เวลาถูกถามความสามารถพิเศษทีไรเป็นต้องเครียดทุกที ไม่รู้จะใส่อะไรเลย เรามันก็คนธรรมดาคนหนึ่ง
ถ้าพูดถึงความสามารถพิเศษก็คงต้องดนตรี กีฬา ภาษา คอมพิวเตอร์ แต่เราก็ไม่ได้เล่นดนตรีเก่งเหมือนใครเขา ที่เรียนล่าสุดก็คงเป็นขลุ่ยสมัยมัธยม กีฬาก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น แต่ถ้าการวิ่งตามคนที่เขาไม่รักเราถือว่าเป็นกีฬาวิ่งประเภทหนึ่งก็อาจจะพอได้อยู่
แต่ถ้าไม่ใส่อะไรลงไปในช่องความสามารถพิเศษเลย ก็กลัวจะถูกถามว่าไม่มีความสามารถอะไรเลยเหรอ ทำไมชีวิตถึงยากขนาดนี้เนี่ย มาลองสำรวจความสามารถที่เรามีและเคยคิดว่ามันธรรมดาดูไหม บางทีมันอาจจะเป็นความสามารถพิเศษได้ก็ได้นะ บางอย่างก็ใช่ว่าทุกคนจะทำได้เสียหน่อย
ห่อลิ้น ปลิ้นหนังตา กระดิกหู (ความยืดหยุ่นทางร่างกายเหนือกว่าคนทั่วไป)
ความสามารถพิเศษที่ทำให้เราโดดเด่นกว่าใครในวัยเด็ก ใครทำได้คือเท่สุดในห้อง แต่พอโตมาก็อยากถามโชคชะตาฟ้าลิขิตว่าให้ความสามารถพิเศษนี้มาทำไม มันไม่เห็นจะใช้ทำอะไรได้เลย แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะทำได้นะ ลองหันไปหาเพื่อนข้าง ๆ แล้วถามดูสิว่าเธอกระดิกหูได้หรือเปล่า
การกระดิกหูนั้นเป็นลักษณะที่หลงเหลือจากวิวัฒนาการ มันคือกล้ามเนื้อจำนวน 3 มัดที่อยู่บริเวณรอบใบหูของมนุษย์ที่เรียกว่า auriculares ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใช้การขยับใบหูเพื่อฟังเสียงภัยอันตรายหรือเสียงเหยื่อให้ชัดเจนขึ้นอย่างแมว แต่ในวันที่เราวิวัฒนาการขึ้นมาจนไม่ต้องระวังนักล่า หรือล่าอะไรอีกต่อไปแล้ว การขยับใบหูก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่มนุษย์เรายังคงมีกล้ามเนื้อนี้อยู่ เพียงแค่มันอ่อนแรงมากจนควบคุมไม่ได้นั่นเอง แต่ก็ยังมีบางคนนะที่สามารถควบคุมมันได้อยู่ เลยกลายเป็นคนมีความสามารถพิเศษในการกระดิกหูนั่นเอง
อย่าปล่อยให้ ‘ความยืดหยุ่นทางร่างกายเหนือกว่าคนทั่วไป’ ของเรา เป็นเพียงความสามารถพิเศษในวัยเด็ก การที่เราเอาเรื่องเล็กๆ เหล่านี้มาเล่นกับเพื่อนก็ทำให้ดึงความทรงจำสนุกๆ และรอยยิ้มกลับมาให้พวกเขาได้ เห็นมั้ยว่าความสามารถนี้พิเศษขึ้นเยอะเลย
รอคิวร้านสุกี้ ปิ้งย่าง ชาบูได้เป็นชั่วโมง (มีความอดทนและความมุ่งมั่น)
ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถรอคิวร้านสุกี้ ปิ้งย่าง และอื่นๆ ได้เป็นชั่วโมง นั่งก็แล้ว ยืนก็แล้ว เดินเล่นรอก็แล้ว ยังไม่ถึงคิว แต่เราก็ไม่หวั่น เพื่อหมูสไลซ์ของเรา เราทำได้
มีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าคนที่มีความอดทนนั้นจะประสบกับภาวะซึมเศร้าและอารมณ์เชิงลบน้อยลง พวกพวกเขาสามารถรับมือกับสถานการณ์เคร่งเครียดได้ดีกว่าอีกด้วย นอกจากข้อดีทางสุขภาพจิต ก็ยังมีข้อดีทางสุขภาพกายของคนที่มีความอดทนด้วย เพราะการศึกษาพบว่าคนที่มีความอดทนมีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพเล็กน้อยอย่างการปวดศีรษะหรือการเป็นสิวน้อยลงอีกด้วย
ถ้าอดทนรอคิวร้านโปรดของตัวเองได้นานขนาดนี้ เราก็เป็นคนหนึ่งที่ ‘มีความอดทนและความมุ่งมั่น’ ท่ามกลางคนที่ทิ้งบัตรคิวเพราะหิวไม่ไหวแล้ว เราคือผู้ชนะ
โดนเทแล้วทำใจได้ในสามวัน (ทักษะในการจัดการอารมณ์และคิดบวก)
