ประเทศไทยนับว่าเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียน ธุรกิจ e-commerce ในไทยเองก็เพิ่งเริ่มต้นจากจุดสตาร์ทได้ไม่กี่ปี แถมยังบูมมากเสียด้วย จึงไม่แปลกใจที่ ‘ธุรกิจขนส่งพัสดุ’ จะเข้ามาลงทุนเพิ่มกันแบบคับคั่ง แถมยังแข่งขันจนเรียกได้ว่าเป็นสนามรบแสนดุเดือดเลยทีเดียว
เพราะเริ่มแรกก่อนที่การซื้อ-ขายออนไลน์จะบูมขนาดนี้ เราอาจจะรู้จักขนส่งเพียงเจ้าเดียวคือไปรษณีย์ไทย แต่ระยะหลังๆ ขนส่งเอกชนก็เข้ามาแย่งชิงทำตลาด แย่งกันผูกพาร์ตเนอร์กับแพลตฟอร์ม e-commerce เพื่อสร้างจำนวนและรายได้
สมรภูมิดุเดือดอาจจะเป็นข้อดีสำหรับผู้บริโภคที่ส่งสินค้าได้ถูกลง ตัวเลือกเยอะขึ้น และทำให้ไปรษณีย์ไทยที่อยู่มากว่า 100 ปี ต้องปรับตัวหลายอย่างเพื่อให้แข่งขันได้ (อย่างการหันมาเปิดบางสาขาตลอด 24 ชั่วโมง) และในขณะเดียวกัน การแข่งขันสูงดังกล่าวก็ทำให้มีผู้ถูก ‘แพ้คัดออก’
สัปดาห์ที่แล้ว ‘alphaFAST’ ขนส่งเอกชนตัดสินใจประกาศปิดตัวลง ให้เหตุผลว่าการแข่งขันทำให้เกิดการตัดราคาและทำให้เกิดความไม่ยั่งยืนเชิงธุรกิจ นอกจากนั้นยังได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อีกทางหนึ่งด้วย
หากเทียบบริการของ alphaFAST กับเจ้าอื่น อาจจะต้องบอกว่าแม้ราคาสูงกว่าเอกชนอื่นๆ แต่บริการก็พรีเมียมกว่า เพราะจะมี SMS แจ้งเตือนเมื่อสินค้าถูกจัดส่งออกมา พร้อมกับลิงก์เชื่อมไปให้ลูกค้าเลือกเวลาจัดส่งที่สะดวกรับได้ด้วย ซึ่งเป็นบริการที่ค่ายอื่นๆ ไม่มี
อย่างไรก็ตาม การโบกมือลาสนามของ alphaFAST แม้น่าใจหาย แต่ก็ต้องยอมรับตามตรงว่าการแข่งขันในธุรกิจขนส่งคงไม่ได้ลดน้อยลงไปเท่าไหร่นัก เพราะยังมีผู้เล่นอีกมากที่จ้องชิ้นเนื้อรายได้ก้อนมหาศาลอยู่
The MATTER ลองรวบรวมข้อมูลบริการขนส่งเจ้าเด่นๆ ในประเทศไทย มาให้ดูกัน ว่าตอนนี้มีใครในสนามบ้าง พวกเขามีจุดขายอะไร ราคาเริ่มต้นเท่าไหร่ ตลอดจนจำนวนสาขาให้บริการ ซึ่งน่าจะทำให้หลายคนพอมองเห็นภาพรวมตลาดขนส่งในปัจจุบันว่าได้ขยายตัวใหญ่ขึ้นอย่างมหาศาล และแข่งขันกันสูงแค่ไหน
ไปรษณีย์ไทย
รัฐวิสาหกิจและบริการขนส่งที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยที่มีส่วนแบ่งตลาดเยอะที่สุด แม้ว่าการเข้ามาของผู้แข่งขันเอกชนจะทำให้รายได้ลดน้อยลงทุกปี แต่ไปรษณีย์ไทยก็พยายามปรับตัวมาเปิดสาขาวันหยุด หรือสาขา 24 ชั่วโมง และยังคงได้คะแนนความเชื่อมั่นว่าพัสดุจะถึงมือ จากลูกค้าบางกลุ่มอยู่เสมอ นอกจากนั้นไปรษณีย์ไทยยังมีบริการส่งของไปต่างประเทศกว่า 220 ปลายทาง ซึ่งขนส่งเอกชนอื่นยังตามมาไม่ถึงจุดนี้
ความพิเศษอย่างหนึ่งของไปรษณีย์ไทยที่ชาวเน็ตชอบแซวกันก็คือ บุรุษไปรษณีย์ของไปรษณีย์ไทยที่คุ้นเคยกับชุมชนดีเหลือเกิน ชนิดที่ว่าถ้าจ่าหน้ากล่องผิดพี่เขาก็ยังเอามาส่งได้ถูกคน
