ผลการเลือกตั้ง 2566 ประกาศเกือบครบแล้ว (เว็บไซต์ กกต. 99.4%) และยังคงเป็นพรรคก้าวไกลที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยจำนวน ส.ส. รวม 152 ที่นั่ง
ท่ามกลางเสียงโห่ร้องและน้ำตารื้นจากด้อมส้ม ปรากฎการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ‘บ้านใหญ่’ หรือตระกูลกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในพื้นที่หลายแห่งพลาดท่าพ่ายอย่างยับเยิน ถึงขนาดบางพื้นที่ไม่ได้สักหนึ่งคะแนนเสียงด้วยซ้ำ The MATTER ชวนดู 5 พื้นที่ที่บ้านใหญ่แตกพ่ายแบบละเอียด พวกเขาเสียท่าให้ใคร ได้คะแนนเสียงเท่าไหร่
สมุทรปราการ – สิ้นม้าทองคำ
ในการเลือกตั้งปี 2566 เมืองปากน้ำเพิ่มเขตเลือกตั้งจาก 7 เขต (เลือกตั้ง 2562) เพิ่มเป็น 8 เขต และทางด้าน ‘ตระกูลอัศวเหม’ หรือม้าทองคำแห่งเมืองปากน้ำส่งผู้สมัครในนามสกุลของตนลง ดังนี้
- อัครวัฒน์ อัศวเหม อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ลงเขตเลือกตั้งที่ 1
- วรพร อัศวเหม อดีตประธานสภาเทศบาลบางปู ลงเขตเลือกตั้งที่ 4
- ต่อศักดิ์ อัศวเหม ลงเขตเลือกตั้งที่ 7
และอย่างที่ทราบกันดีว่าเมืองปากน้ำถูกคลื่นส้มพัดกระจุยกระจาย กวาดทั้งหมด 8 ที่นั่งไปครอง โดยผลการเลือกตั้งออกมาพบว่าเหล่าทายาทรุ่นที่ 3 ตระกูลอัศวเหม ซึ่งล้วนสังกัดพรรคพลังประชารัฐ พ่ายแพ้ชนิดหมดท่าให้กับผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล โดยคะแนน ดังนี้
- เขตเลือกตั้งที่ 1 อัครวัฒน์ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 2 ได้รับ 21,460 คะแนน ขณะที่อันดับที่ 1 คือ พนิดา มงคลสวัสดิ์ จากพรรคก้าวไกลได้คะแนนทั้งหมด 46,383 คะแนน
- เขตเลือกตั้งที่ 4 วรพรได้คะแนนเป็นลำดับที่ 4 ได้รับ 11,930 คะแนน พ่ายแก้ให้แก่ วุฒินันท์ บุญชู จากพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนไป 49,043 คะแนน
- เขตเลือกตั้งที่ 7 ต่อศักดิ์ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 4 เช่นกัน ได้รับ 19,838 คะแนน เสียท่าให้ บุญเลิศ แสงพันธุ์ จากพรรกไกลที่ได้คะแนน 39,151 คะแนน
นอกจากนี้ ชนม์ทิดา อัศวเหม สะใภ้หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งประกาศตัวลงปาร์ตี้ลิสต์อันดับที่ 5 ของพรรคภูมิใจไทย ก็ไปไม่ถึงฝันเช่นกัน เพราะภูมิใจไทยได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์รวมทั้งประเทศแค่ 1.12 ล้านคะแนน ได้บัญชีรายชื่อเพียง 3 คนเท่านั้น
หรือจะสิ้นยุคม้าทองคำเสียแล้ว…
ชลบุรี – บ้านใหญ่พัง บ้านใหม่เละ
เป็นอีกสนามการเมืองที่ทั้งบ้านใหญ่อย่างตระกูล ‘คุณปลื้ม’ ซึ่งย้ายมาซบพรรคเพื่อไทย และบ้านใหม่อย่างตระกูล ‘ชมกลิ่น’ ของอดีต รมต.แรงงาน สุชาติ ชมกลิ่น ที่ตาม พล.อ.ประยุทธ์ มาร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติพังไม่เป็นท่า เพราะจากทั้งหมด 10 เขตเลือกตั้ง พวกเขาชนะได้แค่ฝั่งละ 1 เขตเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 7 เขต โดนก้าวไกลกวาดเรียบ
ผลสรุปคะแนนในครั้งนี้ นักการเมืองสายตรงจากฝาก สนธยา คุณปลื้ม อย่าง สุกุมล คุณปลื้ม ภรรยาของสนธยา ลงสมัครในเขตเลือกตั้งที่ 6 และได้รับคะแนนเป็นลำดับที่ 2 แพ้ให้กับ กฤษฏิ์ ชีวะธรรมานนท์ จากพรรคก้าวไกลไปเกือบ 10,000 คะแนน
อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทยยังสามารถคว้ามาได้ 1 เขตคือ ในเขตเลือกตั้งที่ 5 โดย อนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ นำห่าง รณเทพ อนุวัฒน์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติไปกว่า 8,000 คะแนน
ขณะที่ทางด้านพรรครวมไทยสร้างชาติ เอาชนะมาได้ 1 เขต คือชลบุรีเขต 4 ที่ส่งบ้านใหญ่อีกหลังในฝากอย่าง จิรวุฒิ สิงห์โตทอง ลงชิงชัย
ส่วน 2 งูเห่าจากพรรคอนาคตใหม่อย่าง ขวัญเลิศ พานิชมาท ซึ่งย้ายไปซบพรรคภูมิใจไทย และ กวินนาถ ตาคีย์ ซึ่งย้ายสังกัดไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ สอบตกทั้งคู่ และได้คะแนนเพียง 4,538 คะแนน และ 807 คะแนนตามลำดับ
ระยอง – คลื่นส้มซัด ณ แม่รำพึง
ถ้าหากบ้านใหญ่ของชลบุรีคือ ‘คุณปลื้ม’ บ้านใหญ่ของระยองก็คงไม่พ้น ‘ปิตุเตชะ’ นำโดย สาธิต ปิตุเตชะ อดีต รมช.สาธารณสุขในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งครั้งนี้ลงสมัครเลือกตั้งในพื้นที่ระยอง เขต 2
อย่างไรก็ตาม นี่นับเป็นความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของตระกูลปิตุเตชะ ซึ่งส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตจากตระกูลตัวเองลงทั้งหมด 4 คนจาก 5 เขตในพื้นที่ระยอง โดยผลการเลือกตั้งออกมา ดังนี้
- เขตเลือกตั้งที่ 1 พะศิน ปิตุเตชะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 2 รวม 17,829 คะแนน แพ้ให้แก่ กมนทรรศน์ กิตติสุนทรสกุล จากพรรคก้าวไกลซึ่งได้คะแนน 37,820 คะแนน
- เขตเลือกตั้งที่ 2 สาธิต ปิตุเตชะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 2 เช่นกัน รวม 23,298 คะแนน และแพ้ให้แก่ กฤช ศิลปชัย จากพรรคก้าวไกล ซึ่งได้คะแนน 38,813 คะแนน
- เขตเลือกตั้งที่ 4 ธารา ปิตุเตชะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 2 รวม 27,055 คะแนน แพ้ให้แก่ ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ จากพรรคก้าวไกล ซึ่งได้คะแนน 38,707 คะแนน
- เขตเลือกตั้งที่ 5 ฉัตรชัย ปิตุเตชะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 2 รวม 19,081 คะแนน พ่ายท่าให้แก่ สว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ จากพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนน 34,706 คะแนน
ความพ่ายแพ้ครั้งนี้นับเป็นความปราชัยของตระกูลปิตุเตชะ และสะท้อนความเสื่อมถอยของพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นอย่างดี แต่ในทางกลับกัน ผลคะแนนที่ออกมาที่ 2 ในทุกเขตเลือกตั้ง ก็สะท้อนเช่นกันว่าชื่อ ‘ปิตุเตชะ’ ยังขายได้ และมีผู้คนนิยมชมชอบอยู่ไม่น้อย เช่นนั้น จึงไม่แน่ใจว่าเป็นความเบื่อของผู้คนต่อนักการเมืองหน้าเดิม หรือเป็นเพราะพรรคที่สังกัดกันแน่ที่ทำให้ปิตุเตชะสอบตกยกตระกูล
นครราชสีมา – เมืองย่าโมสิ้นตระกูลดัง
นับเป็นหนึ่งในเขตพื้นที่เลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในรอบนี้ สำหรับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีทั้งหมด 16 เขตเลือกตั้ง โดยผลปรากฎว่าเป็นพรรคเพื่อไทยที่กวาดไปได้ 12 ที่นั่ง พรรคก้าวไกล 3 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทยสอดแทรกมาได้ 1 ที่นั่ง
แต่สำหรับตระกูลการเมืองที่โดดเด่นที่สุดในเมืองย่าโม คงไม่พ้นตระกูล ‘รัตนเศรษฐ’ ของ วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปฝ่ายรัฐบาลในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และตระกูล ‘ลิปตพัลลภ’ ของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่รวมพรรคกับ กรณ์ จาติกวณิช กลายเป็นพรรคชาติพัฒนากล้าในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ กล่าวสรุปรวบรัดผลงานของทั้งสองตระกูลการเมืองได้ว่า ‘พัง’ ดังนี้
- เขตเลือกตั้งที่ 1 เทวัญ ลิปตพัลลภ จากพรรคชาติพัฒนากล้าได้คะแนนเป็นลำดับที่ 2 รวม 29,142 คะแนน แพ้ให้กับ ฉัตร สุภัทรวณิชย์ จากพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนน 37,043 คะแนน
สรุปในการเลือกตั้งรอบนี้ พรรคชาติพัฒนากล้าได้ที่นั่ง ส.ส.มาเพียง 2 ที่นั่ง ได้แก่ ประสาท ตันประเสริฐ จากพื้นที่นครสวรรค์ เขต 6 และ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ปาร์ตี้ลิสต์อันดับหนึ่งของพรรคเท่านั้น หรือแปลได้ว่าจะไม่มีลิปตพัลลภในสภาสมัยนี้
ทางด้านตระกูลรัตนเศรษฐ พ่ายแพ้ในหลายเขต ดังนี้
- เขตเลือกตั้งที่ 5 ทวิรัฐ รัตนเศรษฐ จากพรรครวมไทยสร้างชาติได้ลำดับที่ 2 รวม 29,118 คะแนน แพ้ให้แก่ สมเกียรติ ตันดิลกตระกูล ที่ได้คะแนน 46,479 คะแนน
- เขตเลือกตั้งที่ 7 ทัศนียา รัตนเศรษฐ จากพรรครวมไทยสร้างชาติแพ้ให้แก่ ปิยะนุช ยินดีสุข จากพรรคเพื่อไทยไปเกือบเท่าตัว
- เขตเลือกตั้งที่ 16 ตติรัฐ รัตนเศรษฐ ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 2 เช่น รวม 24,895 คะแนน พ่ายให้แก่ พรเทพ ศิริโรจนกุล จากพรรคเพื่อไทยซึ่งได้ 37,412 คะแนน
- พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพียงแค่ 2 คน ทำให้ อธิรัฐ รัตนเศรษฐ และ วิรัช รัตนเศรษฐ บัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 และ 9 อดเข้าสภาไปตามกัน
เรียกว่าเป็นอีกพื้นที่ที่ตระกูลการเมืองใหญ่ในพื้นที่สอบตกกันระนาว และถ้าดูคะแนนโดยรวมอาจพูดได้ว่าหลานย่าโมรักประชาธิปไตยกันแบบสุดหัวใจ (ยกเว้นเขต 9)
เชียงใหม่ — เกมชิงเมืองประชาธิปไตย
นับเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปีที่พรรคเพื่อไทยสูญเสียฐานที่มั่นอย่าง จังหวัดเชียงใหม่ให้แก่พรรคการเมืองอื่น โดยในครั้งนี้เชียงใหม่มีทั้งหมด 10 เขตเลือกตั้ง และเพื่อไทยเอาชนะไปได้แค่ 2 เขตเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นของพรรคก้าวไกล 7 เขต และพรรคพลังประชารัฐ 1 เขต
หนึ่งในเขตสำคัญที่สุดในพื้นที่นี้คงไม่พ้น เขต 3 อำเภอสันกำแพง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตสองนายกฯ ที่ถูกพิษภัยรัฐประหารจนต้องลี้ภัย โดยในเขตดังกล่าว ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล จากพรรคก้าวไกลเอาชนะ ส.ส.กุ้ง หรือ ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ไปด้วยคะแนนห่างเกือบ 4,000 คะแนน
