แง้นนนนน รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง…กลายเป็นหนึ่งสิ่งที่คนไทยคุ้นชิน แต่ต่างชาติถึงกับร้องว้าว ทั้งด้วยความตื่นใจและหวาดเสียวกับปริมาณสายซิ่งเมืองไทย โดยเฉพาะในช่วงเวลารีบเร่งของวัน ทั้งยังเป็นพาหนะยอดนิยมในทุกพื้นที่ของประเทศจนติดอันดับโลก
อะไรก็ตามที่ผู้คนใช้งานจำนวนมาก ย่อมต้องมีเงื่อนไขและกฎเกณฑ์การใช้ร่วมกันเป็นธรรมดา ยิ่งสิ่งนั้นเกี่ยวพันกับความปลอดภัยของผู้คน อย่าง ‘มอเตอร์ไซค์’ ด้วยแล้ว
ไม่นานมานี้ กทม. เพิ่งยกระดับกล้องวงจรปิดบนทางเท้า โดยใช้ AI ร่วมทำงานแก้ปัญหาสุดคลาสสิกนี้ พร้อมย้ำความพยายามแก้ปัญหาระยะยาว อย่างการปรับปรุงกายภาพของถนนเพื่อเพิ่มทางเลือก อธิบายง่ายๆ เวลาที่เราเห็นรถวิ่งสวนเลน จากเหตุที่จุดกลับรถไกล รวมถึงปิดจุดกลับรถเพราะอยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่น้อย
ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) เคยชี้ว่า การเสียชีวิตบนถนนของคนในอาเซียน กว่า 43% มาจากรถสองล้อ และสามล้อขับเคลื่อน แถมในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางแล้ว การตายของคนหนุ่มสาวช่วง 15-34 ปี ก็มีความเกี่ยวเนื่องกับรถเหล่านี้ สอดคล้องกับ สถิติผู้เสียชีวิตสะสมปี 2566 จากอุบัติเหตุบนท้องถนนของไทย ซึ่งกว่า 79% มาจากการใช้จักรยานยนต์
รู้ว่าอันตรายต่อชีวิตเช่นนี้ แต่เหตุใดบ้างที่ทำให้มอเตอร์ไซค์ยังคงเป็นพาหนะที่คนไทยเลือกใช้มากที่สุดอยู่ The MATTER สรุปคร่าวๆ ให้ดูกัน
ความนิยมใช้มอเตอร์ไซค์
ช่วงต้นปีที่ผ่าน มีการศึกษาในปี 2014 ชิ้นหนึ่งที่ถูกนำมารีรันจนเป็นกระแสอีกครั้ง กับงานสำรวจการใช้งานมอเตอร์ไซค์ในครัวเรือนของ 44 ประเทศทั่วโลก ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมานี่เองที่สร้างความฮือฮา เพราะบ้านเราดันคว้าอันดับ 1 มาครอง แซงหน้าเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่ก็ขึ้นชื่อไม่ต่างกัน
นั่นเองทำให้มุมมองที่ว่า ไทยเป็น ‘ดินแดนแห่งรถมอเตอร์ไซค์ 100 ล้านคัน’ กลายเป็นภาพจำใหม่ในสายตาชาวโลกของไทย
ตอกย้ำว่าผ่านไปหลายปีข้อสรุปนี้ก็อาจไม่ใช่เรื่องล้าสมัย เมื่อสถิติการขนส่งปีงบประมาณ 2566 ของกรมการขนส่งทางบก ระบุว่าจนถึง 31 ธันวาคม 2565 มีจักรยานยนต์ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายถึง 22,137,636 คัน คิดเป็น 52.66% ของรถยนต์ทั้งประเทศ
ซึ่งนี่ไม่ได้นับรวมมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จักรยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังถูกพูดถึง ตามที่ทราบกันว่ายังมีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบขึ้นทะเบียน ซึ่งมีการคาดการว่าส่วนนี้อาจจะแตะล้านคันทีเดียว
นอกจากนี้ ในงานศึกษาดังกล่าวยังมีความน่าสนใจประการหนึ่ง คือ มอเตอร์ไซค์ที่สำรวจกว่า 58% อยู่ในเอเชียแปซิฟิก และนี่เป็นผลลัพธ์ 10 อันดับแรก
- ไทย 87%
- เวียดนาม 86%
- อินโดนีเซีย 85%
- มาเลเซีย 83%
- จีน 60%
- อินเดีย 47%
- ปากีสถาน 43%
- ไนจีเรีย 35%
- ฟิลิปปินส์ 32%
- บราซิล 29%
ขนาดจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีประชากรมากกว่าบ้านเราหลายเท่าตัว เมื่อคิดเฉลี่ยครัวเรือนแล้วผลลัพธ์ยังเป็นไปตามการศึกษาดังกล่าว
แล้วอะไรเป็นเหตุผลททำให้มอเตอร์ไซค์เป็นที่นิยมกันล่ะ?
