หลังจากเขียนบทความเรื่องสังคมญี่ปุ่นมาเยอะ และเพิ่งเขียนเรื่องสังคมที่พยายามให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเองอย่างมีศักดิ์ศรีไปหมาดๆ แต่เอาจริงๆ แล้ว มีความต้องการพื้นฐานอีกอย่างหนึ่งของผู้พิการ แต่เราไม่ค่อยได้พูดถึงกันนัก นั่นคือ ความต้องการทางเพศ ที่ในแต่ละสังคมก็มีมุมมองและการจัดการที่ต่างกัน ซึ่งจริงๆ นี่ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจเมื่อมองถึงเรื่องสวัสดิการสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้พิการ เพราะความต้องการทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาตินี่ครับ แต่บางทีมันก็เป็นเรื่องหมิ่นเหม่ศีลธรรม และทัศนคติก็ทำให้แต่ละประเทศมีแนวทางของตัวเอง
จุดเริ่มต้นที่ผมมาสนใจเรื่องนี้ก็คงเป็นเพราะการได้ดูสารคดีทางช่อง Vice ใน YouTube ซึ่งมีรายการ Slutever ที่มีคุณ Karley Sciortino เป็นผู้ดำเนินรายการ พาไปดูโลกของเซ็กซ์ที่เราคาดไม่ถึงต่างๆ และในตอน Inside the Controversial World of Medically Assisted Sex ก็พาเราไปดูธุรกิจให้บริการทางเพศต่อผู้พิการในแคนาดา (คาดว่าเพราะในอเมริกายังไม่สามารถทำได้) ซึ่งก็ตรงกับสารคดีทางทีวีญี่ปุ่นที่ผมเคยดูมาก่อนนี้ เรื่องของการให้บริการทางเพศต่อผู้พิการ ซึ่งมุมมองและรูปแบบต่างกันมากจนอยากจะเอามานำเสนอนี่ล่ะครับ เพราะเวลาอ่านรายงานของญี่ปุ่น เขาก็เอาวิธีการของชาติอื่นมาอ้างอิงเช่นกัน
ในแคนาดา มีบริการที่ชื่อ Sensual Solutions ซึ่งฐานอยู่ที่แวนคูเวอร์ (ถ้าใครอยู่รัฐวอชิงตัน จะข้ามไปใช้บริการก็คงไม่ยาก) เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2011 และให้บริการโค้ชทางเพศ (เก๋กว่าไลฟ์โค้ช) เพื่อผู้พิการ เพราะเขามองว่า ผู้พิการก็มีความต้องการทางเพศเช่นเดียวกัน แต่ปัญหาคือจัดการไม่ได้ ทางบริษัทจึงเชื่อว่า การจัดสรรบริการแบบนี้ให้ผู้พิการเป็นความเหมาะสม เพราะสามารถช่วยให้ผู้พิการมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในผู้ใช้บริการก็เป็นผู้พิการที่จัดรายการวิทยุด้วย เขายังได้เล่าถึงการใช้บริการของเขาเอง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เขามั่นใจมากขึ้น เพราะตัวผู้ให้บริการไม่ใช่แค่ให้บริการทางเพศเท่านั้น
ในสารคดีไม่ได้พูดชัดเจนว่ามีการร่วมเพศแบบสอดใส่หรือไม่ แต่เท่าที่เห็นคือทั้งคู่เปลื้องผ้าและสวมกอดกันและคุยกันไปมา ทางบริษัทก็บอกว่า สิ่งที่สำคัญคือการช่วยให้ผู้พิการได้มีความสุขทางเพศและสามารถเข้าใจตัวตนของตัวเองได้ดีขึ้น ผ่านการนวด เฟ้น คลึง พูดคุยกันและสวมกอด บางกรณีผู้ให้บริการสามารถทำให้ผู้รับบริการถึงจุดสุดยอดได้ด้วยการนวดใบหูเท่านั้น ฟังดูแล้วเหมือนเป็นการให้ประสบการณ์ที่ดีต่อผู้พิการด้วยการเป็นเพื่อนที่ให้คำปรึกษา ตัวผู้ให้บริการก็ต้องผ่านการคัดเลือกไม่น้อย เพราะต้องดูทัศนคติด้วย หนึ่งในผู้ให้บริการเป็นนักศึกษาผู้มีเป้าหมายที่ปริญญาเอกด้าน Human Sexuality และเชื่อว่าการมาทำงานตรงนี้คือสิ่งที่เหมาะกับเธอ เพราะเธอคิดว่าทุกคนควรได้รับโอกาสทางเพศอย่างเท่าเทียมกัน และมันก็ตรงกับสิ่งที่เธอต้องการศึกษาด้วย
