หลังมีรายงานล่าสุดว่า กทม. พบผู้เสียชีวิตจากการใช้กัญชาในปริมาณมาก 1 ราย และมีผู้ต้องเข้ารักษาตัวรวมถึง 4 ราย ยิ่งตอกย้ำว่าสถานะของกัญชาตอนนี้กำลังสร้างความกังวลให้กับสังคมไทย เพราะนอกจากความรู้ที่ถูกปิดตายมาเป็นเวลานาน กฎหมายที่ควรออกมาเพื่อรองรับสถานะกัญชา กลับเพิ่งผ่านสภาวาระแรกเท่านั้น สถานะของกัญชาตอนนี้จึงไม่ต่างจากตกอยู่ในหลุมสุญญากาศ ทั้งในด้านความรู้และกฎหมาย
เช่นเดียวกับของอร่อยทุกอย่างบนโลก เมื่อกินมากไปก็มีปัญหาเรื่องไขมันและน้ำตาล กัญชาเองก็มีโทษและความน่ากังวลไม่ต่างกัน และความรู้เท่านั้นที่จะช่วยให้สังคมเรียนรู้กลับมาอยู่ร่วมกับกัญชาได้อย่างเข้าใจ
The MATTER รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH), ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติในสหราชอาณาจักร และเว็บไซต์ของรัฐบาลแคนาดา ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขอันดับต้นของโลกและมีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ กัญชาส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง คนกลุ่มไหนที่ควรระมัดระวังในการใช้เป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ข้อมูลทั้งหมดเน้นไปที่การใช้กัญชาในเชิงสันทนาการ ไม่ใช่การแพทย์
ผลกระทบระยะสั้นจากกัญชา
สำหรับผู้ใช้กัญชาทุกคน (ไม่ใช่แค่คนเริ่มสูบ) ควรตระหนักว่าในปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงสายพันธุ์ของกัญชาทำให้สายพันธุ์กัญชาดั้งเดิมแทบจะหมดไปแล้ว และเช่นเดียวกัน ทำให้กัญชาหลายตัวมีค่า THC รวมถึงสารอื่นๆ ที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่ออาการเก็ทไฮที่มากและนานขึ้น
เว็บไซต์ NIH ระบุว่า การสูบดอกกัญชาจะทำให้เกิดอาการ ‘เก็ทไฮ’ รวดเร็วกว่าการกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ซึ่งการกินจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงถึงออกฤทธิ์ แต่ท้ายที่สุดจะมีอาการใกล้เคียงกัน อาทิ
- รู้สึกสบายตัว, ผ่อนคลาย และมีความสุข
- รู้สึกอารมณ์ดี หัวเราะกับเรื่องเล็กน้อย
- ประสาทสัมผัสดีขึ้น เช่น การฟัง, การรับรส, การสัมผัส หรือการได้กลิ่น
- คอแห้ง หิว (มาก)
- เห็นภาพหลอน
- ความทรงจำตกหล่น
- อารมณ์เปลี่ยนแปลง
- สัมผัสต่อเวลาเชื่องช้าลง เช่นเดียวกับร่างกาย
- กระบวนการคิดและตัดสินใจเปลี่ยนแปลง
ผลกระทบระยะยาวจากกัญชา
เมื่อมีการใช้กัญชาอย่างต่อเนื่อง สารในกัญชาอาจคงอยู่ในร่างกายยาวนานหลายสัปดาห์ หลายเดือน และอาจหลายปี ทั้งนี้ เว็บไซต์ทั้ง 3 ระบุตรงกันว่า กลุ่มที่มีโอกาสได้รับผลกระทบระยะยาวและรุนแรงที่สุดจากกัญชาคือ กลุ่มเยาวชนและผู้หญิงตั้งครรภ์
โดยกัญชาส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้
- ผลกระทบต่อสมองและระบบประสาท
เว็บไซต์ของ NIH ระบุว่า การใช้กัญชาส่งผลต่อการพัฒนาของสมอง โดยเฉพาะเมื่อใช้ตั้งแต่เป็นเยาวชน ทำให้ความจำ, สมาธิ และการตัดสินใจมีประสิทธิภาพน้อยลง
ขณะที่งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุ๊ค ในนิวซีแลนด์ระบุว่า การใช้กัญชาตั้งแต่ช่วงอายุ 13-38 ปี ส่งผลต่อให้ระดับของ IQ ลดลงประมาณ 8 หน่วย ซึ่งส่งผลต่อทั้งความจำ, สมาธิ และการตัดสินใจ ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวไม่พบว่าการใช้กัญชาในช่วงผู้ใหญ่ให้ผลคล้ายกันนี้
ขณะที่งานวิจัยที่ทดสอบกับกลุ่มฝาแฝดพบว่า แฝดกลุ่มที่ใช้กัญชาระหว่างช่วงก่อนวัยรุ่น-วัยผู้ใหญ่ช่วงต้นมีโอกาสความสามารถในการสื่อสารและการเรียนรู้ลดลง หรือระดับของ IQ ลดลงประมาณ 4 หน่วยเทียบกับกลุ่มที่ไม่ใช้ แต่กลับให้ผลต่างกันไปเมื่อแฝดคนหนึ่งใช้ แล้วอีกคนไม่ได้ใช้กัญชา ดังนั้น ผลกระทบข้อนี้อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยร่วมอื่น เช่น ยีนส์ หรือสภาพแวดล้อมทางครอบครัว