- ฝ่าช่วงเวลาที่การจราจรติดขัด
เชื่อว่าหากลองเช็กเสียงของบรรดาสายซิ่งและสายซ้อน เกือบทั้งร้อยคงปฏิเสธเหตุผลเรื่องการประหยัดเวลาในการเดินทางไปไม่ได้ โดยเฉพาะในเมืองที่การจราจรติดเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย อย่างกรุงเทพฯ การใช้มอเตอร์ไซค์ถือเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ เพื่อฝ่าวิกฤตช่วงเวลาเร่งด่วน ที่มีรถคับคั่งบนท้องถนน
ปัญหาการจราจรติดขัดนั้น ส่วนหนึ่งสะท้อนระบบผังเมืองกรุงที่ไม่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโทชาวไทย ของมหาวิทยาลัยคอเนล ในสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นประเด็นนี้ว่า กรุงเทพฯ มีซอยตันมากถึง 37% ซึ่งผู้ใช้รถบางส่วนจำเป็นต้องใช้ถนนเหล่านี้ผ่านทาง ก่อนจะเกิดคอขวดออกสู่ถนนสายหลัก ท้ายสุดหลายคนจึงเลือกพึ่งพามอเตอร์ไซค์เป็นทางออก
- เข้าถึงทุกตรอกซอกซอย
ปัจจัยต่อมาที่สืบเนื่องกัน คือ ในช่วงเวลาที่ถนนแน่นขนัด หลายคนมักหลีกเลี่ยงเส้นทางสายหลัก หันไปใช้ถนนสายรองที่ส่วนใหญ่คับแคบ และผ่ากลางชุมชนผู้อยู่อาศัย ซึ่งอาจต้องประสบปัญหารถยนต์ที่จอดริมทางจนกินพื้นที่เลนถนน การใช้มอเตอร์ไซค์จึงเหมาะสมด้วยเงื่อนไขเหล่านี้
ไม่เพียงในเมืองใหญ่ พื้นที่ต่างจังหวัดที่หลายครัวเรือนใช้มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะหลัก และเห็นถึงประโยชน์ของประเด็นนี้เช่นกัน อย่างพื้นที่ถนนยังไม่ได้รับการพัฒนา รวมถึงการเข้าพื้นที่เกษตรกรรม สวน ไร่ นา จำนวนมากต้องอาศัยมอเตอร์ไซค์ ด้วยความคับแคบของพื้นถนนที่รถยนต์เข้าไม่ถึง
- ใช้เชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่
ครั้งผู้ว่าฯ ชัชชาติ ลงสนามสู่ศึกเลือกตั้งกรุงเทพฯ เคยชี้ประเด็นระบบเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะไว้อย่างน่าสนใจ โดยเปรียบเปรยว่าระบบของเมืองก็ไม่ต่างกับร่างกายคน ที่มีระบบเส้นเลือดใหญ่ที่เป็นแกนกลาง แล้วอาศัยเส้นเลือดฝอยที่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ดังนั้นหากระบบเส้นเลือดฝอยติดขัด สุดท้ายย่อมกระทบการทำงานทั้งหมด
เช่นเดียวกับที่กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าต่อขยายเพิ่มขึ้น แต่ด้วยค่าครองชีพสูง พวกเขาจึงถูกผลักให้อยู่ห่างออกไปอีก บ้างจึงจำต้องใช้มอเตอร์ไซค์เชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟฟ้า รถประจำทาง เรือเมล์ เป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านวางผังและออกแบบเมืองของไทยหลายคน เคยยกเรื่องบล็อกขนาดใหญ่ (Super Block) ที่ใช้ในการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ ที่ตั้งมาตรฐานถนนสายหลัก เชื่อมต่อพื้นที่อยู่อาศัยซึ่งถูกจัดสรรเป็นบล็อกใหญ่ ส่งผลให้ถนนที่ใช้เชื่อมต่อถูกบีบให้เล็กลง จนคนต้องอาศัยรถเล็ก ไม่สามารถเดินเท้าได้
- พึ่งพามอเตอร์ไซค์รับจ้างในชีวิตประจำวัน
เมื่อระบบขนส่งสาธารณะเป็นปัญหาร่วม โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธุรกิจมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมไปโดยปริยาย ผู้บริโภคจำนวนมากพึ่งพาบริการนี้ในชีวิตประจำวัน จนว่ากันว่ามอเตอร์ไซค์นับเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของอาเซียนไปแล้ว