สิ่งที่สำคัญคือการช่วยให้ผู้พิการได้มีความสุขทางเพศและสามารถเข้าใจตัวตนของตัวเองได้ดีขึ้น
ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งยุโรปในประเทศที่มีความเสรีทางเพศสูงกว่า การจัดการด้านนี้ก็ต่างออกไป ในสารคดี Prostitution: The Oldest Trade ทางช่อง National Geographic มีช่วงหนึ่งที่สารคดีพาไปดูชีวิตของชายชาวอังกฤษที่มีอาการกล้ามเนื้อเสื่อม และเขาเองก็ยอมรับว่ามีความต้องการทางเพศ แต่การที่คนพิการอย่างเขาจะหาแฟนนับเป็นเรื่องยาก เพราะเปิดมาคนก็เห็นถึงความพิการของเขาก่อนแล้ว ยังดีที่ครอบครัวของเขาเข้าใจว่าเขาเองก็มีความต้องการ พ่อเขาจึงพาขับรถไปลงเรือเฟอร์รีข้ามไปที่ประเทศที่มีความเสรีทางเพศสูงอย่างฮอลแลนด์ และก็มีการให้บริการทางเพศสำหรับผู้พิการเช่นกัน
โดยการให้บริการของเขาจะมีลักษณะคล้ายกับสถานบริการทางเพศทั่วไป แต่จะมีการระบุว่ายินดีต้อนรับผู้พิการ และสามารถรองรับรถเข็นผู้พิการด้วย ผู้พิการสามารเข้าไปและเลือกคุยกับผู้ให้บริการจนถูกใจแล้วค่อยขึ้นห้องได้ ในฮอลแลนด์ ทางการมองว่าการได้รับการตอบสนองความต้องการทางเพศเป็นสิทธิของประชาชน จึงมีสถานบริการเช่นนี้จำนวนไม่น้อย และยังมีบริการให้กับสตรีและชาว LGBT อีกด้วย ที่น่าทึ่งไปอีกคือ ผู้พิการชาวฮอลแลนด์จะได้รับสิทธิ์ในการใช้บริการทางเพศเป็นจำนวน 12 ครั้งต่อปีเลยทีเดียว เรียกได้ว่าพยายามให้ความสำคัญต่อผู้พิการอย่างเต็มที่ จนกลายเป็นกรณีตัวอย่างที่ถูกนำเสนอในการประชุมทางวิชาการด้านนี้บ่อยๆ
ตัดมาทางญี่ปุ่น แม้จะดูเหมือนเป็นประเทศที่ก้าวหน้าทางเรื่องเพศมาก เมื่อเราดูวงการสื่อลามกและบริการทางเพศที่เปิดกว้าง (แม้บริการทางเพศจะผิดกฎหมายแต่ก็อาศัยช่องโหว่คล้ายกับอาบอบนวดบ้านเรา) แต่พอเป็นเรื่องของผู้พิการกลับเป็นเรื่องต้องห้ามไป ในมุมมองของผู้พิการ เขารู้สึกว่าตัวเองถูกทำให้ไม่มีเพศเสียด้วยซ้ำ ตั้งแต่การมองข้ามเรื่องเพศทางกายภาพด้วยการจัดห้องน้ำผู้พิการให้ใช้ร่วมกันทั้งชายหญิง และในตำราสอนวิชาพยาบาลก็ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการจัดการเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ผู้พิการซึ่งช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็มีความต้องการทางเพศ รวมไปถึงผู้พิการทางสมองเองก็มีความต้องการเช่นนี้โดยไม่รู้ตัว (ผมเคยคุยกับอาสาสมัครที่ดูแลผู้พิการทางสมอง เขาบอกว่าพบผู้พิการบางรายชอบเอามือลูบหว่างขาตัวเองเสมอ เพราะว่ารู้สึกดี) ตัวผู้พิการที่มีความต้องการทางเพศก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จะเรียกผู้ให้บริการทางเพศมาที่พัก ผู้ให้บริการทางเพศก็ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร บางทีก็กลายเป็นความเสี่ยงคดีความเชิดเงินไปอีก กลายเป็นความหนักใจของผู้พิการไป