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผลกระทบต่อสมองที่เกิดขึ้นจะคงอยู่นานแค่ไหน หรือเปลี่ยนแปลงในระดับถาวรเลย
- ผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ
เช่นเดียวกับบุหรี่ การเผาไหม้ (สูบ) จากกัญชาไม่ว่าสูบเป็นมวน (พันคล้ายบุหรี่) หรือใช้บ้อง (อุปกรณ์การเสพกัญชา) มีโอกาสที่จะทำให้ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา ทำให้เกิดอาการไอ และเสี่ยงเกิดโรคเกี่ยวกับปอดและระบบทางเดินหายใจ
ทั้งนี้ นักวิจัยยังไม่พบความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างกัญชากับมะเร็งปอด
นอกจากนี้ ควันกัญชามือสองที่เกิดจากการเผาไหม้ยังส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจได้เช่นกัน และการสูดดมควันมือสองยังแทบไม่มีผลต่ออาการเก็ทไฮอีกด้วย ดังนั้น ไม่มีเหตุผลที่ต้องนั่งดมควันกัญชา โดยเฉพาะเมื่อหวังอาการ ‘เก็ทไฮ’ จากสาร THC จากควันกัญชามือสอง
- ผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
เว็บไซต์ NIH ระบุว่า การสูบกัญชาทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ซึ่งอาจเสี่ยงต่ออาการหัวใจวาย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคทางระบบหัวใจอยู่แล้ว
- ผบกระทบทางจิตเวช
เป็นอาการที่น่าจะพบบ่อยและเห็นชัดเจนที่สุด สำหรับผู้ที่ใช้กัญชาเป็นระยะเวลานานมีโอกาสส่งผลต่อสภาพจิตใจ โดยอาจทำให้เกิดภาวะเห็นภาพหลอน, หวาดระแวง และทำให้อาการของผู้ป่วยโรคจิตเวชรุนแรงขึ้น
สำหรับผลกระทบต่อโรคซึมเศร้า, ความกังวล และการตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในวัยรุ่น ยังไม่มีงานวิจัยที่แน่ชัดนัก
- ผลกระทบต่อผู้หญิงตั้งครรภ์
สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่ควรสูบกัญชาเฉกเช่นเดียวกันกับบุหรี่ เนื่องจากการสูบกัญชาส่งผลกระทโดยตรงต่อเด็กในครรภ์
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การสูบกัญชาระหว่างตั้งครรภ์เสี่ยงกระทบต่อพัฒนาการของสมองเด็ก ลดความสามารถในเรื่องสมาธิ, ความจำ และการแก้ปัญหา นอกจากนี้ น้ำนมของแม่ที่มีสาร THC อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กอีกต่อนึงได้ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยบางตัวที่ระบุว่า การสูบกัญชาระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้เด็กเกิดมามีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ รวมถึงยังมีความเสี่ยงต่อพฤติกรรมของเด็กด้วย
- อาการติดกัญชา
ถึงแม้กัญชาจะมีสารนิโคตินน้อยกว่าบุหรี่ แต่ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีเลย งานวิจัยระบุว่าผู้ใช้กัญชา 9%-30% มีโอกาสเสพติดกัญชาและอาจส่งผลต่อการใช้กัญชาอย่างผิดวิธี และตัวเลขนี้เพิ่มมากขึ้นอีกถึง 4-7 เท่า เมื่อเริ่มใช้กัญชาตั้งแต่ก่อนอายุ 18 ปี หรือกล่าวได้ว่าเยาวชนมีโอกาสในการติดกัญชาสูงกว่าผู้ที่เริ่มใช้กัญชาเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการเลิกกัญชาจะเผชิญกับภาวะไม่อยากอาหาร, กังวล, นอนไม่หลับ, เปื่อย รวมถึงอาการเสี้ยน หรืออยากกัญชา
- เสี่ยงอุบัติเหตุบนท้องถนน
ต้องดอกจันทร์ไว้เลยว่า ไม่มีใครควรขับรถ ไม่ว่าจะใช้ยาเสพติดตัวไหนมาก็ตาม (เหล้า, เบียร์, กัญชา หรืออื่นๆ) เพราะไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อตัวเอง แต่ยังอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุถึงชีวิตต่อผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นที่สุด