ขึ้นชื่อว่าอกหัก ไม่ว่าใครก็ต้องเสียใจกันทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะก้าวเดินต่อได้ตั้งแต่ไม่กี่วันแรก Elizabeth Kubler-Ross แบ่งระยะของความเสียใจออกเป็น 5 ระยะเอาไว้ในหนังสือ On Death and Dying (1969) ระยะของความเสียใจนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อเราต้องเผชิญกับการสูญเสีย ความตายของคนที่เรารัก หรือการอกหักก็นับรวมอยู่ด้วยเช่นกัน แต่มีหลายคนที่สามารถทำใจ ก้าวข้ามผ่านความเสียใจทั้ง 5 ระยะได้ในเวลาอันสั้น
ระยะของความเสียใจนี้เริ่มต้นจากการปฏิเสธความจริง ความโกรธ การต่อรอง ความเศร้า และสุดท้ายคือการยอมรับแต่โดยดี การที่ใครบางคนจะผ่านครบทั้งหมดนั้นจนสามารถยอมรับว่าเรื่องระหว่างเราคงไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปนั้นไม่ง่าย บางคนใช้เวลาหลายเดือน หรือเป็นปีก็มี
ถ้าเราก้าวข้ามผ่านทุกระยะได้ในเวลาอันสั้น ก็แปลว่าเราพอจะมี ‘ทักษะในการจัดการอารมณ์และรู้เท่าทันตัวเอง’ อยู่ ผ่านช่วงเวลาแตกสลายมาได้ก็เก่งกว่าใครแล้ว
คุยกับเพื่อนได้ด้วยสายตา ไม่ต้องใช้คำพูด (ความสามารถด้านการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ)
ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ เพื่อนอยากพูดอะไร แค่ส่งสายตามา เราก็เข้าใจได้ในทันที นี่ถือว่าเป็นความสามารถพิเศษได้ไหมนะ ไม่ว่าจะอยู่ในร้านที่เสียงดังอื้ออึงเท่าไหร่ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ปริปากพูดออกมาไม่ได้ มองตากันเท่านั้นแหละ รู้เรื่อง
และยิ่งถ้าเป็นอินโทรเวิร์ตแล้ว มีการศึกษาที่บ่งชี้ว่าเหล่าอินโทรเวิร์ตสามารถอ่านภาษากายได้เก่งกว่าใครอีกด้วยนะ เพราะว่าพวกเขามีส่วนร่วมกับกิจกรรมรอบตัวน้อยกว่าใคร พร้อมด้วยลักษณะนิสัยที่ช่างสังเกต และอ่านสถานการณ์อยู่เสมอ เลยทำให้อินโทรเวิร์ตมีแนวโน้มที่จะวิเคราะห์ภาษากายของผู้คนได้ล้ำลึกขึ้น
ไม่ใช่ทุกคนนะ ที่จะมี ‘ความสามารถด้านการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ’ อย่างเรา บางคนคือเพื่อนส่งสายตามาว่า “ค่อยๆ หันไปนะ” แต่ดันหันแรงจนโป๊ะแตกก็มี
ป้ายยาเพื่อนเก่ง เพื่อนซื้อตามตลอด (ความสามารถในการเจรจาและโน้มน้าวใจ)
เวลาที่เราป้ายยาอะไรเพื่อนไป มันจะมีความรู้สึกภาคภูมิใจเล็กๆ เกิดขึ้น เมื่อวันต่อมาเพื่อเดินมาบอกว่ากดสั่งไปแล้วนะ ยิ่งทำสำเร็จหลายครั้งยิ่งรู้สึกอิ่มเอิบหัวใจ
การป้ายยาเพื่อนนั้นต้องใช้ทักษะหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายว่าสิ่งนี้น่าซื้ออย่างไร ถ้าเพื่อนไม่ซื้อตอนนี้แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเราเรียกให้ดูดีขึ้นว่า ‘การโน้มน้าวใจ’ ซึ่งการโน้มน้าวใจนี่แหละที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำในอนาคต วันนี้เราสามารถโน้มน้าวเรื่องเล็กๆ ได้ก็นับว่าเป็นก้าวแรกที่ดีแล้ว
คนที่ป้ายยาเพื่อนเก่งนั้นจะเรียกว่าตัวเองมี ‘ความสามารถในการเจรจาและโน้มน้าวใจ’ ก็ไม่ผิดเลย ป้ายยาเก่งขนาดนี้ หรือเราจะไปเป็นอินฟลูฯ ดีเนี่ย
ตุ๊งรูปออกมาเนียนละมุน ไม่โป๊ะ (ทักษะด้านการแก้ไขตกแต่งภาพระดับสูง)
ไม่ได้อยากหน้าเหมือนใครเลย แค่หน้าเหมือนตัวเองตอนตุ๊งรูปเสร็จแล้วก็พอ การตุ๊งรูปออกมาเนียนละมุนจนไม่มีใครจับได้ก็ถือว่าเป็นความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งในโลกแห่งการตุ๊งรูปนะ
