จากคำถามง่ายๆ ของ กิมเซ็ง แซ่ซี พนักงานขายไอศกรีม ที่นำเสียงบ่นของลูกค้าไปแจ้งเถ้าแก่เรื่องไอศกรีมไม่หวานเลย และได้รับคำตอบกลับมาว่า “ถ้า(ลื๊อ)คิดว่าจะปรับปรุงอะไร ก็ไปทำเองสิ” ได้นำมาสู่ไอศกรีมทำเองที่คนไทยภูมิใจ แม้ผู้ริเริ่มจะมาจากเมืองจีนก็ตาม
กว่า 68 ปี (นับย้อนหลังคือปี 2493) ที่กิมเซ็ง กับภรรยา-น้ายเฮียง แซ่ซี ร่วมกันทำไอศกรีมแบรนด์ของตัวเอง ตั้งแต่ ‘หมีเกาะต้นมะพร้าว’ ก่อนจะถูกขอให้เปลี่ยน เพราะไปซ้ำสัญลักษณ์ของนมตราหมี กลายมาเป็น ‘ไผ่ทอง’ ในปี 2527 ที่สามี-ภรรยาแซ่ซี ร่วมกันปลุกปั้นจนเป็นที่รู้จัก ในปัจจุบัน
(เดิมจะใช้ชื่อว่า กิมเต็ก เป็นภาษาจีนแต้จิ๋วที่แปลว่า ‘ไผ่ทอง’ ด้วย แต่ก็ไม่ได้ใช้)
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีเรื่องที่ทำให้หลายๆ คนหันมาสนใจแบรนด์ไอศกรีมรสชาติกลมกล่อมที่ขายผ่านรถเข็นอันเป็นเอกลักษณ์นี้ เนื่องจากมีการโพสต์เฟซบุ๊ก เปิดประเด็นเรื่องการเป็น ของแท้-ของเทียม ระหว่าง ‘ไผ่ทอง ไอสครีม’ กับ ‘ไผ่ทอง ไอศครีม’
หลายๆ สื่อไปสืบเสาะหาที่มาที่ไปของความขัดแย้งนี้ ก่อนจะได้ข้อสรุปคล้ายๆ กัน คือน่าจะเป็นความขัดแย้งภายในกงสี ตระกูลชัยผาติกุล (แซ่ซี เดิม) แถมยังลุกลามบานปลายจนมีคดีฟ้องร้องกันก่อนหน้านี้
โดย ‘ไผ่ทอง ไอสครีม’ (ใช้ ส.เสือ สะกด) เป็นเจ้าดั้งเดิมที่ดำเนินกิจการมานานนม ภายใต้ ‘ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไผ่ทองซีกิมเช็ง’ มี น้ายเฮียง แซ่ซี กับลูกๆ ช่วยกันบริหาร
ที่มาของคำว่า ไอสครีม ซึ่งใช้ ส.เสือสะกด เป็นทั้งกิมมิกทางการค้า และมองว่า ถ้าใช้ ศ.ศาลา จะดูง่วงๆ เพลียๆ
ส่วน ‘ไผ่ทอง ไอศครีม’ (ใช้ ศ.ศาลา สะกด) เป็นของลูกชายคนที่ 7 บุญชัย ชัยผาติกุล ที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2537 ดำเนินกิจการภายใต้ ‘บริษัท ไผ่ทอง ไอศครีม จำกัด’ (เดิมชื่อบริษัท ศักดิ์ชัยกิจเอสซีเค จำกัด)
โดยสาเหตุที่เป็นข่าว เพราะฝ่ายแรกโพสต์เฟซบุ๊ก โจมตีฝ่ายหลัง โดยระบุว่า “โปรดระวัง!! สินค้าลอกเลียนแบบ สังเกตก่อนซื้อกินด้วยจ้าาาาา ไผ่ทองไอสครีมของแท้นั้นต้องมีจุดสังเกต 2-3 จุดดังนี้คือ โลโก้ไม้มลายใบม้วน และแม้ไอศครีมคือคำที่สะกดถูกต้อง แต่ไผ่ทองนั้นใช้คำสะกดว่า ‘ไอสครีม’ เป็น ส.เสือ แทน”
รตา ชัยผาติกุล ลูกสาวคนที่ 8 ผู้จัดการฝ่ายการตลาดไผ่ทองไอสครีม (ไผ่ทองฯเจ้าเดิม) ชี้แจงสาเหตุที่มีดราม่าขึ้นมาเพราะต้องการสื่อกับลูกค้าว่า ยังมีอีกแบรนด์หนึ่ง ที่ทั้งรสชาติและคุณภาพไม่เหมือนกัน
“แม้จะเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เกิดจากความขัดแย้งภายในครอบครัว”
โดย 2 ฝ่ายฟ้องร้องกันเรื่องเครื่องหมายการค้า ที่ปัจจุบัน คดียังไม่ถึงที่สุด
เป็นเรื่องราวของน้ำแยกสาย ไผ่ (ทอง) แตกกอ โดยแท้ทรู
อ้างอิงจาก
– gmlive [1]