การใช้กัญชาส่งผลต่อประสาทสัมผัสในร่างกายมนุษย์ และเมื่อต้องอยู่บนถนนที่เรียกร้องการใช้สมาธิ อาจทำให้เกิดอาการขับส่าย, เบียดเลน ตลอดจนส่งผลต่อการตัดสินใจและการรับรู้เรื่องระยะทางและความเร็ว
ทั้งนี้ เว็บไซต์ Forbe ระบุว่าการใช้กัญชาขับรถเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และมากขึ้นอีกเมื่อใช้กัญชาคู่กับแอลกอฮอล์ ดังนั้น คำว่า “เมาไม่ขับ” ควรจดจำไว้กับทุกคนที่ใช้สารเสพติดไม่ว่าตัวไหนก็ตาม
ความเห็นจากหมอไทย
The MATTER ได้ติดต่อพูดคุยเพิ่มเติมกับ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถึงความกังวลและความเสี่ยงต่อสถานะกัญชาในปัจจุบัน ทั้งนี้ เขาเป็นบุคคลากรสาธารณสุขคนแรกๆ ที่ออกมาสนับสนุนให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย
นพ.ธีระวัฒน์ ระบุว่ากระแสที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ต่างจากกระแสต่อต้านกัญชาทางการแพทย์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งเขาเห็นด้วยว่าช่องโหว่กฎหมายที่เกิดขึ้นตอนนี้ทำให้เกิดความกังวลอยู่บ้าง โดยเขามองว่ากัญชาควรถูกกำหนดอายุขั้นต่ำในการใช้เชิงสันทนาการไว้ที่ 20 ปี เช่นเดียวกับเหล้า
ในเรื่องของการติดกัญชา หมอจาก รพ.จุฬาฯ ระบุว่าอาจเกิดขึ้นได้ แต่ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ ลักษณะการใช้ (สันทนาการ, ปริมาณ และระยะเวลาที่ใช้) ร่วมกับพันธุกรรมในร่างกาย หรือส่วนที่เขาเรียกว่า “กัญชาธรรมชาติ” หรือ Cannabinoid Receptor ซึ่งทำหน้าที่คอยผลิตสารบางตัวที่หาได้ในกัญชาให้ร่างกาย ขณะเดียวกันคอยตอบสนองเมื่อได้รับสารจากภายนอกเช่นกัน
“อาการติดจำเป็นต้องมีรหัสพันธุกรรมบางอย่างที่เอื้อต่อความชอบในเอฟเฟกต์ของกัญชา ร่วมกับการใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเนื้อสมอง จนมีอาการติดและทำให้มีพฤติกรรมใช้ประจำทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง”
เขากล่าวต่อถึงผลกระทบต่อโรคจิตเภทว่า “ส่วนในเรื่องของโรคจิต เป็นสิ่งที่ตามมาจากการใช้หลังเริ่มมีอาการติด”
เขาระบุว่ามีประมาณ 1 ใน 10 คนที่ใช้กัญชาแล้วมีอาการติด อย่างไรก็ตาม “ติดแล้วไม่ใช่ว่าเลิกไม่ได้ สามารถเลิกได้ง่ายในระยะเวลา 1 เดือน โดยใช้กัญชงเข้าช่วยก็ได้”
ทั้งนี้ หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์โรคอุบัติใหม่อธิบายต่อถึงผลกระทบของกัญชาต่อการ ทำให้สมองเสื่อมและทำให้เกิดโรค อาทิ อัลไซเมอร์ว่า “ข้อสรุปว่าการใช้กัญชาในระยะเวลานานทำให้สมองเสื่อม ยังไม่ชัดเจนขนาดนั้น” ซึ่งเป็นข้อสรุปจากงานประชุมใหญ่ของ New York Academy of Science ในปี 2016 ได้มีการเชิญวิทยาศาสตร์ทางสมองทั่วประเทศและนานาชาติมาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ เพื่อถกเถียงถึงประเด็นดังกล่าว
“ร่างกายของมนุษย์เราทุกส่วนจะมีกัญชาธรรมชาติ (Cannabinoid Receptor) คอยคุมอยู่ และถ้าหากเราใช้มากเกินไปอาจทำให้ระบบต่างๆ รวนเร และทำให้การทำงานไม่ประสานกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วยว่าจะตอบสนองในทางไหน และทำให้สมดุลในร่างกายตรงนั้นเสี่ยงไปแค่ไหน”
เขาทิ้งท้ายถึงสถานการณ์ในตอนนี้ว่า อยากให้ทุกคนนึกถึง “คนป่วยให้มากที่สุด” เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุดสำหรับคนที่ต้องการที่สุด “ดีกว่าดูว่าใครเป็นผู้ร้าย ใครเป็นพระเอก ซึ่งตอนนี้เหมือนกับเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วทุกอย่างเลย” นพ.ธีระวัฒน์ ทิ้งท้าย
อ้างอิง: