อีกไม่นานการฉีดวัคซีนป้องกันหวัดประจำปีอาจจะเป็นอดีต สาธารณสุขโลกไม่ต้องคาดเดาเทรนด์สายพันธุ์ไวรัสที่ก่อโรคหวัดอีกต่อไป เพราะมีแนวทางใหม่ของการพัฒนาวัคซีนต้านหวัดที่มีประสิทธิภาพต่อสู้ไวรัสได้หลายสายพันธุ์ โดยหัวใจคือการกระตุ้น T-Cell ในร่างกายคุณให้แข็งแรง
ไข้หวัด (Flu) ถ้าเปรียบเป็นดั่งนักต้มตุ๋นเจ้าเล่ห์ก็น่าจะไม่ต่างกับ แฟรงก์ อบาเนล (Frank Abagnale) กับวลีเด็ดของ “Catch me if you can” จับให้ได้สิ! ถ้านายแน่จริง เพราะไม่ว่าจะไล่จับไวรัสหวัดอย่างไร มันเองก็จะมีลีลาก้าวนำเราหนึ่งก้าวเสมอ จึงเป็นงานยากมากๆ ที่เราจะออกแบบวัคซีนที่ต่อสู้กับหวัดได้ตรงสายพันธุ์เป๊ะๆ รูปแบบวิวัฒนาการของไวรัสอันควบแน่นตลอดร้อยล้านปี ทำให้สายพันธุ์หวัดมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา วัคซีนจากปีที่แล้วที่เคยฉีดแล้วหาย อาจจะใช้ไม่ได้ผลกับไวรัสหวัดสายพันธุ์ใหม่ของปีนี้
ดังนั้นสาธารณะสุขทั่วโลกจึงต้องหาแนวโน้มเทรนด์ของไวรัสหวัดที่จะมาถึง และคาดเดาว่าในปีนี้ไวรัสหวัดสายพันธุ์ใดจะระบาดตามฤดูกาล หรือเจ้าสายพันธุ์ไหนจะได้เป็น ‘แคนดิเดต’ ที่จะออกวัคซีนประกาศใช้ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้สิ้นเปลืองทรัพยากรมหาศาลระดับหมื่นล้านล้านเหรียญ ถึงแม้จะมีวัคซีนแล้วก็ตาม อย่างในอเมริกาที่มีระบบสาธารณะสุขค่อนข้างดีระดับหนึ่ง ในแต่ละปีกลับมีคนเสียชีวิตราวหมื่นคน และต้องรักษาตัวในโรงพยายาลนับแสนรายจากไข้หวัดที่เล่ห์เหลี่ยมจัด
ปัญหาที่วุ่นที่สุดคือการหาแนวโน้มเทรนด์ของไวรัสหวัดตามฤดูกาล ที่อาจลดความแม่นยำลงไปได้เรื่อยๆ ยิ่งภายใต้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโลกที่มีผลก่อให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ปัญหาจากการใช้ยาปฏิชีวนะ แม้แต่น้ำแข็งขั้วโลกละลายก็อาจเกิดปรากฏการณ์ลูกโซ่ที่ทำให้ไวรัสกลายพันธุ์ ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดว่า หากเราสามารถพัฒนาวัคซีนที่เอาชนะไวรัสหวัดได้หลายชนิดในคราวเดียว โดยไม่ต้องเดาสุ่มอีกต่อไป และทำให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายคุณสามารถต่อสู้กับไวรัสหวัดได้ อาจช่วยชีวิตมนุษย์จำนวนมากและลดการใช้ทรัพยากรได้มากขึ้น มันคงเปลี่ยนนิยามของการให้วัคซีนไปอย่างถาวร ลองจินตนาการว่าการไปฉีดวัคซีนหวัดทุกๆ ปีจะกลายเป็นอดีต!
กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of California พัฒนาวัคซีนที่อาจเปลี่ยนโลกชนิดที่พ่นทางจมูก กระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันสามารถต่อกรกับไวรัสหวัด ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพ แทนการฉัดวัคซีนแบบเดิมๆ ที่เราทำกันมาเป็นร้อยๆ ปี
วัคซีนนี้มีฉายาที่เรียกกันเล่นๆ ว่า Goldilocks ที่อิงกับนิทานอังกฤษที่คุณอาจคุ้นๆ อยู่บ้างเรื่อง Goldilocks and the three bears เรื่องราวของ สาวน้อยผมทองที่ถือวิสาสะเข้าไปในบ้านครอบครัวหมี กินข้าวบ้านเขาแล้วเกิดง่วงนอน จึงงีบหลับบนเตียงของหมีแต่ละตัว แต่ก็นอนไม่สบายสักเตียง ใหญ่ไปบ้าง แข็งไปบ้าง จนกระทั่งมีเตียงหนึ่งของลูกหมีที่นุ่มและอบอุ่นเหมาะสมกับเธอที่สุด
วัคซีนนี้จึงนิยามคล้ายๆ กับ ‘เตียงที่สามที่ Goldilock เลือกนอน’ มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) โดยที่ไม่ทำให้รู้สึกป่วย และที่เหนือไปกว่านั้นวัคซีนสามารถกระตุ้น T-Cell ให้แข็งแรงขึ้น เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคโดยตรง ที่ไม่ว่าจะเป็นไวรัสหวัดสายพันธุ์ไหน หาก T-Cell แข็งแรงพอก็สามารถหยุดยั้งพวกมันได้
ถ้ากลับมาทำให้ T-Cell ในร่างกายมีประสิทธิภาพดีขึ้นในการต่อกรกับผู้รุกราน ก็อาจจะเป็นประตูสู่โอกาสใหม่ๆให้ร่างกายต้านทานไวรัสหวัดสายพันธุ์อื่นๆ ที่ปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่เสมอ แล้วอะไรทำให้วัคซีนของทีมวิจัยสถาบัน University of California แตกต่างจากวัคซีนเดิมๆ ที่โรงพยาบาลฉีดให้คุณเป็นประจำ อย่างที่รู้ๆ กันว่า วัคซีนนั้นเป็น ‘ค็อกเทล’ ที่ผสมกันของไวรัสหวัดที่ถูกทำให้สิ้นฤทธิ์แล้วหลายสายพันธุ์ จากนั้นแพทย์จะฉีดเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้ภูมิคุ้มกันของคุณ ‘คุ้น’ กับองค์ประกอบที่อาจก่อให้เกิดโรคหวัด แต่กระบวนดังกล่าวนี้ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับ T-Cell ในร่างกายเลย เพราะไวรัสที่ฉีดให้นั้นตายแล้วหรือสิ้นฤทธิ์เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นกระบวนการที่ไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันเข้มแข็งขึ้นแบบเฉพาะเจาะจง
กระบวนการใหม่จึงใช้วิธีการพ่น (Spray) ไวรัสที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งสามารถกระตุ้นทั้ง Antibody และ T-Cell ในคราวเดียวกัน ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการทดลองกับสัตว์ อาทิ เฟอร์เร็ต และหนู ซึ่งกระบวนการนี้กระตุ้น T-Cell ได้อย่างน่าทึ่ง เนื่องจากไวรัสที่ยังมีชีวิตนั้นร่างกายจะพยายามกระตุ้น T-Cell เพื่อต่อสู้กับไวรัส นักวิจัยวางแผนไว้ว่า แม้ไวรัสที่มีชีวิตจะเอาชนะ Antibody ได้ แต่มันจะไม่รอดพ้นจาก T-Cell เป็นตาข่ายชั้นที่สอง ทำให้คุณไม่ป่วยเมื่อได้รับการพ่นวัคซีนที่กำลังทดลองนี้
ไวรัสมีชีวิตที่จะนำมาพัฒนาเป็นวัคซีนจึงต้องศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้ง เพราะการกลายพันธุ์ของไวรัสหวัดเองก็น่าสนใจ พวกเขาจึงผ่าโครงสร้างของไวรัสออกมาในระดับจุลทรรศน์ จากนั้นดูว่าส่วนไหนของไวรัสมีแนวโน้มกลายพันธุ์เมื่อมีปฏิกิริยากับ Inferferon สารประเภทโปรตีนที่สร้างขึ้นเมื่อพบการเจริญของไวรัส จนสามารถไปชักนำให้เซลล์อื่นๆ ที่ใกล้เคียงให้มีการสร้างสารโปรตีนกลุ่มหนึ่งที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของไวรัสในเซลล์นั้นๆ ได้
ด้วยความรู้นี้เองทีมวิจัยจึงออกแบบไวรัสกลายพันธุ์ที่มีชีวิต แข็งแรงพอจะแบ่งตัว และกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่จะไม่ก่อโรค ดังนั้นเมื่อมนุษย์ได้รับวัคซีนจึงไม่รู้สึกป่วย ไวรัสที่ถูกปรับเปลี่ยนคุณสมบัติจะอาศัยอยู่ในร่างกายสักระยะเพื่อกระตุ้นให้ T -Cell ทำงานได้ดีขึ้น เป็นกลยุทธ์ที่แยบยลโดยเอาความร้ายกาจและชาญฉลาดในการรุกล้ำร่างกายของไวรัสเอง มาจับถอดเขี้ยวเล็บ ใส่ปลอกคอ ร่างกายมนุษย์มีโอกาสเรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัสได้นานขึ้น แม้ไวรัสหวัดสายพันธุ์ใหม่ในรอบหน้าจะมาอีก แต่ T-Cell คุณได้รับการอัพเกรด Firmware แล้ว
ดูเป็นข่าวดีเหลือเกินสำหรับคนที่ชอบป่วยเป็นโรคหวัดในทุกฤดู แต่วิธีใหม่นี้ยังอยู่ในขั้นทดลองกับสัตว์ (ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลการวิจัยในเชิงบวก) ที่คาดว่าน่าจะสามาถปรับใช้กับมนุษย์ได้เช่นกัน ซึ่งวิธีนี้อาจจะมาแทนการฉีดวัคซีนประจำปี แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีผลวิจัยออกมาว่า วัคซีนชนิดพ่นนี้จะอยู่ในร่างกายได้นานขนาดไหน
การทดลองในมนุษย์นั้นยังมีอุปสรรค เพราะยังมีหวัดสายพันธุ์ H3N2 subtypes ที่มีโปรตีนพิเศษพบได้น้อยในไวรัสหวัดสายพันธุ์ทั่วไป แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันจนเกิดผลค้างเคียงจนทำลายเนื้อเยื้อปอดได้ ดังนั้นการทดลองในมนุษย์จึงต้องศึกษาผลค้างเคียงเหล่านี้ด้วยแม้จะไม่พบบ่อยนัก แต่หากถูกหวยเจอขึ้นมาก็อาจทำให้วัคซีนนี้ไม่ได้ผลตามที่คาดไว้ ทั้งการผ่านมาตรฐานของ FDA ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ดังนั้นนวัตกรรมนี้อาจใช้เวลาอีก 5-6 ปี
อย่างไรก็ตามแนวทางพัฒนาวัคซีนต่อสู้โรคหวัดก็ยังมีแสงสว่างแห่งความหวัง และคนที่เป็นหวัดง่ายดาย ก็ตื่นเต้นกับกลยุทธ์ที่แยบยลนี้ เพราะทั้งมนุษย์และไวรัสต่างแข่งขันกันมาตลอดตั้งแต่บุกเบิกการแพทย์ยุคใหม่ ภูมิคุ้มกันวิทยาเป็นพื้นที่พิศวงอีกมากราวกับเป็นของขวัญจากวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตที่ตกทอดมา ชนะบ้าง แพ้บ้าง มันน่าตื่นเต้นตรงนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Challenges in the development of T-cell–based universal influenza vaccines
The flu vaccine could get a much-needed boost