“เพราะถ้าถูกคุมขังไปแล้ว จะกระทบต่อโอกาสในการต่อสู้คดี ไม่ได้รับสิทธิในการสู้อย่างเต็มที่ และถ้าสุดท้ายแล้วคดีชนะขึ้นมา การเยียวยาต่อให้เป็นตัวเงินเท่าไรก็ตาม มันไม่สามารถแลกกับอิสรภาพได้” ทนายเมย์ กล่าว
เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา ดร.พอล แชมเบอร์ส (Paul Chambers) นักวิชาการชาวสหรัฐฯ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ถูกกล่าวหาว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ เดินทางเข้าไปมอบตัวที่ สภ.เมืองพิษณุโลก
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า “เป็นชาวต่างชาติ คดีมีอัตราโทษสูง หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจหลบหนีได้”
การให้เหตุผลดังกล่าวนำไปสู่ข้อถกเถียงมากมาย โดยเฉพาะ ‘สิทธิในการประกันตัว’ ของผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ว่าเพราะเหตุใดถึงไม่ได้รับสิทธิตรงนี้ หากเปรียบเทียบกับผู้ต้องหาคดีอื่นๆ
เมย์—พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงร่วมคุยประเด็นนี้กับเรา รวมทั้งขยายความถึงปัญหาที่ผู้ต้องหาต้องประสบ หากพวกเขาถูกลิดรอนสิทธิประกันตัว
สิทธิประกันตัวในคดีการเมืองเป็น ‘ปัญหา’ มาโดยตลอด

ทนายเมย์—พูนสุข พูนสุขเจริญ
สิทธิในการประกันตัว เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่สิทธิดังกล่าว ถูกตั้งคำถามว่ากลายเป็น ‘สิทธิที่ถูกยกเว้น’ โดยเฉพาะกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี ม.112 ซึ่งเหตุผลที่ศาลใช้ในการไม่ให้สิทธิประกันตัว คือ ‘น้ำหนักของข้อหา’ เพื่อทำให้เหตุผลเรื่องกลัวจำเลยหลบหนี หรือการกระทำความผิดซ้ำมีน้ำหนัก
ทนายเมย์ มองว่า การให้เหตุผลทั้งเรื่องกลัวการหลบหนี หรือกลัวทำผิดซ้ำ เป็นเหตุผลที่ขาดข้อเท็จจริงรองรับ และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลย หรือผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์
ทนายความผู้นี้ที่ติดตามคดี ม.112 มาตลอด ระบุว่า สิทธิประกันตัวในคดีการเมืองมีปัญหาจริงๆ และยังเป็นปัญหามาตลอด โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2563 เป็นต้นมา ที่มีคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอย่างน้อย 1,962 คน และ ณ วันนี้ มีผู้ต้องหาที่เรียกว่า ผู้ต้องหาคดีทางการเมือง 48 คนด้วยกัน
“มี 30 คนที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีด้วยซ้ำ แปลว่าจริงๆ แล้ว มีคนที่คดีสิ้นสุด 10 กว่าคนเท่านั้นเอง ดังนั้น 30 คนที่เหลือ สามารถได้รับ ‘สิทธิในการประกันตัว’ แล้วก็ออกมาสู้คดีภายนอกเรื่องจำได้”
เธอย้ำว่า เมื่อตามหลักการแล้ว ถ้าคดียังไม่สิ้นสุด พวกเขาเหล่านั้นก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ และต้องได้รับสิทธิประกันตัว แต่เรื่องนี้ก็มีข้อยกเว้นในทางกฎหมายเช่นกัน โดยเธอยกตัวอย่าง หลักในทางกฎหมาย 5 เรื่อง ที่ศาลหรือตำรวจจะหยิบยกมาพูดว่าเหตุใดถึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว คือ
– เกรงว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
– จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
– จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
– ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
– การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
โดย 5 เรื่องนี้ มักจะเป็นสิ่งที่ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองมักเผชิญ เมื่อขอยื่นประกันตัว โดยรวมถึงอาจารย์พอลด้วย ที่ได้เหตุผลจากศาลว่า “เกรงว่าจะหลบหนี”
