สามวันดีสี่วันไข้…อาจเป็นเพียงสำนวนโบราณที่ใช้กันทั่วไปของใคนหลายคน แต่สำหรับคนเป็นพ่อแม่นี่อาจเป็นเรื่องไม่เกินจริง ที่จะใช้อธิบายความเจ็บป่วยของเด็กเล็กในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรับเชื้อที่เป็นสาเหตุโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
ไม่นานมานี้มีข่าวคราวที่เกิดขึ้นในตอนเหนือของจีน ซึ่งมีการพบกลุ่มเด็กป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจจำนวนมาก ทั้งยังมีรายงานคลัสเตอร์เด็กที่ป่วยด้วยโรคปอดอักเสบ จน WHO ถึงกับออกแถลงการณ์เรียกร้องให้จีนเปิดเผยรายละเอียด เพราะกลัวจะซ้ำรอยครั้งเกิดการระบาดของโควิด-19 ก่อนที่จีนจะยืนยันว่าเป็นเพียงการเจ็บป่วยที่พบตามฤดูกาลเท่านั้น
แต่นั่นก็เพียงพอที่จะสร้างความกังวลให้กับบรรดาผู้ปกครอง ไม่เว้นกระทั่งในบ้านเราเอง เพราะตลอดทั้งปีมานี้แนวโน้มการป่วยที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจในเด็กก็ได้รับการแจ้งเตือนอยู่เป็นระยะๆ
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก ได้ยอมรับถึงสถานการณ์ในไทยที่เกิดขึ้นว่า “การติดเชื้อเทียบกับปีก่อนค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะก่อนปิดเทอมราวเดือนตุลาคมเยอะมาก”
นพ.ทวี อธิบายว่า การติดเชื้อลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ แต่ในช่วงโรคระบาดทำให้หลายปีมานี้เด็กมีการติดเชื้อน้อยลง ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่มีต่อโรคเหล่านี้จึงลดลงตาม เมื่อมีการกลับมามีปฏิสัมพันธ์มากขึ้นทั้งในกลุ่มเด็กเล็ก และเด็กวัยเรียน จึงส่งผลให้ตัวเลขเด็กที่ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างที่เห็น
เราจึงชวนไปดูในช่วงปีที่ผ่านมาว่า ข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงโรคทางเดินหายใจและเชื้อก่อโรคยอดฮิตที่พบในกลุ่มเด็กว่ามีอะไรบ้าง สถานการณ์แต่ละโรคเป็นเช่นไร และพ่อแม่สามารถเฝ้าระวังได้อย่างไรบ้าง
หมายเหตุ อัตราป่วยต่อแสนประชากรในปี 2566 ที่มีการกล่าวถึง เป็นข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 ที่จัดทำขึ้นเพื่อเฝ้าระวังโรคเป็นหลัก
โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
เมื่อพูดถึงชื่อโรคทางเดินหายใจที่ต้องระวัง ชื่อของไข้หวัดใหญ่น่าจะเป็นที่นึกถึงลำดับต้นๆ เพราะในช่วงเวลาหนึ่งของปีนี้ ถึงกับมีรายงานความขาดแคลนในตัวยาต้านไวรัส ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงในหลายจังหวัด
ข้อมูลการเฝ้าระวังผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–18 พฤศจิกายน 2566 พบมีจำนวน 404,896 คน คิดเป็นอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน อยู่ที่ 611.89 และมีรายงานผู้เสียชีวิต 26 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย 0.006
แม้ว่ารายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะมีแนวโน้มลดลงในสัปดาห์นี้ แต่นั่นก็ยังคงสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A ส่งผลให้ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการที่ต้องเฝ้าระวัง
ทว่า ประเด็นที่ทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่กังวลใจเป็นพิเศษ คงเป็นข้อมูลที่ชี้ว่า กลุ่มอายุ 0–4 ปี ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่สูงสุด เท่ากับ 2,165.92 ต่อประชากรแสนคน เลยทีเดียว
อธิบายคร่าวๆ คือ ในผู้ที่ป่วยหนึ่งแสนคนจะเป็นเด็กวัยนี้ไปแล้วราว 2,000 คน ขณะที่รองลงมาก็ยังเป็นกลุ่มอายุ 5–14 ปี ที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนอยู่ที่ 2,111.45
นั่นจึงไม่น่าแปลกใจที่โรงเรียนจะกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ระบาดของโรคไปโดยปริยาย เพราะไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Influenza virus ซึ่งอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือละอองเสมหะที่กระจายอยู่ในอากาศจากการไอ จาม ของผู้ป่วย จึงยิ่งอยากที่จะหลีกเลี่ยง
อีกทั้งเด็กเล็กและเด็กวัยเรียนยังเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ง่าย เช่น โรคปอดอักเสบ โรคสมองอักเสบ ดังนั้นหากสังเกตมีอาการรุนแรงเกินกว่าป่วยไข้ทั่วไป เช่น ไข้สูงลอย ซึม หอบหายใจไม่สะดวก รับประทานอาหารไม่ได้ หรือมีอาการชัก ก็ควรรีบพบแพทย์ทันที
โรคติดเชื้ออาร์เอสวี (RSV)
ถัดมาเป็นอีกหนึ่งเชื้อก่อโรคที่บรรดาผู้ปกครองต่างเฝ้าภาวนาขอให้ลูกหลานของเราตกขบวน คือเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง
ถึงขั้นที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยมีการประมาณการว่า ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก มีการติดเชื้อไวรัส RSV ถึงปีละ 33 ล้านคน และเสียชีวิต 66,000-199,000 คน โดยที่มีโอกาสเข้าถึงโรงพยาบาลเฉลี่ยเพียง 213,000 คนต่อปี
สำหรับในบ้านเราเอง เชื้อ RSV ก็ปรากฏอยู่ในรายงานการเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่และเชื้อก่อโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ของ สธ. ในวันที่ 23 พฤศจิกายนระบุว่าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีการพบเชื้อ RSV ในสัดส่วนที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลการสุ่มตัวอย่าง 5,110 คนส่งตรวจ ตั้งแต่ 1 มกราคม–2 กันยายน 2566 พบผู้ติดเชื้อ RSV มากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี 118 คน คิดเป็น 43.70% และรองลงมา คือ อายุ 2–5 ปี 117 ราย คิดเป็น 43.33% และมีอัตราป่วยตาย 0.37%
โดยการรับเชื้อและอาการนั้นแทบแยกไม่ออกกับโรคไข้หวัดใหญ่ และเป็นสาเหตุของการเกิดปอดอักเสบรุนแรงในเด็กเล็กเช่นกัน จึงต้องคอยสังเกตอาการเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ใช่เพียงเด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง สำหรับสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง
ด้วยเหตุที่อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ RSV มีความคล้ายคลึงกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ทำให้การเก็บข้อมูลในภาพรวมจึงยังคงเป็นไปอย่างจำกัด อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนดูคลังข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC) ของสธ. จะพบว่าระหว่างปี 2560-2565 มีข้อมูลชี้ว่าในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบอัตราป่วยจากการติดเชื้อ RSV อยู่ที่ 763.36 ต่อประชากรแสนคน
เชื้อ Enteroviruses (สาเหตุโรคมือ เท้า ปาก)
นับเป็นหนึ่งโรคยอดฮิตของวัยรุ่นฟันน้ำนมทีเดียว โดยเฉพาะโรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enteroviruses ที่พบเฉพาะในมนุษย์ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ และผู้ป่วยส่วนใหญ่เด็กเล็ก จึงไม่แปลกที่โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็กและในที่อยู่รวมกันอย่างแออัดจะมีโอกาสที่เกิดการระบาดได้
สำหรับ ข้อมูลเฝ้าระวังโรคนี้พบว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม-21 พฤศจิกายน 2566 พบผู้ป่วยแล้ว 58,743 คน คิดเป็นอัตราป่วย 88.77 ต่อประชากรแสนคน ขณะที่กลุ่มเสี่ยง 3 อันดับ คือ 0-4 ปี คิดเป็น 75.40% รองลงมากลุ่ม 5 ปี คิดเป็น 10.12% และ 7-9 ปี คิดเป็น 6.17%
อย่างไรก็ดี ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักมีอาการไข้ร่วมกับตุ่มเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายได้เอง ส่วนน้อยอาจมีอาการทางสมองร่วม เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้รุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสที่มีการติดเชื้อ
ไข้หวัดไรโนไวรัส (Rhinovirus)
ด้วยคำอธิบายของคำว่า Rhino ที่แปลความถึงจมูก ทำให้ไรโนไวรัสนั้นหมายถึงไวรัสที่ทำให้เกิดโรคกับจมูก นับเป็นการติดเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยสุดในมนุษย์ และเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคหวัดตามฤดูกาลในทุกๆ ปี
โดยโรคหวัดที่พบบ่อยมากในเด็ก มักจะมีสาเหตุจาก Rhinovirus (HRV) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไวรัสดังกล่าวประกอบด้วย 3 สายพันธุ์ คือ ไรโนไวรัส A, B และ C ทว่า ไรโนไวรัส C จะมีอาการคล้ายกับ RSV ซึ่งเติบโตได้ดีในสภาพอุณหภูมิสูง จึงมีโอกาสเกิดอาการเจ็บป่วยบริเวณหลอดลม ทั้งหลอดลมอักเสบ ไปจนถึงปอดบวม เป็นต้น
ข้อมูลโดยเฉลี่ยระบุว่า เด็กจะมีโอกาสเป็นไข้หวัดราว 6-12 ครั้งต่อปี มากกว่ากลุ่มผู้ใหญ่ที่ป่วยราว 2-4 ครั้ง ทั้งนี้ในช่วงตุลาคมที่ผ่านมา มีการตรวจพบเชื้อ Rhinovirus ในกลุ่มผู้ป่วยเข้าข่ายเสี่ยงเกิดโรคทางเดินหายใจในสัดส่วนเพิ่มขึ้น
และเพื่อเป็นการป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เบื้องต้นจึงควรวิธีป้องกันโดยการดูแลอนามัยส่วนบุคคล สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยน้ำ สบู่ หรือแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันการติดต่อ
ด้วยข้อจำกัดด้านการสื่อสารของกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเด็กเล็ก จึงทำให้การประเมินความเจ็บป่วยงเป็นไปได้ยาก ในฐานะผู้ปกครองจึงต้องคอยสังเกตสัญญาณอันตราย อย่างการมีไข้สูงต่อเนื่อง อาเจียนมาก ซึม หอบหายใจไม่สะดวก รับประทานอาหารไม่ได้ เป็นต้น อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ให้เร่งพบแพทย์ทันที