ยังดีที่มีอดีตผู้ทำงานดูแลผู้พิการเข้าใจปัญหาตรงนี้และจัดตั้งบริการเพื่อผู้พิการในญี่ปุ่น ใช้ชื่อว่า White Hands เพื่อให้บริการผู้พิการเพศชาย ที่ไม่สามารถสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองได้ ซึ่งในการบริการแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่าย 2,800 เยน ต่อครึ่งชั่วโมง หากต่อเวลาก็ 1,500 เยน ต่อ 15 นาที นอกจากนี้อาจจะมีค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางเพิ่มเติม เพราะผู้ให้บริการต้องเดินทางไปที่บ้านของผู้รับบริการ
ฟังดูคล้ายๆ กันกับประเทศที่ได้พูดไป แต่สิ่งที่ต่างกันคือ รูปแบบการให้บริการและทัศนคติครับ ของแคนาดาเป็นเหมือนคนให้คำปรึกษา ของฮอลแลนด์คือให้บริการทางเพศตรงๆ แต่ของญี่ปุ่น ถ้าพูดตรงและง่ายคือ ‘มีหน้าที่ทำให้เสร็จ’ เท่านั้นครับ
ถ้าเป้าหมายคือการจัดการความต้องการทางเพศ เขาก็ทำให้มันจบไป ไม่ได้มีบริการอย่างอื่น รูปแบบคือ เจ้าหน้าที่ไปที่บ้านทักทายกันตามมารยาท เปลื้องท่อนล่างให้ จัดการทำความสะอาด แล้วก็ใช้มือช่วยให้บริการจนผู้รับบริการเสร็จ แล้วก็ทำความสะอาดอีกครั้งก่อนจะลากัน และระหว่างการให้บริการก็ใส่ถุงมือยางเหมือนปกตินี่ล่ะครับ
ในรายการที่ผมดู ผู้มาให้บริการก็เป็นคุณป้าวัยกลางคนเข้ามาคุยอย่างสุภาพ ดูแล้วก็ตกใจ แต่พอได้ฟังคำอธิบายก็เข้าใจได้ เพราะเขามองว่า นี่เป็นการให้บริการทางการแพทย์อย่างหนึ่ง ไม่ต่างกับการช่วยทำความสะอาดหลังขับถ่าย เขาต้องการมองในแง่นั้นและอยากจะให้มีการอธิบายเรื่องนี้ในหลักสูตรการแพทย์และการพยาบาลด้วย เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้พิการรวมถึงผู้ป่วยดีขึ้น ซึ่งเมื่อสัมภาษณ์ผู้ให้บริการ เขาก็บอกว่า ไม่ได้มีความรู้สึกทางเพศมาเกี่ยวข้องเลย เหมือนกับช่วยจัดการเรื่องราวในชีวิตประจำวันเรื่องหนึ่งให้เรียบร้อยเท่านั้น
แม้จะฟังดูเหมือนเป็นการบริการที่ดูเป็นการทำให้เสร็จๆ แต่ละรอบเท่านั้น แต่ในมุมมองของทั้งฝ่ายให้บริการและผู้รับบริการในญี่ปุ่นมองว่า อย่างน้อยก็อยากให้สังคมเข้าใจว่าผู้พิการเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความต้องการ เลิกมองเรื่องเพศของผู้พิการเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะในหลายกรณี กระทั่งตัวพ่อแม่ของผู้พิการเองก็ไม่ยอมรับว่าลูกตัวเองก็มีความต้องการ ขนาดบอกว่า ลูกของชั้นคือเทวดาน้อยๆ นะ กลายเป็นเรื่องชวนหนักใจของตัวผู้พิการ
แม้เป้าหมายจะคล้ายคลึงกัน แต่รูปแบบการให้บริการและทัศนคติต่อเรื่องเพศของผู้พิการในแต่ละประเทศก็ต่างกันมาก ของญี่ปุ่นมองว่าเป็นการให้บริการพื้นฐานเท่าที่จำเป็นเท่านั้นจริงๆ ฟังดูก็น่าเศร้าเหมือนกัน และก็มีคนโจมตีว่า ก็เป็นแค่บริการทางเพศแบบส่งถึงที่เท่านั้นเอง ไม่ต่างกับการเรียกใช้บริการโสเภณี ซึ่งเรื่องนี้ก็คงเป็นเรื่องที่สังคมก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้และปรับตัวเข้าหากันต่อไป ว่าแต่ แล้วของบ้านเราล่ะครับ มีมุมมองเรื่องนี้อย่างไรกันบ้าง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Inside the Controversial World of Medically Assisted Sex, Slutever