ส่วนเขตที่เพื่อไทยชนะคือ เขต 5 ของ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ 4 สมัยที่เฉือน สมชิด กันธะยา จากพรรคก้าวไกลไปในหลักร้อยคะแนน และเขต 10 ที่ ศรีโสภา โกฏคำลือ เอาชนะ นรพล ตันติมนตรี จากพรรคพลังประชารัฐไปได้มากกว่า 3,000 คะแนน
ส่วนเขต 9 เป็นพื้นที่หักปากกาเซียน เมื่อ นเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ จากพรรคพลังประชารัฐปักธงพรรคลงบนพื้นที่เชียงใหม่ได้เป็นครั้งแรก หลังตัวแทนจากพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยตัดคะแนนกันเองเสียท่าไปในที่สุด ทั้งนี้ เขต 9 ยังเป็นพื้นที่ที่ ศรีนวล บุญลือ อดีต ‘งูเห่า’ พรรคอนาคตใหม่ที่ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยลงชิงตำแหน่ง โดยเธอได้คะแนนเป็นลำดับที่ 4 ที่ 12,847 คะแนน
จะพูดว่าผลคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ นับเป็นความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยในพื้นที่เชียงใหม่ได้ไหม ก็คงยังไม่ได้เต็มปาก และยังต้องดูกันไปอีกในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป แต่ที่แน่ใจได้อย่างนึงคือ เชียงใหม่เป็นดินแดนแห่งคนรักประชาธิปไตยที่แท้จริง
บ้านใหญ่ยังใหญ่อยู่
ถึงแม้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ บ้านใหญ่หลายหลังจะถูกทุบแล้วรุกเข้าประตูบ้าน แต่ในหลายพื้นที่พวกเขาก็ยังประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ดี อาทิ
- ศิลปอาชา บ้านใหญ่สุพรรณบุรี – ยังคงกำชัยชนะได้ทั้งหมด 5 เขตเลือกตั้ง ชนิดที่ว่าทิ้งอันดับสองไม่เห็นฝุ่นสักเขต
- ชิดชอบ บ้านใหญ่บุรีรัมย์ – คว้าชัยได้ทั้ง 10 เขตเลือกตั้ง และมีเพียงเขต 7 เท่านั้น ที่ทิ้งห่างหลักร้อยคะแนน ส่วนที่เหลือห่างหลักพันทุกเขต
- พะเยา บ้านใหญ่พรหมเผ่า – ‘ผู้กองแป้ง’ นำทีมผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐคว้าชัยได้ครบ 3 เขตในเมืองพะเยา
- สระแก้ว บ้านใหญ่เทียนทอง – ถึงแม้จะแตกเป็นสองสาย ลงสมัครพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย แต่บ้านใหญ่เทียนทองยังสามารถกำชัยชนะทั้ง 3 เขตในจังหวัดสระแก้วได้อย่างดงาม
- เพชรบูรณ์ บ้านใหญ่พร้อมพัฒน์ – เป็นอีกเขตที่พรรคพลังประชารัฐชนะยกจังหวัด โดยคว้าชัยชนะได้ทั้ง 6 เขตในจังหวัด รวมถึงเขต 5 ที่ วันเพ็ญ ภรรยาของ สันติ พร้อมพัฒน์ ลงสมัครด้วยตัวเอง
ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่บ้านใหญ่สามารถรักษาพื้นที่เอาไว้ได้ เช่น ใน จังหวัดสิงห์บุรี ที่ โชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ลูกพี่ลูกน้องของ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ สามารถคว้าพุงปลาของจังหวัดสิงห์บุรีไปได้ หรือในพื้นที่ จ.สงขลา ตระกูลขาวสนิทก็สามารถพาธงประชาธิปัตย์คว้าชัยไปได้ในเขต 5 และ 9 ของจังหวัด
ถึงแม้ยังพูดไม่ได้ว่าสิ้นสุดยุคของตระกูลผู้มีอิทธิพลการเมืองในประเทศไทย แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็สะท้อนออกได้อย่างนึงว่า สายลมของการเปลี่ยนแปลงเริ่มพัดแล้ว และยิ่งนานวันมันจะพัดแรงขึ้น แรงขึ้น และแรงขึ้น จนการเมืองแบบเก่าที่พึ่งพิงแต่ชื่อตระกูลพังทลายหายไปกับหน้าประวัติศาสตร์.. ได้ยินไหม พัดมานั่นแล้วไง
อ้างอิงจาก