็นครั้งสุดท้าย
และเมื่อภาพของรถบรรทุกพระบรมศพค่อยๆ เคลื่อนตัวออกไป พร้อมกับเพลง God Save the King เสียงปรบมือก็ดังขึ้นเกรียวกราวทั่ว Hyde Park นัยว่าเพื่อเป็นการสรรเสริญทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ได้ทำไว้แก่ชาวบริติชและประชาชนในประเทศเครือจักรภพ และเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับรัชสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร ถึงตอนนี้หลายคนถึงกับกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่ เพราะนี่ถือการเดินทางครั้งสุดท้ายของพระองค์จริงๆ แล้ว
ระหว่างนั้น ภาพบนจอก็ยังคงฉายภาพรถบรรทุกพระบรมศพเคลื่อนตัวออกจากกรุงลอนดอนอยู่เรื่อยๆ หลายคนเลือกที่จะนั่งเฝ้ามองการเดินทางครั้งสุดท้ายของพระองค์ต่อ อีกหลายคนก็เลือกที่จะสิ้นสุดการไว้อาลัยเพียงเท่านี้ แต่ไม่วายที่จะนำดอกไม้ที่หวังแต่แรกว่าจะนำมามอบให้แก่พระองค์ในการเดินทางครั้งสุดท้าย ติดมือไปวางตามสถานที่สำคัญในกรุงลอนดอนแทน
ตอนเย็นของวันนั้นเอง เราทั้งสี่คนก็เดินทางกลับจากกรุงลอนดอนทันที แต่ก่อนจากกรุงลอนดอนในครั้งนี้ พวกเราตัดสินใจแวะเติมพลังกันเล็กน้อย เดินชมเมืองอีกนิดหน่อย เพื่อเก็บบรรยากาศครั้งประวัติศาสตร์ให้ได้มากที่สุด และก็พบว่า แม้ว่าทุกคนจะยังคงเศร้า แต่ชีวิตก็ต้องเดินไปข้างหน้า ร้านค้า ร้านอาหาร ทยอยกลับมาเปิดอีกครั้งหลังพระราชพิธีจบลง อันเป็นสัญลักษณ์สุดท้ายว่า รัชสมัยของเอลิซาเบธที่ 2 นั้นได้สิ้นสุดลงแล้วอย่างสมบูรณ์