ตัวอย่างในไทยปี 2565 มีรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ต่อกรมการขนส่งทางบก จำนวน 143,099 คัน คิดเป็น 0.34%
- หาที่จอดริมทางสะดวก
บ่อยครั้งที่เราต้องยอมแพ้ร้านอร่อย เพียงเพราะวนหาที่จอดรถไม่ได้ ซึ่งปัญหานี้จะเกิดขึ้นน้อยลงในกรณีของมอเตอร์ไซค์ เพราะใช้พื้นที่จอดรถเพียงเล็กน้อย ตัวอย่างในบางประเทศยังมีข้อยกเว้นให้จอดบนพื้นที่ทางเท้าได้
- พื้นที่จอดรถจำกัด
ข่าวชาวบ้านที่ยึดพื้นที่ได้บ่อย และเป็นประเด็นชวนปวดหัวหากใครเคยเจอกับตัว คือการกระทบกระทั่งกับเพื่อนบ้านเรื่องพื้นที่จอดรถ ที่บ้างจอดกีดขวางทางเข้าออก หรือต่อเติมสิ่งก่อสร้างรุกล้ำออกมา จนบานปลายไปถึงการด่าทอและทำร้ายร่างกาย ซึ่งทั้งหมดมีจุดตั้งต้นจากพื้นที่จอดรถของแต่ละครัวเรือนที่ไม่เพียงพอ
โดยบ้านเรามีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ซึ่งระบุถึงพื้นที่จอดรถขั้นต่ำ ที่จะต้องมีตามขนาดหน้ากว้างของบ้านแต่ละหลัง แต่ธรรมเนียมคนไทยมักปรับปรุงพื้นที่ส่วนนั้นไปใช้สอยเพื่อวัตถุประสงค์อื่นแทน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกพาหนะที่เหมาะสมทั้งสิ้น
- ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่คนในประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงได้
ในขณะที่ประเทศร่ำรวย คนส่วนใหญ่อาจมีมายาคติต่อมอเตอร์ไซค์ว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ที่บ้างใช้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ เหมือนเป็นหนึ่งในงานอดิเรก ตรงข้ามกับประเทศด้อยพัฒนาไปจนถึงกำลังพัฒนาอยู่นั้นที่ใช้เป็นพาหนะประจำ เนื่องด้วยราคาค่อนข้างต่ำจนเข้าถึงได้
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรี ชี้ว่าตลาดรถจักรยานยนต์ของโลกกระจุกตัวอยู่ในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในแต่ละปีมีสัดส่วนการจำหน่ายในภูมิภาคนี้ถึง 80% ของปริมาณการจำหน่ายทั่วโลก
- ค่าใช้จ่ายที่ตามมามีต้นทุนต่ำ
จากเหตุที่รถมอเตอร์ไซค์จำนวนมากยังเป็นราคาที่ผู้มีรายได้ต่ำสามารถเข้าถึงได้ ต่อเนื่องกันค่าใช้จ่ายที่ตามมาภายหลังก็มีต้นทุนต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับยานยนต์ประเภทอื่น ทั้งค่าจอดรถ ค่าซ่อมแซม ค่าประกัน ทั้งในบางประเทศยังมีข้อยกเว้นที่ทำให้การขนส่งมีราคาถูกลง เช่น ค่าผ่านทาง เป็นต้น
- ใช้ในธุรกิจส่งสินค้าและบริการ
สำหรับไทยจัดอยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งทำให้ขนาดเศรษฐกิจขยายตัวเร็ว ปัจจัยหนึ่งในนั้น คือ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและแพลตฟอร์ม
เราถึงได้เห็นภาพมอเตอร์ไซค์ที่เขาไปมีบทบาทในหลายธุรกิจ ไม่เพียงเฉพาะในระบบการขนส่งสาธารณะ ขนส่งสินค้า ขนส่งอาหาร และระบบพลังงาน แต่ยังรวมถึงธุรกิจการเงินและบริการอื่นๆ ที่หันมาใช้แพลตฟอร์มให้บริการแทนใช้บุคคล แต่เนื่องจากบางขั้นตอนยังจำเป็นต้องใช้หลักฐานแบบกระดาษ ไรเดอร์จึงยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญ
คงไม่อาจประเมินได้ว่าในอนาคตมอเตอร์ไซค์จะยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญของภาคธุรกิจไทยหรือไม่? แต่ด้วยเหตุผลของผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ ที่เกินกว่าครึ่งเป็นผลพวงจากปัญหาโครงสร้างสังคมที่แก้ไม่ตก ดังนั้น ทั้งสายซิ่งและสายซ้อนยังคงต้องฝากชีวิตไว้บนสองล้อกันต่อไป
อ้างอิงจาก