มีบทความจากองค์กรทำวิจัยแห่งหนึ่งบอกไว้ว่าการถ่ายรูปตัวเองบ่อยๆ นั้นทำให้เรามีความสุขและสุขภาพจิตดีมากขึ้น เพราะเราสามารถควบคุมได้ว่าเราอยากจะดูเป็นอย่างไรในสายตาของคนอื่น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตจากหลายทิศทาง การใช้เวลากับการถ่ายรูปตัวเองและตกแต่งออกมาในแบบที่เราชอบที่สุดนั้นเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมาท่ามกลางปัญหาที่กำลังรุมเร้าได้
การตุ๊งรูปไม่ใช่เรื่องแปลก เราทำไปเพราะเราอยากเห็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่เราชอบที่สุดเท่านั้นเอง นอกจากเราจะมี ‘ทักษะด้านการแก้ไขตกแต่งภาพระดับสูง’ แล้ว ยังเป็นคนที่มีความสุขอีกด้วยนะ
ไถฟีดได้ทั้งวันจนรับรู้ข้อมูลข่าวสารทั้งโลก (ทักษะด้านการหาข้อมูลและจับประเด็น)
ว่างทีไร เป็นต้องหยิบมือถือมาไถฟีดหาข่าวสารและเรื่องราวที่เกิดขึ้น จะดราม่าไหน ใครทะเลาะกัน หรืออะไรลดราคา เรารู้หมด ถามได้เลย การที่เราชอบไถฟีดจนรู้ทุกความเป็นไปของโลกใบนี้ก็ไม่ใช่ความสามารถธรรมดานะ ลองสังเกตสิว่าเพื่อนเราจะวิ่งเข้าหาให้เราสรุปทุกทีเวลามีประเด็นอะไร
การไถฟีดนั้นเหมือนการจุดเครื่องสมองของเราให้ติด สมองหลายส่วนต้องทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของการรับรู้ภาพและเสียง ส่วนที่ควบคุมคำพูดและภาษาก็ต้องทำงานในยามที่เราคิดจะคอมเมนต์ในโพสต์นั้น มีการวิจัยในปี ค.ศ.2021 โดย Neuron ที่อธิบายไว้ว่าการไถฟีดได้ทั้งวันนี้เป็นในยามที่เราเจอกับข่าวอะไรก็ตาม ไม่ว่าข่าวนั้นจะเป็นข่าวที่ดีหรือข่าวที่แย่ สมองเราจะกระตุ้นให้เราอยากรู้มากกว่านี้ มากกว่ากระตุ้นให้เราปิดจอแล้วไปทำอย่างอื่น รู้ตัวอีกทีก็สามารถสรุปทุกเรื่องได้แล้ว
เพราะแบบนี้แหละ เราเลยกลายเป็นคนมี ‘ทักษะด้านการหาข้อมูลและจับประเด็น’ จะประเด็นไหนก็มาเถอะ เล่าให้ฟังได้หมด
กินเก่ง กินได้ไม่หยุด (ทักษะทำงานร่วมกันเป็นทีมของระบบย่อยอาหาร)
กินอะไรก็จอยไปหมด รู้ไหมว่านี่เป็นแหล่งของความสุขไม่สิ้นสุดในยุคแห่งความเครียดนะ ในยุคนี้ที่เครียดกันไปหมดทุกเรื่อง การมีความสุขเล็กๆ ทุกครั้งที่ได้กินอะไรอร่อยๆ ช่วยทำให้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเราแข็งแรง
การที่เรากินเก่ง กินได้ไม่หยุด ละเมียดละไม ใส่ใจกับรสชาตินั้นช่วยทำให้ประสาทสัมผัสของเราได้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการกินอาหารไม่ใช่แค่รับรสชาติอย่างเดียว แต่เราต้องสัมผัสถึงอุณหภูมิที่กำลังได้ที่ของหมูปิ้ง เท็กซ์เจอร์กรุบกรอบของป๊อบคอร์น กลิ่นหอมหลากหลายมิติของกาแฟ และไม่ใช่ว่าทุกคนจะสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้ มันเป็นความสามารถของพวกเราชาวกินเก่งเท่านั้น
ถ้าใครรู้ตัวว่าทุกมื้อที่กินเข้าไปจะต้องอร่อย ดีต่อใจ และใช้เวลาละเมียดละไมรสชาตินั้นอย่างมีความสุขให้นานที่สุด เราคือผู้ที่มี ‘ทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีมของระบบย่อยอาหาร’ ตั้งแต่การเคี้ยวที่สัมผัสทุกเท็กซ์เจอร์ การรับรสที่แยกออกว่ากาแฟแก้วนี้มีเทสต์โน้ตอะไร การย่อยอาหารที่เดี๋ยวเดียวก็ได้มีความสุขกับการกินใหม่อีกครั้งแล้ว
อย่าเพิ่งคิดว่าความสามารถของเรานั้นเป็นแค่เรื่อง ‘ธรรมดา’ การปรับเปลี่ยนมุมมองแค่เล็กน้อยก็ทำให้บางอย่าง ‘พิเศษ’ ขึ้นมาได้เสมอ
อ้างอิงจาก
Illustration by Manita Boonyong