“กรณีของอาจารย์พอล เขานัดหมายไป สน.เอง เป็นคนเดินไปพบพนักงานสอบสวนด้วยตัวเอง ซึ่งพฤติการณ์ส่วนนี้ควรถูกนำมาพิจารณาด้วยซ้ำ แต่เหตุผลที่ศาลให้คือ เพราะเป็นคดีมีอัตราโทษสูงและเป็นคนต่างชาติจึงไม่ให้ประกันตัว”
ทนายเมย์ เสริมว่า การคัดค้านการประกันตัวด้วยเหตุผลว่า ‘เป็นคนต่างชาติ’ ต้องบอกว่ามันเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ควรจะถูกนำมาพิจารณาว่าจะหลบหนี เนื่องจากสัญชาติไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะหนีหรือไม่หนี “การที่เขาเดินไปพบตำรวจเอง ควรจะเป็นข้อเท็จจริงที่นำมาพิจารณาว่า จะหลบหนีหรือไม่หลบหนีด้วยซ้ำ”

Paul Chambers cr. Paul Chambers/Facebook
ตัวเลขผู้ถูกคุมขังจากคดี ม.112 มีมากขึ้น สิทธิประกันตัวจึงสำคัญ
ทนายเมย์ กล่าวว่า ผู้ต้องหาคดีการเมืองหลายคน ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งสร้างความกังวลต่อสถานการณ์หลังจากนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากขณะนี้ มีผู้ที่ถูกคุมขังโดยเฉพาะในคดี ม.112 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นสิทธิประกันตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ
“เพราะถ้าถูกคุมขังไปแล้วจะกระทบต่อโอกาสในการต่อสู้คดี ในการค้นหาพยานหลักฐาน ในการมีโอกาสที่จะมาคุยกับทนายความ พวกเขาไม่ได้รับสิทธิในการสู้คดีอย่างเต็มที่ และถ้าเกิดว่าสุดท้ายแล้วสู้คดีชนะขึ้นมา การเยียวยาต่อให้เป็นตัวเงินเท่าไรก็ตาม มันไม่สามารถแลกกับอิสรภาพได้”
เธอเสริมว่า บางคนพอไม่ได้รับประกันตัวหลายๆ ครั้ง ก็นำไปซึ่งการตัดสินใจว่า “จะสู้คดีต่อหรือไม่สู้คดีต่อดี” การได้รับหรือไม่ได้รับสิทธิประกันตัว มันไม่ควรจะเป็นสาเหตุที่ผู้ต้องหาเอามาพิจารณาว่าจะสู้คดีต่อไปหรือไม่
แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในคดีการเมือง และยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจมากขึ้นอีกเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ “หลายคนเลือกที่จะลี้ภัย เพราะไม่ได้สิทธิประกันตัว” ทนายเมย์กล่าว
กฎหมายนิรโทษกรรม อีกปัจจัยสำคัญในการลดความขัดแย้ง
ทนายเมย์ระบุถึงกฎหมายนิรโทษกรรม–ที่เดิมทีต้องมีการลงมติเมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา ว่าเราเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะพรรคเพื่อไทยเคยพูดเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วว่า “จะเสนอร่าง เพื่อนิรโทษกรรมประชาชน ทั้งร่างของพรรคเพื่อไทยหรือของ ครม. เข้าสู่สภา แต่ยังไม่เห็นการนำเสนอร่างดังกล่าว จึงปรากฏเพียง 4 ร่างที่อยู่ในสภา
“กฎหมายนิรโทษกรรม คือ การเยียวยา การบรรเทาผลร้าย บรรเทาความขัดแย้ง ถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ประชาชนทุกฝ่ายและทุกสีควรจะได้รับ ซึ่งไม่สร้างผลกระทบกระเทือนถึงโครงสร้างใดๆ และไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข ม. 112”
การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อาจถูกนำมาถก หลังเปิดสมัยประชุมหน้า วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 โดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนแถลงเรียกร้องสภา คงวาระนิรโทษกรรมคดีการเมืองเป็นเรื่อง ‘เร่งด่วน’ ถกต่อสมัยประชุมหน้า
“การให้ผู้ถูกคุมขังได้รับสิทธิประกันตัวเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่สามารถทำได้เลย ไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายใดๆ” ทนายเมย์ ระบุปิดท้าย