จุดเด่น : ขยายปลายทางทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงบุรุษไปรษณีย์เชี่ยวชาญพื้นที่ของตัวเอง
จุดรับบริการ : ทั่วประเทศ มากกว่า 5,000 แห่ง
ราคาเริ่มต้นพัสดุลงทะเบียน : 16 บาทแบบซอง, 18 บาทแบบกล่อง (0-20 กรัม)
คอนเซปต์ : ส่งด่วน ทันใจ ตรวจสอบได้ 24 ชั่วโมง
ระยะเวลาดำเนินธุรกิจในไทย : 137 ปี
Kerry Express
ขนส่งเอกชนจากฮ่องกง ถือเป็นเอกชนเจ้าแรกๆ ที่เขามาปูตลาดไทยตั้งแต่ยุคซื้อ-ขาย ออนไลน์ไทยเริ่มได้รับความนิยม แม้ว่าราคาอาจจะสูงกว่าเอกชนเจ้าอื่น แต่ดูเหมือนจะได้รับความน่าเชื่อถือพอสมควรจากประสบการณ์ที่สั่งสมในตลาดที่ผ่านมา
จุดเด่น : บริการส่งถึงมือผู้รับในวัน, ฟรีค่าซองพัสดุ
จุดรับบริการ : ทั่วประเทศ มากกว่า 1,500 แห่ง
ราคาเริ่มต้นพัสดุลงทะเบียน : เริ่มต้นเฉลี่ย 40 บาท คำนวณจากขนาดและน้ำหนัก ค่าส่งในกทม. – ต่างจังหวัดไม่เท่ากัน
คอนเซปต์ : Thailand No.1 Delivery Service
ระยะเวลาดำเนินธุรกิจในไทย : 15 ปี
*แก้ไขข้อมูล : ปัจจุบัน Kerry Express มีสาขามากกว่า 15,000 สาขา และปรับราคาเริ่มต้นเป็น 25 บาทแล้ว (19 มิ.ย. 2021)
Flash Express
บริการรับ-ส่งพัสดุที่เพิ่งก้าวขึ้นไปสู่การเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นตัวแรกของไทย สตาร์ทอัพขนส่งอายุน้อยสัญชาติไทยนี้ก่อตั้งขึ้นด้วยแนวคิดที่ว่าอยากให้ประเทศไทยมีขนส่งที่ถูกและดีเหมือนประเทศจีน และส่งทุกวัน 365 วัน Flash Express ได้รับความนิยมเพราะส่งด่วนในราคาถูก แถมยังเข้าไปรับสินค้าให้ที่หน้าบ้านตั้งแต่กล่องแรก อย่างไรก็ตามแบรนด์ก็ยังถูกร้องเรียนอยู่เรื่อยๆ ในด้ายบริการขนส่งล่าช้าและของตกหล่นสูญหาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขโดยไว
จุดเด่น : เข้าไปรับพัสดุถึงที่บ้านตั้งแต่ชิ้นแรก
จุดรับบริการ : ทั่วประเทศ มากกว่า 2,500 แห่ง
ราคาเริ่มต้นพัสดุลงทะเบียน : เริ่มต้นเฉลี่ย 20 บาท คำนวณจากขนาดและน้ำหนัก ค่าส่งในกทม. – ต่างจังหวัดไม่เท่ากัน
คอนเซปต์ : คิดถึง ส่งถึง In mind In delivery
ระยะเวลาดำเนินธุรกิจในไทย : 4 ปี
J&T Express
บริษัทจดทะเบียนในฮ่องกง เริ่มทำธุรกิจในอินโดนีเซีย พร้อมแผนการขยายธุรกิจไปทั่วอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นน้องเล็กอายุน้อยที่สุดที่เติบโตไวตามสไตล์ของธุรกิจขนส่งและสตาร์ทอัพ ชูจุดขายเรื่องการเคลมสินค้าที่รวดเร็วในวันถัดไป
จุดเด่น : เคลมไวในวันถัดไป
จุดรับบริการ : ทั่วประเทศ มากกว่า 4,000 แห่ง
ราคาเริ่มต้นพัสดุลงทะเบียน : เริ่มต้นเฉลี่ย 25 บาท คำนวณจากน้ำหนัก ค่าส่งในกทม. – ต่างจังหวัดไม่เท่ากัน
คอนเซปต์ : ส่งไว พัสดุปลอดภัย ไว้ใจ เจ แอนด์ ที
ระยะเวลาดำเนินธุรกิจในไทย : 2 ปี
DHL Express
DHL เข้ามาเปิดบริการในไทยครั้งแรกเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งเจาะตลาดขนส่งในประเทศไทยไม่นานมานี้ ดังนั้นแม้จะเป็นน้องใหม่ในท้องถิ่น แต่ DHL เป็นมือเก๋าของการขนส่งข้ามประเทศมาอย่างยาวนาน บริการของ DHL ในประเทศอาจจะแพงเมื่อเทียบกับเจ้าอื่น แต่ถ้าส่งต่างประเทศก็เป็นตัวเลือกที่เร็วและไม่เลวเลยทีเดียว
จุดเด่น : เน้นบริการส่งด่วนไปต่างประเทศทั่วโลกด้วยเครื่องบินส่วนตัว
จุดรับบริการ : จุดรับสินค้า 68 แห่ง ในต่างจังหวัดมีแค่บางจังหวัด
ราคาเริ่มต้นพัสดุลงทะเบียน : ในประเทศเริ่มต้น 70 บาท ตามขนาดกล่อง เหมาน้ำหนักไม่เกิน 30 กก. ต่างประเทศเริ่มต้น 250 บาท (ขึ้นอยู่กับประเทศ/ทวีป)
คอนเซปต์ : โลจิสติกส์ระดับสากล
ระยะเวลาดำเนินธุรกิจในไทย : 46 ปี
*แก้ไขข้อมูล : ปัจจุบัน DHL ปรับราคาเริ่มต้นเป็น 25 บาทแล้ว (19 มิ.ย. 2021)
SCG Yamato Express
แบรนด์ลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น ที่ทาง SCG Express ร่วมกับ Yamato หรือแมวดำ เบอร์หนึ่งขนส่งพัสดุจากญี่ปุ่น โดยแบรนด์นี้เขาเจาะตลาดส่งสินค้าสดข้ามภูมิภาคได้อย่างน่าสนใจ ด้วยรถขนส่งควบคุมอุณหภูมิ กับการเข้าไปรับสินค้าถึงหน้าบ้าน (เป็นไปตามเงื่อนไข)
จุดเด่น : บริการส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ
จุดรับบริการ : ทั่วประเทศ มากกว่า 1,200 แห่ง
ราคาเริ่มต้นพัสดุลงทะเบียน : เริ่มต้นเฉลี่ย 25 บาท คำนวณจากขนาดกล่อง น้ำหนักไม่เกิน 25 กก. ค่าส่งในภาคและข้ามภาคไม่เท่ากัน
คอนเซปต์ : Delivery your happiness
ระยะเวลาดำเนินธุรกิจในไทย : 4 ปี
เมื่อปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดขนส่งไทยน่าจะทะลุ 60,000 ล้านบาท ไปเรียบร้อยแล้ว เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับ 4-5 ปีก่อน (พ.ศ.2559 มูลค่า 18,000 ล้านบาท, ข้อมูลจาก ธนาคารไทยพาณิชย์)
ยิ่งในช่วง COVID-19 ที่เรื่องของการสัมผัสและการเดินทางไม่ได้สะดวกสบายเหมือนเดิม ทำให้ตลาดถูกเร่งการเติบโต ไปรษณีย์ไทยบอกว่าช่วง COVID-19 มีปริมาณพัสดุเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นวันละกว่า 60% ขณะที่ Flash Express บอกว่า ยอดผู้ใช้บริการเติบโตเพิ่มกว่า 20%
ในปีนี้และปีหน้า มูลค่าของตลาดก็คงจะเพิ่มขึ้น กลายเป็นเค้กก้อนโตที่รอให้หน้าใหม่เข้ามาตัดส่วนแบ่งไปอย่างแน่นอน
แต่แม้จะแข่งขันกันเดือดพล่านขนาดไหน ‘ความน่าเชื่อถือ – ความเร็ว – ราคา’ ยังเป็นสามหัวใจสำคัญของการขนส่ง ที่ขาดออกจากกันไปไม่ได้อยู่ดี
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan